สภาฯยานยนต์เวียนหนังสือถึงสหภาพหวังช่วยสนับสนุนคนงานชินเอ

สภาองค์การลูกจ้างยานยนต์ส่งหนังสือเวียนถึงประธานสหภาพแรงงาน ขอความสนับสนุนคนงานชินเอ ไฮ-เทค ที่ถามหาความเป็นธรรมใต้ถุนกระทรวงแรงงาน/ คนงานชินเอฯแถลงถึงนายจ้างเสนอ 2 แนวทาง  1.รับพนักงานทุกคนกลับเข้าทำงานโดยไม่เลือกปฏิบัติ  หรือ 2. เลิกจ้างจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้แก่ลูกจ้างทุกคนที่ไม่ต้องการกลับเข้าทำงาน หลังยื่นหนังสือให้รัฐช่วยแต่ไม่เป็นผล

24 พ.ค. 55  สภาองค์การลูกจ้างยานยนต์แห่งประเทศไทย โดยนาย มานิตย์   พรหมการีย์กุล เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือถึงประธานสหภาพแรงงานต่างๆ เพื่อให้ร่วมสนับสนุนการเรียกร้องความเป็นธรรมของสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค เนื่องจากสถานการณ์ ปัญหาพิพาทแรงงานระหว่างสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค กับบริษัทบริษัทชินเอ ไฮ-เทค จำกัด ตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ที่ทำการเลิกจ้างคณะกรรมการบริหารสหภาพฯ และขัดขวาง แทรกแซง การดำเนินกิจกรรมสหภาพฯ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554 จนกระทั่งเหตุการณ์บานปลายและขยายวงกว้าง เพราะบริษัทฯ ได้จ้างฝ่ายทรัพยากรบุคคลมาใหม่และเป็นทนายความ เพื่อทำการเลิกจ้างคณะกรรมการสหภาพแรงงานชินเอฯ ซึ่งผู้แทนในการเจรจาข้อเรียกร้องด้านสวัสดิการลูกจ้าง และยังมีการตักเตือนคณะกรรมการสหภาพแรงงาน เหตุการณ์ดังกล่าวได้พัฒนาขึ้น มีการงดล่วงเวลา( OT) นำมาสู่การชุมนุม การนัดหยุดงาน ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ทางสหภาพฯได้ยื่นหนังสือร้องเรียนสภาพปัญหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จนสหภาพฯต้องนำเรื่องการพิพาทแรงงานดังกล่าวมาร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงาน แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้เช่นกัน 
 
ปัจจุบันทางสหภาพแรงงานชินเอฯพร้อมสมาชิกได้รวมตัวชุมนุมเพื่อรอการแก้ไขปัญหาอยู่ที่กระทรวงแรงงาน ทางสภาองค์การลูกจ้างยานยนต์ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด เพื่อให้การต่อสู้รักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน ตามสิทธิอันชอบธรรมของลูกจ้าง
 
ดังนั้นเพื่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาบรรลุข้อยุติด้วยดี ทางสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์ แห่งประเทศไทย  จึงใคร่ขอความร่วมมือมายังทุกท่านเพื่อให้การสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี
 
ทั้งนี้สภาองค์การลูกจ้างยานยนต์ได้ส่งแถลงการณ์สหภาพแรงงานชินเอไอเทค ดังนี้ บริษัทชินเอ ไฮ-เทค จำกัด ตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์โดยการฉีดอลูมิเนียม ส่งให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทุกแบรนด์ทั้งในและนอกประเทศ เช่น ในสายการผลิตของโตโยต้า  ฮอนด้า อีซูซุ นิสสัน เป็นต้น บริษัทฯได้ตั้งอยู่ในประเทศและพัฒนาอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันสามารถขยายสาขาออกได้จำนวน 3 สาขาใหญ่ๆ ตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา 2โรงงาน และอยุธยาอีก 1โรงงาน

สหภาพแรงงานชินเอไฮเทค จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2551 อาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518  จากสภาพปัญหาภายในที่พนักงานไม่ได้รับการดูแล เช่น พนักงานระดับปฏิบัติการไม่ได้รับการขึ้นค่าจ้างเลยแม้แต่บาทเดียวนับสิบปี พนักงานซับคอนแทรคจะได้รับสวัสดิการ และโบนัสน้อยกว่าพนักงานประจำ การละเมิดสิทธิพื้นฐานเช่น ให้ทำOTใครไม่มาจะออกหนังสือตักเตือน ต้องทำงานตั้งแต่ 08.00-20.00 น. ทุกวัน ได้หยุดเฉพาะวันเปลี่ยนกะทำงานคือได้หยุดงานแค่เดือนละ 1 วัน ทำให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำเกิดปัญหาครอบครัว และปัญหาสุขภาพ นี่เป็นแค่ตัวอย่างบางเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
 
สหภาพฯและบริษัทฯก็ดำรงอยู่อย่างเกื้อกูลตลอดมา ในปีที่บริษัทฯประสบปัญหาเศรษฐกิจปี 52 สหภาพฯก็ยื่นข้อเสนอขอลดโบนัสตัวเองเพื่อช่วยประคองโดยทางบริษัทฯไม่ได้ร้องขอ  ต่อมาปี 53 บริษัทฯเริ่มฟื้นตัวทางสหภาพฯก็ตัดสินใจไม่ยื่นข้อเรียกร้องในปีนั้น เพื่อเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน  มาปี54 เมื่อบริษัทฯฟื้นคืนสภาพปกติทางบริษัทฯก็ตอบแทนน้ำใจแก่สหภาพฯโดยการสนับสนุนเวลาในการทำกิจกรรมของสหภาพฯ พร้อมทั้งยังมอบเงินสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวเป็นประจำทุกเดือน
 
แต่เมื่อต้นปี 55 นี้ ทางนายจ้างได้จ้างวานคนนอกเข้ามาเพื่อจัดการล้มสหภาพฯ หันมาเป็นศัตรูกับลูกจ้างที่ร่วมสร้างบริษัทฯขึ้นมา มีการขออำนาจศาลเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง 2 ท่าน แต่เมื่อศาลพิจารณาพิพากษายกคำร้อง ทางบริษัทฯกลับไม่ยอมรับการตัดสิน ไม่ยอมรับพนักงานทั้งสองกลับเข้าทำงาน สหภาพฯยื่นข้อเรียกร้องขอปรับเปลี่ยนสภาพการจ้าง ยื่นแก่นายจ้างในวันที่ 2 เม.ย.55 มีการเปิดการเจรจา แต่ในระหว่างการเจรจานายจ้างได้สั่งพักงานกรรมการสหภาพฯเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.55 จำนวน 4 ท่าน โดยไม่มีการสอบสวนในความผิดที่ตั้งมา และยังข่มขู่ให้สมาชิกสหภาพฯลาออกจากการเป็นสมาชิกภาพแรงงาน 

การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ จนในวันที่ 27 เม.ย.55 สหภาพฯแจ้งเจ้าหน้าที่แรงงานขอใช้สิทธินัดหยุดงานตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.55 เวลา18.00 น. เป็นต้นไป สมาชิกสหภาพฯทั้งหมด 2,000 คน ได้รวมตัวกันนัดหยุดงานและรวมตัวที่ศาลากลาง จ.นครราชสีมา หลังจากการนัดหยุดงานนายจ้างได้ออกคำสั่งเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง กรรมการสหภาพฯ และสมาชิกสหภาพฯ จำนวน 176 คน แล้วยังออกหนังสือข่มขู่พนักงานที่ออกมาชุมนุมอีกคนละ 200 ล้านต่อคน ออกโดยสำนักงานทนายความชัยรัตน์ ทัดเทียม
 
ทางสหภาพฯได้กำหนดแนวทางไว้ 2 ทางดังนี้ คือ 1.นายจ้างต้องรับพนักงานทุกคนกลับเข้าทำงานโดยไม่เลือกปฏิบัติ  หรือ 2. เลิกจ้างแล้วจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้แก่ลูกจ้างทุกคนที่ไม่ต้องการกลับเข้าทำงาน
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน