ยุทธศาสตร์การสื่อสารแรงงานในยุค 4.0

20161127_095613

การสื่อสารยุค 4.0 ของแรงงาน เสนอต้องมีการสื่อสารแบบใหม่ เพิ่มเสน่ห์ ทำงานเป็นทีม สร้างพื้นที่สื่อของตนเอง

โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การสื่อสารแรงงาน”  เมื่อวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2559  ณ โรงแรมศุภลัย ป่าสัก ริสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดสระบุรี มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย บุคลากรด้านการทำงานสื่อสารขององค์กรแรงงานเอกชน รัฐวิสาหกิจ นอกระบบ องค์กรพัฒนาเอกชน  และสื่อมวลชน

นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้นำเสนอเรื่องการพัฒนางานสื่อสารแรงงาน (สมัยใหม่)ว่า กระบอกเสียงกรรมกรยุคแรกนั้นเรียกว่าเป็นความพยายามในการจะทำงานสื่อสารเรื่องราวแรงงานออกไปสู่สังคมให้สังคมได้รับรู้ โดยยุคปี 2455-2467 คุณถวัติ ฤทธิเดช และคณะกรรมกร ได้ริเริ่มการทำหนังสือพิมพ์กรรมกร ซึ่งออกมาเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งแต่ละยุคมีแนวคิดในและความพยายามในการสื่อสาร เช่น เกิดวารสารแรงงาน ในยุคสมาคมลูกจ้าง ผลิตโดย สมาคมลูกจ้างขนส่ง และบริการเสริมการขนส่งสินค้าออก ปี 2518 หมายข่าวรายเดือน ถังสูง ปี 2522 ข่าวลูกจ้าง สายสัมพันธ์ ของสหภาพแรงงานไทยเรยอน ผลิตตั้งแต่ปี 2523 จนปัจจุบันก็ยังผลิตอยู่เป็นจดหมายข่าว และตอนหลังยังมีเว็บไซต์ออกมาสื่อสาร ซึ่งก็เป็นความพยายามระดับสหภาพแรงงานในการสื่อสาร มีการผลิตของแรงงานในระดับสหพันธ์แรงงาน จดหมายข่าว ของสหพันธ์แรงงานขนส่ง ผลิตปี 2529  มาดูการสื่อสารระดับสภาองค์การลูกจ้าง ปี2522 สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ผลิตข่าวคนงานเป็นรายปักษ์ เอกสารวันแรงงานเพื่อสื่อสาร ยังมีข่าวพิเศษ และในปี 2530 ได้เกิดแรงงานปริทัศน์ ซึ่งถือเป็นการผลิตโดยองค์กรที่ทำงานด้านงานวิชาการ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นแรงงานปริทัศน์ออนไลน์ เพื่อการสื่อสารแบบใหม่ พร้อมกับงานเว็บไซต์ เริ่มตั้งแต่กรกฎาคม 2559 เป็นต้นมา จะเห็นได้ถึงความพยายามในการที่จะสร้างเครื่องมือสื่อสารระดับองค์กรมาโดยตลอด และมีความพยายามที่จะสื่อสารสังคมมุมกว้างในระดับองค์กรนำมาตั้งแต่อดีต และปรับตัวการสื่อสารตามสถานการณ์

img_0466

โดยแม้ว่าปัจจุบันจะมีการมองว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยแต่การสื่อสารรูปแบบใหม่ก็มีความพยายามที่จะพัฒนาตามเทคโนโลยี ซึ่งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเกิดขึ้นมาก็เพื่อทำหน้าที่ในการสื่อสารความเป็นมาของแรงงานเพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่าของการใช้แรงงาน และบทบาทที่มีคุณูปราการต่อสังคมในการขับเคลื่อนผลักดันด้านสวัสดิการต่างๆ อย่างไร การพัฒนาคนเพื่อการสื่อสาร การจัดงานนิทรรศการเสื้อรณรงค์ วิทยุชุมชนเสียงกรรมกรปิดลง และตอนหลังๆมาทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยได้นำมาจัดอีกครั้งซึ่งตอนนี้ก็ปิดอีกด้วยปัญหาเรื่องคลื่น การจัดนิทรรศการโปสเตอร์โลก เป็นความร่วมมือกัน

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาก็พัฒนาให้กับผู้ใช้แรงงานหลายด้านทั้งการถ่ายภาพ ซึ่งตอนนั้นมีสมาคมช่างภาพมาอบรมให้และได้มีการกำหนดให้คนงานกลับไปถ่ายภาพการทำงาน การใช้ชีวิต การทำงานในโรงงานมาประกวดกันซึ่งมีภาพสวยๆจำนวนมากที่ผู้เรียนถ่ายมาประกวด มีการอบรมการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น โปรแกรมการตัดต่อเสียง เพื่อรายการวิทยุ การขออีเมล ใช้อิเตอร์เน็ต ออกแบบสื่อ ผลิตสื่อ และการสร้างเว็บไซต์ ต่อมาได้มีการจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานให้เป็นนักสื่อสารแรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นนวตกรรม โดยได้โครงการจากการสนับสนุนภายใต้แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ สสส. เกิดเว็บไซต์แรงงาน ชื่อว่าvoicelabour.org และต่อมาก็ทำโครงการพัฒนานักสื่อสารแรงงานกับประชากรกลุ่มเฉพาะ เพื่อที่จะขยายแนวคิดการพัฒนาคนที่เป็นเจ้าของเรื่องเพื่อสื่อสารเรื่องราวของตนเอง และตอนนี้เว็บไซต์ยังคงทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวของผู้ใช้แรงงานต่อไปไม่ว่า จะเป็นแรงงานในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ และรัฐวิสาหกิจ การพัฒนานักสื่อสารแรงงานยังมีความร่วมมือกับสื่อมวลชนหลายค่ายรวมถึงไทยพีบีเอส บางกอกโพสต์ แนวหน้า มติชน กรุงเทพธุรกิจในช่วงนั้นเพื่อการพัฒนาคนเพื่อการสื่อสาร แรงงานขอเป็นแค่นักสื่อสารแรงงานไม่ใช่สื่อมวลชนและคงไม่อยากเป็นสื่อมวลชนอาชีพ นี่ก็มีความพยายามทำงานร่วมกันมาตลอดหากดูอดีตสื่อมวลชนก็มีการทำงานร่วมกันทั้งในฐานะกรรมกรเองอย่างคุณถวัติ ฤทธิเดช ที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ และผลิตหนังสือพิมพ์กรรมกรเป็นต้น

dscn0291

ด้านการพัฒนาคนทำสื่อแรงงาน เป็นการร่วมกันพัฒนาระหว่างองค์กรแรงงานกับพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มีการจัดทำวิดีโอ จดหมายข่าวแรงงานออนไลน์ อบรมพัฒนากรรมการด้านการสื่อสาร ซึ่งมีหลายองค์กรที่ทำร่วมกัน และมีการจัดรายการวิทยุเสียงคนทำทาง ของไทยพีบีเอส ซึ่งรับฟังผ่านทางwww.thaipbsradio.com และการจัดงานนิทรรศการแรงงานไม่มีประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นงานที่ออกไปจัดข้างนอกให้สาธารณชน เข้าใจถึงความมีประวัติศาสตร์ของแรงงานสังคม มีการจัดร่วมกับเครือข่ายจำนวนมากเป็นการเปิดมุมมองให้กว้างมากขึ้น

จากนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเครือข่ายแรงงาน โดยตัวแทนนางสาวมาลินี บุณศักดิ์ สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กพี แมนูแฟคเจอริ่ง นายปิยะ พวงเพชร สหภาพแรงงานมิตซูบิชิ แห่งประเทศไทย นายวินัย ติ่นโตนด สหภาพแรงงานวายเอสภัณฑ์ กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก พื้นที่เวลโกรว์ นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ สหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย และสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย นางสาวดาวเรือง ชานก กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่  และสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้มีการสะท้อนถึงแนวคิดการพัฒนาสื่อขององค์กรโดยสรุปได้ดังนี้

img_0172

  1. การผลิตจดหมายข่าวแรงงานออนไลน์ ซึ่งจัดทำเป็นรายสัปดาห์

ด้วยเห็นสภาพปัญหาด้านการสื่อสารกันภายในองค์กร ความห่างด้านความเข้าใจ และข้อมูลระหว่างสมาชิกและสหภาพแรงงานทำให้เกิดคำถามต่อการดำเนินการของสหภาพแรงงาน การให้ความร่วมมือและกิจกรรมต่างๆของสหภาพแรงงาน และปัญหาการสื่อสารแบบปีละครั้งไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ทันต่อสถานการณ์

ผลเมื่อมีการจัดทำจดหมายข่าวแรงงานออนไลน์ส่งผลให้สมาชิกสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงานมากขึ้นกว่าเดิม การรายงานข่าวการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานทุกอาทิตย์ทำให้คำถามว่า สหภาพแรงงานทำอะไรบ้างหายไป เพราะสมาชิกเข้าใจมากขึ้น การจัดเก็บค่าบำรุงสหภาพแรงงานทำได้มากขึ้น บางสหภาพแรงงานขอมติปรับขึ้นค่าบำรุงได้โดยไม่มีคำถามว่า จ่ายเงินค่าบำรุงแล้วได้อะไร ประชุมใหญ่มีสมาชิกเข้าร่วมมากขึ้น ช่องทางการสื่อสารผ่านทางไลน์ เพรส เฟซบุ๊ก ซึ่งสมาชิกสามารถที่จะอ่านเรื่องราวได้ตลอดเวลามีความสั้นกระซับเข้าใจง่าย

  1. การผลิตสื่อวิดีโอ ประวัติศาสตร์องค์กร และสรุปรายงานประจำปี

สภาพปัญหาสมาชิกไม่รู้ความเป็นมาขององค์กร การได้มาด้านสวัสดิการต่างๆทำให้ขาดความสนใจในองค์กรระดับสหภาพแรงงาน กลุ่มสหภาพ และสหพันธ์แรงงาน เมื่อมีการประชุมจะตั้งคำถามต่อการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องสวัสดิการ ค่าบำรุง การดำเนินกิจกรรมของแต่ละฝ่ายขององค์กร แม้ว่าจะมีรายการการประชุมประจำปี ซึ่งแจกปีละครั้งทำให้อ่านและศึกษาไม่ทันในวันประชุม ซึ่งสร้างความสับสนให้กับที่ประชุม จึงมีการให้ทางบพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยผลิตสื่อวิดีโอเพื่อนำเสนอรายงาน

ผลทำให้สมาชิกเข้าใจง่ายขึ้นเพราะมีการย่อยสารในการนำเสนอ มีภาพการดำเนินกิจกรรม และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับสมาชิกตลอด โดยมีการนำสื่อไปฉายต่อในโรงอาหารของแต่ละโรงงานส่งผลต่อความเข้าใจอันดีกับสมาชิกผู้ใช้แรงงาน

20161126_134709

  1. การอบรมพัฒนาสื่อ การเขียนข่าว ตัดต่อวิดีโอ ออกแบบจดหมายข่าว

โดยสรุปดังนี้ ในแต่ละองค์กรได้ร่วมแสดงความคิดเห็นร่วม เนื่องจากสภาพปัญหาการสื่อสารนั้นมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร การทำงานเป็นทีมในการสื่อสาร เมื่อมีการอบรมก็สร้างความเข้าใจให้กับทางกรรมการเพื่อการทำงานสื่อสารได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งมีหลายองค์กรที่ผลิตเองออกแบบจดหมายข่าวเองสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆด้วย

ได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อสรุปเรื่องงานสื่อสารของแต่ละองค์กร เรื่องนโยบายด้านงานสื่อสาร ซึ่งสรุปได้ว่าแต่ละองค์กรมีนโยบายด้านการสื่อสาร พร้อมงบประมาณ แต่ปัญหายังขาดคนรับผิดชอบที่จะทำงานด้านการสื่อสาร ด้วยขาดความรู้ ขาดข้อมูล และไม่มีเวลา จึงทำให้การทำงานด้านการสื่อสาร

ต่อมามีการแบ่งกลุ่ม เพื่องานสื่อสารขององค์กร โดยมีการสรุปเรื่อง นโยบายด้านการสื่อสาร ช่องทาง ผลลัพธ์ ปัญหาและอุปสรรค์ของการสื่อสารว่า แต่ละองค์กรมีนโยบายด้านการสื่อสารบางองค์กรได้ผ่านการอบรมด้านการสื่อสาร และมีการผลิตสื่อเพื่อการสื่อสารภายในองค์กรต่อสมาชิก และเครือข่าย  โดยการสื่อสารของทุกองค์กรผ่านทางช่องทางเฟซบุ๊ก ไลน์ อีเมล จดหมายข่าว อิเล็กทรอนิกส์ จดหมายข่าว และวิดีโอ ที่ฉายในโรงอาหาร

ผลลัพธ์ทำให้การกระจายข้อมูลการรับรู้ขององค์กรไปยังสมาชิก ทำให้เกิดความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กรมากขึ้น แต่ปัญหาที่พบคือ องค์กรที่ไม่ได้มีการพัฒนาทักษะ และการสื่อสารไม่ต่อเนื่อง ทำให้สมาชิกไม่เข้าใจและตั้งคำถามต่อการบริหารองค์กรกับกรรมการ บางส่วนไม่เข้าร่วมกิจกรรมเพราะไม่เห็นความสำคัญของการมีองค์กร คนทำงานสื่อสารขาดประสบการณ์ และกลัวผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงไม่กล้าใช้สื่อเพื่อการสื่อสาร ปัญหาหลักคือทักษะการสื่อสารที่ต้องรวดเร็วชัดเจน เนื่องจากการสื่อสารต้องการหวังผล  ปัญหางบประมาณการสื่อสารที่ยังขาดเรื่องเทคโนโลยีใหม่ การถูกแทรกแซงจากกลุ่มที่ไม่หวังดี ที่เข้ามาทำลายความมั่นใจ เรื่องทัศนคติยังมีและการสื่อสารนั้นต้องการที่จะนำมาปรับทัศนคติ

20161127_095956

จากนั้นได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อนำเสนอแนวทางการงานสื่อสาร ซึ่งยังสรุปว่า ต้องมีการพัฒนาเรื่องทักษะด้านการสื่อสาร โดยเสนอให้มีองค์กรด้านการสื่อสารกลาง ให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยรับผิดชอบ  จัดให้มีกองบรรณาธิการที่มีองค์ประกอบของแต่ละองค์กร เสนอว่าต้องเป็นบุคคลที่สนใจและรักที่จะทำงานเรื่องการสื่อสาร คนทำงานด้านสื่อ ตั้งแต่ระดับสหภาพแรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สื่อมวลชนฯลฯ เสนอให้มีสื่อกลางด้านการสื่อสารประเด็นแรงงาน โดยเสนอเว็บไซต์voicelabour.org ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสื่อสารประเด็นแรงงาน

ประเด็นที่คิดว่าจะต้องการสื่อสาร คือ พระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องสิทธิต่างๆเพื่อสร้างความเข้าใจกับสมาชิก และสังคม  อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว การเจรจาต่อรองร่วม อนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิสตรีฉบับที่ 111 ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิความเป็นมารดา กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ สิทธิการรวมตัวที่ยังมีความแบ่งแยกระหว่างแรงงานรัฐวิสาหกิจ แรงงานเอกชน แรงงานข้ามชาติ และแรงงานนอกระบบ เรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน การคุ้มครองแรงงาน  ค่าจ้าง กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ความปลอดภัยในการทำงาน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ผลกระทบต่อสังคม ประเด็นสถานที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เรื่องพื้นที่มักกะสัน งบประมาณการบริหารจัดการ การส่งเสริมด้านการศึกษา  การพัฒนาสื่อแรงงาน และแรงงานนอกระบบ กรณีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน และสิทธิแรงงานข้ามชาติ

img_0401

ด้านตัวแทนสื่อมวลชนประกอบด้วย นางสาวเพ็ญจันทร์ เจริญสุทธิพันธ์ บางกอกโพสต์ นางสาวอรพิน ลิลิตวิศิษฏ์วงศ์ และนายโกวิท โพธิสาร จากสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ได้นำเสนอ มุมมองสื่อมวลชนอาชีพ และการสื่อสารในยุค 4.0 โดยสรุปได้ดังนี้

  1. การสื่อสารประเด็นของแรงงานยังคงเป็นปัญหาแบบเดิมที่ยังคงต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งเรื่องความรู้ ข้อมูล ทักษะ ความกลัว คนที่จะทำหน้าที่ในการสื่อสาร แม้ว่าจะมีช่องทาง และเครื่องมือใหม่ๆ แต่ว่าความขาดประสบการณ์และความเข้าใจทำให้การสื่อสารยังคงใช้ช่องทางเดิม คือ คนหรือผู้นำแรงงานคนเดิมๆในการทำหน้าที่ในการเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสาร ขาดคนใหม่ๆที่จะเข้ามาช่วยทำหน้าที่สื่อสารประเด็นต่างๆจตะมีผู้รู้และเข้าใจประเด็นเพียงไม่กี่คน ผ่านสื่อกระแสหลัก ซึ่งคิดว่ายังไม่เพียงพอ
  2. การสื่อสารต้องรู้และเท่าทัน ทำงานเป็นทีมจะสร้างให้ความกังวลความกลัวหายไป เนื่องจากคนทำงานสื่อสารยังกังวล และกลัวกฎหมายเกี่ยวกับการสื่อสาร ซึ่งปัญหาคือกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายป้องปรามคนที่ทำงานสื่อสาร ซึ่งก็ยังมีการปฏิบัติและบังคับใช้แบบเลือกปฏิบัติว่าจะดำเนินคดีกับใครหรือไม่ดำเนินคดีกับใคร เห็นว่า การสื่อสาร หากอยู่บนข้อมูลข้อเท็จจริงหากไม่กล้าที่จะสื่อสารก็ส่งให้กับสื่อมวลชน และเห็นด้วยที่ต้องมีกองบรรณาธิการด้านการสื่อสารประเด็นแรงงาน และกำหนดบทบาทสื่อสารกลาง มีสื่อของตนเองในการนำเสนอ เพราะว่าสื่อกระแสหลักแต่ละที่แม้แต่สื่อสาธารณะก็มีนโยบายในการสื่อสาร และมีประเด็นในสังคมจำนวนมาก จึงไม่สามารถที่จะให้ทุกพื้นที่ ทุกช่วงเวลาเป็นข่าวของแรงงานได้ และบางเรื่องก็เป็นเรื่องการสร้างความเข้าใจ เป็นข้อมูลความรู้ เช่นด้านสิทธิ สวัสดิการ กฎหมายแรงงาน ซึ่งตัวแทนองค์กรแรงงานเป็นผู้รู้ ผู้มีข้อมูลการเลือกใช้สื่อที่เหมาะสมกับสถานการณ์คิดว่าจะทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งหากสื่อหลักเห็นเป็นประเด็นก็จะหยิบมารายงานอยู่แล้ว
  3. การสื่อสารประเด็นแรงงานขาดเสน่ห์ ขาดแรงจูงใจ แม้แต่ตัวของผู้ใช้แรงงานเองยังไม่ดูข่าวแรงงาน หากต้องการให้เกิดเสน่ห์ด้านข่าว วิธีการสื่อสารต้องหาคนที่เป็นตัวแทนในการนำเสนอ จะเห็นจากประเด็น เช่นเรื่องค่าจ้างหากนเสนอว่าขึ้นค่าจ้างก็แค่รู้แต่หากหาประเด็นชีวิตคนมานำเสนอให้เห็นความสำคัญว่าทำไมต้องปรับขึ้นค่าจ้าง และขึ้นเท่าไรจึงจะเพียงพอกิน เช่นถือเงินไปจ่ายตลาดรายวันต้องใช้เท่าไร ทำงานข่าวเชิงข้อมูล ภาพความเป็นจริงให้เห็นภาพการทำงาน ความเป็นอยู่การใช้ชีวิตของผู้ใช้แรงงาน เอาชีวิตจริงมาเล่าเรื่องให้สังคมเห็น ไม่ใช่ให้เกิดความสงสารเมตตาแต่ให้เห็นคุณค่าของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยพยายามทำให้เห็นในทางประวัติศาสตร์ อาจถ่ายภาพเล่าเรื่องก็ได้แต่ตรงนี้ก็เป็นเรื่องทักษะมุมมองที่อาจต้องฝึกใช้จิตนาการ และประสบการณ์ คือทำบ่อยๆ การสื่อสารต้องทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อการฝึกฝนทักษะ
  4. ยุค 4.0 การสื่อสารต้องมีการพัฒนาให้ทัน ไม่ใช่เรื่องเครื่องมือ แต่ต้องคิดใหม่ทำใหม่ด้านการสื่อสาร ต้องมองประเด็นให้ออกไม่ใช่แค่การทำคลิปวิดีโอเพื่อสื่อสาร แต่ต้องคำนึงว่าสื่อสารให้ใครรับรู้ และควรใช้อะไรในการสื่อสาร ภาพ เสียง เรื่องราวต้องชัด กระชับ และสร้างการเรียนรู้ บางชิ้นงานการสื่อสารอาจส่งผลกระทบกับสังคมโดยรวมโดนใจก็ดัง แต่บางสื่ออาจไม่เกิดอะไรเลยทั้งที่เป็นเรื่องที่น่าสนใจแต่สังคมไม่สนใจ คือต้องคิดที่จะสื่อสารเสียก่อน แล้วลงมือทำ โดยคิดสื่อสารแบบใหม่ๆ เพราะจริงๆแล้วเรื่องราวของแรงงานมีมากมายที่น่าสื่อสาร

 นักสื่อสารแรงงาน รายงาน