ผู้ประกันตนฟ้องศาลปกครอง กรณีบำนาญชราภาพ สปส.รีบแจงอยู่ระหว่างเสนอปฏิรูป

ผู้ประกันตนกว่า 50 คน พร้อมทนายรวมตัวยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรงแรงงานออกกฎกระทรวงตามกฎหมายประกันสังคมการจ่ายบำนาญชราภาพโดยไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

เมื่อวันที่19 ตุลาคม 2560 ที่ศาลปกครอง นักข่าวพลเมืองรายงานว่า นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมรวม 51 คน เข้ายื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต่อศาลปกครองพร้อมทั้งให้มีการเพิกถอนกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย

1.กฎกระทรวงฉบับที่ 7(2538)

2.กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ 2550

3.กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบประกันสังคม 2556

ซึ่งเห็นผลในการในการฟ้องร้องครั้งนี้นั้น เนื่องมาจากการจ่ายประโยชน์ทดแทนชราภาพปัจจุบัน ไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ และไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน ไม่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น ผู้ที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ ได้รับเงินเพียงเดือนละประมาณ 2,000- 3,000 บาทในปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึงถ้าผู้ประกันตนดำรงชีวิตไปยาวนานหลังเกษียนก็จะได้รับเงินจำนวนเท่าเดิมไปตลอดชีวิต

โดยมองว่า รัฐมีการเลือกปฏิบัติ เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆ เช่นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งรัฐมีการร่วมจ่าย แต่สำหรับเงินบำนาญชราภาพของประกันสังคม ลูกจ้างเป็นผู้จ่ายฝ่ายเดียว และทางกลุ่มเห็นว่า ประกันสังคม ควรมีวิธีคิดคำนวณฐานของเงินบำนาญชราภาพใหม่ เนื่องจาก จากการคำนวณดังกล่าวนั้นทำให้เงินบำนาญชราภาพที่ผู้ประกันตนได้รับต่ำกว่าอัตราค่าครองชีพหรือรายได้ขั้นต่ำของประเทศรวมถึงต่ำกว่าเส้นความยากจน

โดยการฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานครั้งนี้ ในฐานะผู้รักษาการ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และเป็นผู้ออกกฎกระทรวงตามพ.ร.บ.ดังกล่าว

ประเด็นที่ฟ้องมีดังนี้
1. กฎกระทรวงฉบับที่ 7(2538) ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533
2. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ 2550 ออกตามความใน พ.ร.บ.2533 ม.77
3. กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบประกันสังคม 2556 ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 ม.46 วรรค 1 และวรรค 2
โดยมองว่า กฎหมาย 3 ฉบับนี้ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่เกิดหลักประกันสังคมกรณีบำนาญชราภาพที่เป็นธรรมและเพียงพอแก่การยังชีพ รัฐไม่ร่วมสมทบ รัฐเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ขณะที่รัฐร่วมจ่ายในกองทุนอื่นๆ ไม่สอดคล้องกับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นการใช้ดุลพินิจออกกฎกระทรวงดังกล่าวโดยมิชอบ อันเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร

กลุ่มผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ และให้ผู้ถูกฟ้องตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกันตน สอดคล้องกับพื้นฐานการดำรงชีพ อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม ทั้งนี้ ให้เสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษา

การฟ้องเพิกถอนกฎกระทรวงครั้งนี้ เนื่องจากกฎกระทรวง 3 ฉบับไปเกี่ยวพันกับคนหมู่มาก ที่เกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการสังคม ซึ่งปัจจุบันกระทบกับสิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวนประมาณสิบล้านเจ็ดแสนคน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 1.3 ล้านคน

ทาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.)ได้ชี้แจงประเด็นการจ่ายบำนาญชรา โดย นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดให้รัฐบาล จ่ายเงินสมทบแน่นอน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมากกว่าทุกชุดที่ผ่านมา และกำหนด ให้นายจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ร่วมออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ขณะนี้ยังไม่มีข้อกำหนดในการปรับฐานเงินสมทบตามสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ประการแรก เพื่อให้ผู้รับบำนาญไม่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากในการครองชีพหรือต่ำกว่าระดับ ความยากจน และประการที่สอง เพื่อให้ผู้รับบำนาญมีการทดแทนรายได้ประจำต่อเนื่อง ในอัตราที่สอดคล้อง กับรายได้ก่อนเกษียณ โดยสนธิสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศกำหนดให้ผู้ทำงาน 30 ปี ควรได้รับบำนาญไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของค่าจ้างก่อนเกษียณ ในขณะที่สำนักงานประกันสังคม ให้สูงกว่ามาตรฐานดังกล่าว โดยผู้ที่ทำงานส่งเงินสมทบ 30 ปี จะได้รับบำนาญร้อยละ 41.5 ของค่าจ้างก่อนเกษียณ

ทั้งนี้ สปส.ได้ศึกษาแนวทางการปฏิรูปบำนาญชราภาพ โดยนำเสนอคณะกรรมการ ประกันสังคมเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 มีมติเห็นชอบแนวทางการปฏิรูปบำนาญชราภาพเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนที่จะเป็นผู้รับบำนาญในอนาคต รวมทั้งมีการพิจารณาเรื่องสูตรบำนาญชราภาพให้สอดคล้องกับระยะเวลาการทำงานและค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบ ซึ่งปัจจุบันระบบบำนาญชราภาพของประกันสังคม มีอายุเพียง 18 ปี ทำให้ผู้รับบำนาญรุ่นปัจจุบันได้รับบำนาญเพียง ร้อยละ 24.5 ของค่าจ้างก่อนเกษียณ ประกอบกับเพดานค่าจ้างสำหรับการจัดเก็บเงินสมทบถูกรักษาไว้ที่ 15,000 บาทมาตลอด ทำให้ผู้รับบำนาญได้รับบำนาญไม่เกิน 3,675 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ นอกจากนี้บำนาญขั้นต่ำ ของสำนักงานประกันสังคมยังถูกผูกกับฐานค่าจ้าง ขั้นต่ำของการส่งเงินสมทบซึ่งไม่เคยมีการปรับเพิ่มเช่นเดียวกันทำให้ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน  ในเบื้องต้นสปส.ได้ดำเนินการแก้ไขเรื่องฐานและเพดานค่าจ้างแล้ว ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้ประกันตนและนายจ้างผ่านการประชาพิจารณ์ให้ขยายฐานค่าจ้างจาก 1,650 บาทเป็น 3,600 บาท และเพดานค่าจ้างจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้บำนาญขั้นต่ำและบำนาญขั้นสูงเพิ่มขึ้น

รวมถึงเรื่องการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยจาก 60 เดือนสุดท้ายเป็นตลอดอายุการทำงาน โดยปรับเป็นมูลค่า ณ วันที่ขอรับบำนาญ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกันตนทุกคน รวมถึงมาตรา 39 ได้รับบำนาญที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ผลการประมาณการชี้ว่าผู้ประกันตน ที่ส่งเงินมาตรา 33 ฐาน 15,000 บาท มาตลอดมากกว่า 10 ปี ก่อนเปลี่ยนมาส่งมาตรา 39 ฐาน 4,800 บาท เพียง 5 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และสปส.อยู่ระหว่างการศึกษาในด้านอื่น ๆ เช่น

1 การปรับเพิ่มบำนาญตามค่าครองชีพให้แก่ผู้รับบำนาญไปแล้ว เพื่อรักษามาตรฐานการใช้จ่ายของผู้รับบำนาญเมื่ออายุมากขึ้น และค่าเงินเปลี่ยนไป

2.การปรับเพิ่มบำนาญให้กับผู้รับบำนาญรุ่นแรกซึ่งมีระยะเวลาการส่งเงินสมทบน้อยเพราะขาดโอกาส

3. การบูรณาการกับกองทุนบำนาญอื่นๆ ของประเทศเพื่อกำหนดระดับของบำนาญและแผนการจัดเก็บเงินสมทบที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน