ผ่าแผนโทรคมนาคมของชาติ CAT – TOT วิกฤตหรือโอกาส?.ประเทศไทย

20160824_130339

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) แถลง คัดค้านการแปรรูปทีโอที และกสท.โทรคมนาคมตามมติครน. หลังเสวนา“ผ่าแผนโทรคมของชาติ CAT – TOT วิกฤตหรือโอกาส?..ประเทศไทย”

วันพุธที่ 24 สิงหาคม 2559 ณ ห้อง CAT CONVENTION HALL บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้จัด โครงการเสวนาทางวิชาการ “ผ่าแผนโทรคมของชาติ CAT – TOT วิกฤตหรือโอกาส?..ประเทศไทย” โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย 1. ดร.พันศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, 2. คุณรสา กาญจนสาย ผู้อำนวยการกองพัฒนารัฐวิสาหกิจ 2 ,3. คุณเดชอุดม ไกรฤทธิ์ กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม และนายกสภาทนายความ, 4. ดร.นุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระ และ5. คุณรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงาน

20160824_101419

โดยมีการกล่าวถึง หลังรัฐบาลมีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมให้สามารถแข่งขัน กับบริษัทเอกชน โดยในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติรับทราบแผนการปรับโครงสร้างของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ICT) จะเป็นผู้กำกับให้เกิดขึ้นด้วยการจัดตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของ กสท และ ทีโอที ได้แก่ บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ (NBN CO.) บริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ (NGN CO.) และบริษัทศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต (IDC CO.) โดยให้กระทรวง ICT กำกับให้ กสท โทรคมนาคม และ ทีโอที จัดทำรายละเอียดของแผนการดำเนินกิจการของทั้ง 3 บริษัท และดำเนินการสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานของ กสท และ ทีโอที ต่อไป และผลของมติ คนร. ให้ตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งใหม่อีก 3 บริษัท ที่เป็นอิสระและอยู่เหนือการควบคุมของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยแยกทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายหลักและสำคัญออกมา จะทำให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสาร มีความเข้มแข็งได้อย่างไร รัฐบาลจะใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือ เพื่อให้บริการสาธารณะและการสร้างรายได้ เพื่อการพัฒนาประเทศ จะประสบปัญหาหรือไม่ คำนึงถึงความมั่นคงของประเทศและประโยชน์ของประชาชน อย่างแท้จริงหรือไม่ การพัฒนารัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสาร ให้เป็นบริการสาธารณะอย่างมีคุณภาพเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างไร และการปรับโครงสร้าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จะแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจได้จริงหรือไม่ ใครจะได้ประโยชน์ จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งสรุปได้ดังนี้

  1. ภาครัฐต้องการที่จะลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยกำหนดให้ทางกสท.ทำการสื่อสารระหว่างประเทศ ให้ทางทีโอที สื่อสารภายในประเทศเป็นต้น
  2. การแบ่งองค์กรเพื่อมีการทำงานที่คล่องตัวมากขึ้น และยังคงเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจอยู่ โดยให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูป
  3. เป็นการปฏิรูปองค์กรเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุน หากไม่มีการปฏิรูปองค์กรจะอยู่ไม่ได้
  4. ต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรให้สามารถแข่งขันได้ ในเครือข่าย บอร์ดแบร์น อินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น

20160824_093302

จากมุมมองของนางรสนา โตสิตระกูล จากแนวคิดข้อเสนอจากภาครัฐในการแก้ไขปัญหาด้วยการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมานั้นด้านภาคประชาชนมองว่า อาจเป็นเรื่องของการแต่งตัวเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคงเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น ไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างที่คิด ด้วยไม่ได้มีการแยกปัญหาจริงๆคืออะไร โดยตนมองว่า ปัญหาอยู่การบริหารที่ขาดระบบส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันกันแบบจริงจังในส่วนของเอกชนกับรัฐวิสาหกิจ จะเห็นได้ว่าเอกชนจากเดิมต้องมาเช่าโครงข่ายจากภาครัฐขณะนี้ได้มีการพัฒนาโครงการของตนเองด้วยการที่รัฐจัดให้มีการประมูลโครงข่ายต่างๆทั้งระบบ 900 ระบบ 3 G 4G ซึ่งในส่วนของรัฐวิสาหกิจโดยรัฐไม่มีสิทธิ์ในการประมูล และรับสัมปทานโครงข่ายที่เดิมเป็นของรัฐ การที่จะตั้งบริษัทแยกออกจากเดิม 2 บริษัทจึงเป็นการแตกตัวเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ใช่หรือไม่

นางรสนายังกล่าวอีกว่า “รัฐไม่ได้แยกเนื้อ กระดูก มัน ออกจากกันเพื่อรีดเอาไขมันไม่ดีออกจากองค์กร เป็นเป็นการคัดเลือกสิ่งดีไปให้เอกชนหรือไม่?” การที่มีบริษัทเพิ่มเป็นการเพิ่มบอร์ดหรือคณะกรรมการบริหาร ถือเป็นการเพิ่มรายจ่าย เพิ่มภาระให้องค์กรหรือไม่เพราะว่าหากเป็นดูตัวเลขการจ้างบอร์ดค้อนข้างสูง จึงเสนอว่าให้กลับมาดูปัญหาจริงของ 2 รัฐวิสาหกิจนี้ โดยเสนอว่า หนึ่งต้องไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง ล่วงลูก สองรัฐต้องให้รัฐวิสาหกิจสามารถแข่งขันกับเอกชนได้จริง ด้วยเอกชนตอนนี้ทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รัฐต้องส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน ด้วยประชาชนยังคงต้องการรัฐวิสาหกิจอยู่ในการพัฒนาประเทศและในท้องถิ่นที่ห่างไกลเอกชนไม่เข้าไปพัฒนาอยู่แล้ว รับต้องทำหน้าที่นี้

หลังการเสวนา ทางสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้แถลง คัดค้านการแปรรูปทีโอที และกสท.โทรคมนาคมตามมติครน.

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้อ่านแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาดังนี้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 ที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มีมติเห็นชอบแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ 2 แห่งคือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ตามที่คณะทำงานพิจารณากลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ โดยมี
ดร.พันธ์ศักดิ์  ศิริรัชตพงษ์ เป็นประธาน ได้นำเสนอ โดยการแยกทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์โครงข่าย
ของรัฐวิสาหกิจไปไว้ในบริษัทตั้งใหม่ 3 บริษัทร่วมกัน ซึ่งจะมีการดำเนินงานที่เป็นอิสระจากทั้ง ทีโอที
และ กสท โทรคมนาคม ได้แก่

  1. บริษัท NGN Co. เพื่อทำหน้าที่ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ
  2. บริษัท IDC Co. เพื่อทำหน้าที่ให้บริการศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตและบริการของระบบ Cloud Computing
  3. บริษัท NBN Co. เพื่อให้บริการสื่อสาร โดยมีทรัพย์สินเป็นอุปกรณ์โครงข่ายหลัก (Core Network) และอุปกรณ์โครงข่ายเข้าถึง (Access Network)

และให้รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง จัดตั้งบริษัทขายปลีกบรอดแบนด์ โดยนำฐานข้อมูลลูกค้าไปบริหารจัดการดูแล และมีรูปการดำเนินธุรกิจเป็นเอกชน ส่วนรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งให้ทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินที่เหลืออยู่ ประกอบด้วย เสา คลื่นความถี่ อาคารชุมสาย อุปกรณ์ชุมสายโทรศัพท์ เท่านั้น

20160824_130320

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ก่อตั้งมานับตั้งแต่ปี 2523 จุดยืนและอุดมการณ์ ที่สืบทอดกันมาคือการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ให้อำนาจ บทบาทแก่กลุ่มทุนนักธุรกิจเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในทรัพย์สินของรัฐที่เกิดขึ้นจากภาษีของประชาชน มุ่งหวังแต่เพียงกำไรเพียงอย่างเดียว โดยมิได้ใส่ใจถึงผลกระทบตามที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติและประชาชน ประสบการณ์จากหลายประเทศล้วนแต่นำประเทศเข้าสู่วิกฤตและการเผชิญหน้า เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนทั่วไปยากที่จะเข้าถึงการบริการด้วยค่าบริการที่แพง และเมื่อเข้าครอบครองได้ทั้งหมดก็จะนำไปสู่การผูกขาดในที่สุด นั่นหมายถึง รัฐกำลังหยิบยกผลประโยชน์แห่งสาธารณะให้แก่กลุ่มทุนนักธุรกิจ ซึ่งขัดต่อหลักการธรรมาภิบาลและการเป็นรัฐบาลที่ดี สิ่งที่กล่าวมาในประเทศไทยก็เกิดขึ้นเกือบทุกยุคสมัย จนก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านในวงกว้างและนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เห็นว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ให้มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่อีก 4 แห่ง โดยเป็นอิสระและอยู่เหนือการควบคุมของ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเพื่อการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ตามที่พยายามกล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่กลับทำให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 องค์กร อ่อนแอลง และจะขาดทุนมากขึ้น เข้าข่ายเป็นการทำลายรัฐวิสาหกิจ ด้วยการการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเชิงยุทธศาสตร์ออกไป ทั้งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมและฐานข้อมูลลูกค้า และหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ก็ไม่มีเหตุผลที่จะมีรัฐวิสาหกิจทั้งสองดำรงอยู่ต่อไป ในที่สุดรัฐบาลอาจจะมีมติยุบเลิกกิจการ ทำให้รากฐานการตั้งหน่วยงานของรัฐในการวางโครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสารของประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมที่เป็นความมั่นคงของชาติและประชาชน  เป็นเครื่องมือของรัฐในการถ่วงดุล และป้องกันการผูกขาดของภาคเอกชน ต้องหมดสิ้นไป ในอนาคตทรัพย์สินในบริษัททั้ง 3 ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ สุ่มเสี่ยงที่จะตกไปอยู่ในกลุ่มทุนขนาดใหญ่ยึดครองไปในที่สุด จึงถือเป็นการนำทรัพย์สินของรัฐ ดังเช่น โครงข่ายเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (เคเบิลใต้น้ำ) และโครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ ไปเอื้อประโยชน์แก่เอกชน โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงของประเทศ และความสำคัญของรัฐวิสาหกิจ ในการสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาประเทศและประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

การกำหนดนโยบายของ คนร. เป็นไปด้วยความเร่งรีบ ไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ สิ่งสำคัญที่สุด หากทั้ง ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ไม่สามารถอยู่รอดในธุรกิจได้ จะส่งผลทำให้พระราชปณิธานของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงพระกรุณาสร้างโครงข่ายสื่อสารของประเทศ (เทคโนโลยีสื่อสารในขณะนั้นคือระบบโทรเลขและโทรศัพท์) ในการให้บริการสาธารณะเชิงพาณิชย์เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนของประเทศ ต้องขาดสะบั้นลง

สรส. ยังคงยึดมั่นและพร้อมสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลที่ยึดมั่นในผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน โดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังที่นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นย้ำเสมอว่า “การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะไม่ให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด” และขอยืนยันว่า บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยังคงมีความเข้มแข็งสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจในการสนับสนุน

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งตามที่ คนร. เห็นชอบ โดยขอให้รับฟังข้อเสนอแนะของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงาน ผู้ปฏิบัติที่เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง แม้ว่านโยบายการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งจะเป็นนโยบายจากรัฐบาลลงสู่การปฏิบัติ แต่หากการแก้ไขปัญหาไม่ได้สะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด แม้จะมีการดำเนินการตามแผนที่ได้ให้ความเห็นชอบ จะส่งผลทำให้รัฐวิสาหกิจอ่อนแอลง จนกระทั่งไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้ในการบริการสาธารณะและการบริการเชิงพาณิชย์ เพื่อประโยชน์ของของชาติและประชาชน และเป็นกลไกของรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมอีกต่อไปได้ นับเป็นความน่าเสียหาย หากจะต้องปล่อยให้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศต้องหลุดไปจากการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง ซึ่งรัฐต้องใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการเพื่อสนองนโยบายรัฐในอนาคตได้อีกต่อไป

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จะแสวงหาแนวทางอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องรัฐวิสาหกิจ ทั้งสองแห่งไว้เพื่อความมั่นคงแห่งรัฐและผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน จึงเรียกร้องให้ พนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งประชนชนผู้ใช้บริการ ติดตามการดำเนินการเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันปกป้องสมบัติชาติ สมบัติของแผ่นดินเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานของเราได้มีชีวิตที่ดีในวันข้างหน้าสืบต่อไป

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน