ปิดโรงพยาบาลเดชา กระทบผู้ประกันตนอื้อ

รพ.เดชา-แถลง_6000

ร้อนกระทรวงแรงงาน หลังโรงพยาบาลเดชา ถูกปิด เดือดร้อนผู้ประกันตนกว่า 4 หมื่นคน แถมค้างค่าจ้างลูกจ้างเกือบ 6 เดือน สั่งช่วยเหลือด่วน

วันที่ 13 พ.ค.59 ที่กระทรวงแรงงาน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และนายอนันตชัย อุทัยพัฒนาชีพ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้แถลงถึงความคืบหน้าการดูแลผู้ประกันตนจำนวน 40,027 คน ที่ได้รับผลกระทบหลังจากที่ สำนักบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งปิดโรงพยาบาลเดชา (รพ.เดชา)เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน และ ลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าจ้างค้างจ่าย

นายโกวิท กล่าวว่า โรงพยาบาลเดชาเป็นคู่สัญญากับ สปส.มาตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งที่ผ่านมาได้พิจารณาตามกฎเกณฑ์เป็น รพ.ขนาด 100 เตียงขึ้นไป มีแพทย์ไม่น้อยกว่า 12 สาขา และ มีแพทย์ประจำไม่น้อยกว่า 4 สาขา โดยที่ผ่านมาไม่มีการร้องเรียนจากผู้ประกันตนในกรณีการบริการของ รพ.เลย ส่วนเรื่องสถานะทางการเงินนั้น สปส.ไม่เคยเข้าไปตรวจสอบ แต่เมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา มีหนังสือจาก รพ.จุฬาฯ ซึ่งเป็น รพ.รับส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.เดชา แจ้งทวงเงินค่ารักษามายัง สปส. เป็นเงิน 23 ล้านบาท อีกทั้งยังติดค้างเงินสมทบกับกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างอีก 8 ล้านบาท รวมแล้วมีหนี้กว่า 32 ล้านบาท ซึ่งทางสปส.ได้จ่ายเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลให้กับ รพ.เดชาในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นเงินกว่า 8 ล้านบาท ซึ่งเงินนี้ก็ไม่ได้ถูกนำไปจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง รพ.เดชา ส่วนเงินค่ารักษาพยาบาลในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นวงเงิน 14 ล้านบาทนั้น ยังไม่ได้จ่ายให้ รพ.เดชา ซึ่ง สปส.อาจจะต้องพิจารณาในการบริหารจัดการตามความเหมาะสม เนื่องจาก รพ.เดชายังคงค้างหนี้กับ รพ.จุฬาฯ และ สปส.

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบทางเว็บไซต์ของ สปส. www.sso.go.th หรือสายด่วน 1506 รวมทั้งจะมีการแจ้งไปยังสถานประกอบการด้วย หากผู้ประกันตนไม่สะดวกในการเข้ารับบริการใน รพ.ที่โอนไปนั้น ผู้ประกันตนกลุ่มนี้สามารถยื่นขอเปลี่ยน รพ.ได้ภายใน 3 เดือน

นพ.สุรเดช กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีมาตรการจะดำเนินการให้ลูกจ้างรพ.เดชาได้รับค่าจ้างค้างจ่ายโดยเร็วที่สุด ส่วนกรณีหากมีการเลิกจ้างนั้นจะดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านค่าชดเชยให้ครบถ้วน หรือหากลูกจ้างต้องการหางานใหม่ กรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้ประสานหาตำแหน่งงานว่างเพื่อรองรับในสถานพยาบาลใกล้เคียงไว้แล้ว 2 แห่ง โดยมีตำแหน่งงานว่างประมาณ 300 คน (ข้อมูลมติชน)

กรณีการปิดรพ.เดชา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พ.ค. สืบเนื่องจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)สบส.ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า โรงพยาบาลเดชา ถนนพญาไท ปิดไฟมืด มีแพทย์ 1 คน พยาบาลมีน้อยมาก รวมถึงปิดห้องฉุกเฉิน แสดงว่าไม่มีความพร้อมในการให้บริการรักษาพยาบาล จากการตรวจสอบ พบว่า ผู้ประกอบการของโรงพยาบาลฯ เสียชีวิตแล้วประมาณ 1 เดือน อยู่ระหว่างการหาผู้ประกอบการคนใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังพบว่า จำนวนบุคลากรมีน้อยมาก ไม่เป็นไปตามมาตรฐานโรงพยาบาลขนาด 100 เตียง จึงถือว่าโรงพยาบาลเดชาเป็นสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะฉะนั้นในวันนี้ (11 พ.ค.) สบส.จึงมีคำสั่งปิดโรงพยาบาลเดชา ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 52 (1) เป็นระยะเวลา 30 วัน หรือจนกว่าจะสามารถหาผู้ประกอบการคนใหม่ได้ (www.dailynews.co.th)

ล่าสุดวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ดร.วรสุดา สุขารมณ์ ลูกสาวของ นพ.เดชา สุขารมณ์ ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลดังกล่าว ได้แถลงเรื่อง ที่ดินและทรัพย์สินของโรงพยาบาลว่า เป็นของบริษัท สุขารมณ์ แต่เพราะการเสียชีวิตของ นายแพทย์พรเดชา สุขารมณ์ (แจ๊ค สุขารมณ์) ทำให้โรงพยาบาลปล่อยให้บริษัท ศรีอยุธยา จำกัดเข้ามาเช่าเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งสัญญาเป็นแบบปีต่อปี บริษัทศรีอยุธยา เกิดภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน ตั้งแต่ปลายปี 2558 โดยเป็นการชำระค่าเช่าไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงไว้ในแต่ละเดือน อยู่ที่เดือนละประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งยอดค้างชำระสะสมมากว่า 20 ล้านบาทขณะนี้ทราบว่าทาง บริษัทศรีอยุธยา ได้กำหนดระยะเวลาไว้ 60 วัน ในการฟื้นตัวทางสภาพการเงิน รวมถึงการปรับปรุงโรงพยาบาลด้วย ซึ่งได้มีหลายบริษัทที่สนใจเข้ามาขอเช่าเพื่อประกอบกิจการแทนหลายรายแล้ว

สำหรับเรื่องหนี้สินนั้น บริษัท ศรีอยุธยา ต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบหนี้สินทั้งหมด เนื่องจากพบว่าติดหนี้โรงพยาบาลจุฬาฯ และสำนักงานประกันสังคมมูลค่า 32 ล้านบาท จนเป็นเหตุให้กระทรวงสาธารณสุขต้องสั่งปิดโรงพยาบาลเดชาเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ยังพบว่า บริษัท ศรีอยุธยา ยังติดค้างเงินเดือนพนักงานเกือบ 6 เดือนด้วย ซึ่งตรงนี้บริษัท ศรีอยุธยา จะต้องรับผิดชอบทั้งหมด (ข้อมูลMThai)

ทั้งนี้ ในเว็บไซต์โรงพยาบาลเดชา ได้ประกาศให้ผู้ประกันตนทราบถึงการเข้าใช้สิทธิการรักษาพยาบาลได้ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี หรือโรงพยาบาลเลิดสิน เป็นต้น

////////////