ย้อนมอง 4 ทศวรรษกลุ่มแรงงานย่านรังสิต


วันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ได้จัดงานครบรอบ 40 ปีจัดเสวนา “ย้อนมองอดีต 40 ปี ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5” ณ ห้องประชุมรังสิตพรอสเพอร์เอสเตส ปทุมธานี ทั้งนี้ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียงก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2519 มีการทำงานครอบคลุมไปหลายจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันมีองค์กรสมาชิก 18 องค์กร สมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง อยู่ในพื้นที่รังสิต ปทุมธานีรวมถึงกรุงเทพมหานคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอ่างทองและจังหวัดสระบุรี โดยมีนโยบายหลักในด้านการส่งเสริมสิทธิแรงงาน การสร้างสังคมที่เป็นธรรม เสมอภาค รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรสมาชิกในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กรนายจ้างและลูกจ้าง ด้านวัตถุประสงค์กลุ่มนั้น คือ 1. ร่วมมือให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งความชอบธรรมในสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางกฎหมาย 2. ให้การศึกษาแรงงาน และยกระดับความคิดทางการเมือง 3. ต่อต้านเผด็จการ ในช่วงแรกที่มีการก่อตั้งนั้นมีสมาชิกร่วมกันจัดตั้ง คือสหภาพแรงงานสยามเส้นใยประดิษฐ์การทอ สหภาพแรงงานคูราโบ สหภาพแรงงานไทยบริดจสโตนสหภาพแรงงานเทยิ่นโพลีเอสเตอร์ สหภาพแรงงานคนทำยางแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานไทยฟีลาเมนต์ ซึ่งได้มีการประชุมกันครั้งแรกที่ห้องประชุมสหภาพแรงงานเทยิ่นโพลีเอสเตอร์

นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า ทำไมกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯถึงเกิดขึ้นเนื่องจากการเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 2504 หรือ2503 เป็นยุคของเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ ก็มีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งสมุทรปราการ เขตปู่เจ้าสมิงพราย เป็นย่านอุตสาหกรรมหนัก และย่านรังสิตเป็นย่านอุตสาหกรรมเบาซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ประกอบด้วยแรงงานประเภทสิ่งทอ การ์เม้นท์เท็กไทล์ ใช่แรงงานจากจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครนายกซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพมหานครเพื่อการส่งเสริมเป็นหลัก จึงเกิดย่านอุตสาหกรรมขึ้นมา ต้องการที่จะเป็นตลาดค้าส่งระดับชาติที่มีความเชื่อมโยงกัน วัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่มมีความชัดเจนทางความคิดและการทำงานด้านการศึกษาที่มีกลุ่มคนที่เรียกว่าฝ่ายซ้ายมาทำงานในทางความคิด ซึ่งก็มีขบวนการทำงานและผู้นำในอดีตของกลุ่มย่านรังสิตเองก็มีแนวคิดฝ่ายซ้ายด้วย ซึ่งเผด็จการที่ในอดีตอาจเป็นเผด็จการทหาร หรือฝ่ายขาวจัด แต่เผด็จการสมัยนี้อาจไม่ใช่ เพราะบางทีก็เป็นเผด็จการสับสนเพราะว่านักวิชาการ หรือผู้นำแรงงานบางคนก็ให้การสนับสนุนเผด็จ จึงกลายเป็นความสับสน เรื่องต่อมาคือช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 นั้น หลังจากที่คนงานมีสิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน และมีการกำหนดเรื่องของสิทธิในการนัดหยุดงานของลูกจ้าง และนายจ้างก็มีสิทธิในการปิดงาน ทำให้การเจรจาต่อรองของลูกจ้างด้วยการนัดหยุดงานไม่เป็นผลอีกต่อไป ซึ่งก็เห็นประเด็นของการพิพาทแรงงานและการปิดงานของลูกจ้างไทยบริดจสโตน โดยมีการยื่นข้อเรียกร้องประมาณ 5 ข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องหากนายจ้างมีผลกำไรควรต้องจ่ายโบนัสให้ลูกจ้าง 5 เดือน สุดท้ายมีการหยุดงาน แต่การต่อสู้ไม่โดเดี่ยวมีการประชุมเพื่อขับเคลื่อนร่วมกัน และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตมีการเข้าคุยกับทางนายจ้างไทยบริดจสโตนเพื่อเป็นตัวแทนในการเจรจา เป็นการทำงานหนุนช่วยกันของหลายสหภาพซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ กรณีที่ต้องกล่าวถึงเรื่องการต่อสู้ของกลุ่มฯอีกประเด็นคือกรณีการต่อสู้ของคนงานเสริมสุข หรือเป๊บซี่ สหภาพแรงงานเสริมสุข ซึ่งคนงานที่ขนส่งเสริมสุขได้รวมตัวในการต่อสู้ และมีการนำเรื่องเข้าสู่กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง และมีการเรียกร้องให้ทางกลุ่มมีการหนุนช่วยหรือหามาตรการในการช่วยเหลือการต่อสู้ของคนงานที่มีการนัดหยุดงานอยู่ซึ่งทางกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตได้มีมาตรการในการให้สมาชิกไม่ดื่มเป๊บซี่และไม่ให้รถเป๊บซี่เข้าไปในโรงงาน รวมทั้งได้มีการส่งเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานไปยังบริษัทเป๊บซี่ในต่างประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงส่งเรื่องร้องเรียนไปยังสหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มระหว่างประเทศเพื่อให้มีการรณรงค์ด้วย ถึงแม้ว่าจะถูกนายจ้างปฏิเสธบทบาทของกลุ่มสหภาพแรงงาน ตัวแทน หรือผู้แรงงานย่านรังสิตยังถือเป็นที่ยอมรับในความเป็นผู้นำในการก่อตั้งสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ที่น่าสนใจคือการขับเคลื่อนของกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯนั้นยังทำงานในการขับเคลื่อนต่อสู้ทางนโยบายระดับประเทศด้วย เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ และการแก้ไขปัญหาการจ้างงานระยะสั้นอีกด้วย

img_00091

 

นายวิชัย นราไพบูลย์ อดีตกรรมการสหภาพแรงงานไทยเมล่อนโพลีเอสเตอร์กล่าวว่า อยู่ใน 4 ทศวรรษกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯมาตลอด ตั้งแต่เป็นคนงานในพื้นที่ เป็นนักดนตรี และเป็นที่ปรึกษากลุ่มฯบ้าง ช่วงที่ทำงานเป็นคนงานในไทยเมล่อนนั้นหากหลายคนจำได้คือมีหลายโรงงานในเครือ ซึ่งไทยเมล่อนจะเป็นโรงงานหนึ่งที่ไม่ได้ใส่กางเกงสีชมพู เหมือนกับอีกหลายโรงงานที่ใส่สีชมพู ใส่สีฟ้า ที่มีคนงานรวมกันแล้วนับหมื่นคน และมีไทยเอโร่ ซึ่งจะเห็นภาพของการเคลื่อนไหวของกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯที่มีจำนวนมาก ช่วงหลังก็มีส่วนของพาร์การ์เม้นต์ ไทยอเมริกันเท็กซ์ไทล์ ซึ่งก็เป็นคำถามว่ากลุ่มฯเข้มแข็งจริงหรือไม่ เพราะหากว่าเข้มแข็งการต่อสู้ต้องชนะ แต่จะเห็นได้ว่าหลายกรณีแพ้ และที่มีการกล่าวถึงชัยชนะคือกรณีของคนงานเป๊บซี่แต่ว่าจะเห็นว่าชนะนั้นเป็นเพราะศาลสั่งให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงาน แต่หากจะศึกษาวิธีการทำงานการบริหารงานสหภาพแรงงานให้เข้มแข็งอันนี้ต้องมีการศึกษา ภาพความสำเร็จว่าเมื่อก่อนเข้มแข็งนั้นต้องศึกษาว่าการทำงานของกลุ่มในอดีตเป็นอย่างไร หรือสหภาพแรงงานเป็นอย่างไร ซึ่งตนจะขอกล่าวถึงแนวทางการทำงานของกลุ่มมี 2 หลัก คือ 1. หลักคิดกับ 2. หลักปฏิบัติ โดย 1. หลักคิดที่ต้องยึด คือความเป็นอิสระซึ่งช่วงนั้นจะมองไปในทิศทางเดียวกันคือความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นซึ่งก็ดูได้จากวัตถุประสงค์กลุ่มฯ ซึ่งอย่างโรงงานไทยเมล่อนฯ เมื่อก่อนจะอยู่ในหอพักที่เราสามารถทำงานจัดตั้งได้ง่ายพอเข้าที่พักเป็นเขตอิสระของแรงงาน เป็นแดนของสหภาพแรงงานซึ่งจะมีรวมกลุ่มเตะบอล กลุ่มอื่นๆมีเวลาที่จะพบปะพูดคุยกันหลังเลิกงาน ปัจจุบันไม่มีหอพักเมื่อเลิกงานก็ขึ้นรถรับส่งกลับบ้านต่างคนต่างอยู่ จะให้นั่งคุยกันอย่างเดิมทำได้ยาก ซึ่งต้องฝ่าฟันกันว่าจะทำอย่างไรในอนาคตต่อไป 
2. ความเป็นอิสระของกรรมการบริหารสหภาพ ซึ่งไม่เน้นความอาวุโสสามารถถกเถียงกันได้โดยใช้หลักการเหตุผลมาคุยกัน จากการสังเกตรุ่นหลังๆจะไม่กล้าที่จะถกเถียง ไม่มีความเป็นอาวุโส คนรุ่นเก่าบางทีอาจศึกษาไม่ทันยุคสมัยใหม่ ทุกคนต้องศึกษาเพื่อหาความรู้มาพูดคุยถกเถียงกัน อดีตในการประชุมประธานทำหน้าที่นั่งหัวโต๊ะควบคุมการประชุม ในการประชุมจะมีการถกเถียงพูดคุยกันซึ่งเป็นการทำหน้าที่ที่เท่าเทียมกันผ่านการศึกษาหาความรู้หาข้อมูลมา และเป็นคนหนุ่มสาวก็จะศึกษาทุกวัน อยู่กับการอ่านหนังสือศึกษาหาความรู้ และหลักคิดด้านประชาธิปไตย ที่ถูกเรียกว่าแดง การต่อสู้ตอนนั้นจะสู้กับทุนแล้วยังต้องสู้กับระบบการเมืองที่เอื้อต่อทุน ซึ่งมองว่าไม่เป็นผลดีต่อสหภาพแรงงาน เมื่อองค์กรไม่มีประชาธิปไตยทุกอย่างก็จบ การเข้าสู่อำนาจตรงนี้

3. หลักคิดความเป็นประชาธิปไตยต้องมีประชาธิปไตยในองค์กร การบริหารองค์กรต้องเป็นประชาธิปไตยความคิดของคนๆเดียวไม่สามารถนำองค์กรรอดได้ หากดูการจัดการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะเห็นได้จากวันนี้ที่การชุมนุมของแรงงานทำได้ยากมากกฎหมายไม่เอื้อต่อการบริหารจัดการบ้านเมืองจะจัดการแบบเผด็จการ การบริหารที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแม้ว่ามีการเลือกตั้งแต่ก็ไม่ยอมรับการเลือกตั้งจะเห็นได้จากการที่มีการฟ้องร้องกันจนลืมคำนึงถึงหลักการทำงานความเป็นสหภาพแรงงานว่าการเข้าสู่องค์กรการบริหารจัดการต้องเป็นประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นสหภาพแรงงานก็ไม่ต่างกับระบบการเข้ามาบริหารบ้านเมืองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะความคิดของคนๆเดียวไม่สามารถนำพาองค์กรหรือประเทศรอดได้อีกหนึ่งในหลักคิดคือความสมานฉันท์ เรื่องของความร่วมมือหรือSolidarity เป็นหลักคิดของคนทั่วโลกว่า แรงงานทั้งผองพี่น้องกันต้องมีเอกภาพทางชนชั้น บางครั้งไปเคลื่อนไหวบางเรื่องอยู่คนละฝั่งจนลืมเรื่องชนชั้นว่าที่ยืนอยู่นั้นมันชนชั้นไหน ซึ่งกลุ่มย่านรังสิตต้องชัดเจนตรงนี้ เพราะเมื่อก่อนจะมีเป็นเอกภาพทางชนชั้น นอกจากความสมานฉันท์แล้วต้องมีการหนุนช่วยกัน ซึ่งเมื่ออดีตการต่อสู้ของหลายๆที่ตั้งแต่กรณีไทยบริดจสโตนไทยเอโร่ พาร์การ์เม้นต์อีเด็นกรุ๊ปจะเห็นมวลชนจำนวนมากชองหลายที่ที่ไปร่วมชุมนุม ซึ่งปัจจุบันจากไปเล่นดนตรีช่วยการชุมนุมกรณีของคนงานเทยิ่นโพลีเอสเตอร์ปี 2543 ถึงล่าสุดกรณีของคนงานกู๊ดเยียร์แค่ขับรถผ่านก็นับได้ว่าคนร่วมชุมนุมเพียงร้อยกว่าคนเท่านั้น นี่คือลักษณะความสมานฉันท์ หรือความเดือดเนื้อร้อนใจร่วมกันแบบพี่น้องนั้นหายไป เมื่อก่อนแม้แต่ เดิมแค่ยื่นข้อเรียกร้องก็เข้าไปช่วยกันให้กำลังใจกลุ่มฯจะนำผ้าป้ายไปชูร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน แค่ยื่นข้อเรียกร้องยังไม่ได้พิพาทแรงงานทำให้ได้ใจสมาชิก และทำให้นายจ้างเห็นถึงความสามัคคีเป็นการหนุนช่วยกันในพื้นที่ ส่วนการรณรงค์ระดับนโยบายก็จะเห็นจากภาพในอดีตที่กลุ่มย่านรังสิตออกไปเคลื่อนไหว อย่างปี 2530 มีการเคลื่อนไหวเรื่องคัดค้านการจ้างงานระยะสั้น ซึ่งเริ่มต้นเคลื่อนไหวมานานแล้วไม่ใช่เพิ่งจะมีการเคลื่อนไหวในปัจจุบันมีการรณรงค์มานานแล้วออกไปกันจำนวนมาก ปี 2519 มีการเคลื่อนไหวเรื่องราคาข้าวสารแพง ข้าวเปลือกถูก ซึ่งหากเทียบปัจจุบันที่เกิดปัญหากรณีชาวนาได้รับผลกระทบจากข้าวเปลือกราคาถูก ขบวนแรงงานมีหรือไม่ที่จะออกไปร่วมเคลื่อนไหวช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวนา ซึ่งแต่ก่อนเป็นบทบาทของสหภาพแรงงาน ขบวนการแรงงาน ทั้งที่วันนี้ก็ยังเป็นลูกชาวนาอยู่

ต่อมาหลักปฏิบัติ ซึ่งมี 5 หลัก 1. หลักบริหาร เมื่อก่อนจะมองเรื่องโครงสร้างการบริหารสหภาพแรงงานซึ่งหลายที่มีความน่าสนใจ เช่น เทยิ่นเดิมจะมีการบริหารหลายระดับ ไทยเมล่อนก็เช่นเดียวกันมีตั้งแต่กรรมการบริหาร กรรมการกลาง กรรมการฝ่ายต่างๆ และยังมีอนุกรรมการมีการแบ่งหน้าที่การทำงาน ที่สำคัญคือโครงสร้างนั้นต้องทำงานได้ ซึ่งจากประสบการทำงานกับหลายสหภาพแรงงาน ปัจจุบันมีถึงฝ่ายความปลอดซึ่งไม่แน่ใจว่าคืออะไร โครงสร้างตำแหน่งต่างกันต้องทำงานได้จริง ซึ่งหากมีโครงสร้างแต่ทำงานเพียงสองหรือสามคนเท่านั้นและทุกวันนี้ก็เป็นเช่นนั้นในการทำงานที่ไม่สามารถทำงานตามโครงสร้างได้ ต้องทำให้มีประสิทธิภาพ การบริหารต้องเปิดให้มีส่วนร่วมจึงจะเป็นกระบวนการประชาธิปไตยไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นความครอบงำในองค์กร
2. เงินทุน เป็นเงินทุกจากสมาชิกเป็นปัญหาตั้งแต่มีสหภาพแรงงานในประเทศไทยยุคหลังตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมาว่าสหภาพแรงงานไม่สามารถระดมทุนจากสมาชิกมาทำงานบริหารจัดการได้ จึงต้องคิดค้นวิธีอื่น ซึ่งกลุ่มย่านรังสิตได้คิดเรื่องการตั้งกลุ่มสหกรณ์ เอามาแทนการระดมทุนโดยการทำดอกไม้ขาย หากปัจจุบันไปดูการทำงานของสหกรณ์ว่า มีการตอบสนองการทำงานในสหภาพแรงงานจริงหรือไม่ เพราะในอดีตที่คิดว่าการตั้งสหกรณ์ก็เพื่อที่จะให้เป็นแหลงทุนให้กับสหภาพแรงงาน ต่อมาก็แหล่งทุนจากภายนอก ช่วงแรกมีเพียงแหล่งทุนจากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และอาฟฟี่หรือSolidarity Center Thailand (SC) แต่ตอนหลังแหล่งทุนมีมากขึ้น แต่พอมีแหล่งทุนเข้ามา หนึ่งคือดึงบุคลากรไปทำงาน สองคือมีความขัดแย้งกันในเชิงอุดมการณ์

3. เรื่องการศึกษา กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯแต่ก่อนเน้น การศึกษาด้านจิตรสำนึกอุดมการณ์ มีการศึกษาถึงลัทธิสังคมนิยมแม้ว่าหนังสือบางเล่มต้องซ่อนอ่านก็ตามเพราะอยู่ในยุคของเผด็จการ ซึ่งก็ไม่ได้เข้าใจเพราะเป็นหนังสือที่อ่านยากต้องให้อาจารย์หลายท่านมาช่วยย่อยเนื้อหา แต่ด้วยความอยากเป็นผู้นำที่มีความรู้ก็ต้องอ่าน และหาทางทำความเข้าใจ ซึ่งความรู้จะเป็นเกาะป้องกันเวลาที่ไปพบเจอกับผลประโยชน์ สิ่งที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์โดยรวมก็จะมีภูมิต้านทาน รวมถึงทำให้เกิดการเปิดสมองไปมองเรื่องทางสังคมบ้าง ไม่มองเพียงแค่ในรั่วโรงงานเท่านั้น เพราะโรงงานเชื่อมโยงกับสังคม เพราะไม่สามารถอยู่ในโรงงานได้อย่างปลอดภัยตลอดเวลา เพราะวันนี้ธุรกิจปรับตัวฐานการผลิตย้ายเป็นกลุ่มยานยนต์ พอมีการเคลื่อนย้ายทุนหากไม่เตรียมตัวก็ล้มกันไม่เป็นท่า ด้านการศึกษาปัจจุบันก็เน้นเพียงการศึกษาเฉพาะหน้าอย่างเช่น กฎหมายประกันสังคม การเจรจาต่อรอง ซึ่งก็จำเป็น แต่ว่าตอนนี้ขบวนแรงงานขาดการศึกษาด้านอุดมการณ์จิตรสำนึก

4. เรื่องการจัดตั้ง ในยุคแรกมีการจัดตั้งจำนวนมากแต่ไม่ใช่เพียงการจัดตั้งเชิงองค์กรอย่างเดียวเราจัดตั้งทางความคิดด้วย ซึ่งปัจจุบันการจัดตั้งมีความลำบากไม่ว่าจะจัดตั้งแค่องค์กร หรือความคิดก็ทำได้ยาก การจัดตั้งทางความคิดมีหลายรูปแบบ มีทั้งงานวัฒนธรรม ดนตรี จัดการศึกษา การนำงานวัฒนธรรมเข้ามาเสริมงานจัดตั้งด้วย

5. เรื่องการสื่อสาร อดีตต้องมีการสอนคนให้เขียนเพื่อสื่อสาร หากทำไม่ได้ก็จัดตั้งไม่ได้สื่อสารไม่ได้ก็อ่อนแอ เพราะการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการให้การศึกษากันในหมู่สมาชิกด้วย รวมถึงความต้องการสื่อสารสังคม เพราะกลุ่มสมัยก่อนมีสื่อมวลชนจำนวนมาก มีหนังสือพิมพ์อธิปัติย์ หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้คนงาน การสื่อสาราจึงเป็นปัจจัยสำคัญให้กับแรงงานทำให้การทำงานของกลุ่มย่านรังสิตที่ผ่านมาในอดีตมีความเข้มแข็ง หากเทียบกับปัจจุบัน ซึ่งก็คงต้องเป็นภาระให้คนในปัจจุบันนั่งคุยกันว่ามีปัญหาอะไรจะแก้ปัญหากันอย่างไรต่อไป

รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วยอึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการสัมภาษณ์ผู้นำแรงงานในอดีตเมื่อปี 2533 จากกลุ่มอื่น ซึ่งเป็นคนที่ได้ทำงานด้วยได้เล่าถึงประสบการณ์ว่า ในช่วงปี 2523-2524 กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง เนื่องจากเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ผู้นำแรงงานค้อนข้างมีการศึกษา และกลุ่มย่านรังสิตเป็นกลุ่มแรงงานที่บริสุทธิ์ที่สุด เพราะว่าไม่ถูกแทรกแซงทั้งทางการเมือง และทุน การที่กล่าวว่าไม่ถูกการเมืองแทรกแซงไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ยุ่งกับการเมือง เพราะเท่าที่ดูจะเห็นว่าผู้นำแรงงานรุ่นเก่าค้อนข้างมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนแต่ว่าไม่ถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง และไม่ถูกซื้อตัวโดยฝ่ายนายจ้าง จาก 10 ปีในช่วงของการก่อตั้ง ขยับมาอีก 10 ปี ในช่วง 2529-2539 จากกลุ่มสหภาพแรงงาน 7 กลุ่มเหลือเพียง 4 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯกลุ่มสหภาพแรงงานย่านพระประแดง สมุทรปราการ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ และกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งตนรู้สึกว่ากลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อยฯเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานที่มีผู้นำแรงงานเหนียวแน่นมาก และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)หลายแห่งให้ความสนใจกับกลุ่มอ้อมน้อย อ้อมใหญ่มาก มีการลงไปทำงานสนับสนุน เช่นสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน มูลนิธิเพื่อนหญิง ในขณะที่กลุ่มอื่นๆไม่มีNGOs ลงไปทำงานด้วย ส่วนกลุ่มที่ได้ชื่อว่าเข้มแข็งที่สุดคือกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ขณะที่กลุ่มแรงงานเอกชนอ่อนแรงไป ซึ่งส่วนของกลุ่มย่านรังสิต เจอวิกฤติสหภาพแรงงานขนาดใหญ่ถูกล้มไปอย่างกรณีของโรงงานไทยเมล่อน โพลีเอสเตอร์เป็นต้น มาตกใจสุดตอนที่กรณีการต่อสู้ของเทยิ่นที่แพ้ทั้งที่มีกองทุนนัดหยุดงานและมีเงินจำนวนหลายล้านบาท ซึ่งตอนนั้นใครๆก็กล่าวถึงว่าเทยิ่นจะไม่มีวันแพ้ถึงหยุดงานก็ต่อสู้กับนายจ้างได้เป็นเดือน มีเงินที่จะจ่ายเป็นค่าแรงให้กับลูกจ้างได้ ในที่สุดกองทุนนัดหยุดงานที่มีก็สู้ทุนไม่ไหว 
ต่อมาก็สหภาพแรงงานไทยเอโร่ที่ถูกล้มไป ซึ่งทางสหภาพได้ยกสำนักงานที่เป็นตึกแถวให้กับมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงันเพื่อเป็นที่ทำงาน ซึ่งช่วงนั้นมีการล้มสหภาพแรงงาน และปิดกิจการลงจำนวนมาก แต่ก็มีสหภาพแรงงานใหม่ๆเกิดขึ้นในกลุ่มย่านรังสิต และที่รู้จักและประทับใจคือสหภาพแรงงานพาร์การ์เม้นต์ เพราะว่าผู้นำสหภาพแรงงานเป็นเยาวชนทั้งนั้นอายุไม่ถึง 20 ปี บางคนอายุไม่ถึงที่จะจดทะเบียนเป็นกรรมการสหภาพ ซึ่งมีคุณศรีไพร นนทรีย์คุณสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ที่อายุถึง คุณเสน่ห์ หงษ์ทอง และอีกหลายคนอายุก็ยังไม่ถึง ซึ่งตอนหลังก็ไม่พ้นชะตากรรม

ต่อมาปี 2540-ปัจจุบัน 10 ปีสุดท้ายจากคนนอกที่มองเข้ามาพบว่ากลุ่มฯขาดความเหนียวแน่นไม่เหมือนเมื่ออดีต แต่ก็มีจุดที่นาสนใจคือผู้นำแรงงานหลายคนที่ถูกเลิกจ้างช่วงนั้นและไม่ได้เป็นสหภาพแรงงานแล้ว ปรากฏว่าปัจจุบันยังไม่หายไปไหนและยังมีบทบาทในขบวนการแรงงาน เช่น คุณวิชัย นราไพบูลย์ ทำงานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย คุณสุกาญตา สุขไผ่ตาอยู่ด้านแรงงานข้ามชาติที่ภาคเหนือ คุณศรีไพร นนทรี  คุณเสน่ห์ หงษ์ทอง ก็ไม่ได้ไปไหนคุณสุธานี แก้วเหล็กไหล ทำประเด็นแรงงานข้ามชาติ ที่จังหวัดสมุทรสาคร คุณวาสนา ลำดี คุณสุชิลา ลืนคำ ทำNGOs ด้านแรงงาน หลายคนไม่ได้ไปไหนยังคงทำงานอยู่ในขบวนการแรงงาน

สิ่งที่อยากแลกเปลี่ยนในกลุ่มย่านรังสิตในยุคปัจจุบันช่วงปี 2549-2559 จากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเข้าร่วมเคลื่อนไหวขบวนการทางการเมืองของขบวนการแรงงานได้สัมภาษณ์ผู้นำแรงงาน ช่วงก่อนเกิดรัฐประหารปี 2549-2557 หากดูจากข้อมูลคือขบวนการแรงงานส่วนใหญ่จะไปร่วมอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกปปส.ด้วย แต่ว่าในกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ หรือสหภาพแรงงานบางส่วนมีเรื่องที่น่าสนใจ รวมถึงสหพันธ์แรงงานสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วม แต่ก็อาจมีบางสหภาพแรงงานที่เข้าร่วมซึ่งส่วนใหญ่ทาง 2 กลุ่มนี้เข้าร่วมในอีกฝังหนึ่งคือคนเสื้อแดง ซึ่งได้สัมภาษณ์ในส่วนของผู้นำแรงงานย่านรังสิตฯที่เข้าร่วมได้ให้เหตุผลมา 2 ข้อ คือ 1. ชอบนโยบายรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 2. ต้องการต่อต้านรัฐประหาร แต่ก็มีอดีตผู้นำแรงงานในกลุ่มที่เข้าร่วมกับทางพันธมิตร และกปปส. นี่ก็เป็นความหลากหลายทางความคิดทางการเมือง ซึ่งก็ดูว่าส่งผลอย่างไรกับกลุ่ม หรือขบวนหรือไม่

สุดท้าย 40 ปีกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ เห็นถึงความเป็นปรึกแผ่นเหนียวแน่น แต่จะเข้มแข็งอย่างไรก็ตามนายทุนเขาเข้มแข็งกว่า มีการทำลายสหภาพแรงงานขนาดใหญ่ลงไป เป็นไปได้ว่าช่วงที่สหภาพแรงงานขนาดใหญ่ยังอยู่นั้นมีทั้งเงินและกำลังคน แต่ว่ายังไม่ถูกวางรากฐานให้แข็งแรงเพียงพอ เช่นการสร้างคนรุ่นใหม่ หรือว่าสร้างความเข้มแข็งให้กับสหภาพแรงงาน เพราะการต่อสู้หลายครั้งแม้ว่าจะจับมือสาบานร่วมกันแล้วสมาชิกกลับเข้าทำงานหนีกรรมการสหภาพแรงงาน แต่อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าคนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯที่ผ่านการต่อสู้ออกมาผู้นำเหล่านี้มีคุณภาพ หลายคนแม้ไม่เป็นคนงานแต่ยังมีบทบาททำงานอยู่กับขบวนการแรงงานได้โดยไม่คิดที่จะทิ้งอุดมการณ์ และไม่จำกัดทางความคิดเห็นทางการเมืองจะเป็นอย่างไร ในฐานะคนข้างนอกอยากเห็นการฟื้นฟูจิตวิญญาณของกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ซึ่งดูจากวัตถุประสงค์ 3 ข้อ เพื่อการกลับมามีบทบาทการทำงานให้ขบวนการแรงงานเข้มแข็ง

รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าแนวทาง 7 กลุ่มย่าน ประกอบด้วย กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านสมุทรปราการ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านพระประแดงและใกล้เคียง กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กลุ่มสหภาพแรงงานอาหารและโรงแรม และกลุ่มสหพันธ์แรงงานสิ่งทอการต้อเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย การเกิดกลุ่มย่านเป็นทางการ คือปี 2524 และปี 2525 ได้เข้ามาทำงานร่วมกับทางกลุ่มอย่างจริงจัง ซึ่งกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯเกิดขึ้นทีหลังกลุ่มสหภาพแรงงานหลายกลุ่มอย่างเช่นกลุ่มสหภาพแรงงานย่านพระประแดง สมุทรปราการ กลุ่มอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เป็นกลุ่มที่มีโรงงานทันสมัย และมีหนุ่มสาวทำงานจำนวนมาก เป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งดีที่สุด หลังจากสภามีการแบ่งแยก การทำงานที่เข้มแข็งจะอยู่ในพื้นที่ และปัญหาความไม่เข้มแข็งของแรงงานคือการที่ไม่ศึกษา เพราะว่าลักษณะของการที่ไม่อ่านหนังสือของคนไทย การศึกษาจึงต้องใช้การศึกษานอกระบบการศึกษาแบบกลุ่มศึกษา ซึ่งทำได้ในกลุ่มแรงงานที่อยู่ในหอพักอย่างเทยิ่น ไทยเมล่อน นักวิชาการช่วยย่อยเนื้อหาและการเสริมทฤษฎีเป็นรูปแบบกลุ่มศึกษาหน่วยงานที่สนับสนุนการศึกษาคือ IUF อินเตอร์เนชั่นออฟฟุตส์ ซึ่งตอนนั้นตนเป็นผู้ประสานงาน และกลุ่มศึกษาที่กระจายออกไปกินข้าวด้วยกัน 5-10 คนในการพูดคุนกันเป็นมาในการเสริมความคิดทางทฤษฎีเป็นการวางแผนกลยุทธ์การนัดหยุดงานก็เกิดจากตรงนี้ไม่ใช่การอบรมสัมมนากันในโรงแรมแบบเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งการซึ่งศึกษาที่ไม่เป็นทางการเป็นการทำงานที่เป็นการจัดตั้งทางความคิดและวางแผนการทำงาน การที่พูดคุยทางการเมืองหากมาจัดในห้องสัมมนาทำงานไม่ได้ต้องทำงานทางความคิดก่อน และไม่มีคนงานที่ไหนในโลกที่มีความคิดที่เข้มแข็งก่อนจึงจะเข้มแข็งได้ โดยมีการทำงานมวลชนทางความคิด ซึ่งภาครัฐเองก็รู้

การที่สหภาพแรงงานต้องมีปัญญาชนทำงานด้วยเพราะว่าปัญญาชนต้องทำงานทางความคิด คืออ่านและคิดเมื่อทางการรู้ก็ปลุกปั่นให้ผู้นำแรงงานแยกตัวเองจากปัญญาชนด้วยการกล่าวว่าคนภายนอกจะรู้ดีกว่าคนงานได้อย่างไร เพราะความรู้อยู่ที่คนงานปัญญาชนจะมารู้ได้อย่างไร นานเข้าผู้นำแรงงานเริ่มดูถูกปัญญาชนและตัดตัวเองออกจากปัญญาชน เมื่อออกแล้วความคิดของแรงงานจึงอยู่ที่แค่ต่อสู้เรื่องค่าจ้าง โบนัสเท่านั้นไม่รู้ว่าสทั่วโลกมีการเคลื่อนไหวอะไร และมีการต่อสู้ของนักการเมืองเพื่ออะไรเกี่ยวกับแรงงานอย่างไร และไม่รุ้ว่าสงครามที่เกิดขึ้นในไนจิเลียเกี่ยวกับแรงงานไทยอย่างไร หากไม่สมาคมกับปัญญาชนก็ไม่ทราบ ยอดซื้อตู้เย็นที่หายไปเกี่ยวอะไร ตอนนี้ไม่มีงานล่วงเวลาของแรงงาน การย้ายตัวของทุน และการย้ายฐาน การปรับตัวในการผลิตของนายทุนกระทบอย่างไรและจะมีการตกงานอีกเท่าไร ซึ่งอดีตผู้นำกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯก็อ่านหนังสือมีความใฝ่รู้เขาจึงเข้มแข็ง จะต้องรู้ดัชนีชี้วัดทางธุรกิจการลงทุนนี่คืออาวุธทางสมอง ความคิดจิตวิญญาณ ซึ่งความคิดมีเชิงอุดมการณ์ นั้นคือความเชื่อมั่น และจิตวิญญาณความมุ่งมั่น ความเสียสละต้องมีในตัวผู้นำ การจัดตั้งต้องจัดตั้งทั้งความคิด และกำลังคน

ฉะนั้นการสหภาพแรงงานที่ตั้งต้องมีกองทุนนัดหยุดงาน ซึ่งในกลุ่มย่ารังสิตมี 2 แห่งคือเทยิ่น กับไทยเรย่อน เพราะหากกองทุนใหญ่สามารถที่จะเป็นกองบทุนหากมีการนัดหยุดงานได้ และอยากให้ปี 2560 การจัดตั้งคือการรวมกำลังคน ความคิดและเงินทุน การทำงานต้องรวมกันได้ 3 อย่างเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และต้องมีการฟื้นฟูการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง

จากนั้นยังมีการเสวนาของผู้นำแรงงานรุ่นกลางและรุ่นใหม่ของกลั่มสหภาพแรงงานต่างอีกหลายกลุ่มเพื่อร่วมกันมองถึงการทำงานของขบวนการแรงงานความเข้มแข็งของกลุ่มย่านรังสิตฯ และผลการทำงานในขบวนการแรงงาน และยังมีการทำงานร่วมกันในอนาคต ซึ่งต่อมาทางเครือข่ายและสมาชิกกลุ่มได้ร่วมกันวางแผนการทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งและมองอนาคตร่วมกัน ซึ่งการใหการศึกษาถูกมองว่ามีความสำคัญในการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ และความสำคัญในการทำงานร่วมกันทั้งประเด็นนโยบาย ถึงการทำงานกับสังคมเป็นต้น

ทั้งนี้กลุ่มยังมีการจัดทำวิดีทัศน์ประวัติ 40 ปีกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตแลัใกล้เคียงฉายให้ได้เรียนรู้บทบาทการทำงานของกลุ่ม และยังมีการผลิตเพื่อขายหาทุนแผ่นละ 100 บาท ซึ่งผู้ที่ต้องการสามารถที่จะขอซื้อได้ที่กรรมการกลุ่มได้

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน