ย้ำ..มักกะสัน คือ “ลมหายใจของการรถไฟแห่งประเทศไทย”

13503018_1247904281886274_6042727733014592205_o

พนักงานรถไฟฯ รวมเครือข่ายประชาคมคัดค้านการเช่าที่ดินมักกะสัน หวังหยุดการส่งมอบที่ดิน 1 กรกฎาคมนี้ เตรียมเคลื่อนข้อมูลนี้ พร้อมส่งสัญญาณหาพันธมิตรรัฐวิสาหกิจในสมาพันธ์ฯ

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) ได้แสดงความคิดเห็นผ่าน Fan Page Facebook ของสรส. ต่อกรณีประชาคมคัดค้านการเช่าที่ดินรถไฟมักสัน โดยนายอินทร์ แย้มบริบูรณ์ เลขาธิการฯ ที่ยื่นหนังสือ ถึงสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) เพื่อขอรับการสนับสนุนร่วมคัดค้านการเช่าที่ดินรถไฟมักกะสัน ดังรายละเอียดหนังสือที่เผยแพร่ ซึ่งได้กล่าวถึงสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)นั้น มีนโยบายที่แจ่มชัดที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรดังปรากฏในธรรมนูญของ สรส.และจารึกในจิตวิญาณของ “คน สรส.”ว่า “จะร่วมกันปกป้องรัฐวิสาหกิจให้เป็นทรัพย์สมบัติของประเทศชาติและประชาชนจนถึงที่สุดและจะคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ”

ในฐานะเลขาธิการ สรส.และในฐานะคนรถไฟ ขอให้สาระ ความเห็น เพิ่มเติม ดังนี้ว่า มักกะสันคือ ลมหายใจของการรถไฟแห่งประเทศไทย คือ ฐานกำลังหลักในการผลิต ซ่อม สร้าง อุปกรณ์เพื่อให้ การรถไฟสามารถยืนหยัดภารกิจเพื่อรับใช้ประเทศชาติ ประชาชน มักกะสันทรงคุณค่าทั้งใน มิติประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ และมูลค่าในทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล จึงเป็นที่หมายหวังตั้งปองของกลุ่มคนที่พยายามหาประโยชน์มูลค่าทางธุกิจ มากกว่าที่จะรักษาคุณค่าที่พนักงานการรถไฟและประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ คงต้องถึงเวลาที่พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานรถไฟ ผู้บริหาร ครอบครัวคนรถไฟ และประชาชนผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลายจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องมักกะสัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยและคนรถไฟ

วาทะกรรมที่ใช้ความพยายามในการผลิตซ้ำมาหลายยุคสมัย คือ “การขาดทุนและเป็นหนี้” แต่ในเชิงลึกไม่มีใครอธิบายว่า ทำไมต้องขาดทุน และเมื่อขาดทุนการรถไฟจำต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องในแต่ละปี และต้องรับภาระดอกเบี้ย อันเป็นสาเหตุของการเป็นหนี้ “หนี้ที่การรถไฟต้องแบกรับอันสาเหตุหลักมาจากนโยบายของรัฐบาลเพื่อบริการประชาชนในการโดยสารในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง”

การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่เคยได้รับการปรับค่าโดยสารนับตั้งแต่ปี 2528 จนถึงวันนี้ 30 ปีเต็ม และต้องรับผิดชอบในการบำรุงโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด เช่น ทาง ราง สถานี และระบบอาณัติสัญญาณ หรือแม้กระทั่งลงทุนในโครงการใหม่ เช่น แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และโครงการรถไฟสายสีแดงและอื่นๆ และยังมีโครงการรถไฟฟรีเพื่อประชาชน ซึ่งภาระเหล่านี้ควรเป็นหน้าที่ของรัฐคือรัฐบาล แต่เมื่อรัฐบาลมอบให้การรถไฟดำเนินการรัฐบาลต้องชดเชยผลการขาดทุนที่กล่าวมาทั้งหมด มิใช่โยนภาระให้การรถไฟฯและที่สำคัญ พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ก็ได้กำหนดภาระเหล่านี้ให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบชัดเจน

ในมาตรา 43 บัญญัติว่า “รายได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับให้ตกเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่งๆเมื่อหักค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินงาน ค่าภาระต่างๆที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา และเงินสมทบกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทยและครอบครัวเงินสำรองธรรมดาที่ตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองขยายงานและเงินลงทุนตามที่ได้รับเห็นชอบตามความในมาตรา 42 เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ แต่ถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับรายจ่ายดังกล่าว นอกจากเงินสำรองที่ระบุไว้ในวรรคก่อนและการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถหาเงินจากทางอื่น รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเท่าจำนวนที่ขาด

จากการสอบถามข้อมูลจากส่วนที่เกี่ยวข้องรัฐชดเชยให้การรถไฟหลังสุดเมื่อปี พ.ศ.2553 แต่จ่ายแบบไม่เต็มจำนวนคือค้างจ่าย และคงค้างเต็มจำนวนนับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยขาดทุนสะสมประมาณ 75,000 ล้านบาท ยังไม่รวมเงินค้างจ่ายหรือหนี้ที่รถไฟไปกู้เงินมาสร้างโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายสีแดง เงินจำนวนที่รัฐบาลค้างจ่ายจนการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องกู้เงิน และต้องรับภาระดอกเบี้ยในแต่ละปีกว่า 3,000 ล้านบาท จนเกิดเป็นภาวะหนี้กว่า 100,000 ล้านบาท

ดังนั้นการนำที่ดินไปแลกกับหนี้ จึงไม่เป็นธรรมสำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือไม่ ยุติธรรมสำหรับพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือไม่ ยุติธรรมสำหรับการย้ายโรงงานมักกะสัน

ประเด็นที่สำคัญในครั้งนี้จึงไม่ใช่อยู่ที่ การเช่าที่ดินมักกะสัน ระยะเวลาการเช่ากี่ปี ราคาในการเช่ากี่ปี ฯลฯ

ประเด็นสำคัญอยู่ที่

1.ต้องคลี่ปมเรื่องหนี้ ทำไมการรถไฟแห่งประเทศไทยถึงเป็นหนี้ เป็นหนี้เพราะอะไร แล้วจะจัดการหนี้อย่างไร

หลังจากนั้นถึงมาหาทางออกร่วมกัน ทั้ง รัฐบาล การรถไฟแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย พนักงานการรถไฟฯในพื้นที่ และภาคประชาชน ภาคประชาสังคมว่า

2.จะรักษาคุณค่าโรงงานมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทยไว้ได้อย่างไร โดยที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยและครอบครัว รวมทั้งประชาชนที่ใช้บริการรถไฟทั้งประเทศ และประชาชนที่อยู่ในที่ตั้งของโรงงานมักกะสันคือกรุงเทพมหานคร

และที่สุดแล้วหากรับฟังกันมีเวทีแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน คนรถไฟมี “สำนึกภาวะ”พอในเหตุผล ที่ยึดมั่นในผลประโยชน์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ประเทศชาติและประชาชน

ดังนั้นเฉพาะหน้าจึงเป็นหน้าที่ของคนรถไฟทุกคน ทั้งผู้ปฏิบัติงาน ครอบครัว รวมทั้งผู้อาวุโสที่เกษียณอายุไปแล้ว ที่จะต้องร่วมกันแสวงหาและทำให้เกิดการเปิดเผยความจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่การรถไฟอันเป็นที่รักของทุกคน ภารกิจหลัก ณ เวลานี้

มักกะสัน คือ “ลมหายใจของการรถไฟแห่งประเทศไทย
มักกะสัน “ตาย” การรถไฟแห่งประเทศไทย “ตาย”
พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย “ตาย”
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย “ตาย”

โดย ทฤษฎีในการทำงานเพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์องค์กร กล่าวไว้ว่า “ภายนอกเป็นเพียงเงื่อน ปัจจัยภายในเป็นเครื่องชี้ขาด”

ดังนั้นการต่อสู้ภายใจต้อง สามัคคี เข้มแข็ง เป็นเอกภาพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญให้ภายนอกอย่างไปสนับสนุน เพื่อความสำเร็จ เพื่อเป้าหมายที่ต้องการ

เป็นกำลังใจให้กับความกล้าหาญในการลุกขึ้นสู้ของ “ประชาคมคัดค้านการให้เช่าที่ดินรถไฟมักกะสัน” สรส.กรรมการบริหาร กรรมการกลาง และองค์กรสมาชิกจะเร่งหาแนวทางในการสนับสนุนต่อไป

มักกะสัน

ทั้งนี้ ทางประชาคมพนักงานรถไฟ ได้ประกาศหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 แล้วว่า พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยขอให้ทบทวนการเช่าที่ดินมักกะสัน จากสาเหตุต้องการเอาเงินไปใช้หนี้ของการรถไฟฯที่ขาดทุนสะสม จึงขอให้ทบทวน ด้วยเหตุผลดังนี้

1. พื้นที่มักกะสันออกกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินและเริ่มสร้างราวปี 2453เป็นช่วงการปกครองระบอบสมบูรณาสิทธิราช ในสมัยราชการที่ 5  เป็นการพระราชทานที่ดินให้รถไฟหลวง สร้างเป็นโรงงานซ่อมรถไฟ โดยพระองค์ทรงมอบภารกิจอันสำคัญยิ่งนี้ให้ พระบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ที่ดินนี้จึงเป็นที่พระราชทานที่ต้องการให้มีความพร้อมในการซ่อมบำรุงรถไฟมิได้แปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

2. การขาดทุนของการรถไฟมิได้เกิดจากกิจการของรถไฟเอง แต่ถูกกำหนดให้ขาดทุน

2.1 การรถไฟถูกละเลยไม่ได้รับการสนับสนุนมาไม่น้อยกว่า 30 ปี ไม่ให้รถไฟขึ้นค่าโดยสารมา แต่รัฐกลับให้งบประมาณซ่อม-สร้างถนนปีละนับแสนล้านบาท ต่างจากรถไฟต้องหาเงินมาบริหารเอง ซ่อมบำรุง และสร้างทาง ซ่อมบำรุงรถจักรล้อเลื่อน ติดตั้งซ่อมบำรุงอาณัติสัญญาณ อื่นๆ

2.2 รถไฟไม่เคยอิสระในการบริหาร ถูกกำหนดให้ขาดทุนโดยนโยบายของรัฐ เพราะการรถไฟเป็รกิจการสาธารณูประการของรัฐชนิดหนึ่งที่ไม่หวังผลกำไร แต่มีหน้าที่รับใช้สังคม สร้างการขยายตัวทางภาคเศรษฐกิจ และผู้บริหารประเทศส่งคนเข้ามาเป็นบอร์ดควบคุมการบริหารดังนั้น การบริหารดีหรือไม่ ขาดทุน หรือกำไรรัฐต้องรับผิดชอบ เพราะคนของรัฐมาควบคุมดูแลตอบสนองต่อนโยบายของรัฐมิใช่โยนบาปให้รถไฟ

2.3 ไม่ให้รถไฟซื้อเครื่องมือหาเงิน เช่นไม่ได้ซื้อหัวรถจักรมาประมาณ 15 ปี ไม่ได้ซื้อโบกี้รถโดยสารประมาณ 20 ปี ไม่ได้ซื้อโบกี้บรรทุกสินค้าประมาณ 20 ปี จึงไม่มีของใหม่มาทดแทนของเก่าที่หมดอายุการใช้งานของเก่านี้ใช้งานมาแล้วไม่น้อยกว่า 20-40 ปี แต่ต้องใช้เพราะเครื่องมือหาเงินซึ่งยิ่งเก่าค่าซ่อมบำรุงก็สูงขึ้น แต่ก็จำเป็น

3. การให้เช่าระยะเวลา 99 ปีก็ไม่ต่างจากขายที่ดิน หวังแต่จะให้คนมาลงทุน จึงเป็นการมองเห็นประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งทางหลักรัฐศาสตร์ผู้บริหารมาจากการรัฐประหารจึงเป็นแค่รัฐบาลเฉพาะกาล ที่เข้ามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่มาผูกปัญหาระยะยาว 99 ปี ให้กับลูกหลานในอนาคต เช่น ชาวจีนต้องทนทุกข์มา 99 ปี เพราะถูกบีบบังคับให้ทำสัญญากับอังกฤษเช่าเกาะฮ่องกง แต่ประเทศไทยเต็มใจตรากฎหมายให้เช่า 99 ปี อย่างถูกต้อง ซึ่งการเช่าระยะยาวมักทำกันในประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้น

4. ราคาที่ประเมินแสนจะถูกมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท ในสายตาของนักลงทุนเล็กน้อยมากดูจากพื้นที่ที่ติดถนนสำคัญถึง 3 ด้าน ถนนเพชรบุรี ถนนรัชดา ถนนราชปรารภ ติดรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ติดรถไฟฟ้าใต้ดิน (รฟม.) ถ้าเทียบราคากับมูลค่าที่การรถไฟให้เซ็นทรัลพลาซ่าเช่าที่ดินลาดพร้าว 47 ไร่ 20 ปี มูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท แต่ที่โรงงานมักกะสันประมาณ 470 ไร่ พื้นที่มากกว่า = 10 เท่า คิดเป็นมูลค่า 2.1 แสนล้านบาท คูณด้วยระยะเวลาให้เช่าอีก 99 ปี = 5 เท่า จึงมีมูลค่า 1.05 ล้านล้านบาท เปรียบเทียบมูลค่าให้เช่ากับมูลค่าราคาตลาดต่างกัน 17.5 เท่า จึงไม่ต้องห่วงว่านายทุนไม่กล้าลงทุนทำเลทองอย่างนี้หาไม่มีอีกแล้ว ถ้าคิดเป็นพื้นที่รวม บ้านพัก โรงพยาบาล และอื่นๆอีกประมาณ 400 ไร่ จะมีพื้นที่รวมประมาณ 800 ไร่ จึงไม่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เท่านี้อยู่ใจกลางกรุงเทพฯมูลค่าของที่ดินจึงมหาศาล

5. การให้เช่าที่โรงงานมักกะสันก็เป็นการไล่ให้โรงงานไปอยู่ที่อื่นโดยไม่มีแผ่นงานรองรับที่ชัดเจน แต่ดูเจตนาคือทำอย่างไรก็ได้โรงงานมักกะสันต้องออกไป แล้วเอาที่ดินไปให้นายทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้กรมธนารักษ์เป็นเครื่องมือ ซึ่งไม่มีการสร้างโรงงานใหม่ จะเอาแต่ละหน่วยงานแต่ละศูนย์ซ่อมไปไว้ตามเขตแขวงต่างๆ เป็นการสลายทำลายโรงงานมักกะสันที่ตั้งมานานกว่า 106 ปี ทำลายระบบการซ่อมบำรุงรถไฟ

20150425_115801

วันที่ 20 มิถุนายน 2559 ทางพนักงานโรงงานมักกะสันได้มีการจัดเวทีพูดคุยและแถลงเพื่อขอให้มีการทบทวนการให้เช่าที่ดินมักกะสันด้วย และมีการเตรียมความพร้อมในการที่จะให้ข้อมูลกับทางชุมชนนิคมรถไฟมักกะสันเพื่อให้เข้าใจต่อสถานการณ์ดังกล่าว ตามโครงการหนี้แลกกับการเช่าที่ดินของ ร.ฟ.ท. ที่ให้กระทรวงการคลังเช่า 99 ปี เพื่อแลกกับภาระหนี้สินของ ร.ฟ.ท. มูลค่า 6.1 หมื่นล้านบาท โดยข้อมูลทั้งหมดจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เร่งรัดการพัฒนาที่ดินมักกะสันที่ ร.ฟ.ท.โดยใช้เวลา 2 ปี ส่งคืนพื้นที่ แบ่งเป็น 7 พื้นที่ ได้แก่พื้นที่บริเวณย่านโรงงานมักกะสัน และสถานีแอร์พอร์ตลิงค์ 105 ไร่ ส่งมอบวันที่เซ็นข้อตกลงในสัญญา คาดว่าจะดำเนินการได้ในต้นเดือน ก.ค.นี้ ส่วนพื้นที่โรงงานมักกะสัน และอาคารคลังพัสดุ 5 หลัง 30 ไร่ คาดว่าส่งมอบได้ช่วงเดือน มิ.ย. 2560 และพื้นที่อาคารโรงงานโรงพยาบาลบุรฉัตร และนิคมรถไฟมักกะสัน รวม 313 ไร่ ส่งมอบช่วงเดือน มี.ค. 2561

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน