ลุ้นประกันสังคมเข้าวาระ2 ไม่ตัดสิทธิว่างงาน

P2070032

คปค.นัดวันที่ 9 ก.พ. เดินสายแจงผลเสียตัดสิทธิลาออกไม่ได้ว่างงานก่อนร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมเข้า สนช.วาระ 2 พร้อมยืนยันให้ใช้หลักการกฎหมายว่างงานเดิม หลายองค์กรรับกฎหมายใหม่ได้ประโยชน์เพิ่ม ทั้งการมีส่วนเลือกตั้งบอร์ดตรง และระบบตรวจสอบโปร่งใส หวัง สนช.ยึดประโยชน์ครอบคลุมคนทำงานส่วนใหญ่

ในการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาสรุปผลการพิจารณร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม โดยตัวแทนจากหลายองค์กรเห็นตรงกันว่า แม้ยังมีประเด็นสำคัญที่ถูกคัดค้านอย่างมากจากหลายฝ่าย เรื่องสิทธิกรณีว่างงานที่กฎหมายใหม่จะทำให้ผู้ประกันตนที่ลาออกไม่ได้รับสิทธิ เพราะเกิดผลกระทบกว้างขวางกับลูกจ้างจำนวนมากที่ถูกบังคับด้วยวิธีต่างๆให้ลาออกเองเพราะนายจ้างหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชย ทั้งยังเห็นว่าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประกันสังคมที่ผ่านมาหลายครั้งไม่เคยมีการตัดสิทธิประโยชน์ จึงเห็นว่า ควรยืนยันให้ใช้เนื้อหากฎหมายเดิมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนมากกว่า

P2070020P2070040

แต่ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้ก็มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ตรงกับที่ คปค.เสนอหลายเรื่อง เช่น คณะกรรมการประกันสังคมจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนมาจากการเลือกตั้ง ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใส ต้องมีการแสดงบัญชีทรัพย์สิน ผู้ประกันตนมาตรา 40 (แรงงานนอกระบบ)รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง กรณีได้รับความเสียจากบริการทางการแพทย์ได้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น เพิ่มกรณีสงเคราะห์บุตรเป็น 3 คน เป็นต้น จึงอยากให้กฎหมายผ่านเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในวาระ 2 และ 3 ต่อไป

P2070001P2070010

ด้านตัวแทนจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่เป็นองค์กรใหญ่ที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้อย่างหนักกล่าวว่า คสรท.ไม่ได้ต้องการให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมเพราะหลายเรื่องตรงกับที่ คสรท.เสนอโดยเฉพาะเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนและการตรวจสอบโปร่งใส แต่เห็นว่าการตัดสิทธิลาออกไม่ได้เงินว่างงานจะเกิดผลกระทบกับลูกจ้างทำให้ถูกกลั่นแกล้งมากขึ้น จึงขอคัดค้านประเด็นนี้อย่างถึงที่สุด และต้องการให้ประธานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธาน กมธ.วิสามัญ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) ไปร่วมกันหาทางออกในฐานะที่เป็นร่าง พ.ร.บ.ที่รัฐบาลเสนอเพื่อไม่ให้ประกันสังคมลิดรอนสิทธิผู้ประกันตน

ขณะที่นายมนัส โกศล คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฝ่ายลูกจ้างกล่าวว่า ได้สงวนคำแปรญัตติเรื่องนี้ไว้แล้วและจะอภิปรายเพื่อยืนยันให้คงตามกฎหมายเดิมไว้ที่จะทำให้ลูกจ้างที่เป็นผู้จ่ายเงินสมทบไม่เสียสิทธิว่างงานหากลาออก

นายภาคภูมิ สุกใส สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานตัวแทน คปค. กล่าวว่า ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 08.30 น. ทางเครือข่ายฯได้นัดเพื่อเข้ายื่นหนังสื่อต่อประธานสนช. และประธานคณะกรรมาธิการฯ เพื่อยืนยันให้พิจารณานำหลักการว่างงานในกฎหมายประกันสังคม 2533 ที่ว่า “ว่างงาน” หมายความว่าการที่ผู้ประกันตนต้องหยุดงานเนื่องจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง และลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง ซึ่งเกิดขึ้นได้ 4 กรณี ดังนี้

1. เพราะนายจ้างเลิกจ้าง (ปลดออก/ไล่ออก)

2. เพราะเกษียณอายุ และนายจ้างไม่ได้จ้างทำงานต่อ (ถือเป็นการ “เลิกจ้าง” ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา)

3. เพราะสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน

4. เพราะลาออกจากงาน ไม่ว่าด้วยเหตุอะไรก็ตาม? รวมถึงการลาออกก่อนกำหนดอายุเกษียณตามเงื่อนไขที่นายจ้างกำหนด

เนื่องจากเรื่องสิทธิว่างงานดีอยู่แล้วจึงไม่ต้องคิดอะไรใหม่จนเกิดการริดลอนสิทธิผู้ประกันตน เพราะสิทธิว่างงานกว่าจะเกิดสิทธิได้ก็มีขั้นตอน เช่น ต้องจ่ายเงินสมทบแล้วอย่างน้อย 6 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือน เมื่อลาออกหรือถูกเลิกจ้างมีกฎระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว คือต้องรายงานตัวขึ้นทะเบียนที่สำนักงานจัดหางาน เข้าสู่ระบบการจัดหางานเดือนละอย่างน้อย 3 บริษัท รายงานตัวอย่างน้อยเดือนละครั้ง และต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน เป็นตน ฉะนั้นการที่ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมมีการเพิ่มนิยามต่องท้ายกรณี “ว่างงาน” เป็นเพียงเพราะเหตุลูกจ้างถูกเลิกจ้างทำให้ผู้ประกันตนต้องถูกตัดสิทธิกรณีว่างงาน จึงเสนอให้ใช้นิยามเดิมที่คุ้มครองสิทธิผู้ประกันตนกรณีว่างงานครอบคลุมแล้ว

ทั้งนี้ ทางคปค.ได้เตรียมนัดเข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) และสนช.ท่านอื่นๆด้วย เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและขอให้สนับสนุนการใช้กฎหมายเดิมในกรณีว่างงานเพื่อให้กฎหมายใหม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนแทนที่จะเป็นการตัดสิทธิผู้ประกันตน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน