ผู้ประสบภัยโรงงานลำไยระเบิด ร้องสภาทนายความ 17 ปี คดีทุกข์คนจน

20160729_114729[1]

ชาวบ้านผู้ประสบภัยโรงงานลำไยระเบิด ทุกข์ 17 ปี ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เดินทางฟ้อง ร้องสภาทนายความช่วยทางคดี  หลังยังไม่มีคำตัดสินใดที่เป็นทางการ คือ ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม                

วันที่ 29  กรกฎาคม2559 ศูนย์ประสานงานผู้ประสบภัยจากโรงงานอบลำไยระเบิด ได้เข้ายื่นหนังสือ ขอความช่วยเหลือในการดำเนินคดี ถึงนายกสภาทนายความ ผ่าน นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย  สภาทนายความ

นายดลทัต  แก้วปัญญา ตัวแทนผู้ประสบภัยจากโรงงานอบลำไยระเบิด อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นผู้ประสบภัยจากโรงงานอบลำไยระเบิด เมื่อปี พ.ศ. 2542ซึ่งมีความประสงค์ที่จะขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือจากทางสภาทนายความในการติดตามความคืบหน้า และ การดำเนินคดีแพ่งที่ได้ดำเนินการยื่นฟ้องผู้กระทำความผิดคือโรงงานอบลำไยระเบิดต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้คดีทั้งหมด ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ และยังไม่มีคำตัดสินใดที่เป็นทางการ จึงมองว่าเป็นความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม ซึ่งวันนี้ผ่านมา 17 ปีแล้ว ไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนหลายคนเสียชีวิตระหว่างรอคำตัดสินพิพากษาไม่แล้ว แต่ก็ยังคงต่อสู้กันต่อ ไม่ใช่ว่า กลุ่มผู้ประสบภัยฯไม่รู้จักพอ แต่อยากเรียกร้องให้สังคมได้รับรู้ว่าทุกคนที่ยังอยู่จะสู่จนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการของความยุติธรรมเท่าที่มีในโลกนี้ จะเรียกร้องความรับผิดชอบซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติพื้นฐาน และคุณธรรมสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรมี กฎกติกาของสังคมเพื่อให้ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายมีความรับผิดชอบ และการต่อสู้ที่ต้องลงทุนทั้งชีวิต และทุนทรัพย์ เพื่อต้องการให้เกิดการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ประสบภัยอย่างถูกต้องเท่านั้น โดยไม่ได้ต้องการให้ใครต้องติดคุกด้วย

20160729_114552[1]

โดยผู้ประสบภัยได้ยื่นหนังสือโดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ความเป็นมา

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2542 เกิดเหตุการณ์โรงงานอบลำไยระเบิดที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์นี้ คือ มีผู้เสียชีวิต 36 ราย และ ผู้ได้รับความเสียหายรวมทั้งสิ้นกว่า 500 ราย

ต่อมาผู้ประสบภัยได้ขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความในการดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีกับผู้ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งสภาทนายความได้มอบหมายให้ นายปิ่นนคร ศรีจันทร์ ประธานทนายความจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมคณะ ในขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลฯ ต่อผู้ทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดฯ มีทั้งหมดกว่า 150 คดี ผู้เสียหายแต่ละรายก็ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีในส่วนของผู้เสียหายแต่ละคน คู่ความจึงได้แถลงต่อศาลร่วมกันว่า ให้ถือเอาผลของ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 266 / 2543ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหลัก มีนางเรือน ปัญญา เป็นโจทก์และ ศาลเห็นควรให้จำหน่ายคดีในส่วนของคดีอื่นๆไว้ชั่วคราวรายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนการพิจารณาคดี ลว. 26 พฤศจิกายน 2546

หลังจากที่ได้มีการสืบพยานไปจนครบถ้วน ศาลจังหวัดฯได้มีคำพิพากษาคดีดังกล่าว โดยพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์ หลังจากนั้น จำเลยที่ 5 ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น วันที่ 6 สิงหาคม 2551 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวคดีหมายเลขดำที่ 266 / 2543 หมายเลขแดงที่ 632 / 2548 เพื่อรอฟังผลการพิจารณาในคดีอาญาก่อน เนื่องจากว่าคดีดังกล่าวนี้ เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา  ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรงว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ในการพิพากษาคดีแพ่ง จึงจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่อาจฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้ และ เนื่องจากคดีอาญาดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด จึงเห็นสมควรให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเพื่อรอฟังผลการพิจารณาในคดีอาญาก่อน เมื่อคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว หากโจทก์หรือจำเลยที่ 5 ผู้อุทธรณ์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปให้ยื่นคำแถลงต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุด เพื่อหยิบยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาต่อไป มิฉะนั้นให้ถือว่าผู้อุทธรณ์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246

วันที่ 27  พฤษภาคม 2559 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีที่พนักงานอัยการโจทก์  และ บริษัทหงไทยการเกษตร จำเลยที่ 1 กับพวก จำเลยโดยพิพากษาให้ลงโทษ     จำเลยที่ 1 ลงโทษปรับเป็นเงิน 60,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุกเป็นเวลา 6 ปี 10 เดือน 20 วัน จำเลยที่ 3 จำคุก 10 ปี 2 เดือน จำเลยที่ 4 จำคุก 10 ปี

20160729_105004[1]

  1. สถานการณ์ของคดี – ล่าสุด

ตอนนี้ คดีทั้งหมดยังอยู่ที่ศาลชั้นต้น ยกเว้น คดีที่คู่ความแถลงร่วมกันให้ถือเอาเป็นคดีหลัก คือ คดีหมายเลขดำที่ 266 / 2543 หมายเลขแดงที่ 632 / 2548 อยู่ที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ซึ่งในส่วนของคดีอื่นนั้น ศาลได้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเพื่อรอฟังผลของคดีหลัก ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และส่วนมากได้มีการดำเนินการจนถึงการสืบพยานของฝ่ายโจทก์เสร็จเรียบร้อย

  1. เหตุขัดข้อง

เนื่องจากคดีนี้ทั้งหมดมีคณะทนายความจากทนายความจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการ ตามคำสั่งของสภาทนายความข้างต้น ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบของทนายความจังหวัดเชียงใหม่เป็นทนายความท่านอื่น ประกอบกับได้มีการจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว และ ระยะเวลาในการดำเนินการก็ล่วงเลยมานาน มีผู้เสียหายได้ถึงแก่ความตายไปหลายคนบางคนก็ย้ายที่อยู่  และ ในส่วนของทนายความบางคนก็ย้ายที่ทำงาน บางคนก็เลิกไปประกอบอาชีพอื่น จึงทำให้ขาดการติดต่อ ประสานงาน ขาดการติดตามการดำเนินการทางคดี

  1. การขอความช่วยเหลือ

ด้วยสาเหตุที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ผู้ประสบภัยจากโรงงานอบลำไยระเบิดทั้งหมด มีความประสงค์จะขอให้สภาทนายความ ได้พิจารณาดำเนินการช่วยเหลือ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการพิจารณาคดีในคดีแพ่งที่คงค้างให้มีคำพิพากษาจนถึงที่สุดต่อไป

ด้านนายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย  สภาทนายความ กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า เนื่องจากคดีความโรงงานอบลำไยระเบิดนั้นมีระยะเวลาการดำเนินคดียาวนานถึง 17 ปี ซึ่งทางด้านคดีทางสภาทนายความก็ได้รับทราบและส่งทนายความให้ความช่วยเหลือตลอด ซึ่งคงต้องทำต่อ โดยรับมาดำเนินการต่อทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา ซึ่งมีทั้งหมด 150 คดี ด้วยผู้ได้รับความเสียหายมีจำนวนมากทั้งบ้านเรือนและเสียชีวิต ซึ่งจะนำเรื่องที่ผู้ประสบภัยฯมาร้องเข้าสู่คณะทำงานช่วยเหลือประชาชน แล้วตั้งคณะทำงานทนายความเข้าให้ความช่วยเหลือทางคดี โดยไม่คิดค่าทนาย โดยจะแต่งตั้งทนายความของสภาฯที่จังหวัดเชียงใหม่ เข้าไปทำคดีต่อ เพราะว่าอย่างไรคงสะดวกกว่า ซึ่งเดิมมีทนายความทำคดีทั้งหมด 25 ท่าน คงต้องติดตามดูว่า ยังมีทนายท่านใดที่ยังทำงานทนายความอยู่บ้างในชุดเดิมที่เคยทำคดี โดยมีทนายความที่เคยทำคดีไฟไหม้โรงงานเคเดอร์เข้าไปช่วยดูแลด้านคดีด้วย เพราะมีประสบการ

จากนั้นทางกลุ่มผู้ประสบภัยจากโรงงานอบลำไยระเบิด ได้เดินทางมาที่รายการสถานีประชาชน เพื่อขอให้ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

“ด้วยหวังว่าสื่อจะเป็นกระบอกเสียงในการนำเสนอเรื่องราวความจริงต่อสังคม เนื่องจากสังคมได้ตั้งคำถามว่ากลุ่มได้ชนะคดีแล้ว ได้รับการชดเชยแล้วแต่ไม่รู้จักพอ ซึ่งในความเป็นจริงคือยังไม่ได้รับความการชดเชยจากโรงงานที่สร้างผลกระทบเลย และยังไม่ได้รับความเป็นธรรมเลย” นายดลทัต กล่าว

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน