รัฐวิสาหกิจ เปิดรณรงค์การบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555  ที่โรงแรมเฟิสท์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ได้จัดการสัมมนาวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ การรณรงค์ เพื่อการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ(QPS)  ในประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยตัวแทนกลุ่มสหพันธ์แรงงานระดับสากลในสาขาวิชาชีพต่างๆ 13 องค์กรในประเทศไทย ประกอบด้วย  1.  BWI สหพันธ์แรงงานก่อสร้างและงานไม้ระหว่างประเทศ ,2.  EI  สหพันธ์แรงงานด้านการศึกษาระหว่างประเทศ , 3.  IAEA พันธมิตรคนทำงานด้านศิลปะและการบันเทิงระหว่างประเทศ , 4.  ICEM สหพันธ์แรงงาน เคมีภัณฑ์ พลังงาน และเหมืองแร่ระหว่างประเทศ, 5.  IFJ สหพันธ์แรงงานนักหนังสือพิมพ์ นักข่าวระหว่างประเทศ ,6.  IMF    สหพันธ์แรงงาน เหล็กและโลหะระหว่างประเทศ, 7.  ITF     สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ , 8.  ITGLWF  สหพันธ์แรงงาน สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องหนังระหว่างประเทศ, 9.  IUF    สมาคมสหภาพแรงงานอาหาร เกษตรกรรม โรงแรม ภัตตาคาร การบริการอาหาร ยาสูบและแรงงานพันธมิตรระหว่างประเทศ, 10.  PSI สหพันธ์แรงงานสาธารณูปโภคระหว่างประเทศ, 11.  UNI เครือข่ายสหภาพแรงงานระหว่างประเทศ, 12.  ITUC สมาพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศ, 13.  TUAC คณะที่ปรึกษาด้านสหภาพแรงงาน สำหรับองค์กรเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า  โครงการรณรงค์ QPS การบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ หรือ “Quality Public Services”เป็นการทำงานร่วมกันของกลุ่มสหพันธ์แรงงานระดับโลกในสาขาวิชาชีพต่างๆ 13 องค์กร ที่รวมตัวกันเรียกว่า Global Unions ได้มีมติร่วมกันในการประชุมที่นครเจนิวา เมื่อเดือนตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา ในการผลักดันให้มีการรณรงค์เพื่อการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ (Quality Public Services) โดยจะเชื่อมโยงการรณรงค์ในระดับสากลเข้ากับการรณรงค์ในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ซึ่งได้มีการเปิดตัวกิจกรรมรณรงค์นี้ พร้อมกันทุกองค์กรในทุกประเทศทั่วโลกที่มีสหภาพแรงงานสมาชิกสหพันธ์แรงงานระดับโลกในสาขาวิชาชีพต่างๆ (GUFs) ไปเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2554 แต่ละองค์กร GUFs จะมีการกำหนดเมืองนำร่องในการรณรงค์ของแต่ละองค์กร เช่น PSI เปิดตัวการรณรงค์ที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีสหภาพแรงงานสมาชิกของ EI และ  ITF ในประเทศแอฟริกาใต้ร่วมกิจกรรมด้วย EI เปิดตัวที่ประเทศออสเตรเลีย ที่กรุงซิดนีย์หรือเมืองเมลเบิร์น ITF เปิดตัวที่กรุงเทพฯ ซึ่งสหภาพแรงงานสมาชิก ITF ในประเทศไทยร่วมงานกับ GUFs อื่นๆโดยประสานความร่วมมือกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และBWI เปิดตัวที่เมืองเชนไน ประเทศอินเดีย

โดยมีวิสัยทัศน์ของการรณรงค์

การบรรลุเป้าหมายของโลกที่มีสันติภาพ มีความยั่งยืนและความยุติธรรม ที่ซึ่งมีความเสมอภาค ความเท่าเทียมที่เพิ่มมากขึ้น และความยากจนที่น้อยลง ที่ซึ่งสมาชิกในชุมชนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการบริการสาธารณะต่างๆ และผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้ให้บริการเหล่านี้ได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งรวมไปถึงการมีสภาพการจ้างงานที่เหมาะสม และมีความมั่นคงในการทำงาน

การรณรงค์นี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเข้าใจที่ว่า การบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ต้อง  

1.  ออกแบบมา เพื่อให้เกิดการลงทุน เพื่ออนาคตของชุมชน

2.  ได้รับการสนับสนุนทางการเงินหรือการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม ตอบสนองความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่

3.  มีมาตรฐานทางจริยธรรมสูง

4.  เป็นการบริหารงานอย่างเป็นประชาธิปไตยโดยมีการกำหนดนโยบายอย่างเปิดเผยและโปร่งใส

5. ให้บริการสาธารณะโดยแรงงานที่ได้รับการอบรมฝึกฝนมาเป็นอย่างดีและแรงงานเหล่านั้นต้องได้รับสิทธิอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

6.  ให้โอกาสแรงงานได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายและนำไปปฏิบัติ

7.  ผู้หญิงรวมถึงประชาชนทุกกลุ่มได้รับความเท่าเทียมในการตอบสนองความต้องการต่างๆ

วัตถุประสงค์

1.  เพื่อให้การบริการสาธารณะเป็นวาระเร่งด่วนที่สำคัญเหนือกว่าวาระทางการเมืองทั้งปวง – ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับโลก

2.  เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ประชาชน และจากทางการเมืองในเรื่องของการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ

3.  เพื่อให้ได้มาซึ่งการจัดสรรงบประมาณ การส่งเสริมทางการเงินที่เหมาะสมพอเพียง เพื่อการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ

4.  เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพนั้นมีราคาที่ไม่แพงและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน

5.  เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ การกำหนดลำดับความสำคัญ และการจัดหา การเตรียมการต่างๆ

6.  เพื่อเรียกร้องให้มีขั้นตอน กระบวนการที่เปิดเผย และมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน รวมถึงการเคารพในสิทธิตามมาตรฐานแรงงาน สำหรับการประมูลสาธารณะ การจัดซื้อจัดจ้างสำหรับสินค้าและบริการต่างๆ

7.  เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิสหภาพแรงงานสำหรับแรงงานทุกคน และเพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงาน และสำหรับพนักงาน ลูกจ้างแรงงานภาครัฐ การรณรงค์นี้จะช่วยให้พวกเขาได้รับการสนับสนุนที่ดีขึ้น ทั้งสำหรับพวกเขาในฐานะผู้ให้บริการและประชาชนที่พวกเขาให้บริการ

8.  เพื่อแสดงให้เห็นอย่างหนักแน่นถึงบทบาทพลเมืองในกระบวนการประชาธิปไตยที่มีผลต่อการเข้าถึงการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ

9.  เพื่อย้ำให้เห็นถึงความสำคัญขั้นพื้นฐานของการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพในการสร้างชุมชนที่มีความยั่งยืนทั้งทางด้านสภาพแวดล้อมและทางเศรษฐกิจ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง

10.  เพื่อต่อสู้กับความพยายามรอบใหม่ในการที่จะตัดงบประมาณด้านการบริการสาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติทางการเงินรอบใหม่ เพื่อระดมกำลังต่อต้านการกลับมารุ่งเรืองของนโยบายใดๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ และเพื่อที่จะสนับสนุนและผลักดันให้มีนโยบายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนรวมและความเป็นจริงเป็นหลัก 

การรณรงค์การบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ (QPS) ในประเทศไทย มีสหภาพแรงงานหลายแห่งที่เป็นสมาชิกสหพันธ์แรงงานระดับโลก (Global Unions) เหล่านี้ และได้มีการทำกิจกรรมเปิดตัวการรณรงค์ไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2554 ด้วยเช่นกัน

สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ได้กำหนดให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองในโครงการนำร่อง QPS โดยกำหนดให้ช่วง เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2554 เป็นช่วงการณรงค์ในระยะแรก โดยหลังการเปิดตัวโครงการวันที่ 23 มิถุนายน แล้ว ITF ก็ได้ขยายโครงการรณรงค์ QPS ในประเทศไทยออกไปจนถึงเดือนธันวาคม 2555 โดยสหภาพแรงงานสมาชิก ITF ในประเทศไทย ได้มีการดำเนินการรณรงค์ร่วมกับ GUFs อื่นๆ โดยมีสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เป็นองค์กรหลักในการประสานงานและสนับสนุนในการเชื่อมโยงทำกิจกรรมต่างๆ

เจตนารมณ์-วัตถุประสงค์การณรงค์ QPS ในประเทศไทย

· เพื่อให้ผู้รับบริการ ประชาชน ได้รับการบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ราคาไม่แพง ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

·  คนงาน/พนักงาน/ผู้ใช้แรงงานเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ได้รับสวัสดิการที่ดี มีความมั่นคงในการทำงาน และเข้าถึงสิทธิแรงงานที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานแรงงานสากลที่กำหนดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

·  รวมถึงองค์กรที่กำกับดูแลการบริการสาธารณะต่างๆนั้น ต้องมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งได้ข้อเสนอที่ยื่นต่อรัฐบาล เมื่อ 7 ตุลาคม 2554

1.  รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และประกาศใช้พระราชบัญญัติพัฒนารัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ มีการจัดสรรงบประมาณให้การบริการสาธารณะในทุกด้านอย่างเหมาะสม และปราศจากการทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ

2.  รัฐต้องให้ความสำคัญกับการบริการสาธารณะอย่างมีคุณภาพ มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ คำนึงความปลอดภัยก่อนผลกำไร ตอบสนองความต้องการของประชาชน และประชาชนทุกกลุ่มต้องเข้าถึงการบริการเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

3.  รัฐต้องประกาศรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม  และ ต้องส่งเสริมสิทธิแรงงานที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานแรงงานสากลที่กำหนดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

4. รัฐต้องสนับสนุนให้แรงงาน บุคลากรมีความมั่นคงในการทำงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างๆ

5. รัฐต้องมีส่วนร่วมและส่งเสริมให้การบริการสาธารณะมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

องค์กรร่วมรณรงค์ในประเทศไทย ประกอบด้วยสหภาพแรงงานสมาชิกของ  ….

1.  สรส.  สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

2.  PSI  สหพันธ์แรงงานสาธารณูปโภคระหว่างประเทศ

3.  ITF สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ

4.  ICEM  สหพันธ์แรงงานนานาชาติในกิจการ เคมีภัณฑ์ พลังงาน เหมืองแร่ และแรงงานทั่วไป

5.  IMF  สหพันธ์แรงงานเหล็กและโลหะระหว่างประเทศ

6.  UNI เครือข่ายสหภาพแรงงานระหว่างประเทศ

7. BWI  สหพันธ์แรงงานก่อสร้างและงานไม้ระหว่างประเทศ

8.  EI   สหพันธ์แรงงานด้านการศึกษาระหว่างประเทศ

สำหรับวันรณรงค์ QPS ทั่วโลก ซึ่งได้กำหนดไว้เป็นวันที่ 23 มิถุนายน 2554 ซึ่งสหภาพแรงงานสมาชิกของสหพันธ์แรงงานระดับโลกอื่นๆ ก็   ได้จัดกิจกรรมขึ้นในวันนี้พร้อมกันทั่วโลกด้วยเช่นกัน สโลแกนของ ITF คือ “ส่งเสริมการขนส่งสาธารณะ” (Promote Public Transport)

นายกิตติภณ ทุ่งกลาง เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า เรื่องการรณรงค์ QPS เป็นการกำหนดเรื่องการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อการบริการประชาชนอย่างแท้จริงจากการทำงานของ PSI ที่ผ่านมา 5 ปีเรื่องQPS ถือว่า ล้มเหลว เนื่องจากการบริการสาธารณะมีหลายประเภทกิจการ คิดว่าควรมีการทำงานร่วมกันกับหลายองค์กรที่ทำงานบริการด้วย จึงได้มีการเสนอในภูมิภาคหารือและจับมือร่วมกันทำงาน โดยทางPSI คิดว่า จะมีการเริ่มรณรงค์ในกรุงเทพมหานครด้วยการเริ่มให้บริการในชุมชนสัก 1 แห่ง ในพื้นที่การเคหะ จับมือกันระหว่างการไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง เข้าไปให้บริการเช่นการเปลี่ยนสายไฟฟ้าให้ใหม่ฟรี การประปาก็ดูแลในส่วนงานของตน องค์การเภสัชอาจมีการนำแนวคิดไขแลกยามาใช้ก็ได้ หรือว่าให้ความรู้เรื่องการใช้ยา รถเมลย์ก็อาจนำรถเข้าไปให้ความรู้เรื่องการเดินทางที่ปลอดภัยเป็นต้น ซึ่งอาจยังไม่สามารถทำให้ได้ทั้งหมด ในส่วนของภูมิภาคก็มีการเลือกชุมชนการเคหะสักหนึ่งแห่งเช่นเดียวกัน เป็นการให้บริการของแรงงานซึ่งจะเป็นบริการที่ดี และลบภาพที่ประชาชนมอง และจะได้เห็นด้วยพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

นายสนาน บุญงอก ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจขสมก. กล่าวว่า การทำงานของITF ได้มีการทำงานเคลื่อนไหวเรื่องการคัดค้านการแปรรูปมานานนับ 10 ปี และที่ผ่านมา มีหน่วยงานรัฐได้นำสติ๊กเกอร์ติดที่ตู้ทางด่วนว่า แปรรูปแล้วการบริการจะดีขึ้น เป็นการบอกถึงคุณภาพให้ประชาชนรู้ว่า แปรรูปซะแล้วจะได้รับบริการที่ดี

นโยบายQPS เป็นการรณรงค์ว่าการบริการสาธารณะไม่ควรแปรรูป ซึ่งถือเป็นระบบพื้นฐานที่ต้องให้บริการกับประชาชน ซึ่งประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมอาเซี่ยน(AEC) เป็นการเปิดกว้างในการบริการมากขึ้น ต้องให้บริการคนในสังคมอาเซี่ยนซึ่งไม่การบริการเพียงคนไทย กิจการสาธารณูประโภคต้องมีการพัฒนาด้านการบริการให้เป็นสากลมากขึ้น ต้องมีการพัฒนาทักษะด้านภาษา การบริการที่เป็นสากล QPS จึงต้องถูกนำมาพัฒนาเพื่อสู้กับแนวคิด ของการบริการเอกชนดีกว่ารัฐวิสากิจที่มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ตลอดเวลาเพื่อการนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในอนาคต เราต้องมีหัวใจในการบริการ ต่อประชาชนอย่างมีคุณภาพ

การที่ประชานไม่เข้าใจคุณภาพชีวิตของคนทำงาน และไม่สนใจเรื่องความมั่นคงในการมีงานทำ ประชาชนสนใจขเรื่องการให้บริการที่มีคุณภาพ การดูแลใส่ใจ หากเราบริการและแลประชาชนอย่างดี การที่จะมีการเรียกร้องให้มีการแปรรูปคงไม่มี เพราะประชาชนก็จะเข้ามาช่วยกันรณรงค์ปกป้อง

ฉะนั้น การที่เรียกร้องเรื่องความปลอดภัยมีคุณภาพในการบริการให้กับประชาชน รวมถึงการนำเสนอเรื่องการถูกระเมิดสิทธิแรงงาน การเรียกร้องอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 87 และ98 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม

ประเด็นการสื่อสาร ข่าวสารในโซเชียลมีเดียเรื่องการบริการที่ไม่มีคุณภาพถูกนำเสนอง่ายผ่านมือถือ ภาพต่างๆ เป็นการจับตาตรวจสอบการบริการโดยเฉพาะบริการของรถโดยสาร ภาพรถตู้ รถร่วม ตามสื่อโซเชียลมีเดีย และสู่สื่อกระแสหลัก ซึ่งสร้างภาพพจน์ที่ไม่ดีให้กับงานบริการจึงเห็นด้วยว่า งานรณรงค์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ความปลอดภัยต้องมาก่อนนี้คือการบริการที่มีคุณภาพ

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า ในระดับสากลมีแนวคิดทำงานร่วมกันรณรงค์QPS ซึงเป็นการตีโต้กับกลุ่มทุนที่ต้องการให้เกิดการแปรรูป เพื่อพัฒนาการบริการให้มีคุณภาพ โดยการรณรงค์การบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ การทำงานร่วมกับสื่อมวลชน แต่ตอนนี้ยังมีการทำงานที่ห่างกัน แต่ในการรณรงค์เรื่องการบริการที่ดี การบริการที่ปลอดภัย คิดว่า หากสื่อมวลชนเข้าใจเห็นถึงความสำคัญสื่อก็จะสนับสนุน สื่อมีความสำคัญมากในการนำเสนอข่าวสารข้อมูล ให้กับสังคม

เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รัฐใช้วิธีการแปรรูปแบบเงียบๆ เช่นการลดกำลังคน โดนเมื่อมีการเกษียณอายุแล้วไม่มีการรับคนเพิ่ม ใช้การจ้างงานชั่วคราวแทน และการจ้างงานแบบนี้ก็มีเพิ่มขึ้นในรัฐวิสาหกิจ การบริการไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีภาพรวมที่ออกมาก็คือคนงานรับวิสาหกิจ บางทีตัดไฟ ตัดน้ำ ฯลฯ โดยไม่มีการบอกกล่าวพูดคุยเพื่อทำแต้มอย่างนี้เป็นต้น

การยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเมื่อตุลาคม 2554 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติระบบบริการสาธารณะ แต่รัฐบาลไม่ทำ เช่นการ การทุจริตในระบบราชการ ในรัฐวิสาหกิจ กับโครงการต่างๆ

ระบบบริการที่ต้องดูแลชีวิตคน เช่นการรักษาพยาบาล ยังคงมีการจ้างงานแบบชั่วคราว ไม่มีความมั่นคง ไม่มีระบบดูแลด้านสวัสดิการให้กับคนทำงานแล้วการบริการที่ดีมีคุณภาพจะเกิดขึ้นอย่างไร เพราะคนงานงานก็ไม่ได้มีชีวิตที่มีคุณภาพ ซึ่งเช่นเดียวกับอาชีพครูที่พ่อแม่ และรัฐบาลฝากอนาคตของเด็กให้เขาสอนให้โตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ วันนี้การจ้างงานเปลี่ยนไปไม่มีความมั่นคง ไม่มีสวัสดิการมาดูแลชีวิตพวกเขาเชนกัน แนวนโยบายแปรรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การบริการการศึกษาที่มุ่งกำไร ลูกคนจนจะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างไร เมื่อคนสอนเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และเขาเหล่านนี้ก็ไม่ได้มีสิทธิในการได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานแย่ยิ่งกว่าคนงานในโรงงาน ไม่มีสิทธิในการตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งตอนนี้การรวมตัวที่เกิดขึ้นเป็นการรวมตัวตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ได้มีกฎหมายคุ้มครอง

การทำงานต่อไปต้องมีการเข้าไปร่วมกับแรงงานนอกระบบในกลุ่มแท็กซี่ กลุ่มมอเตอร์ไซด์รับจ้าง กลุ่มคนทำงานบริการสาธารณะ ทั้งรถเมล์ ขนส่งมวลชน เครื่องบิน ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ไปรษณีย์ การศึกษา แพทย์ พยาบาล ฯลฯ เพื่อการทำงานรณรงค์ให้เกิดการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ปลอดภัย   

นางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลี่ยว เจ้าหน้าที่ส่วนงานคดี ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิผู้บริโภค เล่าว่า การทำงานรับเรื่องราวร้องเรียนซึ่งก็จะมีการทำงานในหลายรูปแบบในการรณรงค์เช่นการเดินรณรงค์ถือป้าย การยื่นหนังสือ การฟ้องร้องเรียกร้องสิทธิ และให้คำปรึกษา การใช้สื่อในการรณรงค์เว็บไซต์ โซเชียลมิเดีย ฯลฯ

ในส่วนการทำงานรณรงค์เรื่องการบริการสาธารณะการขนส่ง เช่นกรณีรถตู้บรรทุกคนเกิน การฟ้องร้องทวงคืนการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) กรณีท่อก๊าซ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฝผ.) การบริการด้านสุขภาพ และล่าสุดก็มีการร้องเรียนการฉายวิดีโอหนังบนรถทัวร์ เป็นต้น

การทำงานจะมี 3 ระดับ คือ

1. การเฝ้าระวัง เรียกว่าอาสาหน่วยพิทักษ์ผู้โดยสารที่ปลอดภัยโดยการทำงานร่วมกับประชาชนให้ส่งคลิปภาพที่เห็นการบริการที่ไม่ปลอดภัยมา แล้วจะได้รับเสื้อ และเข็มกลัดอาสารณรงค์

2. การให้ข้อมูล ความรู้และความเข้าใจ โดยใช้สื่อทำความเข้าใจ เช่น สื่อโซเชียลมิเดีย กระจายสื่อสารผ่านอินเตอเน็ตโซเชียลเน็ตเวิร์ค

3. การรับเรื่องราวร้องเรียน โดยเสนอว่าร้องทุกข์ร้อยครั้งดีกว่าบ่นครั้งเดียว ใช้การสื่อสารในโซเชียมิเดียก็ได้

4. ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการให้บริการ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิ เช่น การฟ้องร้องดำเนินคดี เรียกร้องค่าเสียหาย

สุดท้าย ทำข้อเสนอยื่นต่อรัฐบาลให้ทำเป็นนโยบาย เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ควบคลุมการเดินรถโดยสาร 24 ชั่วโมง เป็นต้น

นายประวิทย์ โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น กล่าวว่าสิทธิพลเมืองมีสิทธิได้รับการบริการที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งพนักงานรัฐวิสาหกิจก็เป็นทั้งพลเมือง คือหมวกผู้บริโภค และผู้ให้บริการเองด้วย เป็นผู้ที่เสียภาษี ทุกคนรวมทั้งแรงงานข้ามชาติต้องเสียภาษีให้รัฐทั้งทางตรง และทางอ้อม

ตนมองว่า ขบวนการแรงงานล้มเหลวในการเสนอข้อแรงงานเสนอต่อรัฐบาล ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้รัฐบาลประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทย ตัวแทนของแรงงานในการเมืองอยู่ตรงไหน เมื่อไม่มีสถานะทางการเมืองการที่ยื่นข้อเรียกร้องไปก็ไม่เป็นผล ไม่ถูกนำขึ้นมาพิจารณา เพราะไม่มีอำนาจการต่อรอง

แนวคิดการแปรรูปในกระแสโลก ขบวนการแรงงานต้องหาจุดร่วมทำงานรณรงค์ทางสาธารณะ เช่นเรื่องควันดำ มลภาวะจากมลพิษ รถเมล์ ขสมก.ที่ไม่ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้หยิบมาทำงานรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขบวนการแรงงานรัฐวิสาหกิจต้องเลือกประเด็นในการทำงานที่แหลมคม และเปิดพื้นที่รณรงค์ให้ประชาชนเห็น เพราะสิ่งที่สาธารณะชนเห็นคือภาพรัฐวิสาหกิจเรียกรองแต่เรื่องตนเอง สาธารณะชนไม่ค่อยสนใจเรื่องการรวมตัว รู้จักสหภาพแรงงานน้อยมาก หากมาพูดเรื่องสหภาพแรงงาน เรื่องสิทธิสวัสดิการเขาไม่สนใจ ขนาดสื่อมวลชนเองก็ยังไม่สนใจเรื่องรวมตัว เรื่องสหภาพแรงงาน ต้องทำให้เห็นว่า สหภาพแรงงานทำงานเพื่อสังคม มีการเรียกร้องรณรงค์เรื่องการพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถทำได้เลยไม่ต้องรอ มีกรอบเวลาที่ชัดเจนอย่าติดกับเรื่องสีต่างๆทางการเมือง หากยังติดอยู่กับสีทางการเมืองประชาชนและสื่อจะไม่ไว้ใจ และจะทำอย่างไร ให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต่างๆมีการบริการที่นอกเหนือจากที่องค์กรทำเป็นประจำ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายสาธารณะกับประชาชน เพื่อให้เกิดกระแส fit back กลับมา เพื่อเสนอเป็นนโยบาย

นางสาววาสนา ลำดี นักสื่อสารเว็บไซต์Voicelabour กล่าวว่า การสื่อสาร กับการทำงานรณรงค์ถือว่าต้องทำด้วยกัน เพราะการสื่อสารเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร การทำงาน ซึ่งการสื่อสารเรื่องราวการทำงานขององค์กรแรงงาน หรือสหภาพแรงงานมีความจำเป็น เพราะคนไม่รู้จัก หรือเห็นเพียงภาพลักษณ์ของนักชุมนุมประท้วงเรียกร้องค่าจ้าง สวัสดิการ โบนัส รถติด สหภาพแรงงานเคยสื่อสารหรือไม่ ว่า เรื่องค่าจ้าง โบนัส สวัสดิการนั้น สาธารณชนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร ชีวิตของคนเพียงหนึ่งคนเกี่ยวข้องอะไรกับคนอีกหลายคน เช่น เราคือพ่อ เราคือแม่ เราคือคนในครอบครัวค่าจ้างของเราเลี้ยงคนในครอบครัว และหากวันนี้คุณภาพชีวิตคนทำงานไม่ดี การบริการจะดีได้อย่างไร อันนี้ก็ต้องสื่อสารทำความเข้าใจ และสวัสดิการ ค่าจ้าง ที่ปรับขึ้นไม่ได้แต่เพียงเราสหภาพแรงงาน แต่ได้ทุกคนที่เป็นคนทำงาน ต้องสื่อสารให้เขารู้ว่าสิ่งที่สหภาพแรงงานเรียกร้องคือเรื่องสาธารณะ

เห็นได้ว่า ขบวนการแรงงานต้องมีสื่อที่ต้องทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวของการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆของแรงงาน ต้องสื่อสารชีวิตของคนทำงาน เช่นภาพของพนักงานขับรถเมล์ขสมก. ที่ต้องอยู่กับความร้อน มลพิษ และมลภาวะของเสียง ผู้คนที่มาใช้บริการ เพราะคนอาจมองว่า เป็นแค่คนขับรถเงินเดือน 3 หมื่นบาท ถือว่าสูงมาก แต่คนไม่รู้ว่าทำงานมานานหลายสิบปีแล้วตั้งแต่เงินเดือนเพียงน้อยนิดกว่าจะมาถึงวันนี้ลำบากแค่ไหน ชีวิตเหล่านนี้ไม่เคยมีใครเล่า และไม่มีใครรู้เราต้องสื่อสารให้คนรับรู้

การทำหน้าที่นักสื่อสารแรงงาน ของคนงานในภาคเอกชน ที่สื่อสารผ่านเว็บไซต์voicelabour เขาทำหน้าที่รายงานเรื่องเล็กๆของเขา และเพื่อนๆในโรงงาน บางทีคนอาจมองว่าเรื่องเล็ก แค่เข็มเย็บผ้าตำเท้า หรือพัดลมล้นใส่หัว แต่เรื่องเหล่านี้คือเรื่องการทำงานที่ไม่ปลอดภัยต้องได้รับการแก้ไข หากมองว่าเล็กสักวันอาจเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมากก็ได้ นี้คือมุมมองของนักสื่อสารแรงงานที่ทำหน้าที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ

หากสังเกตเรื่องข่าวสารประเด็นแรงงาน จะพบว่า ข่าวแรงงานในภาคเอกชนมีจำนวนมากที่ได้รับการสื่อสารต่อสังคม ข่าวแรงงานรัฐวิสาหกิจมีน้อยมาก ซึ่งทำให้สังคมมองไม่เห็นประเด็นความเดือดร้อนของแรงงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ทราบว่าแรงงานรัฐวิสาหกิจกำลังทำสิ่งดีๆเช่นการรณรงค์เรื่องการบริการที่มีคุณภาพ การบริการที่ปลอดภัยเป็นต้น จึงเสนอให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจลุกขึ้นมาทำงานสื่อสารเรื่องราวของตนเอง ผ่าน โซเชียลเน็ตเวิร์ค ทวิสเตอร์ เฟสบุ๊ค เว็บไซต์ของสหภาพแรงงาน โดยต้องช่วยกันทำข่าวสร้างกระแสประชาสัมพันธ์การทำงานของสหภาพแรงงาน ช่วยกันกระจายข่าวสารแรงงาน การรณรงค์ออกไปให้มากๆ อย่ารอสื่อกระแสหลักเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งสื่อมองว่าเป็นเรื่องเล็กไม่ทำ แต่หากเรื่องเล็กสื่อสารออกไปสังคมเห็นด้วย สื่อกระแสหลักก็จะตามมาทำข่าวเอง ฉะนั้นการสื่อสารรณรงค์ต้องเริ่มที่สหภาพแรงงานลงมือทำก่อน

จากนั้นได้มีการแบ่งกลุ่ม 3 กลุ่ม เพื่อการทำงานวางแผนการรณรงค์QPS โดยสรุป คือ เสนอให้มีคณะทำงานรณรงค์QPSประกอบด้วยตัวแทนจากองค์กรต่างๆ เริ่มงานรณรงค์โดยเลือกพื้นที่ชุมชนขึ้นมาหนึ่งแห่งในการลงไปให้บริการด้านสาธารณูปโภค การให้ความรู้ด้านการบริการที่ปลอดภัย รวมทั้งจัดมีการรณรงค์สื่อสารทั้งภายในสมาชิกพนักงานรับวิสาหกิจ ผู้บริหารเพื่อการทำงานร่วมกันในการพัฒนาการบริการ และภายนอก คือสังคม ประชาชน ให้เกิดการมีส่วนร่วม มีการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อการรักษารัฐวิสาหกิจเป็นสมบัติชาติ และเป็นการบริการสาธารณะที่ไม่ควรมีการแปรรูป โดยจะมีการจัดทำเอกสารแผ่นพับ สติ๊กเกอร์ และทำงานร่วมกับสื่อมวลชนฯลฯ

(ขออภัยข่าวถูกแฮ็ก นำมาลงใหม่อีกครั้ง)

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน 

——————-

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมาได้มีการควบรวมกันของ 3 สหพันธ์แรงงานระดับโลก ได้แก่ 1)  ICEM-สหพันธ์แรงงาน เคมีภัณฑ์ พลังงาน และเหมืองแร่ระหว่างประเทศ  2) IMF-สหพันธ์แรงงาน เหล็กและโลหะระหว่างประเทศ  3)   ITGLWF -สหพันธ์แรงงาน สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องหนังระหว่างประเทศ ตั้งเป็นองค์กรใหม่ชื่อ IndustriALL Global Union โดยมีสมาชิกประมาณ 50 ล้านคนใน 140 ประเทศทั่วโลก ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พลังงาน เหมืองแร่ เหล็กและโลหะ สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องหนัง มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์