ลูกจ้างพม่า ร้องนายจ้างไม่แลหลังบาดเจ็บจากการทำงานนานหลายเดือน

น้ำท่วมใหญ่แรงงานข้ามชาติ ทนอดไม่ไหว ร้องรับความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือแรงงานฯ พบปัญหาบาดเจ็บจากงานไม่รู้สิทธิ นายจ้างเมินให้หยุดไม่จ่ายค่าจ้าง หายทำงานได้ค่อยมา

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2554 ได้มีแรงงานข้ามชาติ ชาวพม่า(ต่างด้าว) เข้ามาขอความช่วยเหลือที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่แยกอ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากได้รับอุบัติเหตุช่วงที่ทำงานในโรงงาน แต่นายจ้างไม่รับผิดชอบแลเยียวยาปล่อยให้ไปรักษาเอง

นายบุญ (นามสมมุติ) เป็นลูกจ้างสถานประกอบการ บริษัทผลิตยางแห่งหนึ่ง ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยมีพนักงานประมาณ 300-400 คน เป็นแรงงานต่างด้าวประมาณ 250 คน ตนเองเริ่มเข้าทำงานในวันที่ 29 มีนาคม 2554 เป็นเวลา 8 เดือน อยู่แผนกสร้างโครงยาง โดยได้รับค่าจ้างวันละ 215 บาท ถ้ารวมโอที(ล่วงเวลา)จะได้ค่าจ้างวันละ 375 บาท การทำงานแบ่งเป็น 2 กะ คือ กะเช้า และกะบ่าย

นายบุญ เล่าว่า “ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ตนเองกำลังมัดซีลวดที่ทำเป็นโครงสร้างของยางอยู่ ซีลวดเหล็กได้บาดเป็นรอยลึกและยาว นายจ้างพาไปส่งรพ.กระทุ่มแบน เย็บแผล 15-20 เข็ม ไปรักษาอยู่ประมาณ 3 ครั้ง หลังจากนั้นนายจ้างก็ไม่ได้ดูแล ให้หยุดงานไม่ได้รับค่าจ้าง อยู่ห้องไม่มีข้าวกิน จึงได้ออกมาข้างนอก ช่วงนี้น้ำท่วม นายจ้างไม่ได้ช่วยอะไร วันนี้ยังไม่ได้ทำงานตั่งแต่เกิดอุบัติเหตุ ค่าห้องยังไม่มีจ่าย ต้องอาศัยเพื่อนๆ ก็มีแต่เพื่อนๆนี่แหละที่คอยหาข้าวให้กิน”

นายตุลา ปัจฉิมเวช ที่ปรึกษากลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติจะมีการรวมกลุ่มกันไว้ เพื่อคอยช่วยเหลือกันเองในยามที่มีปัญหา จะมีการเรี่ยไรเงิน สิ่งของ ภายในกลุ่มเพื่อช่วยเหลือเพื่อนๆที่มีปัญหา เดือดร้อน ดูแลกันเอง ยิ่งในวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิต และทรัพย์สินมีความเสียหายอย่างมากนั้น ยิ่งทำให้ชีวิตของแรงงานข้ามชาติทั้งหลายเหล่านี้ โดนทอดทิ้งและไม่เอาใจใส่จากนายจ้าง และนายจ้างหลายคนยังฉกฉวยวิกฤตน้ำท่วมเป็นโอกาสที่จะบอกเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ โดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชย ไม่จ่ายค่าจ้าง ให้หยุดงานรอโรงงานเปิดทำงาน วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ได้พัดพาความรับผิดชอบต่อลูกจ้าง ต่อสังคม ของนายจ้างหายไปกับกระแสน้ำ

อัยยลักษณ์ เหล็กสุข นักสื่อสารแรงงาน รายงาน