มาตรฐานแรงงานกับการค้าเสรี

act01040457p2

(คลิกดู : ตารางการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO)

มาตรฐานแรงงานกับการค้าเสรี
คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
มติชนรายวัน 4 เมษายน 2557

มาตรฐานแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้องกับการค้าเสรีในเวทีโลกเนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อรายใหญ่เช่นในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้นำเรื่องมาตรฐานแรงงาน สิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานมาเป็นเงื่อนไขให้ผู้ผลิตต้องปฏิบัติในการผลิตสินค้าและบริการที่ส่งไปขายในประเทศดังกล่าว หากไม่สามารถกระทำได้จะยกเลิกสัญญาการสั่งซื้อ

ที่ผ่านมานี้ GATT/WTO ได้รับคำร้องเรียนจากประเทศกำลังพัฒนา (ผู้ส่งออก) เกี่ยวกับการที่ประเทศพัฒนา (ผู้นำเข้า) ว่าได้สรรหามาตรการกีดกันที่มิใช่ด้านภาษีศุลกากร (Non-tariff barrier: NTB) รูปแบบใหม่ๆ มาบังคับใช้กับประเทศกำลังพัฒนา เช่น การกำหนดมาตรฐานด้านผลิตภัณฑ์และมาตรฐานด้านการผลิต การบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้า และมาตรฐานแรงงานซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการในการกีดกันสินค้านำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา โดยอ้างดื้อๆ ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตมาจากโรงงานที่ไม่มีมาตรฐานแรงงานที่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้วประเทศนำเข้ายังอาศัยมาตรฐานแรงงานเป็นเครื่องมือปกป้องกลุ่มผู้ใช้แรงงานในประเทศตน โดยการผลักดันให้ประเทศคู่ค้าต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเนื่องจากการยกระดับมาตรฐานแรงงานของประเทศคู่ค้า

ปัจจุบันประเทศไทยมีการเจรจาทางการค้าด้วยหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้น การจะทำความตกลงทางการค้ากับประเทศเหล่านั้นจึงควรศึกษาปัญหาด้านแรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานแรงงานเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการเจรจาทางการค้า

มาตรฐานแรงงานหมายถึงกฎเกณฑ์หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้แรงงาน สภาพการจ้างและสภาพการทำงาน เช่น ค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน วันหยุด และความปลอดภัยในการทำงาน มาตรฐานแรงงานครอบคลุมถึงสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการสมาคม การไม่ใช้แรงงานบังคับและการไม่เลือกปฏิบัติ การมีมาตรฐานแรงงานมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองอย่างทัดเทียมเสมอภาค ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิต มีความปลอดภัย มีแรงงานสัมพันธ์ที่ดี และมีขวัญกำลังใจในการทำงาน

มาตรฐานแรงงานแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ

1) มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ที่สำคัญคือ มาตรฐานแรงงานขั้นพื้นฐานหรือมาตรฐานแรงงานหลักของ ILO (ILO Core Labour Standards) 2) มาตรฐานแรงงานตามกฎหมายในประเทศ คือ ข้อบังคับตามกฎหมายของประเทศต่างๆ ในกรณีของไทย ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 รวมทั้ง “มาตรฐานแรงงานไทยความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจไทย มรท.8001-2553” ซึ่งประกาศใช้โดยกระทรวงแรงงานในปี 2553 และ 3) มาตรฐานแรงงานเอกชน คือ ข้อกำหนดที่ประกาศใช้โดยองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มธุรกิจ และผู้ผลิตสินค้า รวมทั้งหลักปฏิบัติของผู้ผลิต เช่น อาดิดาส-ซาโลมอน ไนกี้ และวอลท์ ดิสนีย์ ฯลฯ

นอกจากนั้นยังมีเกณฑ์วัดมาตรฐานแรงงานที่สำคัญในระดับโลกอีกอย่างคือ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Person (TIP) Report) ของอเมริกา ซึ่งประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้ากับอเมริกาดูจะยำเกรง TIP Report นี้มากอยู่ เพราะเป็นรายงานที่นอกจากคอยประจานประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับแล้ว ยังมีผลต่อข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า สิทธิพิเศษและการให้ความช่วยเหลือของอเมริกาด้วย

เนื่องจากมีเนื้อที่จำกัด ในวันนี้จึงจะกล่าวถึงเพียงมาตรฐานแรงงานหลักของ ILO ก่อน

มาตรฐานแรงงานหลักของ ILO มีลักษณะที่เป็นกึ่งกฎหมาย (soft law) กล่าวคือ เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่อยู่ในรูปของอนุสัญญา (conventions) ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อประเทศนั้นๆ ให้สัตยาบัน (ratification) ผ่าน ILO

มาตรฐานดังกล่าวให้ความสำคัญกับสิทธิ (rights) ของคนงานและการคุ้มครองการใช้แรงงาน 4 ประการ คือ การคุ้มครองเสรีภาพในการสมาคม การคุ้มครองการใช้แรงงานบังคับ การคุ้มครองอายุขั้นต่ำในการจ้างงาน และการคุ้มครองการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน โดยมีอนุสัญญาขั้นพื้นฐานหรืออนุสัญญาหลัก (Fundamental conventions) ของ ILO 8 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน ค.ศ.1978 ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองร่วม ค.ศ.1949 ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ.1930 ฉบับที่ 105 ว่าด้วยการยกเลิกแรงงานบังคับ ค.ศ.1957 ฉบับที่ 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน ค.ศ.1951 ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ (การจ้างงานและอาชีพ) ค.ศ.1958 ฉบับที่ 138 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำ ค.ศ.1973 และฉบับที่ 182 ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก ค.ศ.1999

ไทยได้ให้สัตยาบันไปแล้ว 5 ฉบับจากอนุสัญญา 8 ฉบับดังกล่าว คือ ฉบับที่ 29- แรงงานบังคับ และฉบับที่ 105-การยกเลิกแรงงานบังคับ ใน พ.ศ.2512 ฉบับที่ 100-ค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน ใน พ.ศ.2542 ฉบับที่ 182-รูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก ใน พ.ศ.2544 และฉบับที่ 138-อายุขั้นต่ำ ใน พ.ศ.2547

ในตารางประกอบ เป็นการเปรียบเทียบมาตรฐานแรงงานขั้นพื้นฐานของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจบางกลุ่มที่ไทยกำลังเข้าสู่กระบวนการเจรจาทางการค้าด้วย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันอยู่ 3 อนุสัญญาในด้านเสรีภาพในการสมาคมและการเลือกปฏิบัติ ขณะที่จีนและเกาหลีใต้ยังไม่ให้สัตยาบันด้านเสรีภาพในการสมาคมฯ กับด้านแรงงานบังคับซึ่งคล้ายคลึงกับอินเดีย แต่อินเดียมีปัญหาเรื่องแรงงานเด็ก ส่วนออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ถือได้ว่าให้สัตยาบันครบทั้ง 4 ด้าน แม้จะยังไม่ได้ให้สัตยาบันในบางอนุสัญญา

ในแง่ของการเจรจาการค้า จะเห็นได้ว่าไทยไม่ได้เสียเปรียบอินเดีย จีน และเกาหลีใต้แต่อย่างใดในด้านมาตรฐานแรงงาน กล่าวคือ ทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวไม่น่าจะหยิบยกเรื่องมาตรฐานแรงงานในการเจรจาการค้ากับไทย ในขณะที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ซึ่งมีมาตรฐานแรงงานครอบคลุมในทุกด้านอาจมีน้ำหนักในการเจรจาการค้าถ้ามีการนำประเด็นมาตรฐานแรงงานมาใช้ แต่คงทำอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากมีอินเดีย จีน และเกาหลีใต้คอยถ่วงน้ำหนัก

อย่างไรก็ตาม หากไปดูในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ประจำปี ค.ศ.2013 (พ.ศ.2556) แล้วสถานการณ์ของไทยไม่ดีนัก เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในระดับ Tier 2 Watch List (กลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง ซึ่งเป็นระดับค่อนข้างแย่ โดย TIP Report มี 4 อันดับ อันดับนี้เป็นอันดับ 3 และอันดับสุดท้ายคือ Tier 3 ซึ่งจีนอยู่อันดับนี้ ส่วนประเทศอื่นในตารางข้างบน อยู่อันดับสูงกว่าไทย) โดยระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก เพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี และไทยไม่มีความพยายามในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ไทยอยู่ Tier 2 Watch List เป็นปีที่สี่ติดต่อกันแล้ว และจะถูกปรับลดระดับลงเป็น Tier 3 โดยอัตโนมัติ แต่ได้รับผ่อนผันเป็นปีที่สอง ปีนี้คงไม่แคล้วลงไปอยู่ Tier 3

ก้อยังไม่รู้ว่าอเมริกาจะเอายังไงกับเรา ถ้าถึงตอนนั้น

………..