ภาคประชาชน องค์กรแรงงานออกแถลง ร่วมต้านแปรรูปรัฐวิสากิจ เสนอถอนร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ

แถลงข่าว เรื่อง ขอให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) เครือข่ายประชาชน องค์แรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆได้ออกแถลงเรื่อง ขอให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อแสดงเชิงสัญญลักษณ์ เช่นนัดกันกินเค้กรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

วันที่ 20 กันยายน 2560 ในวันรัฐวิสาหกิจไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2544กำหนดให้วันคล้ายพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช รัชกาลที่ 5 ในวันที่ 20 กันยายนของทุกปีเป็นวันรัฐวิสาหกิจไทย ทางสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจได้มีกาจัดงานทุกปี โดยปีนี้จัดที่รัฐวิสาหกิจการประปานครหลวง ประชาชื่น กรุงเทพฯ พร้อมประกาศจุดยืนในการรักษารัฐวิสาหกิจเพื่อเป็นสวัสดิการพื้นฐานแก่ปวงชนชาวไทย

ทั้งนี้ตั้งแต่ว้นที่13-20 กันยายน2560 เครื่อข่ายองค์กรแรงงาน และภาคประชาชนกลุ่มต่างได้ร่วมกันออกแถลงการณ์และถ่ายรูปเพื่อแดงจุดยืนคัดค้านการแปรรูปรัฐวืสาหกิจ ตามที่รัฐบาลได้นำร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและร่างดังกล่าวสภา สนช. ได้พิจาณาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 ซึ่งได้ผ่านวาระแรกไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ข้ออ้างของรัฐบาลนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ คือต้องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ให้ปลอดจากการเมืองเข้ามาแทรกแซง ให้บริหารแบบโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อบริการที่ดีแก่ประชาชน และเพื่อเป็นกลไกของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการลงทุน โดยคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ ซึ่งฟังแล้วดูดี แม้กระทั่งชื่อ “ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ….” แต่เมื่อพิจารณาสาระในรายมาตราแล้วกลับไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวอ้างตั้งแต่ต้นและขบวนการร่าง พ.ร.บ.กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย กล่าวคือ

1. ประเด็นที่อ้างว่าให้ปลอดจากการเมืองแทรกแซงแต่เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) คณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจ คณะกรรมการคัดสรรผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกลั่นกรองบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ที่ล้วนมาจากนักการเมือง ข้าราชการประจำและอดีต รวมถึงนายทุนนักธุรกิจ เช่น ผู้แทนจากสภาหอการค้า ผู้แทนจากตลาดหลักทรัพย์ ผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรม ทั้งหมดล้วนมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี โดยปราศจากการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นของสังคม

2. ประเด็นที่อ้างว่าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ย้อนหลังไป 10 ปี จนถึงปัจจุบันสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจจากประมาณ 5 ล้านล้านบาท เป็น 14 ล้านล้านบาท รายได้รวมจาก 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันคงไม่มีหน่วยงานไหนมีความมั่นคง แข็งแกร่ง อย่างรัฐวิสาหกิจ แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งรายได้เข้ารัฐแต่ละปีเกือบ 2 แสนล้านบาท และมีงบประมาณการลงทุนขยายงานเพิ่มเพื่อบริการประชาชนโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐบาลเกือบ 5 ล้านล้านบาท

3. ประเด็นที่อ้างว่าเพื่อให้เกิดการบริการที่ดีแก่ประชาชน ต้องทราบว่ารัฐวิสาหกิจทุกแห่ง จะถูกควบคุมโดยรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้หากกระทรวงต้นสังกัดและรัฐบาลไม่อนุมัติแผนวิสาหกิจแต่ละแห่ง และแต่ละแห่งก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน และได้ทำงานสนองนโยบายของประเทศ ของรัฐบาลแต่ละยุคสมัยและแต่ละแห่งก็ได้พยายามพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีมาตราไหนที่เป็นรูปธรรมที่จะกำหนดให้เกิดการบริการที่ดีแก่ประชาชน ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่เห็นได้ชัดคือ “การตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการถือหุ้นแทนกระทรวงการคลังเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ ในการดำเนินงานเต็มศักยภาพมีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์” เป้าประสงค์ของรัฐวิสาหกิจเปลี่ยนจากบริการประชาชนไปเป็นเพื่อการพาณิชย์ การค้าขาย การลงทุน แล้วประชาชนจะได้อะไร

4. ประเด็นที่อ้างว่าคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังยังคงถือหุ้นเต็มตามจำนวน แต่ในสาระรายมาตราของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ให้อำนาจทั้ง ครม./ คนร. และบรรษัทในการโอนหุ้น ขายหุ้น ลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บรรษัท จนพ้นสภาพจากความเป็นรัฐวิสาหกิจได้ และยิ่งกว่านั้นการขายหุ้นก็สามารถกระทำได้โดยเสรี ไม่ได้กำหนดสัดส่วนว่าจะขายจำนวนเท่าใด ซึ่งสามารถขายทั้งหมดก็ได้ซึ่งเมื่อขายไปแล้วกระทรวงการคลังก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้อีกต่อไป ก็จะทำให้รัฐวิสาหกิจพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจไปหากขายเกินกว่าร้อยละ 50 ซึ่งหากรัฐวิสาหกิจนั้นมีบริษัทลูกก็จะทำให้บริษัทลูกเหล่านั้นพ้นสภาพจากความเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งในตลาดทุนตลาดหุ้นเป็นที่ทราบกันว่าคนไทยต่างชาติก็สามารถซื้อได้ และรัฐวิสาหกิจอื่นนอกจาก 11 แห่ง ก็สามารถดำเนินการตามกระบวนการโอนหุ้นให้บรรษัทนำไปขายได้เพียงแต่ต้องทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นเป็นบริษัทเสียก่อน

5. ประเด็นที่อ้างว่าให้มีการบริหารงานอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งพิจารณาจากโครงสร้างและอำนาจของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ แล้ว ก็ปราศจากการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นของสังคม หรือแม้กระทั่งบุคคลในองค์กรนั้น ๆ ที่เข้าใจเชี่ยวชาญในภารกิจ และที่ยิ่งกว่านั้น บรรษัทวิสาหกิจ ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบงบการเงิน บัญชีจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผู้ตรวจสอบงบการเงิน งบดุลทางบัญชีที่มีสินทรัพย์อย่างมหาศาลดำเนินการตรวจสอบ “โดยการแต่งตั้งของกระทรวงการคลัง

6. เป็นร่างกฎหมายที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ บรรษัทวิสาหกิจเป็นหน่วยงานของรัฐไม่เป็นหน่วยงานราชการไมเป็นรัฐวิสาหกิจ กำหนดให้สถานะสิทธิของพนักงานรัฐวิสาหกิจยังคงมีอยู่ต่อไป “ตราบเท่าที่บรรษัทยังคงถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจนั้นเกินกว่าร้อยละ 50” ซึ่งหากบรรษัทขายหุ้นเกินร้อยละ 50 รัฐวิสาหกิจนั้นจะพ้นสภาพจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ สถานะพนักงาน สิทธิต่าง ๆ ก็หมดตามไปด้วยและไม่สามารถรวมตัวจัดตั้งองค์กรสหภาพแรงงานของลูกจ้างได้ทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และ สหภาพแรงงานเอกชน อีกทั้งลูกจ้างและพนักงานของบรรษัทไม่สามารถใช้สิทธิรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานได้ ซึ่งเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ อย่างรุนแรง และยังขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 42

7. ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราที่ 56 ที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการให้บริการที่ดีแก่ประชาชน และในกิจการที่เป็นโครงพื้นฐาน โครงข่ายโทรคมนาคมรัฐจะให้เอกชนดำเนินการเกินกว่าร้อยละ 51 ไม่ได้ ซึ่งเป็นที่ทราบทั่วกันว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ซึ่งในอนาคตเมื่อรัฐวิสาหกิจทั้งหลายสิ้นสลายไป ภารกิจในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็จะหายไป หลักประกันในการดำเนินชีวิตที่มั่นคงก็จะหายไป และร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 ที่กำหนดให้การตรากฎหมายต้องรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากประชาชน รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย และต้องเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและผลการวิเคราะห์ต่อประชาชนด้วย แต่ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. มิได้ดำเนินการใด ๆ ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ และสิ่งที่กล่าวอ้างของกรรมการ คนร.บางคนที่รับผิดชอบในการร่างกฎหมายฉบับนี้ที่บอกว่า “รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและสหภาพแรงงานแล้วนั้น” มิได้เป็นไปตามคำกล่าวอ้างแต่ประการใดเป็นเพียงเวทีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์จัด แล้วเชิญผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายฉบับนี้มาให้ข้อมูลก่อนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลบังคับใช้ เท่านั้น

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และองค์กรสมาชิก จึงขอให้รัฐบาลเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายฉบับนี้ ขอให้ “ถอนร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” แล้วหลังจากนั้นจึงมาเริ่มกระบวนการ ขั้นตอนการร่างกฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยการมีส่วนร่วมจากประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและสหภาพแรงงาน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน ตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามเน้นย้ำเสมอมา และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมให้ความร่วมมือในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจากนี้ไป สรส. จะดำเนินการให้ความรู้ความเข้าใจกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ สหภาพแรงงานเครือข่ายของ สรส. รวมถึงเครือข่ายประชาชนต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมกับหาแนวทางเพื่อให้รัฐบาลได้ทราบเจตนาที่แท้จริง และจะประสานความร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่แท้จริงรวมไปถึงร่วมกันยับยั้ง ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ต่อไป