พลังสื่อ เพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน ลดความเหลื่อมล้ำ

สื่อมวลชนร่วมเสวนานักสื่อสารแรงงาน  ถกแนวทางการทำงานระหว่างแรงงานกับสื่อมวลชนเพื่อยกประเด็นแรงงานสู่สาธารณะ  หวังลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน  โดยเห็นว่าปัจจุบันมีช่องทางมากขึ้นจากสื่อทางเลือกและสื่อเฉพาะต่างๆ เช่น วิทยุชุมชน  หรือสื่อใหม่อย่าง อินเตอร์เน็ทและสื่อออนไลน์ต่างๆ  แต่เห็นว่ายังไม่ควรทิ้งสื่อกระแสหลักทั้งหนังสือพิมพ์และทีวีที่ยังมีพลังเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่อย่างน้อยอีก 10 ปี  แต่แรงงานต้องมีวินัย มีความเป็นมืออาชีพในการสร้างข่าวและช่องทางของตัวเองตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป   โดยต้องข้ามให้พ้นความซ้ำซากทั้งในด้านการนำเสนอประเด็นเนื้อหาและตัวบุคคลเป็นข่าว
 
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2553  ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์   โครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  ร่วมกับ  แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส.  จัดงานเสวนาเรื่อง “พลังสื่อ กับ การเพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม”   มีสื่อมวลชนจากต่างแขนง 4 คนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ถ่ายทอดความรู้กับนักสื่อสารแรงงานและผู้นำแรงงานทั้งในและนอกระบบจำนวนกว่า 50 คน
 
  
 
นายทวีป  กาญจนวงศ์  ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า  ทุกวันนี้สื่อมีความสำคัญและมีรูปแบบต่างๆมากมาย  พื้นที่ข่าวสามารถชี้ขาดชัยชนะได้  ในส่วนของแรงงานต้องทำงานสื่อสารกับทั้งสมาชิกและสังคม  ทั้งในรูปแบบของเอกสารต่างๆและการสัมภาษณ์พูดคุย  ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างความเข้าใจ  ความร่วมมือ และความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน  การใช้สื่อและการเข้าถึงสื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้จากสื่อมวลชนอาชีพโดยตรง
 
นางสาวมัทนา  โกสุมภ์  ผู้ช่วยผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส.   กล่าวเปิดงานว่า
การสื่อสารมีพลังมากในการสร้างการเปลี่ยนแปลง  แต่การสื่อสารไม่ใช่เรื่องง่าย  แม้มีข้อมูลแล้วก็ยังอาจสื่อสารไม่ได้  และเห็นว่าทุกวันนี้แรงงานมีช่องทางเลือกในการสื่อสารมากขึ้น  ตัวอย่างจากนักสื่อสารแรงงานกลุ่มอยุธยาที่ฝึกแล้วสามารถเขียนข่าวขึ้นเว็บไซต์ voicelabour ได้ทันที  ซึ่งวันนี้ก็จะได้พูดคุยกันว่าจะทำงานกับสื่ออย่างไรให้สื่อสนใจประเด็นแรงงาน และนำไปเป็นข่าวสื่อสารต่อสังคม
 
นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา  นักวิชาการแรงงาน  กล่าวเริ่มดำเนินรายการว่า
ประเด็นความเหลื่อมล้ำถูกหยิบยกมาพูดคุยกันหลายเวทีในปัจจุบัน  แต่เรื่องราวของแรงงาน 37-38 ล้านคนไม่ค่อยปรากฎในสื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้   ต่างกับเรื่องคนไม่กี่คนในแวดวงบันเทิง  ตั้งคำถามว่า  ทำไมประเด็นแรงงานไม่ค่อยมีในสื่อ?  ทำอย่างไรพื้นที่สื่อจะเปิดมากขึ้น?   ดังนั้น การสร้างความเข้าใจระหว่างสื่อกับแรงงานจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน  
 
  
 
นายชูวัส  ฤกษ์ศิริสุข  บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท   กล่าวถึงสื่อกระแสหลักกับสื่อทางเลือกว่าไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน  ยุคหนึ่งหนังสือพิมพ์เคยเป็นสื่อทางเลือก  แต่เมื่อคนอ่านมากขึ้นก็ชี้นำสังคมได้ กลายเป็นสื่อกระแสหลัก  ซึ่งวัดจากจำนวนคนอ่านมากกว่าจะเป็นเรื่องรายได้หรือจุดประสงค์ของกิจการ  สื่อกระแสหลักจะเล่นข่าวใหญ่เรียกเร็ทติ้ง  ส่วนสื่อทางเลือกจะเน้นจุดประสงค์ขององค์กรมากกว่า   เช่น ประชาไทจะเสนอข่าวที่ไม่เป็นข่าว แต่มีความสำคัญ จึงทำข่าวแรงงานที่ไม่ค่อยมีคนอ่าน  โดยเห็นว่าเกิดจากปัญหา 2 ส่วน
1. ด้านเทคนิค  คือประเด็นซ้ำซาก เช่นทุกข์ยาก เดินขบวนเรียกร้อง  ซึ่งต้องอาศัยฝีมือประสบการณ์ของนักข่าวที่ต้องเจาะหาแง่มุมอื่นมาปั้นประเด็นนำเสนอ
2. ด้านโครงสร้างคือ  หนังสือพิมพ์เดินเข้าสู่ธุรกิจ  โฆษณาเป็นสิ่งสำคัญมากกว่ายอดพิมพ์ที่ยิ่งมากยิ่งขาดทุน  โฆษณาและสื่อคือทุนซึ่งกดขี่แรงงาน  จึงไม่มีข่าวแรงงาน
ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา  สื่อกระแสหลักถูกท้าทายจากสื่อทางเลือก เช่นวิทยุชุมชนที่เกิดขึ้นมากมาย  และอินเตอร์เน็ท  พฤติกรรมของการบริโภคสื่อเปลี่ยนไป  คนเบื่อสื่อกระแสหลักหันไปหาสื่อเฉพาะ  แต่ก็ยังไม่มีบทบาทชี้นำสังคมได้
สำหรับฝ่ายแรงงานควรเลิกโทษว่าสื่อไม่ทำข่าวแรงงานได้แล้ว  ในยุคสื่อออนไลน์ที่ไม่เพียงมีช่องทาง แต่สามารถเขียนข่าวได้เองเพียง 4-5 บรรทัดก็เป็นข่าวได้  แม้นักวิชาการเห็นว่ายังมีข้อบกพร่องในความน่าเชื่อถือก็ตาม  แต่สื่อหลักทุกวันนี้ก็มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือเช่นกัน  ดังนั้นแรงงานก็ควรเขียนข่าวเองได้แล้ว  คนทำงานก็มีสิทธิในการพูดและสื่อสาร  เป็นหน้าที่ของคนทุกอาชีพ  การพูด การสื่อสารเป็นเรื่องของชีวิต
 
นางสาวศุภรา  จันทร์ชิดฟ้า  นักข่าวจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์   เห็นว่าเครื่องกรองข่าวมี 4 อย่างคือ
1. โฆษณา  หนังสือพิมพ์อยู่ได้ด้วยโฆษณา (บางกอกโพสต์หน้าละ 2.5 แสนบาท ไทยรัฐ 4.8 แสนบาท)
2. ความสัมพันธ์ของเจ้าของสื่อ  กับใคร  ต้องการอะไร  ซึ่งนักข่าวจะถูกใบสั่งว่าข่าวไหนทำได้ไม่ได้  บางข่าวเขียนแล้วถูกโยนทิ้งด้วยข้ออ้างต่างๆ เช่นเป็นวิชาการมากเกินไป  ซึ่งความจริงเป็นเพราะไปกระทบกับความสัมพันธ์ ของเจ้าของสื่อหรือบรรณาธิการกับผู้สนับสนุน
3. ความสัมพันธ์ของนักข่าว  กับนักการเมืองหรือนักธุรกิจ  ถ้ารับของแจก  กินฟรี จะเขียนข่าวด่าไม่ได้  แต่ถ้าสนิทกับนักการเมืองอาจได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงาน
4. โทรด่า ถอนโฆษณา  ทำให้ข่าวอาจไม่ได้ลงแม้นักข่าวจะหาข้อมูล  มีการวิเคราะห์วิจัยครบถ้วน
5. คนอ่าน  ไม่แสดงความเห็นต่อข่าวแม้นำเสนออย่างไม่ถูกต้อง หรืออย่างแรงงานเพิกเฉยต่อข่าวตัวเองแต่สนใจข่าวดาราท้องมากกว่า   
ในส่วนของข่าวแรงงาน   เจ้าของสื่อมักไม่สนใจเรื่องแรงงาน  เว้นแต่นักข่าวจะใช้บารมีเข้าไปต่อรอง  ซึ่งปัญหาแรงงานมักเป็นเรื่องเร่งด่วน  มีวิธีเขียนนำเสนอต่างจากสารคดี  แต่ก็เหมาะกับทุกวันนี้ที่ทุกอย่างเร่งด่วนไปหมด  แรงงานจึงต้องช่วยเหลือนักข่าวในการหาข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน  อาจใช้เวลามากหน่อย  แม้ว่าทำให้ข่าวขาดความสดไป แต่สามารถนำไปเขียนเป็นบทความอันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาว
 
  
 
นายชัยภัทร  ธรรมวงษา  นักข่าวจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า  ให้ความเห็นว่า  แรงงานยังคงต้องให้ความสำคัญกับสื่อกระแสหลักเพราะยังมีพลังเปลี่ยนแปลงสังคมได้   เมื่อแรงงานมีปัญหาและเป็นข่าว  ภาครัฐจึงจะให้ความสนใจรีบแก้ปัญหา  ทั้งที่กระทรวงแรงงานฯตั้งมากว่า 10 ปีแล้ว เปลี่ยนรัฐมนตรีมาหลายคนก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของแรงงานให้ไปในทิศทางที่ดีได้   
ในส่วนของนักข่าวกระทรวงแรงงานฯก็มีไม่มาก จะใช้วิธีเช็คข่าวจากผู้ประสานงานหรือนำแรงงาน  นักวิชาการ  ซึ่งก็มีเรื่องเกิดขึ้นทุกวัน  นักข่าวก็จะประชุมกันว่าจะหยิบประเด็นอะไรขึ้นมาเล่น ซึ่งต้องดูทิศทางข่าว  แต่ก็จะเก็บข้อมูลเอาไว้หมดรอ “ปล่อยของ” ในวันที่เหมาะสมหรือวันที่ข่าวไม่ค่อยมี   แต่จะให้เล่นข่าวแรงงานเป็นข่าวหน้า 1 คงยาก เพราะบรรณาธิการมีอำนาจเลือกข่าว มักให้เหตุผลว่าเป็นข่าวซ้ำๆ หรือข่าวเต็มแล้ว  จึงเห็นว่าแม้สื่อกระแสหลักยังจำเป็น แต่แรงงานก็ควรมีช่องทางของตัวเอง  อย่างเว็บไซต์ voicelabour  ก็ควรระดมช่วยกันทำ เขียนสั้นๆ 4-5 บรรทัด  มีเครือข่ายเสนอข่าวพร้อมๆกันก็จะเกิดพลังในการสื่อสารได้
 
นางสาววิไลวรรณ  แซ่เตีย   ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  กล่าวแสดงความรู้สึกต่อสื่อว่า   เท่าที่ฟังเสียงสะท้อนของฝ่ายแรงงานก็ค่อนข้างพอใจเพราะหลายสื่อให้พื้นที่มาก  แม้ว่าที่ผ่านมาฝ่ายแรงงานไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนกับสื่อให้เกิดความสนใจทำข่าวแรงงานมากนัก   เห็นว่าทุกวันนี้  ทุนกับรัฐแนบแน่นกับสื่อจนเป็นธุรกิจแล้ว  ข่าวแรงงานจะถูกกรองไม่ให้นำเสนอกระทบธุรกิจหรือภาครัฐ  ข่าวที่เด่นมากจึงจะเบียดขึ้นได้ ซึ่งก็มีทีวีหลายช่องรวมทั้งเคเบิ้ลทีวี และหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ให้ความสำคัญกับข่าวแรงงานแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมสื่อทั้งหมดและปริมาณโดยรวมก็ยังไม่มากนัก  
เห็นว่าแรงงานต้องหันมามองตัวเองด้วย  ในเรื่องประเด็นที่สื่อเห็นว่าซ้ำๆ  ข้อมูลเก่า  และต้องคำนึงถึงจุดยืนด้วยเช่น ถ้าอิงการเมืองมากก็จะถูกตั้งคำถาม  แล้วก็ต้องรับฟังข้อเสนอแนะจากสื่อมวลชนด้วย 
นายชัชวาล  สมเพชร  ประธานสหภาพแรงงานไทยคูน  เล่าให้ฟังว่า  คนงานและสมาชิกของสหภาพแรงงานไทยคูนถูกนายจ้างเอาเปรียบจึงรวมตัวกันต่อสู้ตามสิทธิ  มีสื่อหนังสื่อพิมพ์และทีวีหลายช่องไปช่วยทำข่าว  ทำให้เป็นตัวเร่งกระบวนการของภาครัฐ วันไหนเป็นข่าวก็จะได้รับความสนใจแก้ปัญหาเร็ว  แต่ทุกวันนี้ปัญหาของคนงานไทยคูนก็ยังไม่จบ  ยังมีการเลิกจ้างมีการบีบให้สมาชิกสหภาพแรงงานลาออก  รวมทั้งมีคดีค้างอยู่อีกหลายคดี  ซึ่งคงต้องใช้สื่อเป็นช่องทางในการช่วยต่อสู้
 
  
 
นางสุจิน  รุ่งสว่าง   ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานแรงงานนอกระบบกรุงเทพมหานคร  กล่าวถึงการเสนอข่าวแรงงานนอกระบบว่า  ที่ผ่านมามักเป็นเรื่องสวัสดิการมากกว่าเสนอวิถีชีวิตการทำงานและความเป็นอยู่  อาจเป็นเพราะมีการเรียกร้องมากในสิ่งที่แรงงานนอกระบบยังขาดอยู่  
มีความเห็นว่าสื่อทางเลือกกับสื่อกระแสหลักจะเติมเต็มซึ่งกันและกันได้   เหมือนกับแรงงาน     นอกระบบก็สามารถเกาะกระแสแรงงานในระบบในการสื่อสารได้เช่นกัน  ทั้งนี้แรงงานต้องแสดงความเป็นตัวตนให้ชัด  หาข้อมูลจากเจ้าของประเด็นมานำเสนอ  มีการเชื่อมโยงพึ่งพาอาศัยกัน  หางบประมาณ  และแกนนำต้องแบ่งความรับผิดชอบเรื่องหลักเรื่องรองในการเสนอข่าว
 
นางสาวนันทพร  เตชะประเสริฐสกุล   คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนส่วนส่งเสริมและพัฒนาเครือข่าย  ให้ความเห็นว่า  แม้จะเกิดสื่อใหม่ สื่อทางเลือกมาก  แต่สื่อกระแสหลักจะยังอยู่ไปอีกอย่างน้อย 10 ปี  เพราะสื่อใหม่ยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่  แรงงานจึงต้องรักษาฐานสื่อกระแสหลักไว้ก่อน แต่ต้องปรับตัวตามสังคมและเทคโนโลยี
ส่วนปัญหาแรงงานไม่เป็นข่าวนอกจากการถูกกรองแล้ว  ยังมีเรื่องของทัศนคติทั้งจากสังคม และบรรณาธิการ  รวมทั้งจากการหล่อหลอมนักข่าวจากสถาบันการศึกษา  โดยทัศนคติที่กดทับสังคมมานานอย่างเช่น  ไม่เดินขบวนไม่เป็นข่าว  ซึ่งเห็นว่าแรงงานต้อง
1. สำรวจตัวเอง  ว่าจะพูดในสิ่งที่อยากพูด หรือพูดในสิ่งที่สังคมจะฟัง  ต้องทำให้เห็นว่าปัญหาของแรงงานกระทบต่อสังคมและวันหนึ่งอาจเกิดปัญหาเดียวกันขึ้นกับใครก็ได้
2. สร้างโอกาส  ทั้งนี้กระแสเปิดเสรีสื่อช่วงปี 2535  เป็นตัวจุดประกาย ทำให้ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา  สิทธิของภาคประชาชนในด้านการสื่อสารเปิดโอกาสให้สามารถมีสื่อเองได้ เช่น วิทยุ เว็บไซต์  สื่อออนไลน์  แต่เป็นเรื่องใหม่ที่แรงงานยังไม่คุ้นเคย  
ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่สื่อทางเลือกเท่านั้น  แม้แต่สื่อกระแสหลักก็ยังพยายามจะทำให้เป็นสื่อสาธารณะ  จึงอยู่ที่ว่าแรงงานจะก้าวเข้าไปหาและทำงานกับสื่ออย่างไร  เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมตัวโดยอาจเริ่มจากสำรวจช่องทางสื่อสารของแรงงาน ประสานเครือข่ายเพื่อใช้ประโยชน์ก่อน  และต้องรักษาพื้นที่สื่อกระแสหลักเอาไว้โดยต้องทำอย่างต่อเนื่อง  คำนึงถึงความน่าสนใจของรูปแบบ  ความถูกต้องของเนื้อหาซึ่งต้องมาเป็นลำดับหนึ่ง  เพราะจะก่อผลกระทบวงกว้างและมีผลต่อความน่าเชื่อถือ
 
  
 
นายชาญวิทย์  อร่ามฤทธิ์   นักจัดรายการวิทยุ   กล่าวถึงตนเองว่า  เคยมีส่วนเข้าไปอบรมวิทยุชุมชนหลายพื้นที่  พบว่าเกิดพลังที่คนพื้นที่รู้สึกว่า เป็นอำนาจที่ตัวเองได้สื่อได้ปลดปล่อยออกมา
ตนเห็นว่า  ความคิด  สะท้อนการทำข่าวของนักข่าว  ซึ่งสถาบันการศึกษาก็ช่วยไม่ได้หากนักศึกษามีภูมิหลังเป็นคุณหนูที่ไม่ค่อยได้สัมผัสรับรู้ความทุกข์ยากของผู้คนในสังคม  
ปัญหาใหญ่อีกอย่างอยู่ที่ตัวแรงงานเองที่ปกติถูกบังคับจากนายจ้างทำให้มีวินัยทำงานตรงเวลา  แต่เวลาจะทำเรื่องสื่อกลับกลายเป็นมือสมัครเล่น  แรงงานอยู่กับฐานปัญหา  การทำสื่อต้องมีการประเมินขั้นตอนการเคลื่อนไหวให้เหมาะสมว่าสาธารณะคิดอย่างไร  เซ็นเซอร์ตัวเองด้วยในบางระดับ  รูปแบบที่เหมาะกับแรงงาน  กำหนดจังหวะของข้อมูลเนื้อหา  ทำเอกสารที่ดูแล้วมีชีวิตชีวา มีเสน่ห์   เชยมากหากทำเอกสารแล้วคนไม่อ่าน   
และทิ้งท้ายว่า  การทำไม่ทำสื่อไม่เกี่ยวกับ ป 4.  โดยเริ่มใช้โอกาสจากสื่อของคนอื่นก่อนแล้วค่อยขยับมาสร้างมาใช้สื่อของตัวเอง  
 
 นายศักดินา  กล่าวสรุปเนื้อหาการเสวนาทั้งหมดว่า
ขบวนการแรงงานทำงานมายาวนาน  แต่มีช่องทางผ่านสื่ออย่างจำกัด  แต่โลกวันนี้มีทางเลือกในการสื่อสารมากขึ้น  สื่อทางเลือกจะเข้ามามีบทบาทมาก  แต่ก็คงยังทิ้งสื่อกระแสหลักไม่ได้   แรงงานต้องมีวินัยเป็นมืออาชีพในการทำสื่อมากกว่านี้  ต้องทบทวนพื้นที่ของแรงงานที่มีอยู่ในสื่อทั้งกระแสหลัก  สื่อทางเลือก  และสื่อของขบวนการแรงงานเอง  ตรวจสอบว่าเราใช้ประโยชน์เข้าไปยึดครองพื้นที่สื่อได้เพียงใด  กำหนดทิศทางของข่าวได้เพียงใด  ทั้งนี้หากเมื่อมองจากมุมที่คนงานจำนวนมหศาลอยู่ในฐานะเป็นผู้บริโภคสื่อ   จึงควรจะมีอำนาจกำหนดสื่อได้ 
 
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน