ภัยพิบัติธรรมชาติ: ทุนนิยมขุดหลุมฝังศพตนเอง

                                             กมล กมลตระกูล

คาร์ล มาร์กซ เคยกล่าวไว้นานมาแล้ว ในหนังสือ ชื่อ Capital ซึ่ง คนส่วนใหญ่ลืมแล้ว คิดว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ  หรือไม่เชื่อว่าสิ่งที่มาร์กซพูดไว้จะกลายเป็นความจริงในวันนี้

มาร์กซพูดไว้ว่า “ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่พัฒนาไปสู่การขุดหลุมฝังศพให้กับตนเอง”

ภาวะโลกร้อน ที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น ลมพายุทอเนโด ใต้ฝุ่น เฮริเคน สึนามิ น้ำหลาก  น้ำท่วม ราคาน้ำมันแพงและกำลังจะหมดโลกซึ่งกำลังสร้างความหายนะให้กับมนุษยชาติในวันนี้  เป็นผลพวงของการพัฒนาของระบบทุนนิยมที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เน้นการเติบโตของ GDP และผลกำไรสูงสุด โดยไม่คำนึงถึงปริมาณจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิด ความสมดุลทางธรรมชาติ และความไม่รู้จักบันยะบันยังในการบริโภคแค่พอเพียงอย่างสมดุล ธรรมชาติจึงแบกรับไว้ไม่ไหวอีกต่อไป

 เมื่อระบบทุนนิยมพัฒนาเทคโนโลยี่ และนำมาใช้เพื่อการผลิตแบบขนาดใหญ่ ( Mass production) จนกระทั่งมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่มีการยับยั้งมาทำการผลิตจนสินค้าล้นโลก เช่น รถยนต์ ตู้เย็น ทีวี  สินค้าอิเล็กโทรนิกส์ โทรศัพท์มือถือ และแม้แต่เสื้อผ้า ซึ่งเปลี่ยนรุ่นเปลี่ยนแบบปีละหลายครั้ง  เป็นต้น

รถยนต์ซึ่งแต่ละคันมีอายุใช้งานไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ก็ตะบี้ตะบันเปลี่ยนแบบเปลี่ยนรุ่นผลิตออกมาทุกปี ปีละหลายรุ่น สินค้าอื่นๆ เช่นรถยนต์ ตู้เย็น ทีวี  สินค้าอิเล็กโทรนิกส์ โทรศัพท์มือถือ และแม้แต่เสื้อผ้า ซึ่งเปลี่ยนรุ่นเปลี่ยนแบบปีละหลายครั้ง  ก็เช่นเดียวกัน ทั้งๆสินค้าเหล่านี้มีอายุการใช้งานไม่ต่กกว่า 5 ปี

กว่าร้อยละ 60 ของสินค้าที่มีอยู่ในตลาดไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน หรือมีมากรุ่น มากประเภท มากสไตล์เกินไปทั้งๆที่รุ่นเก่าก็ยังใช้ได้ ก่อให้เกิดปัญหาขยะพิษ ขยะนิวเคลียร์ และขยะอุตสาหกรรมล้นโลก

หลุมฝังศพตนเองที่ระบบทุนนิยมขุดลงไปเพื่อฝังตนเองได้สร้างปราฏฏการณ์ที่นำไปสู่ความหายนะของมนุษยชาติมีดังต่อไปนี้

ในด้านการผลิต

ภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานมากถึงร้อยละ 37 ของพลังานทั้งหมด ภาคครัวเรือนใช้เพียงร้อยละ 11  สหรัฐอเมริกามีประชากรคิดเป็นร้อยละ 4 ของโลก แต่เป็นผู้ใช้พลังงานถึงร้อยละ 25 ของโลก และบริโภคร้อยละ 22 ของผลผลิตในโลก  รายงานของ UNDP ระบุต่อไปว่า

ร้อยละ 20  ของประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้วบริโภคผลผลิตร้อยละ 86 ของโลก ส่วนร้อยละ 20 ของประชากรในประเทศยากจนที่สุดบริโภคเพียงร้อยละ 1.3 ของโลก

ประเทศที่รวยที่สุด 5 ประเทศบริโภคเนื้อและปลาร้อยละ 45 ของโลก ประเทศยากจนที่สุดบริโภคเพียงร้อยละ 5 (ป่าอเมซอนถูกถางเพื่อทำทุ่งเลี้ยงวัวส่งเนื้อให้ร้านแฮมเบอร์เกอร์)

ประเทศที่รวยที่สุด 5 ประเทศบริโภคร้อยละ  58 ของพลังงานในโลก ประเทศที่ยากจนที่สุดบริโภคเพียงร้อยละ 1.5

  ประเทศที่รวยที่สุด 5 ประเทศใช้กระดาษร้อยละ 84 ในโลก ประเทศที่ยากจนที่สุดบริโภคเพียงร้อยละ 1.1

ประเทศที่รวยที่สุด 5 ประเทศ ใช้บริการเครื่องบิน เรือโดยสาร และรถยนต์คิดเป็นร้อยละ 87 ของโลก ประเทศที่ยากจนที่สุดใช้เพียงร้อยละ 1

เราจึงเห็นบางบ้านมีรถยนต์ บ้านละ 3-4 คันโดยเฉพาะในอเมริกา มีทีวีทุกห้อง มีตู้เย็น 2-3 ตู้ในแต่ละบ้าน มีการพิมพ์หนังสือ แมกกาซีน แผ่นพับโฆษณาที่แจกทิ้งขว้างกลายเป็นขยะ หนังสือและแมกกาซีนและสิ่งพิมพ์ร้อยละ 90 ไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เหมาะต่อการอ่าน และไม่สมควรจะพิมพ์ออกมา

สินค้าในห้าง และในตลาดกว่าร้อยละ 70 ไม่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน  ทรัพยากรธรรมชาติและน้ำมันจึงหมดไปเพราะถูกถลุงใช้ไปอย่างไม่จำเป็น   แต่ผลิตออกมาเพื่อการค้ากำไรสูงสุด เพื่อให้ได้เงินปันผล ได้โบนัส  ปั่นราคาหุ้นให้สูงขึ้น ของ บริษัท กองทุน ผู้บริหาร หรือคนบางกลุ่ม  โดยกระตุ้นสร้างความต้องการเทียมขึ้นมาให้ซื้อให้บริโภคอย่างบ้าคลั่ง  เช่นการเข้าคิวซื้อ ไอโฟน ไอ แพด

ทรัพยากรและอาหารในประเทศกำลังพัฒนาถูกแนวคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พิษร้ายเรื่องการพัฒนาและเติบโตด้วยการส่งออก และส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ จึงมีการถลุงทรัพยากร และเอาเปรียบแรงงาน โดยระบบจ้างรายวัน จ้างชั่วคราว จ้างเหมา ที่ไร้สวัสดิการและการคุ้มครองจากกฏหมายคุ้มครองแรงงานสัมพันธ์ เพื่อลดต้นทุนแล้วส่งไปให้ประเทศที่พัฒนาแล้วบริโภคตามสถิติข้างต้น ทำให้เกิดความขาดแคลนภายในประเทศ คุณภาพชีวิตประชาชนลดลง ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมกว้างมากขึ้น และเกิดปัญหายาเสพย์ติดและโจรผู้ร้ายเต็มบ้าน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินไม่มี

ในด้านการเงิน

เงิน หรือ ทุน ซึ่งถูกสมมติขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนได้กลายพันธุ์ เป็นสินค้าอีกตัวหนึ่ง แทนหน้าที่เดิมที่ใช้เป็นมาตรฐานสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้า

เงินตรากลายเป็นสินค้าซื้อขายเก็งกำไรในตลาดซื้อขายเงินในตลาดเงิน และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราที่มีการเปลี่ยนมือมากที่สุดในแต่ละวัน

โนม ชอมสกี้ ได้ชี้ว่า ก่อนที่อเมริกาจะละทิ้งการเป็นนายธนาคารโลก การลงทุนในโลกร้อยละ 90 เป็นเรื่องการค้าและการลงทุนทางตรงในกิจการหรือ โรงงาน  และ ร้อยละ 10 เป็นเงินลงทุนระยะสั้นในด้านการเก็งกำไร

แต่ในทศวรรษ 1990 ตัวเลขเป็นตรงกันข้าม คือ ร้อยละ 95 ของเงินที่ถ่ายเทโยกย้ายในทุกตลาดเงิน และตลาดทุน เป็นเงินเก็งกำไรระยะสั้นที่ไหลเข้าออกจากแต่ละประเทศภายในเวลา 1 อาทิตย์ ทำให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศปั่นป่วนไม่มั่นคงและวางแผนเศรษฐกิจระยะยาวไม่ได้

ในปี 2005 คาดกันว่าตัวเลขการค้าเก็งกำไรในตลาดทุนสูงถึง 2 ล้านๆเหรียญต่อวัน หรือ 700 ล้านๆเหรียญต่อปี ในขณะที่ ตัวเลขรวมของการค้าโลกมีตัวเลขประมาณ 27 ล้านๆเหรียญและจีดีพีโลก เท่ากับ          48.5 ล้านๆเหรียญต่อปี 

ตัวเลขล่าสุดในรายงานประจำปีของธนาคารโลก 2007  ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศมียอดเงินคิดเป็นแค่เพียงร้อยละ 2 ของการเคลื่อนย้ายเงินตราระหว่างประเทศในแต่ละวันในโลกนี้  ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การครอบโลกด้านการเงิน(Globalization of finance) ไม่ได้เสริม หรือ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการค้าระหว่างประเทศอีกต่อไป แต่ดำรงอยู่ด้วยตนเอง

ในยุคนี้ การเคลื่อนย้ายเงินตราระหว่างประเทศแทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนด้านภาคการผลิตที่แท้จริง หรือ อุตสาหกรรมเลย   การเคลื่อนย้ายเงินเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนย้ายระยะสั้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือ การทำธุรกรรมระยะสั้น ( Portfolio investment) เพื่อการเก็งกำไรอย่างรวดเร็วทันควัน และสามารถเคลื่อนย้ายออกด้วยความเร็วเท่าๆกับที่เคลื่อนย้ายเข้ามา

เงินตราไม่ได้ใช้สำหรับการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าตามหน้าที่ดั้งเดิมของมันเสียแล้ว แต่ถูกใช้ในการสร้างความปั่นป่วนด้วยการเก็งกำไรในวัตถุดิบ พลังงานและอาหารของโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกขาดเสถียรภาพและความแน่นอน ราคาอาหาร ราคาน้ำมันขึ้นลงไม่ใช่เพราะกลไกตลาด แต่เกิดจากการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายตั๋วสัญญาซื้อขายของสินค้าเหล่านี้       ( ตลาดอนุพันธุ์  ตลาดหุ้น ตลาดเงิน ตลาดซื้อขายล่วงหน้า- Commodity Exchange)

วิกฤติปัญหาซับไพร์ม และวอลล์สตรีทในอเมริกาซึ่งลามไปทั่วโลกในขณะนี้คือตัวอย่างหรือปรากฏการณ์ที่มายืนยันข้อความข้างต้น  จนประชาชนทนไม่ไหวและเกิดขบวนการ  Occupy Wall Street ที่ลามไปทั่วโลก

ในด้านการบริโภค

ประชาชนถูกสื่อโฆษณาให้บริโภค บริโภค และบริโภคอย่างไร้สติยั้งคิด ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าโดยการสร้างความต้องการเทียมขึ้นมา( Artificial demand) ในด้านแฟชั่น ในด้านความทันสมัย ในด้านการตามให้ทันเทคโนโลยี่ เพื่อไม่ให้ตกขบวน 

ในอเมริกาเด็กเกือบทุกบ้านมีของเล่นที่กองเป็นภูเขาท่วมห้อง มีของใช้ส่วนเกินที่เด็กในประเทศยากจนไม่เคยคิดเคยฝันจะได้เห็นหรือได้ใช้

 เสื้อผ้าที่มีอายุการใช้งานเป็นปี แต่ถูกใช้เพียงครั้งหรือสองครั้งก็เลิกใช้ เพราะไม่อินเทรนด์ ไม่ทันสมัย ตกยุค ตกแฟชั่น   แล้วกองเป็นขยะอยู่ในตู้ จะบริจาคก็เสียดาย

เด็กถูกกระตุ้นให้กินอาหารด่วน เช่นไก่ทอดอมน้ำมัน  น้ำอัดลม  อาหารเสริม และขนมขยะ(กรอบแกรบเช่น มันทอด ที่มีเกลือและน้ำตาลมาก )แทนอาหารและขนมสดที่ผลิตตามกระบวนการธรรมชาติ เด็กโดยเฉพาะในบ้านเราแทนที่พ่อแม่จะทำอาหารที่มีคุณภาพใส่กล่องอาหารกลางวันให้ลูกไปกินที่โรงเรียน กลายเป็นเรื่องน่าอาย แต่ปล่อยให้เด็กไปซื้ออาหารขยะกิน เช่น พวกใส้กรอกสีแจ๊ดที่เต็มไปสารดินประสิว และสารกันบูดที่ทำลายความเจริญเติบโตของมันสมอง

ในด้านกรอบคิดการบริหารจัดการ

นักบริหาร เจ้าของโรงงานและนักเศรษฐศาตร์ถูกล้างสมองด้วยทฤษฎีพิษร้ายที่มีส่วนทำลายโลกและเป็นการขุดหลุมฝั่งศพให้กับตนเอง คือ การผลิตเพื่อการเติบโต จีดีพีต้องเพิ่มทุกปี  เพื่อกำไรสูงสุด เพื่อกำไรมากที่สุด เพื่อส่งออกให้ได้มากที่สุด  มิใช่การผลิตเพื่อสนองตอบความต้องการบริโภคของสังคมและชุมชน  ทั้งนี้เพราะว่าทรัพยากรในโลกมีไม่เพียงพอจะมารองรับจีดีพีที่เพิ่มทุกปีในทุกประเทศ

ทฤษฎีบริหารล้วนสอนกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต  เพิ่มการขาย เพิ่มยอดขาย กระตุ้นการบริโภค กระตุ้นการแข่งขัน กระตุ้นการส่งออก ตัวเลขต้อง เพิ่ม   เพิ่ม   และเพิ่มทุกปี จึงเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งตัวชี้วัดนี้ล้วนเป็นการถลุงทรัพยากรอย่างไร้ความจำเป็นและฟุ่มเฟือยจนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนภายในประเทศ เร่งภาวะโลกร้อน มาตรการกีดกันการค้าในทุกรูปแบบ และการมีอำนาจเหนือตลาดถูกนำมาใช้เพื่อการเอาเปรียบทางการค้า เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจกินหัวคิว  คือ สร้างกติกาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ค่าธรรมเนียมการใช้(เช่น ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิต) และลิขสิทธิ์มาคุมโลก ระบบแฟรนไชส์ ระบบขายตรง ระบบ Out source   ระบบเกษตรตีตรวน Contract farming   ระบบ ISO  ระบบมาตรฐานสินค้าที่สูงเกินจำเป็น ฯลฯ  ซึ่งล้วนทำให้ผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนายิ่งส่งออกยิ่งเป็นหนี้

ภัยพิบัติธรรมชาติ

พายุไซโคลน พายุทอร์นาโด สึนามิ น้ำท่วม ภัยแล้ง ป่าหมด อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับ น้ำทะเลสูงขึ้น น้ำมันราคาแพงและกำลังจะหมดโลก  เป็นผลพวกจาก“หลุมฝังศพของระบบทุนนิยม”  ข้างต้น เพราะธรรมชาติเสียสมดุล แบกรับต่อไปไม่ไหว

ทั้งหมดนี้ คือ “หลุมฝังศพของระบบทุนนิยม”  หรือ ทางตันของระบบทุนนิยม เพราะเหตุว่า บรรษัทและแต่ละประเทศไม่สามารถลดการผลิตของตนลงเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน น้ำมันขาดแคลน และกำลังจะหมดโลก

ทั้งนี้ เพราะว่าหากลดการผลิตลง ก็หมายความว่าจะต้องปลดคนงานขนานใหญ่ ซึ่งจะสร้างปัญหาสังคมตามมาอย่างขนานใหญ่ การปลดคนงานหมายถึงการลดลงของการบริโภค เมื่อการบริโภคลด การผลิตก็ต้องลด และการปลดคนงานก็ต้องมากขึ้น การบริโภคและการผลิตก็ต้องลดลงตาม ปัญหาโจรผู้ร้ายและยาเสพย์ติดที่เกิดจากความเครียดจะตามมา   กลายเป็นวัฏจักรชั่วร้ายที่หมุนเวียนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เรือโนอาร์

คำถามที่ท้าทายมนุษยชาติในวันนี้ คือ จะร่วมกันสร้างเรือโนอาร์มากอบกู้มนุษยชาติ หรือจะรอสวรรค์ส่งเรือโนอาร์มาช่วยชีวิตโดยไม่คิดทำอะไรเลยในด้านการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบ “นิเวศน์นิยม” หรือ Green economy ด้วยการลดการบริโภค ลดการกระตุ้นการบริโภค ลดการผลิต ลดการเติบโตของจีดีพี ลดผลกำไรและการเติบโตของบริษัท ลดการเอารัดเอาเปรียบคนงานด้วยระบบลูกจ้างรายวัน ระบบจ้างเหมา ให้อยู่ในระดับพอดีและจำเป็นโดยการปันส่วนการบริโภคกันอย่างยุติธรรมระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา และในระหว่างคนมั่งมีกับคนไม่มีในแต่ละประเทศ] เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดการทำลายระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกธรรมชาติลงทัณฑ์ให้ลงหลุมฝังศพพร้อมกันหมดทั้งโลก (โลกแตก)

///////////////////////////////////////