วันกรรมกรสากล 2020 แรงงานภาคเหนือ เสนอรัฐบาลดูแลแรงงานจากพิษโควิดให้เท่าเทียม

วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ยื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล 2020 และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเนื้อหาดังนี้

นับแต่มีคำสั่งปิดสถานบริการบางประเภทตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 และมีการประกาศใช้พระราชกำหนดกรณีฉุกเฉินอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจากคำสั่งและสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ ความมั่นคงในการทำงาน และรายได้ของประชาชน คนทำงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ เป็นอย่างมาก

รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาประชาชนโดยเปิดให้กลุ่มคนทำงานผู้ที่ได้รับผลกระทบลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาจากกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะสามารถลงทะเบียน และใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการคัดกรองผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติของผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ครอบคลุมกลุ่มคนทำงานอย่างทั่วถึง ด้วยสภาพการณ์ปัจจุบันกลุ่มคนทำงานมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ผู้สูงวัย หรือแม้แต่แรงงานที่ถือบัตรพื้นที่สูง และแรงงานข้ามชาติ เมื่อรวมกับระบบคัดกรองที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้กลุ่มคนทำงานจำนวนมากตกหล่นและอีกจำนวนมากเช่นกันที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์คุณสมบัติ นอกจากนี้การจ่ายเงินเยียวยายังมีความล่าช้าโดยยังมีผู้ได้รับผลกระทบที่ลงทะเบียนแล้วจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินเยียวยานี้

 

มาตรการของกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมที่เข้ามารองรับกรณีมีคำสั่งของรัฐปิดกิจการชั่วคราวหรือนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 อันเป็นเหตุสุดวิสัย โดยการจ่ายเงินให้ลูกจ้างจากกองทุนประกันการว่างงาน 62 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง  มาตรการดังกล่าวอาจเปิดช่องทางให้กับนายจ้างและนักลงทุนโดยการผลักให้คนงานไปรับเงินกับประกันสังคมแทน และที่สำคัญเงิน  62 เปอร์เซ็นต์จากกองทุนประกันว่างงานนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้ประกันตน นอกจากนี้ประกันสังคมยังตัดสิทธิ์ของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ส่งเงินสบทบกองทุนกรณีการว่างงานไม่ครบ 6 เดือนด้วย ยิ่งไปกว่านั้นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ จากสำนักงานประกันสังคมเช่นเดียวกัน

กลุ่มแรงงานข้ามชาติและกลุ่มแรงงานที่ถือบัตรบนพื้นที่สูง เป็นกลุ่มคนทำงานที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย  ไม่มีรายได้ รายได้น้อยลง สร้างความยากลำบากต่อการดำรงชีวิต แม้ว่ารัฐไทยจะมีประกาศอนุโลมให้แรงงานข้ามชาติสามารถอาศัยใน

ประเทศได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน  2563 เนื่องจากมีการปิดด่านชายแดน แต่ก็ไม่ได้มีมาตรการใดใดในการช่วยเหลือหรือการเยียวยาต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มแรงงานที่ถือบัตรบนพื้นที่สูง

กลุ่มคนทำงานที่เป็นผู้สูงอายุและกลุ่มผู้พิการเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ต้องตกงาน ขาดรายได้ รายลดลง เนื่องจากกลุ่มของผู้สูงวัย และผู้พิการส่วนใหญ่เป็นผู้ทำงานอาชีพอิสระหรือเป็นคนทำงานรายวัน แม้ว่ากลุ่มคนทำงานกลุ่มนี้สามารถเข้ารับการเยียวยาของกระทรวงการคลัง แต่ยังมีจำนวนมากที่ตกหล่นจากการระบบการคัดกรอง หรือบางคนเข้าไม่ถึงการเยียวยาเพราะไม่มีความเข้าใจในเทคโนโลยีหรือไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการเข้าถึง  ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มผู้สูงวัยและผู้พิการดำรงชีพด้วยเงินสวัสดิการที่ได้รับจากรัฐเท่านั้น ความวิตกกังวลของกลุ่มผู้สูงวัยและกลุ่มผู้พิการคือหลังจากผ่านพ้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พวกเขาจะเป็นกลุ่มสุดท้ายหรือเป็นกลุ่มที่อาจไม่ได้รับการจ้างงานอีก ด้วยจากที่ผ่านมาก็มีข้อจำกัดเรื่องการจ้างงานโดยใช้อายุและสภาพทางร่างกายมาเป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจรับคนงานของนายจ้าง

จากสถานการณ์ปัญหาผลกระทบที่กลุ่มคนทำงานทุกกลุ่มทุกอาชีพต้องเผชิญ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือจึงมีข้อเสนอสำหรับมาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้า และการฟื้นฟูในระยะยาว ดังนี้

  1. มาตรการช่วยเหลือแรงงานเฉพาะหน้า
    • ข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
  • ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกมาตรการในการช่วยเหลือ เยียวยาแรงงานข้ามชาติ แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานผู้สูงวัย ผู้พิการ รวมถึงแรงงานกลุ่มอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบในจังหวัดเชียงใหม่โดยเร่งด่วน
    • ข้อเสนอต่อสำนักงานประกันสังคม และกระทรวงแรงงาน
  • ให้เร่งรัดการจ่ายเงินกรณีว่างงานให้กับผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนแล้วอย่างเร่งด่วน โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลอีกเนื่องจากมีระบบฐานข้อมูลของผู้ประกันตนอยู่แล้ว และผู้ประกันตนได้หยุดงาน ไม่มีรายได้มาเป็นเวลานานแล้ว
  • ต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ส่งเงินสบทบกองทุนกรณีว่างงานไม่ครบ 6 เดือน และ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 อย่างชัดเจนและปฏิบัติได้โดยเร่งด่วน
  • เสนอให้มีนโยบายเร่งด่วนที่ผู้ประกันตนสามารถเบิกเงินสบทบส่วนของลูกจ้างในกองทุนบำนาญชราภาพมาใช้ได้ เพื่อลูกจ้างจะได้นำเงินส่วนนี้มาใช้ในการดำรงชีพในช่วงเวลาที่ยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ
  • ให้แรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างและแรงงานข้ามชาติที่สัญญาจ้างงานสิ้นสุดลงแล้ว สามารถใช้สิทธิกรณีประกันการว่างงานได้จนกว่าจะได้ทำงานใหม่ หรือได้กลับ
  • ประเทศต้นทางแล้วแต่กรณี เนื่องจากรัฐมีประกาศให้แรงงานกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
  • ยกเลิกคณะกรรมการตรวจสอบที่ถูกแต่งตั้งตามกฎกระทรวงแรงงานลงวันที่ 27 เมษายน 2563 ด้วยคณะกรรมชุดนี้จะทำให้ผู้ประกันตนได้รับเงินล่าช้า
  • ให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อตรวจสอบกรณีที่โรงงานสั่งไม่ให้คนงานทำงานเพราะเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่อ โดยคณะกรรมการชุดนี้ต้องมีตัวแทนลูกจ้างและภาคประชาสังคมร่วมด้วย ให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการการพิจารณา ตรวจสอบเงื่อนไขว่าบริษัทมีเหตุให้หยุดงานเพราะเหตุสุดวิสัยหรือไม่
  • ให้มีการปรับอัตราการจ่ายเงินกรณีการว่างงานเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยสภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นและเพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถดำรงชีพและเลี้ยงดูครอบครัวให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
  • ขอให้สำนักงานประกันสังคมรายงานจำนวนเงินของกองทุนประกันสังคมแยกตามแต่ละสิทธิประโยชน์ และส่วนที่นำไปลงทุน โดยละเอียดต่อสาธารณะ และให้สำนักงานประกันสังคมติดตามทวงถามเงินสบทบส่วนของรัฐที่ยังไม่ได้นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมโดยเร่งด่วน
    • ข้อเสนอต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  • ให้ติดตามการเยียวยาของภาครัฐในกลุ่มที่เข้าไม่ถึง ตกหล่น และจัดสถานที่พักและอาหารให้กับผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติ
    • ข้อเสนอต่อสำนักงานจัดหางาน
  • ให้นำดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินที่จัดเก็บค่าประกันจากบริษัทนายหน้าและค่าประกันสำหรับการจ้างงานแรงงานข้ามชาติตามพระราชกำหนดการบริหารการทำงานคนงานต่างด้าว มาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ เป็นการเฉพาะหน้า โดยให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน
    • ข้อเสนอต่อกระทรวงการคลัง
  • ขอให้กระทรวงการคลังเปิดให้มีการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเพิ่มเติมสำหรับคนที่ตกหล่นจากการกำหนดคุณสมบัติที่ไม่ครอบคลุมและจากระบบคัดกรอง เพื่อเป็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า
  • ให้มีการพัฒนาระบบการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความผิดพลาดที่ทำให้กลุ่มคนทำงานได้รับความเดือนร้อนและได้รับการเยียวยาที่ล่าช้า
  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ส่งเงินสบทบไม่ครบ6 เดือนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 ต้องเข้าถึงและได้รับการเยียวยาจากกระทรวงการคลัง โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติเนื่องจากมีรายชื่ออยู่ในระบบประกันสังคม และให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินเยียวยาผ่านบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนทันที
    • ข้อเสนอต่อรัฐบาลให้มีนโยบายลดค่าใช้จ่าย
  • เสนอให้รัฐบาลขยายมาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับค่าไฟฟ้าออกไปเป็นถึงเดือนธันวาคม 2563 และให้มีมาตรการลดค่าน้ำประปา ค่าอินเตอร์เน็ต และค่าโทรศัพท์ ลง 50 เปอร์เซ็นต์ถึงเดือนธันวาคม 2563 โดยให้ครอบคลุมถึงแรงงานที่เช่าห้องพัก เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชนและแรงงานกลุ่มต่าง ๆ ที่ถูกเลิกจ้าง หยุดงาน และกลุ่มคนทำงานที่บ้าน ที่ยังคงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายคงเดิมในขณะที่ไม่มีรายได้ หรือรายได้น้อยลดลง
  1. มาตรการการฟื้นฟูในระยะยาว
    • สำนักงานประกันสังคมต้องเปิดให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในทุกอาชีพสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา  33
    • เสนอให้ปรับปรุงเงื่อนไขการเกิดสิทธิในกองทุนประกันสังคม โดยให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่มีการเข้าสู่ระบบประกันสังคม
    • ให้แก้ไข กฤษฎีกา ให้แรงงานข้ามชาติที่มีความประสงค์ที่จะกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำนาญชราภาพทั้งก้อนได้ทันที
    • ให้รัฐบาลขยายแหล่งที่มาของรายได้ในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างโดยให้จัดเก็บเงินจากนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในประเทศไทย เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายให้กับคนงานในกรณีปิดกิจการ หรือเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย เนื่องจากที่ผ่านมามีนักลงทุนจำนวนมากไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในกรณีปิดกิจการหรือเลิกจ้างคนงาน โดยผลักภาระให้กับคนงานดำเนินคดีความเพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเอง และมีคนงานจำนวนมากชนะคดีแต่ไม่ได้รับการชดเชยแต่อย่างใด เพราะนักลงทุนอ้างว่า ไม่มีเงิน ล้มละลาย หรือหนีออกนอกประเทศ
    • ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการจ่ายเงินชดเชยของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้กับแรงงานเต็มจำนวนตามสิทธิที่พึ่งได้
    • ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดให้มีการอบรมอาชีพที่เหมาะสม ให้กับแรงงานทุกภาคส่วนทั้งแรงงานไทย แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ
    • ด้วยสภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น สวัสดิการที่รัฐจัดให้กับกลุ่มผู้สูงวัยและกลุ่มคนพิการไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี การดูแลคนทั้งสองกลุ่มนี้ต้องมิใช่เป็นเพื่อการสงเคราะห์แต่ให้มองว่าเป็นการดูแลกันระยะยาวอย่างมีคุณภาพ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเพิ่มเงินสวัสดิการให้กับกลุ่มผู้สูงวัยและผู้พิการเป็นเดือนละ 3000 บาท ซึ่งเป็นการคำนวณจากฐานเส้นความยากจน
    •   ขอให้กระทรวงแรงงานมีนโยบายให้สามารถจ้างงานเยาวชนนักเรียนข้ามชาติที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี  ทำงานในช่วงระหว่างปิดเทอมเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีงานทำ มีรายได้ และได้มีประสบการณ์ในการทำงานและเรียนรู้สังคมมากขึ้น
    • ขอให้รัฐบาลไทยกำหนดให้พนักงานบริการ คนงานทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี เป็นอาชีพที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ โดยไม่เลือกปฏิบัติ
    • ขอให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน
  1. ข้อเสนอต่อรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ รัฐบาลกัมพูชา และรัฐบาลสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
    • ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ รัฐบาลประเทศกัมพูชา และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีมาตรการช่วยเหลือดูแลประชาชนของท่านที่ทำงานและพำนักในประเทศไทยโดยเข้ามาดูแลเรื่องที่พักและอาหารที่เหมาะสม และค่าใช้จ่ายระหว่างที่ไม่มีงานทำ และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้  และเมื่อใดก็ตามที่มีการเปิดด่านชายแดนให้รัฐบาลของท่านดำเนินการช่วยเหลือประชาชนของท่านที่มีความประสงค์ต้องการเดินทางกลับบ้านอย่างรวดเร็วและปลอดภัย
    • ขอให้รัฐบาลไทย รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ รัฐบาลกัมพูชา และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กำหนดนโยบายลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการขอใบอนุญาตทำงาน การขอวีซ่า การตรวจสุขภาพ ลงอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์

ด้วยข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากลนี้ได้เรียกร้องต่อหลายหน่วยงานจึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้นำเสนอข้อเรียกร้องต่อไปยังส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถานทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ประจำประเทศไทย  สถานฑูตกัมพูชาประจำประเทศไทย  และสถานฑูตสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย