พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล คุ้มครองทั้งคนและเรือ

P2200185

โดย ชุติมา สิริทิพากุล tan.error@yahoo.com

ที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทั้งทางด้านสภาพการจ้างงาน และการดูแลในเรื่องของสวัสดิการต่างๆ แต่ก็เป็นการดูแลแรงงานในภาพรวมที่ไม่ได้ระบุเฉพาะให้ชัดเจนถึงแต่ละสาขาอาชีพที่ทำงานแรงงานในเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ก็เป็นแรงงานสาขาหนึ่งที่มีการทำงานแตกต่างจากแรงงานประเภทอื่นๆ เนื่องจากต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ทำงานทั้งวันทั้งคืน นอน กิน ดื่ม และทำกิจกรรมทุกอย่างบนเรือเดินสมุทรนั้น

ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ได้ระบุถึงสภาพการจ้างงาน การจัดที่พักอาศัย ฯลฯ ของแรงงานเหล่านี้อย่างชัดเจน เพียงแต่ที่ผ่านมา บริษัทเดินเรือต่างๆ จัดสภาพการทำงานของลูกจ้างให้ตามอนุสัญญาที่เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานทางทะเลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่มีอยู่กว่า 60 ฉบับ ซึ่งไทยก็เป็น 1 ในประเทศสมาชิก แต่ในอนาคตประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แรงงานทางทะเล พ.ศ…. ใช้โดยตรง

โชคชัย ศรีทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เล่าถึงการจัดทำ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ…. ว่า ได้มีการยกร่างเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2549 (Maritime Labor Convention, 2006 : MLC) ที่ไอแอลโอให้การรับรอง ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้เป็นการปรับปรุงและรวบรวมอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานในกิจการทางทะเลของไอแอลโอที่มีประมาณ 60 ฉบับ ให้เป็นอนุสัญญาฉบับเดียว (Consolidated Convention) ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายหลังประเทศสมาชิกอย่างน้อย 30 ประเทศ และมีระวางบรรทุกรวมกันแล้วมากกว่าร้อยละ 33 ของตันกรอสโลกให้สัตยาบันเป็นเวลา 12 เดือน

“เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ประเทศฟิลิปปินส์ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฉบับนี้เป็นประเทศที่ 30 และน้ำหนักบรรทุกรวมกันของทั้ง 30 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 59.85 ของตันกรอสโลก ดังนั้น อนุสัญญาฉบับนี้จึงจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 สิงหาคม 2556” โชคชัยกล่าว
P2210291P2210246

อนุสัญญาฉบับนี้มีความแตกต่างจากอนุสัญญาฉบับอื่นของไอแอลโอ ตรงที่อนุสัญญาฉบับอื่นจะมีผลบังคับใช้กับประเทศที่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับนั้นเท่านั้น ทว่า อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเลฉบับ พ.ศ.2549 จะมีผลบังคับใช้ในทางอ้อมกับสมาชิกทุกประเทศ แม้จะยังไม่ได้ให้สัตยาบันก็ตาม หมายความว่า อนุสัญญาฉบับนี้ให้อำนาจกับรัฐเจ้าของท่าเรือที่ให้สัตยาบันสามารถที่จะตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน ของคนประจำเรือที่เข้ามาเทียบท่าในประเทศ และสามารถสั่งกักเรือหรือสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องบนเรือนั้นให้เป็นไปตามที่อนุสัญญากำหนดได้ แม้ว่าประเทศเจ้าของเรือจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันก็ตาม ซึ่งหมายรวมถึงเรือของประเทศไทย ที่เป็น 1 ในประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันด้วย

“ไทยในฐานะประเทศสมาชิก แม้จะไม่ได้ให้สัตยาบัน แต่เพื่อความสะดวกของเรือที่ชักธงไทยที่จะไปขนถ่ายสินค้าในประเทศต่างๆ ที่ได้ให้สัตยาบัน จึงต้องมีกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับดังกล่าว และมีการออกใบรับรองเพื่อเป็นหลักฐานที่จะนำไปแสดงเมื่อถูกตรวจสอบจากประเทศที่เข้าไปเทียบท่า เช่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์” โชคชัยกล่าว และว่า ในฐานะประเทศเจ้าของธงเรือ ประเทศไทยจึงมีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ ออกกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำด้านสภาพการจ้างงานและการทำงานบนเรือที่ชักธงของประเทศไทยให้สอดคล้องกับที่อนุสัญญาเอ็มแอลซีกำหนด และการกำหนดระบบในการออกใบรับรองเพื่อให้เป็นหลักฐานที่รัฐบาลรับรองว่าคนประจำเรือลำนั้นๆ มีสภาพการจ้างและการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด
ข้ามชาติ1

สำหรับสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก่ มาตรฐานสภาพการจ้างงาน อาทิ การห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ทำงานบนเรือ การทำงานเวลาปกติและล่วงเวลารวมแล้วต้องไม่เกิน 14 ชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละไม่เกิน 72 ชั่วโมง นอกจากนี้ ให้เจ้าของเรือจ่ายค่าล่วงเวลา 1.25 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง คนประจำเรือสามารถลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงโดยให้ถือว่าเป็นวันทำงาน คนประจำเรือที่เป็นผู้หญิงนั้นมีสิทธิลาคลอดและเลี้ยงลูกได้ไม่เกิน 90 วัน โดยให้เจ้าของเรือจ่ายค่าจ้างระหว่างลาแต่ไม่เกิน 45 วัน

โดยเจ้าของเรือต้องดูแลจัดหาที่พักอาศัย ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ รวมทั้งห้องพักผ่อนให้กับแรงงานที่ทำงานบนเรือ และต้องจัดให้มีประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และประกันชีวิตให้แก่คนประจำเรือ รวมถึงจัดให้มีการรับประกันทางการเงิน เพื่อให้มีหลักประกันการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีที่คนประจำเรือเสียชีวิตบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยจากการปฏิบัติงาน รวมทั้งเงินทดแทนกรณีส่งกลับเมื่อเจ้าของเรือบอกเลิกสัญญาจ้าง

ในความคิดเห็นของผู้ประกอบการเดินเรือนั้น โชคชัยบอกว่า จากการทำประชาพิจารณ์ ผู้ประกอบการเรือเดินสมุทรของไทยไม่ได้มีข้อแก้ไข หรือข้อสงสัยในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องนี้ดี และมีการจัดสภาพการจ้างงานตรงตามอนุสัญญาเดิมที่ไอแอลโอกำหนดไว้อยู่แล้ว ไม่เท่านั้นบางผู้ประกอบการยังจัดสวัสดิการไว้ดีกว่าข้อกำหนดเสียอีก

พ.ร.บ.แรงงานทางทะเลคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ แม้จะใช้ไม่ทันกับอนุสัญญาเอ็มแอลซี แต่ล่าสุด กระทรวงแรงงานได้เตรียมการ โดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาออกข้อกำหนดและใบรับรองแรงงานทางทะเลชั่วคราวแล้ว

ดังนั้น การออก พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกจ้างประจำเรือเดินสมุทรอุ่นใจขึ้นว่า ได้รับความคุ้มครอง และมีหน่วยงานที่คอยตรวจสอบสภาพการจ้าง เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของแรงงานที่ทำงานท่ามกลางคลื่นลม รวมทั้งเป็นเอกสารสำคัญที่ทำให้เจ้าของเรืออุ่นใจว่า การเดินเรือไปเทียบท่าในประเทศต่างๆ จะไม่ถูกกักตัวและเกิดความเสียหายต่อการทำธุรกิจเหมือนเช่นในอดีตอีก

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1368877922&grpid=&catid=19&subcatid=1904
หน้า 7 มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2556