มูลนิธิเพื่อสิทธิรายงานสถานการณ์สิทธิแรงงานข้ามชาติ

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ส่งรายงานสถานการณ์สิทธิฯ กลุ่มเเรงงานข้ามชาติ

ให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ เพื่อประกอบการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิฯ ในประเทศไทย (UPR)

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเเห่งสหประชาชาติ (HRC) จัดตั้งขึ้นในปี 2549เป็นหนึ่งในสามเสาหลักของสหประชาติ มีหน้าที่ในการสอดส่องตรวจสอบ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด ประเทศไทยเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน โดยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัคราชทูต ผู้เเทนถาวรของประเทศไทยประจำสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้รับคัดเลือกเป็นประธาน HRC วาระดำรงตำเเหน่ง 1 ปี ถึงเดือนมิถุนายน 2554 โดยประเทศไทยได้ให้คำมั่นที่จะส่งเสริมการอนุวัติกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เร่งทบทวนแก้ไขกฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย  ตลอดจนส่งเสริมระบบยุติธรรมและนิติรัฐเพื่อความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดลอยนวล และขจัดการค้ามนุษย์

HRC กำหนดกระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ (UPR) โดยประเทศไทยมีวาระจะต้องเข้าสู่การทบทวนเป็นครั้งเเรกในวันที่ 5ตุลาคม 2554 นี้ และต้องจัดทำรายงานต่อ HRC ภายในเดือนกรกฎาคม โดยกระบวนการ UPR เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมนำเสนอรายงานตรงต่อ HRC ได้ภายในวันที่ 14 มีนาคมนี้

            มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จึงได้ส่งรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเด็นเกี่ยวข้องกับสิทธิของแรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ไปยัง HRC เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 โดยมีข้อเสนอเเนะที่สำคัญดังนี้

  1. รัฐไทยต้องยกเลิกกฎหมาย ระเบียบ เเนวทางปฏิบัติ ที่เลือกปฏิบัติต่อเเรงงานข้ามชาติ และละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเเรงงานที่รัฐไทยเป็นภาคี ตลอดจนส่งเสริมการทำงานของกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาติ โดยการตอบรับการขอเดินทางมาเยี่ยมประเทศไทยอย่างเป็นทางการของผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของเเรงงานย้ายถิ่น
  2. รัฐไทยต้องเคารพและดำเนินมาตรการที่เข้มงวดเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของเเรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างย่ิงจากการละเมิดโดยการใช้อำนาจโดยมิชอบของหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชนอื่น ๆ ตลอดจนดำเนินการสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาสู่กระบวนการยุติธรรมและเยียวยาความเสียหายตามกฎหมาย
  3. รัฐไทยต้องพัฒนาวิธีการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการจัดการประชากรย้ายถิ่นฐาน อันตั้งอยู่บนสมดุลระหว่างการพัฒนาส่งเสริมเศรษฐกิจกับการเคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งรัฐไทยควรเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่เพื่อให้ แรงงานข้ามชาติจำนวนล้านกว่าคนที่ไม่ได้จดทะเบียนและทำงานอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ได้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ทั้งนี้ รัฐไทยโดยกระทรวงแรงงานต้องควบคุมธุรกิจบริการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติของบริษัทนายหน้า โดยให้มีมาตรการการบริการและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
  4. แม้ว่าประเทศไทยจะลงนามรับหลักการอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร และพิธีสารป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก เพิ่มเติมอนุสัญญาดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปี 2545 แต่ปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ารัฐไทยได้ให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นภาคีพีธีสารดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเห็นสมควรให้รัฐไทยดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันพิธีสารดังกล่าวโดยพลัน
  5. รัฐไทยต้องพัฒนาองค์ความรู้การระบุความแตกต่างระหว่างการค้ามนุษย์โดยการแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการฉ้อโกงแรงงาน ทั้งในระดับหลักการและการปฏิบัติ เพื่อมิให้เกิดช่องว่างการฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และต้องพัฒนากระบวนการบังคับใช้กฎหมายกรณีดำเนินคดีกับนิติบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เพื่อเป็นการตัดเส้นทางการเงินของกระบวนการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ 1. นางสาวปรียาภรณ์ ขันกำเนิด โทร. 086-3498390 (ไทย/อังกฤษ)

                                    2. นาสาวศิวนุช สร้อยทอง โทร. 085-2376366 (ไทย/อังกฤษ)