รมว.แรงงาน นัดพบ คสรท.รับพร้อมแก้ปัญหาแรงงาน สั่ง หน่วยงานเกี่ยวข้องหามาตรการช่วยเหลือโดยด่วน

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ประกอบด้วยกลุ่มสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน และตัวแทนประเด็นปัญหาเกือบ 20 คน นำโดยนายชาลี ลอยสูง ประธานฯ ได้เข้าพบนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ณ ห้องประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า การเข้าพบครั้งนี้เพื่อหารือและติดตามความคืบหน้าประเด็นปัญหาต่างที่เคยได้มีการยื่นหนังสือไว้ คือ  หนึ่งเรื่องสถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานและผลกระทบที่เกิดขึ้น สองเรื่องการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2556 สามความคืบหน้าเรื่องพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. ที่ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อเมษายน 2555 และ สี่ความคืบหน้าเรื่องการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98

(1.)สถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานและผลกระทบที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย

1.สถานการณ์การเลิกจ้าง และประกาศปิดกิจการของโรงแรมขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2555 มีการประกาศปิดกิจการของโรงแรมขนาดใหญ่ในจังหวัดภูเก็ต 2 แห่ง คือ โรงแรมดิ เอวาซอน กับ โรงแรมลากูน่า บีช รีสอร์ท ภูเก็ต การเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างพนักงานภาคบริการโรงแรมเกือบ 1,000 คน และยังเป็นการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานเกือบ 800 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่ทำงานกับโรงแรมมานานกว่า 10 ปี บางคนทำตั้งแต่เริ่มเปิดโรงแรมใหม่ๆ อายุงานราว 20 ปี เป็นต้น และพนักงานมีอายุกว่า 40 ปี ซึ่งก็จะพบกับปัญหาเรื่องการหางานทำใหม่

ข้อสังเกต คือ โรงแรมที่มีผลประกอบการดีมาโดยตลอด และไม่มีวี่แววว่าจะมีการปิดกิจการมาก่อน  ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่านายจ้างต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง หรืออาจต้องการยุบเลิกสหภาพแรงงานไปด้วยในขณะเดียวกัน และการเปิดกิจการขึ้นมาใหม่และต้องมีการเปิดรับพนักงานเข้าไปทำงาน ทำไมต้องเลิกจ้างพนักงานเก่าที่ทำงานมานาน นอกจากนั้นพนักงานแต่ละคนก็มีอายุมากประมาณ 40-50 ปี ทำให้หางานใหม่ทำไม่ได้ และมีกรณีที่พนักงานไปสมัครงานแล้วไม่มีโรงแรมไหนรับเข้าทำงาน อ้างว่าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจึงไม่รับเข้าทำงาน

กรณีดังกล่าวสหภาพแรงงานได้มีการยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รวมถึงยื่นหนังสือถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ตรวจสอบการเลิกจ้างและให้ความเป็นธรรม แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า และจากกรณีดังกล่าวสหภาพแรงงานภูเก็ต ไอร์แลนด์ ลูกจ้างของโรงแรมดิ เอวาซอน จึงได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยขณะนี้ศาลได้มีการนัดสืบพยาน

2. กรณีโรงงานไดนามิคปิดกิจการไม่มีกำหนดตั้งแต่วิกฤติอุทกภัยเมื่อพฤศจิกายน 2554 บริษัทไดนามิค โปรโมชั่น จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ หมู่  10  ถนนพุทธมณฑลสาย 4  ตำบลอ้อมน้อย  อำเภอกระทุ่มแบน  จังหวัดสมุทรสาคร  ประกอบกิจการประเภทผลิตของใช้ในครัวทำด้วยพลาสติก ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัยมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2554 และประกาศปิดกิจการชั่วคราวโดยไม่มีกำหนดเปิด และไม่มีการเลิกจ้างคนงานจำนวน 535 คน ปัจจุบัน นายจ้างยังไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง ไม่เปิดดำเนินกิจการ ไม่มีการปิดกิจการ และไม่เลิกจ้างคนงาน ซึ่งคนงานได้ดำเนินการร้องเรียนตามขั้นตอน

โดยสรุปคือ พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งเลิกจ้าง  5  คน  ส่วนอีก 22  คนมีคำสั่งให้จ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่าย ต่อมาในเดือนมีนาคม 2555 บริษัทฯได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน โดยนายจ้างได้ไปยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงาน ในขณะนี้อยู่ในกระบวนการของศาลที่มีการนัดไกล่เกลี่ยมาแล้ว  2  ครั้ง  ซึ่งนายจ้างพยายามที่จะขอไกล่เกลี่ยให้ลูกจ้างรับเงินค่าชดเชยต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ตัวแทนลูกจ้างทั้ง  7  คน  ต้องการให้จ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายและเงินค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด  ซึ่งในเดือนกันยายน  2555   ศาลได้นัดไกล่เกลี่ยอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามจนถึงในขณะนี้บริษัทก็ยังไม่มีการเปิดกิจการดำเนินงานแต่อย่างใด ซึ่งปัญหาสำคัญคือ การไม่สามารถใช้สิทธิกองทุนประกันสังคมได้โดยเฉพาะสิทธิประกันการว่างงาน

3. กรณีการเลิกจ้างแรงงานโรงงานเวิลล์เวลล์ เมื่อวันที่ 1  พฤษภาคม 2552 ลูกจ้างได้ตั้งเต็นท์เรียกร้องสิทธิที่หน้าโรงงาน  8  เดือน และได้ยึดทรัพย์สินนายจ้างขายทอดตลาด ได้เงินจากการขายทอดตลาดทั้งสิ้น  1,393,925.83  บาท  ตามคําสั่งศาลได้สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้กับลูกจ้างเป็นเงินจํานวน 2,216,942.25  บาท  และทางกรมบังคับคดีได้เฉลี่ยทรัพย์ให้กับกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างครบหนี้พร้อมดอกเบี้ย 15 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น  675,783.09 บาท ทำให้เหลือเงินเฉลี่ยให้กับลูกจ้างเพียง 718,142.74 บาทเท่านั้น ซึ่งลูกจ้างต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม เป็นเงินจำนวน 233,496   บาท และปัจจุบันคนงานยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว ซึ่งขอหารือ 4   ข้อ ดังนี้ 

(1) การให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็นเจ้าหนี้ระดับเดียวกับลูกจ้าง

(2) กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต้องไม่รับดอกเบี้ย

(3) ให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็นผู้ซื้อเครื่องเจาะกระเป๋า 1 ตัวจากทรัพย์ที่เหลือ

(4) ให้กองทุนสงเคราะห์รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นในกระบวนการบังคับคดีทั้งหมด เพราะไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของคนงานฝ่ายเดียว

4. กรณีวิกฤติอุทกภัยปี 2554 ต่อการละเมิดสิทธิแรงงานในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา จากวิกฤติอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ได้ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิแรงงานในหลายกรณีในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นกรณีบริษัทนิเด็ค อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ได้ประกาศใช้มาตรา 75 ในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อ้างว่าสถานประกอบการไม่มียอดการผลิต หรือกรณีของบริษัททีดีเอ รับเบอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้มีการประกาศขอปรับเปลี่ยนเวลาทำงาน จากเดิม 3 กะ คือ เช้า บ่าย ดึก เปลี่ยนเป็น 2 กะ คือ 08:00 น. ถึง 17:00น. และ 17:00 น. ถึง 02:00 น.ซึ่งทางสภาพแรงงาน ที.ดี.เอ ได้ยื่นหนังสื่อคัดค้านการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างไห้กับบริษัทไปแล้ว

 รวมทั้งในกรณีสืบเนื่องของสหภาพแรงงานนากาชิม่า ย้อนไปเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2548 นายจ้างได้ขออำนาจศาลแรงงานเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง ด้วยเหตุผลว่า กรรมการลูกจ้างนั้นใช้สิทธิการลาไปร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงานไม่เป็นตามเงื่อนไขที่กำหนด เดือนสิงหาคม พ.ศ.2549 ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาออกมาว่า นายจ้างไม่สามารถเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ แต่นายจ้างได้อุทธรณ์ไปที่ศาลฎีกาในวันที่ 20 ธันวาคม 2549 และมีการต่อสู้ในศาลฎีกาจนถึงวันที่ 3 กันยายน 2555 คำพิพากษายืนยันตามศาลชั้นต้นว่า ไม่สามารถเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ จนในที่สุดในวันที่ 5 กันยายน 2555 ลูกจ้างได้กลับเข้าไปทำงานในสถานประกอบการ แต่บริษัทอ้างว่า ยังไม่มีตำแหน่งหน้าที่ให้ปฏิบัติงานและออกหนังสืออีกหนึ่งฉบับให้ลูกจ้างมารายงานตัวทุกวันจันทร์ เวลา 10:00น.จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2556 ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ถือได้ว่าในกรณีนี้บริษัทไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฎีกา

5. กรณีการหลีกเลี่ยงการคุ้มครองสิทธิแรงงานในสถานประกอบการผ่านการจ้างงาน โดยใช้ “นักศึกษาฝึกงาน” ปัจจุบันนี้มีการจ้างงานในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ผ่านรูปแบบนักศึกษาฝึกงาน ทั้งนี้ตามหลักการของโครงการถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า นักศึกษากลุ่มนี้จะต้องมาทำงานเหมือนพนักงานประจำเต็มเวลา มีการเข้ากะ แม้ว่าจะมีการจ่ายค่าจ้างตามระเบียบ แต่ปัญหาที่พบ คือ เกิดปัญหาอุบัติเหตุในการทำงานหลายกรณี/บ่อยครั้ง ซึ่งตามวัยวุฒิแล้วนักศึกษาเป็นวัยที่ต้องศึกษาเล่าเรียน หากเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บจากการทำงานจะทำให้สูญเสียอนาคตได้

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่า ในขณะนี้มีหลายบริษัทมีการใช้นักศึกษาฝึกงานซึ่งมีสัดส่วนสูงมาก และมีสภาพการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานผู้ใหญ่ เช่น เริ่มงาน 8.00 – 17.00 น. ทำสัญญาจ้างงานเป็นเวลา 1 ปี แต่จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท คือ จ่ายเป็นค่าฝึกงานเพียงวันละ 200 บาท โดยลักษณะการทำงานก็ทำงานเหมือนกับพนักงานทั่วไป แถมถ้าวันไหนหยุดงานก็จะตัดค่าฝึกงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตในการที่จะต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทตามนโยบายรัฐบาล

(2)การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2556          

จากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 เห็นชอบให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดที่เหลืออีก 70 จังหวัด เป็นวันละ 300 บาท โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ เพราะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้  เป็นประโยชน์กับแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ และมีอำนาจต่อรองน้อย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางด้านรายได้ที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตัวเอง และยังเป็นการเพิ่มสวัสดิการทางสังคมให้ภาครัฐในทางอ้อม เห็นว่า กระทรวงแรงงานในฐานะผู้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลจึงต้องดำเนินนโยบายตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 เรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค โดยจะดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยังยืนยันว่ากระทรวงแรงงานต้องปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 โดยทันที เพราะเป็นการสร้างหลักประกันชีวิตที่มั่นคงของแรงงาน ดังเหตุผลต่อไปนี้

1)การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพราะค่าจ้างขั้นต่ำเป็นปัจจัยหนึ่งเพื่อทำให้แรงงานเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องมีมาตรการในการดูแล บังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะการไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยิ่งเป็นภาพสะท้อนสำคัญของการปล่อยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยใช้แรงงานราคาถูกต่อไปได้อย่างนิ่งดูดาย ตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง และไม่สามารถถีบตัวให้ก้าวเป็นประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น จนเป็นสังคมที่มีการกระจายรายได้ที่เสมอภาคกันได้จริง

2.) การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่แรงงานควรได้รับ เพราะแรงงานจะได้มีรายได้เพียงพอกับค่าครองชีพที่ทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาสินค้าสำหรับการดำรงชีพในชีวิตประจำวันที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งยังเป็นการปรับให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อโดยรวมทั่วประเทศ  เพราะในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.76% แต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.57% เท่านั้น ยิ่งจำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนี้โดยทันที เพราะจากการสำรวจของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยโดยตรง พบว่า ค่าจ้างที่ควรจะเป็นนั้นเท่ากับวันละ 348 บาท กล่าวได้ว่าค่าจ้างแรงงานไทยในปัจจุบันนั้นจึงอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับคุณภาพของฝีมือแรงงาน

3.) การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยรวมน้อยมาก เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (2554) ได้เคยประเมินผลกระทบทางตรงของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากสัดส่วนของต้นทุนที่มาจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า ผู้ประกอบการโดยรวมได้รับผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากโดยเฉลี่ยต้นทุนแรงงานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.7 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ในขณะที่การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.1 ของต้นทุนแรงงานทั้งหมด ทั้งนี้แรงงานไร้ฝีมือกระจุกตัวอยู่ในภาคอุตสาหกรรม โดยสาขาที่มีการใช้แรงงานไร้ฝีมือมากที่สุด คือ การผลิตสิ่งทอ ซึ่งมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานไร้ฝีมือเพียงร้อยละ 0.15 ของต้นทุนแรงงานทั้งหมดเท่านั้นด้วยเช่นกัน 

ถ้าจะกล่าวในเชิงรูปธรรมให้เห็นภาพมากขึ้น กล่าวคือ ต้นทุนค่าแรงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้า 1 ชิ้น ไม่ใช่ต้นทุนทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะทราบดีว่า ต้นทุนค่าแรงเป็นสัดส่วนประมาณ 10-15 % ของต้นทุนทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 215 บาทเป็น 300 บาท จะทำให้ต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 5 % เท่านั้น ไม่ใช่ 100 % ตามที่มักกล่าวอ้างถึง และเมื่อมองผลกระทบด้านอื่นๆ อีก เช่น การยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันชั่วคราว การลดภาษีเงินได้จาก 30 % เหลือ 23 % ในปี 2555 และเหลือ 20 % ในปี 2556 ยิ่งจะช่วยให้กำไรสุทธิของบริษัทมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

4.) มีความกังวลใจว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้มีการหลั่งไหลการเข้ามาเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือระดับล่างจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม หรือจีน ในกรณีนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเห็นว่า เราไม่สามารถปฎิเสธการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้ในประเทศไทยได้ นี้ไม่นับในปี 2558 ที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน คำถามสำคัญคือ เหตุใดนายจ้างไทยจึงนิยมจ้างแรงงานข้ามชาติ เพราะปัจจุบันทราบกันดีอยู่แล้วว่าแรงงานข้ามชาติยังคงรับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำกว่าแรงงานไทย แม้กฎหมายไทย เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะไม่ได้ยกเว้นแรงงานข้ามชาติจากสิทธิทั้งหลายที่กฎหมายกำหนด แต่ในความเป็นจริงนายจ้างก็กลับจ่ายค่าแรงต่ำกว่ามาก อีกทั้งไม่ได้ให้สวัสดิการใดๆที่กฎหมายกำหนด  ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะสามารถบังคับใช้กฎหมายให้ได้จริง เพื่อทำให้แรงงานข้ามชาติต้องได้รับค่าตอบแทนในทุกรูปแบบเท่ากับแรงงานไทย เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันในการจ้างงานที่ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันเหมือนในปัจจุบันนี้

5.) การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น และแรงงานก็จะเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อต้นปี 2555 พบว่า มีแรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าวันละ 300 บาท มี 11.5 ล้านคน (โดยสำรวจจากรายได้ที่เป็นเงินเดือน ที่คำนวณจากวันทำงานเฉลี่ยเดือนละ 26 วัน คูณ 300 บาท) มีรายได้เดือนละ 7,800 บาท ดังนั้นหากรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททันทีทั่วประเทศ จึงถือว่าครอบคลุมแรงงานจำนวนมาก เพราะการที่แรงงานในฐานะลูกจ้างยิ่งได้รับค่าจ้างสูงและเป็นค่าจ้างที่มีความเป็นธรรม มากพอที่ตัวเองและครอบครัวสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาคตามมา เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นความต้องการใช้จ่ายรวมของระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อคนงานมีรายได้สูง ย่อมมีอำนาจซื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น เป็นการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปในตัว  ทำให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การผลิตและการจ้างงานของเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แม้ต้นทุนแรงงานจะสูงขึ้น แต่สินค้าก็ถูกผลิตเพิ่มมากขึ้น ภาคธุรกิจก็ได้ประโยชน์ตามไปด้วย เพราะแรงงานผลิตสินค้าได้มากขึ้น และสินค้าก็ขายได้มากขึ้น เพราะแรงงานมีอำนาจซื้อสูงขึ้น

เพราะปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าแรงงานส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ เพราะมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 9,000 บาท จึงทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องดิ้นรนในการทำงานนอกเวลา โดยต้องทำงานถึงวันละ 10-14 ชั่วโมง เพื่อให้พอมีรายได้เพียงพอต่อรายจ่าย บางครั้งที่รายได้ไม่เพียงพอยิ่งส่งผลต่อปัญหาเรื่องภาระหนี้สินของแรงงานที่ไม่มีเงินออมต้องไปกู้ยืมหนี้นอกระบบมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงในเรื่องของการไม่มีเวลาในการดูแลครอบครัว ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาด้านครอบครัวอื่นๆติดตามมาเพิ่มขึ้น

โดยสรุปการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศนั้น จึงเป็นนโยบายที่ดีในการยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานที่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก และเป็นแนวทางในการกระตุ้นอำนาจซื้อของประชาชน นอกจากนี้ยังมีผลต่อการยกระดับผลิตภาพแรงงาน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาว

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า  การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน และค่าจ้างต้องเพียงพอต่อการครองชีพของลูกจ้างและสมาชิกในครอบครัว (ตามนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ) ในเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้นอัตราค่าจ้างต้องปรับตามประสบการณ์และฝีมือแรงงานที่เพิ่มขึ้น หากค่าจ้างไม่ปรับตัวสูงขึ้นและจ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว และนั้นหมายความว่าคุณภาพชีวิตแรงงานในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศที่มีผลต่อการเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศก็จะย่ำแย่ตามไปด้วย

(3.) ความคืบหน้าเรื่องพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. ที่ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อเมษายน 2555

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์เครือข่ายพันธมิตรด้านแรงงาน นำโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ได้ยื่นร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. .… (ฉบับบูรณาการแรงงาน) พร้อมกับจำนวนรายชื่อผู้เสนอในขณะนั้นจำนวน 14,500 ชื่อ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการและพิจารณากฎหมายฉบับนี้ แต่เนื่องจากมีการยุบสภาในวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร วันที่ 20 กันยายน 2554 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่มีมติเห็นชอบให้เสนอกฎหมายของภาคประชาชนจำนวน 9 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ เป็นหนึ่งในกฎหมายดังกล่าว

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา เพื่อให้ความเห็นชอบพิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบและยังดำเนินการไม่เสร็จตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 วรรคสอง ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอรวม 24 ฉบับ ซึ่งมีร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ. …. (ฉบับนางสาววิไลวรรณ แซ่เตียและคณะ) ทั้งนี้ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบรับรอง

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ถูกเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติ คือ การบรรจุวาระเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการเห็นชอบในวาระ 1 ในการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 ปีที่ 1 จนถึงกันยายน 2555 ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกบรรจุวาระเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการเห็นชอบในวาระ 1 ในการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 ปีที่ 1 ซึ่งในวันที่ 2 เมษายน 2555 คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ขณะเดียวกันคณะทำงานก็ยังคงเดินหน้าในการผลักดันให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ….ฉบับ 14,264 รายชื่อ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการไปยื่นหนังสือที่รัฐสภาถึง 4 ครั้ง เพื่อแสดงให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ทั้งรองประธานสภาฯ  ประธานวิปรัฐบาล ประธานวิปฝ่ายค้าน  คณะกรรมาธิการการแรงงาน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  รวมทั้งหัวหน้าและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน พบว่า ทางสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีความชัดเจนว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ในการประชุมครั้งใด แม้ว่าจะมีการบรรจุวาระการประชุมทุกครั้ง แม้รัฐสภาได้ขยายเวลาเปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติออกไปอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นมา โดยให้เหตุผลว่ายังมีร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติที่เสนอผ่านการเข้าชื่อโดยภาคประชาชนนั้น

กล่าวได้ว่าจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติรับรองและให้ความสำคัญต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อรัฐสภาโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถือว่า เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชน ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการใช้สิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางอ้อม ดังนั้นจึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของประธานรัฐสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งยังถือว่า เป็นการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

(4) ความคืบหน้าเรื่องการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98

ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้มีการรณรงค์ต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ

อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ. 2491 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง พ.ศ. 2492 เป็นอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยที่ประเทศภาคีสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ จำนวน 183 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 87 จำนวน 150 ประเทศ และให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 จำนวน 160 ประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยในฐานะภาคีที่เข้าร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 และเป็นประเทศภาคีสมาชิกยังไม่มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับ แม้ว่าการประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำปีสมัยที่ 99 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 กระทรวงแรงงานได้กล่าวถึงอนุสัญญาทั้งสองฉบับอย่างมีนัยสำคัญว่า ประเทศไทยตระหนักในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ และกำลังจัดทำแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า ด้วยความเคารพต่อสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานด้านแรงงาน นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการเป็นภาคีอนุสัญญาทั้งสองฉบับ

รวมทั้งกระทรวงแรงงานก็ได้มีการจัดทำโครงการประชาพิจารณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ของสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานเช่นเดียวกัน

ที่ผ่านมาพบว่า สถานการณ์ด้านการรวมตัวของขบวนการแรงงานไทยยังพบปัญหา ดังนี้

1) เสรีภาพการรวมตัวถูกจำกัด นายจ้างมักจะไล่ออกผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน มีการกลั่นแกล้งกรรมการสหภาพแรงงาน บทลงโทษนายจ้างกรณีนายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ทำให้นายจ้างต้องเคารพสิทธิแรงงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานมีจำนวนน้อย

2) กลไกรัฐและกฎหมายขาดการส่งเสริมการรวมตัวของแรงงาน การยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงาน การจัดทำข้อบังคับ/การประชุมใหญ่อยู่ในกรอบที่รัฐกำหนด รัฐมีอำนาจตรวจสอบสำนักงานสหภาพแรงงาน ปลดกรรมการสหภาพแรงงาน และยุบเลิกสหภาพแรงงาน พนักงานรัฐวิสาหกิจห้ามหยุดงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ครอบคลุมข้าราชการพลเรือน กลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มวิชาชีพ

3) การแบ่งแยกแรงงานภาครัฐวิสาหกิจออกจากแรงงานภาคเอกชน จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ทำให้แรงงานภาคเอกชนมีอำนาจต่อรองลดลง เนื่องจากผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนมีจำนวนน้อย มุ่งเน้นการทำงานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนเนื่องจากค่าจ้างแรงงานต่ำและสวัสดิการต่ำ

4) กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานและกลไกศาลแรงงานขาดประสิทธิภาพ กรอบคิดและวิธีปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งด้านแรงงานหรือคดีแรงงานขาดหลักประกันในสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน ศาลแรงงานมีหน้าที่หาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเพื่อวินิจฉัยข้อกฎหมายหรือแก้ไขปัญหา มิใช่ไกล่เกลี่ยโดยไม่คำนึงข้อเท็จจริง และประนีประนอมเพื่อลดภาระคดีในทางศาล

5) การจ้างบริษัทเหมาช่วงแรงงาน นายจ้างต้องการกำกับควบคุมแรงงาน ในมิติจำนวนแรงงานที่ไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้าง ความพยายามหลีกเลี่ยงการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือลดจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงาน

ดังนั้นการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 จึงเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

ข้อดีของการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ประกอบด้วย

1. เป็นการช่วยลดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ปัจจุบันและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีรากฐานมาจากการที่สังคมมีทัศนคติในทางลบต่อสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ทำให้ช่องทางในการพูดคุยอย่างเท่าเทียมโดยใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผลมีไม่เพียงพอ เมื่อลูกจ้างและนายจ้างเกิดความขัดแย้งจึงมีแนวโน้มจะขยายเป็นความรุนแรงได้ง่าย การให้สัตยาบันจะทำให้ประเทศไทยมีภาระผูกพันในการดำเนินการตามอนุสัญญา ต้องส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังให้ทุกฝ่ายยอมรับและปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถเจรจาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อันเป็นการส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนที่แท้จริง

2. การให้สัตยาบัน เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในชุมชนระหว่างประเทศ

2.1. ปรับสถานะประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศสมาชิกส่วนน้อยขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ยังไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ ซึ่งเหลืออยู่ไม่มากและถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างไปทั่วโลก

2.2. เป็นการแสดงว่าประเทศไทยยอมรับมาตรฐานแรงงานสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในยุคโลกาภิวัตน์ ที่กำลังนำเรื่องมาตรฐานแรงงานมาใช้เป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้า

3. การให้สัตยาบัน จะเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม และแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในประเทศให้สอดคล้องตามหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว ที่สำคัญได้แก่

3.1. การส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เช่น ข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานภาคเอกชนกับสหภาพแรงงานภาครัฐวิสาหกิจสามารถเข้าร่วมเป็นองค์กรเดียวกันได้

3.2. การคุ้มครองจากการแทรกแซงจากนายจ้าง เช่น คนงานที่ริเริ่มจัดตั้งสหภาพแรงงานและรวมตัวเจรจาต่อรองต้องได้รับการคุ้มครองจากการถูกเลิกจ้างและการปิดงานเฉพาะกลุ่ม

3.3. การคุ้มครองจากการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การสั่งให้กรรมการสหภาพออกจากตำแหน่ง การบังคับให้ลูกจ้างและนายจ้างที่จัดตั้งองค์กรต้องจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่รัฐ การบังคับให้ที่ปรึกษาของนายจ้างและลูกจ้างต้องจดทะเบียนกับทางการ

4. การให้สัตยาบัน ในระยะยาว จะช่วยสร้างสังคมที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างเป็นธรรม และช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน

5. การทำให้สิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังในประเทศไทย ย่อมเกิดผลดีต่อทั้งคนทำงานและนายจ้าง ความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายจะมีส่วนกระตุ้นให้ผลิตภาพขยายตัวในที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยโดยรวม

                ดังนั้นเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะทำให้คนทำงานทุกภาคส่วนสามารถรักษาสิทธิและผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ และเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คนทำงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างรัฐ ลูกจ้างเอกชน แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งประชาชนทั่วไป คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงสนับสนุนให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยเร็ว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงานทุกคนในประเทศไทย

ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างแรงงานเนื่องจากสถานประกอบการปิดกิจการว่า สถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานและผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและสมุทรสาคร เนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และปัญหาการเกิดวิกฤติอุทกภัย ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าว ทางกระทรวงแรงงานได้เร่งประสานไปยังหน่วยงานในสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมหาแนวทางและแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของการเข้าถึงความเป็นธรรมของลูกจ้างแล้ว โดยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตนั้น นายจ้างได้จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชย แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือนอกเหนือจากที่กฎหมายได้กำหนดไว้

อีกทั้งทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต  ได้ประสานงานกับสำนักงานจัดหางานภูเก็ต และชมรมบริหารงานบุคคลจังหวัดภูเก็ต เพื่อหางานใหม่ให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าว

ในส่วนกรณีสถานประกอบการในพื้นที่สมุทรสาครปิดกิจการ เนื่องจากประสบปัญหาวิกฤตอุทกภัย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งลูกจ้างได้ยื่นคำร้อง คร.7 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย แต่นายจ้างยังไม่ได้จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามสิทธิ ก็ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา เพื่อดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายกับนายจ้างแล้ว

ตนเองก็เป็นห่วงต่อแรงงานที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไป ในกรณีปัญหาสืบเนื่องจากการปิดกิจการของนายจ้าง ส่งผลให้ลูกจ้างกลุ่มดังกล่าว ไม่มีงานทำ เนื่องจากเป็นการยากที่บริษัทหรือกิจการใดจะรับสมัครบุคลากรที่มีช่วงอายุดังกล่าวเข้าทำงาน ในเบื้องต้นได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา โดยเร่งด่วนที่สุด

ทั้งนี้ทางกระทรวงแรงงานได้สรุปประเด็นการขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ด้วย

กรณี ลูกจ้างบริษัทเวิลล์เวลล์ การ์เม้นท์ จำกัด ได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างแล้ว แต่ประสงค์ให้กองทุนช่วยเหลือเพิ่ม คือต้องการจะเข้าไปเฉลี่ยทรัพย์กรณีขายทอดตลาดทรัพย์ของนายจ้างในส่วนที่เป็นลูกหนี้ที่ต้องจ่ายคืนให้กับกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง รวมทั้งขอให้กองทุนฯรับซื้อเครื่องจักรเจาะกระเป๋า 1 ตัว และให้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นในกระบวนการบังคับคดี ซึ่งประเด็นขอความช่วยเหลือดังกล่าวอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

กรณีหลีกเลี่ยงการคุ้มครองสิทธิแรงงานในสถานประกอบกิจการผ่านการจ้างงานโดยใช้นักศึกษาฝึกงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้กำหนดแนวทางการตรวจแรงงานโดยให้พนักงานตรวจแรงงานต้องดำเนินการตามพระราชราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 90 ประกอบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ซึ่งกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามระยะเวลาการทำงานเป็นวันตามข้อ 33 ซึ่งกำหนดว่า “วัน” หมายถึงเวลาทำงานปกติของลูกจ้างซึ่งไม่เกินชั่วโมงทำงานดังต่อไปนี้ แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติเพียงใดก็ตาม ดังนั้น เมื่อนายจ้างยอมให้ลูกจ้าง มาทำงานน้อยกว่า 8 ชั่วโมงได้ ก็ต้องถือว่า ลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างหนึ่งวันแล้ว ตามข้อ 33 นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นเงินไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามท้องที่จังหวัดที่ลูกจ้างทำงานหากปรากฏว่า มีการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างคนใดในวันทำงานปกติต่ำกว่าอัตราที่กำหนดดังกล่าว ถือว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 90

ประเด็นความล่าช้าในการดำเนินงานเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. (ฉบับที่..) คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. … เสร็จแล้ว และมีหนังสือฉบับลงวันที่ 10 กันยายน 2555 ขอให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมพิจารณาแจ้งยืนยันความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดนเร่งด่วน เพื่อจะได้ดำเนินการลงวันที่ 21 กันยายน 2555 แจ้งยืนยันร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม(ฉบับที่..)พ.ศ. ….ต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

เรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว และเจรจาต่อรอง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้สอบถามความเห็นจากกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้งสองฉบับ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเสนอเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ได้รับคำตอบจากกระทรวงการต่างประเทศยืนยันความเห็น (เมื่อ 14 มกราคม 2553) ว่าน่า จะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพันโดยการให้สัตยาบัน ส่วนาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่า จะให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีหนังสือสอบถามเมื่อได้รับหนังสือจากกระทรวงแรงงานแล้ว ขณะนี้กรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการให้สัตยาบันฯเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาต่อไป

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน