มาตรการการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs)

Untitled-3

คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 เห็นชอบในหลักการมาตรการการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป

มาตรการการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จำนวน  5  มาตรการ ดังนี้

1) มาตรการเพื่อเสริมสภาพคล่อง  เพิ่มวงเงิน  ลดต้นทุนทางการเงิน  โดยผ่านกระบวนการให้สินเชื่อ  ประกอบด้วย

Untitled-1วีนาสระบุรี2

1.1)  มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสร้างสภาพคล่องสถานประกอบการ และเพิ่มผลผลิตแรงงาน
–  กระทรวงแรงงาน  โดยสำนักงานประกันสังคมสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ผ่าน 5  ธนาคาร โดยขยายระยะเวลาการยื่นกู้ตามโครงการฯ ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2556  ปรับหลักเกณฑ์วงเงินกู้สำหรับสถานประกอบการ ดังนี้ ลูกจ้างไม่เกิน 50 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท ลูกจ้าง 51 – 200 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 4 ล้านบาท ลูกจ้างเกินกว่า 200 คนขึ้นไปวงเงินกู้ไม่เกิน 8 ล้านบาท และประสานบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)  ค้ำประกันสำหรับ SMEs  ที่ไม่มีหลักทรัพย์

1.2) มาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan)

กระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาโครงการ  ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558  (วงเงินเดิม  20,000 ล้านบาท)

1.3) มาตรการการค้ำประกันสินเชื่อ ในลักษณะ  Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5

กระทรวงการคลังจัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อลักษณะ PGS ระยะที่ 5 ระยะเวลาโครงการ 3 ปี (ปี  2556 – 2558) วงเงินค้ำประกันรวม 240,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 7 ปี

1.4)  มาตรการการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New / Start-up)

กระทรวงการคลังพิจารณาขยายโครงการถึงปี 2558 สำหรับเกณฑ์ระยะเวลาการดำเนินงานของผู้ประกอบการใหม่ให้ปรับจากไม่เกิน  2  ปีเป็นไม่เกิน  3  ปี

2) มาตรการลดต้นทุนผู้ประกอบการ  โดยผ่านกระบวนการทางภาษีและเงินสมทบ  ประกอบด้วย

2.1) มาตรการการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

กระทรวงแรงงาน  โดยสำนักงานประกันสังคมได้ขยายระยะเวลาการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในปี 2556 โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายละร้อยละ 1 คงเหลือฝ่ายละร้อยละ  4

2.2)  มาตรการการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล
– ในปี 2556 กระทรวงการคลังลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 20
– กระทรวงการคลังปรับช่วงกำไรสุทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการ SMEs  ที่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าไม่เกิน 30 ล้านบาท  โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ 300,000 บาท แรกจากเดิม 150,000 บาทแรก

2.3) มาตรการการนำส่วนต่างของค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในปี 2555 เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท มาหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนชำระภาษีในปี 2556

กระทรวงการคลังให้คงการนำค่าใช้จ่ายในการปรับเพิ่มค่าจ้าง   มาหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่าของส่วนต่างค่าจ้าง

2.4) มาตรการการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 มาหักลดหย่อนภาษี

กระทรวงการคลังให้คงการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

2.5)  มาตรการการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 

กระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ออกไปอีก 1 ปี ในปี 2556

2.6)  มาตรการการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร  

กระทรวงการคลังขยายระยะเวลาการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรร้อยละ 100 ในปีแรกออกไปอีก 1 ปี ในปี 2556 จากเดิมให้ทยอยหักค่าเสื่อมภายใน 5 ปี

2.7)  มาตรการการลดค่าธรรมเนียมห้องพักที่เรียกเก็บสำหรับโรงแรม/ที่พักแรม

กระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวง เพื่อลดอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจโรงแรมรายปีลงร้อยละ 50 จากที่เก็บห้องละ 80 บาทต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี (ปัจจุบันมีห้องพักที่จดทะเบียนกับกรมการปกครอง ข้อมูล ณ วันที่ 4 มกราคม 2556 จำนวน 354,165 ห้อง)

 3) มาตรการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ผู้ประกอบการ  ประกอบด้วย

3.1) มาตรการการให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 เพื่อใช้ในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ในปี 2556  กระทรวงแรงงาน  โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ขยายเวลาในการลดอัตราดอกเบี้ยเหลือเป็นร้อยละ  0.1

3.2) มาตรการการจัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปยังสถานประกอบการต่าง ๆ

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการจัดทำหลักสูตรตามความต้องการและเคลื่อนที่ไปยังสถานประกอบการ SMEs โดยใช้ฐานข้อมูล SMEs ของสำนักงานประกันสังคม

4) มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการโดยการทบทวนค่าใช้จ่ายของภาครัฐให้เหมาะสมกับสถานการณ์  ได้แก่

4.1) มาตรการการปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ

กระทรวงการคลังพิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

5) มาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการขายโดยผ่านการบริโภค  ได้แก่

5.1) มาตรการการจัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ

กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการโครงการสินค้าธงฟ้าและร้านถูกใจให้ครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น

กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
โทร 02 232 1417