รำลึกและอาลัย “แดง อินโดจีน”

รำลึกและอาลัย “แดง อินโดจีน”

เพลง ลานข้าว โดย วงอินโดจีน  : เนื้อร้อง-ทำนอง / สหชาติ จันทินมาธร

indojeen 1

ผมพบกับ แดง-สหชาติ จันทินมาธร เมื่อราวปลายปี 2528 ตอนนั้นผมถูกเลิกจ้างจากการเป็นคนงานบริษัทไทยแมล่อนโปลีเอสเตอร์ ย่านรังสิต เพราะเหตุสไตรค์งานพร้อมเพื่อนๆอีกกว่า 600 คน ช่วงนั้นผมเรียนดนตรีอยู่กับ อ.โป๊ป-พนัสชัย ศุภมิตร (โดยการแนะนำของพี่ แอ๊ด-ยืนยง โอภากุล) ร่วมชั้นเรียนกับ วี-ทวีศักดิ์ สุทาวัน จากวงฟ้าสาง ซึ่งได้คิดกันว่าจะทำวงดนตรีขึ้นมา โดยได้ชวน ป้อม-ปราโมทย์ ทิพยโอสถ มือกีตาร์จากวง สองวัย มาร่วมกันทำเพลง จนได้เพลงครบก็เข้าห้องอัด โดยป้อมได้ชวนพี่ชาย อ๊อด-นพดล ทิพยโอสถ และ นกเขา-ณัฐ บุญญะเวช มือคีย์บอร์ดและมือกลองจากวง บาราคูดัส มาร่วมงานด้วย และแดงเป็นคนสุดท้ายที่ทวีศักดิ์ชวนมาเป็นนักร้องนำของวง ซึ่งถูกตั้งชื่อว่า วงอินโดจีน โดยการเสนอของ อ๊อด บาราคูดัส ระหว่างพวกเรานั่งรถแท็กซี่กลับจากห้องอัดเสียง งานเพลงชุดแรกชื่อ บทเพลงนี้ไม่มีรักให้ใคร ในสังกัดรถไฟดนตรีออกวางขายเมื่อเดือนมีนาคม 2529 แต่เพียงแค่ชุดเดียวก็ต้องหยุดเพราะวงมีปัญหาความไม่พร้อมหลายๆอย่าง นำไปสู่ปัญหากับต้นสังกัด

indojeen 011 indojeen 01

ระหว่างรอสัญญาที่ค้างคาให้สิ้นสุด ผมมักชวนวีกับแดงไปเล่นดนตรีด้วยกันกับวง คนงาน ซึ่งเป็นวงดนตรีของแรงงานที่ผมร่วมก่อตั้งขึ้นสมัยทำงานอยู่ในโรงงาน ตระเวณเล่นตามงานกิจกรรมต่างๆของแรงงาน ระหว่างนั้นก็ทำเพลงใหม่ไปด้วย โดยสมาชิกวงเหลือเพียง 4 คน คือ แดง นกเขา วี และผม ช่วงนี้มีครู ไผท ภูธา มาเป็นผู้จัดการให้ มีสมาชิกสมทบช่วยร้องเพลงเพิ่มมาคือ ต่อ-พลากร ลายกนก  อัดเสียงเสร็จ 10 เพลงก็เข้าสังกัด อาร์ เอส โปรโมชั่น เมื่อปี 2533 ในงานเพลงชุดแรกของวงอินโดจีน ภาค 2 ชื่อชุด สำเนียงนี้มีความเป็นมา เปิดตัวโปรโมทด้วยเพลง ลานข้าว แต่งโดย แดง อินโดจีน และมีเพลงฮิตโด่งดังหลายเพลงเช่น เขาพระวิหาร ผ้าป่าสามัคคี คำสัญญา แต่พอออกชุดที่ 2 สัญญาตะวัน ก็เริ่มมีอุปสรรคในวงจนเกิดปัญหากับต้นสังกัดซ้ำรอยเดิม สุดท้ายต้องหยุดทำงานเพลงและคาอยู่ในสัญญา 5 ปีที่ทำไว้

indojeen 2 indojeen 3
ผมกับแดงและนกเขา ยังคงเล่นคอนเสิร์ตในนามของวงอินโดจีนต่อไป โดยมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นมา คือ ติ๊ก-วรพจน์ คำเงิน (เสียชีวิตแล้วจากอุบัติเหตุรถชน) เล่นกีตาร์ ต้น-กานต์ สุริวงษ์ เล่นเพอร์คัสชั่น จิ๋ว-อรรถกร โตยอด เล่นคีย์บอร์ด และวงได้ไปช่วยทำบทเพลงชุด ตำนานแห่งศรัทธา ในโอกาสก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เมื่อปี 2536 ซึ่งมี พี่หงา พี่หว่อง พี่แอ๊ด มาช่วยร้องเพลงให้ด้วย ส่วนแดงช่วยเขียนบทกวีในเพลง คิดถึงตุ๊กตา เพลงรำลึกเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ หลังจากนั้นวงก็ซุ่มทำเพลงและออกงานเพลงชุดแรกของวงอินโดจีนภาค 3 ชื่อชุด สยามคำนึง ในสังกัด ต้นคิดดนตรี ค่ายเพลงอิสระเล็กๆลักษณะกึ่งๆใต้ดิน งานไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ต่อจากนั้นมาสมาชิกวงก็ค่อยแยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเอง แดงกับเพื่อนๆส่วนหนึ่งไปเล่นดนตรีในนาม แดง อินโดจีน และต่อๆมาก็ไปเล่นกับวงของ พี่หงา คาราวาน ส่วนผมและนกเขาไปร่วมทำวง สมัชชา ออกงานเพลงเพียงแค่ 1ชุด ในสังกัดวอร์เนอร์ประเทศไทย เมื่อปลายปี 2539

indojeen-union

indojeen-protest

indojeen - mayday

indojeen-siam
ผมพบกับแดงบ้าง 2-3 ครั้งเมื่อพี่หงาไปแสดงดนตรีให้กับแรงงาน ซึ่งผมและพี่น้องวง ภราดร วงดนตรีของแรงงานไปร่วมแสดงด้วย และครั้งสุดท้ายที่เจอกัน เป็นงานรำลึก 30 ปี มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2555 พอแดงเล่นเปิดวงให้พี่หงาเสร็จก็ลงมานั่งคุยกับผมจนพี่หงาเล่นเกือบเลิก
18 มกราคม 2556 ราวทุ่มครึ่ง น้องจากวงภราดรโทร.มาบอกผมว่า พี่สุนี ไชยรส บอกข่าวแดงเสียชีวิตแล้วจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์คว่ำที่สุพรรณ

ภราดร-แดง แดงอินโดจีน
ผมขอใช้โอกาสนี้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของ แดง อินโดจีน ทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่หงา ที่ทุกครั้งที่แดงคุยกับผม ก็มักจะชื่นชมพี่ชายคนนี้ด้วยอารมณ์เคารพรักอย่างยิ่งเสมอมา

ขอแสดงความอาลัยต่อเพื่อนที่จากไปก่อนเวลาอันสมควร ขอขอบคุณที่บ่อยครั้งได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือเกื้อกูลพี่น้องแรงงานในบทบาทของศิลปินผู้สร้างสรรค์บทเพลงเพื่อชีวิต และขอจงไปสู่สุขคติเถิด
จาก วิชัย นราไพบูลย์ (บวด อินโดจีน)

และ พี่น้องวง ภราดร

20 มกราคม 2556