มุมแรงงาน//วิกฤตน้ำท่วม! เลิกจ้างตามกฎหมายเป็นธรรมแล้วหรือ?

เหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทยครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายให้กับประชาชนที่เป็นทางไหลผ่านของมวลน้ำมหาศาล ไม่เคยคิดเลยว่า เกิดมาชาตินี้จะได้เห็นน้ำท่วมที่ไม่มีฝนตก ไม่มีพายุ และท่วมแบบยาวๆนานๆ  ภาพของทุกสรรพสิ่งมีชีวิตพยายามกระเสือกกระสนหนีเอาชีวิตรอด อาคารบ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ โบราณสถาน ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมต่างจมน้ำหมด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและอนาคตข้างหน้าของผู้คน ผู้ใช้แรงงาน และเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาพความเสียหาย ภาคอุตสาหกรรมที่เสียหายจำนวนมาก ยังมีรัฐบาลที่โดดเข้าอุ้มชูออกหน้าออกตาพยุงให้ลุกขึ้นมาด้วยการสั่งจ่ายงบประมาณ ลดภาษีสร้างแรงจูงใจ ไม่ให้ย้ายสถานประกอบการหนี ทั้งเรื่องการเลื่อนการปรับค่าจ้าง คุ้มทั้งโรงงานน้ำท่วม และไม่ท่วมได้ประโยชน์พลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย ซึ่งอีกไม่นานโรงงานก็จะกลับมาประกอบกิจการ และเริ่มการผลิตพร้อมเตรียมกอบโกยกำไรต่อไป “แต่ในส่วนของผลกระทบต่อชีวิตผู้คน เกษตรกรชาวนา ชาวไร่ คนงาน ที่ต่างมีความเสียหายไม่ต่างกัน รัฐบาลกลับมีมาตรการที่ไม่ชัดเจนในการดูแล  เห็นเพียงงบประมาณ 5,000 บาทสำหรับบ้านที่เสียหาย ซึ่งมีเสียงตอบกลับมาว่า "คงได้ประตูซักบานมั้ง” และยังมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ต้องอาศัยโรงงานหรือภาคอุตสาหกรรมในการสร้างรายได้ ตอนนี้ช่วงน้ำท่วมจนน้ำลด ชีวิตพวกเขาจะเป็นอย่างไร? เป็นเพียงคำถาม ที่พวกเขาคงรู้อยู่ว่าไม่มีใครดูแล นโยบายที่รัฐมีไม่ได้ดูแลคนกลุ่มนี้ ทั้งกลุ่มแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ โดยไม่มีแม้แต่หางตาที่จะมองเขาเหล่านี้มีคุณูปราการมีส่วนสร้างผลผลิตให้เศรษฐกิจเติบโต

ค่าตอบแทนชั้นแรกของแรงงานคือ การเลิกจ้างตามกฎหมายหลังน้ำลด..ดูเหมือนว่าการที่นายจ้างประกาศเลิกจ้าง หรือโทรศัพท์ขอเลิกจ้างจะเป็นธรรมและยุติธรรมต่อแรงงาน และสังคมให้การยอมรับได้  ภาพชีวิตของคนงานที่ต้องรอเฉพาะค่าจ้างในสิ้นเดือนเพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอย ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าบัตรเครดิต ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน คนงานบางรายอายุงาน 10-20 ปี เงินเดือนยังอยู่แค่หมื่นกว่าบาท ทุกวันอาศัยการทำโอที เพื่อให้ได้เงินเพิ่มขึ้นมา เพื่อให้พอกับค่าใช้จ่าย หากพวกเขาถูกเลิกจ้างตามกฎหมายเงินก้อนนั้นก็ไม่กี่บาท ไม่เพียงพอต่อหนี้สินที่มีอยู่ อนาคตต้องเริ่มงานใหม่ เงินเดือนใหม่ กับค่าจ้างขั้นต่ำ!!! ปัจจุบันที่ทำงานทั้งวันสามารถซื้อได้แค่อาหารเลี้ยงครอบครัว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีอยู่ก็ไม่สามารถรักษาไว้ได้ จำต้องเริ่มใหม่หมด แล้วเมื่อไหร่คนงานไทยจะลืมตาอ้าปากได้เสียที

ภาพของผู้ใช้แรงงานที่ช่วยกันป้องกันน้ำเข้าท่วมโรงงานที่เขาถือว่าเป็นเหมือนกับส่วนหนึ่งของชีวิต ภาพของแรงงานที่ว่ายน้ำเข้าไปเก็บสิ่งของช่วยโรงงานหลังน้ำท่วม เพื่อช่วยกู้โรงงานและทรัพย์สินให้เสียหายน้อยที่สุด ถูกต่อด้วยภาพสุดท้าย คือภาพของแรงงานถูกเลิกจ้าง ถูกทิ้ง หานายจ้างไม่เจอ ขาดการติดต่อ ขาดการช่วยเหลือ วันนี้แรงงานยังรอที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิต ทั้งชีวิตของแรงงานที่ไม่มีเงินเดือนให้สะสม มีเพียงประสบการณ์การทำงานนานหลายปี และอายุที่มากขึ้น วันนี้กลับต้องไปเริ่มงานใหม่ซึ่งยังไม่รู้ว่าวันไหนจะได้ทำงาน หากรัฐบาลประกันเงินเดือนของพวกเขาก่อนได้เข้าทำงานใหม่เท่ากับเงินเดือนสุดท้ายที่ถูกเลิกจ้าง!! น่าจะพอรับได้….แต่รัฐบาลไหนจะกล้าทำล่ะ!  นายทุนหรือนายจ้างได้ช่วงได้จังหวะในการปรับระบบฐานเงินเดือนใหม่ หากบริษัทไหนมีสหภาพแรงงานถือเป็นโอกาสที่เหมาะที่สุดที่จะล้มสหภาพได้…น้ำขึ้นให้รีบตัก…

เข้าใจว่า นี่คือวิกฤตน้ำท่วม!!! แต่มีคำถามไม่น้อยว่า ท่วมได้อย่างไร หลายฝ่ายต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กัน แต่ไม่มีบทสรุปไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบ แต่น้ำท่วมครั้งนี้คนไทยได้เรียนรู้ ได้บทเรียน ไม่มากก็น้อย อีกทั้งได้รับรู้ว่าข้าราชการระดับปลัดกระทรวงก็ยังมีเงินสดกองเป็นภูเขาอยู่ในบ้าน ?? อยากเรียกร้องให้รัฐบาลหันมามองผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นประชาชนของท่านโดยตรง หลังจากมองภาพรวมแล้ว  อยากจะให้มองภาพลึกลงไปอีก..จะได้มั๊ยครับ…

 

สมหมาย ประไว  

นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์สื่อสารแรงงานภาคตะวันออก