ปาฐกถาอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในงานสมัชชาแรงงาน 54 ข้อเสนอปฏิรูปประกันสังคม

ปาฐกถาของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดงานสมัชชาแรงงาน : ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2554 เวลา 09.40 น. จัดโดยคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล และองค์กรภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ประกอบด้วย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ  มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ชมรมเครือข่ายผู้ประกันตน และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ท่านกรรมาธิการแรงงานของสภาผู้แทนราษฎร ท่านเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่านครับ

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในการเปิดงานสมัชชาแรงงาน ที่หลายฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการจัดขึ้นในวันนี้ และได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนทัศนะ มุมมองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการสร้างหลักประกันทางสังคมให้แก่พี่น้อง ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นกำลังหลักในทางเศรษฐกิจของประเทศ และได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการช่วยให้สังคมและเศรษฐกิจไทยได้ก้าวพ้นจากวิกฤตการณ์สำคัญ ๆ ในอดีตมาหลายครั้งจนถึงทุกวันนี้ และจากการที่หลายภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงานครั้งนี้ และโดยเฉพาะเมื่อผมมองไปรอบ ๆ เห็นผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในวันนี้ ประกอบไปด้วยความหลากหลายอย่างแท้จริง ผมก็มีความมั่นใจว่าการจัดงานสมัชชาก็จะเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญในการได้ ข้อยุติร่วมกัน ถึงการเดินหน้าในการปฏิรูประบบประกันสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

ที่จริงแล้วตั้งแต่ก่อนที่ผมเข้ามารับหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน หากจะเท้าความไปก็ต้องบอกว่าช่วงที่ผมรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้ง ขณะนั้นก็พูดถึงการจัดทำสิ่งที่เรียกว่าวาระประชาชน ได้มีโอกาสไปพบปะกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานในหลายพื้นที่ ซึ่งได้สะท้อนความรู้สึกความเห็นว่าทั้ง ๆ ที่มีระบบประกันสังคมอยู่ แต่ก็ขาดความรู้ ความเข้าใจว่า การบริหารจัดการของระบบประกันสังคมนั้นเป็นอย่างไร และก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เขาทราบก็คือว่า แต่ละเดือนเขาถูกหักเงินเข้าสมทบกองทุน ในขณะที่สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้รับนั้นก็มักจะมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่ไม่มากก็น้อย นอกจากนั้นจากการที่ได้เฝ้าติดตามเรื่องของระบบประกันสังคมมาโดยตลอด ซึ่งมาถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 20 ปี ก็พบว่าความพยายามที่จะขยายระบบประกันสังคม ซึ่งพูดกันมาช้านานว่าควรจะต้องครอบคลุมพี่น้องประชาชนมากกว่า 20 ล้านคน ก็สามารถดำเนินการในการขยายได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เช่น เมื่อมีการปรับในเรื่องหลักเกณฑ์จำนวนของลูกจ้าง ลดลงมาโดยลำดับ ก็เพิ่มพูนขึ้นมา แต่ว่าก็ดูว่าในช่วงที่ผ่านมาจะอยู่ที่ระดับประมาณ 9 – 10 ล้านคน แล้วก็หยุดอยู่ตรงนี้

ผมอยากจะเรียนว่า เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินถึงได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่าจะต้องมีการปรับปรุงเรื่องของการบริหารจัดการของระบบประกันสังคม บางเรื่องก็ระบุเอาไว้ชัดแจ้งว่าจะมีการขยายความคุ้มครองถึงบุตร คู่สมรส ของผู้ประกันตน ในเรื่องของการเจ็บป่วย พูดถึงเรื่องของการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แล้วก็พูดถึงการที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิตทางด้านรายได้ และการมีสวัสดิการทางสังคมที่ดี อย่างไรก็ตามครับหลังจากที่ได้มีการแถลงนโยบายก็ขอเรียนว่ามีความพยายามใน การที่จะแก้ไขปัญหาของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และก็ทำในเรื่องของการปรับปรุงระบบการประกันสังคมมาโดยตลอด

ก่อนที่ผมจะได้ลงไปในแนวคิดรายละเอียดของเรื่องของประกันสังคมเป็นการเฉพาะ ผมอยากจะเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการปฏิรูประบบประกันสังคมในปัจจุบัน โดยมองจากภาพรวมของบทบาทของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และจากแนวโน้มต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจที่เราประสบพบเห็นอยู่ ประการแรก เศรษฐกิจไทยได้เติบโตและมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ยุคหนึ่งเราบอกว่าเราเป็นสังคมที่อยู่กับภาคการเกษตรเป็นหลัก ต่อมาเราก็บอกว่าเราจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม เป็นลักษณะของอุตสาหกรรมใหม่ แล้วก็การพัฒนาอุตสาหกรรม เราก็เน้นเรื่องความสามารถทางการแข่งขันและการส่งออก ในอดีตหลายคนก็จะมองว่าแรงงานเป็นเรื่องของต้นทุน ความหมายก็คือว่ามักจะมีความกังวลว่าถ้าหากว่ามีค่าใช้จ่ายทางด้านแรงงานสูง แล้ว ก็จะเป็นปัญหาเป็นอุปสรรคต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม วันนี้เศรษฐกิจไทยได้พัฒนาเกินเลยจุดที่จะใช้กรอบความคิดนั้นแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่เศรษฐกิจไทยจะหวังพึ่งลักษณะของการมีแรงงานถูก ขาดสวัสดิการ โดยมองว่าเรื่องของแรงงานเป็นเรื่องของต้นทุน ในทางตรงกันข้าม เราเข้าสู่จุดที่ต้องการเห็นอุตสาหกรรมของไทยนั้นแข่งขันบนเรื่องของ ประสิทธิภาพและคุณภาพ สิ่งที่สำคัญแล้วก็พิสูจน์มาทั่วโลกก็คือว่า การแข่งขันด้วยประสิทธิภาพและคุณภาพจะเกิดขึ้นได้นี้ นั่นย่อมหมายถึงประสิทธิภาพและคุณภาพของผู้ใช้แรงงาน และไม่มีที่ไหนในโลกหรอกครับ ที่แรงงานจะได้รับการพัฒนาในเรื่องประสิทธิภาพและคุณภาพ ถ้าขาดค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และขาดสวัสดิการที่ดี

เพราะฉะนั้นวันนี้รัฐบาลจึงได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนไปยังทุกภาคส่วนว่า เราต้องกลับแนวความคิด เราไม่ควรมองค่าใช้จ่ายหรือสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเป็นเรื่องของต้นทุน แต่ต้องมองเป็นการลงทุนในเรื่องของคุณภาพแรงงานของเรา เพื่อที่จะให้ผู้ใช้แรงงานของเรานั้นมีหลักประกัน มีความมั่นคง มีแรงจูงใจในการที่จะเป็นกำลังการผลิตที่มีประสิทธิภาพของเศรษฐกิจไทยและของประเทศไทย นั่นเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ผมคิดว่าเป็นแนวโน้มสำคัญที่อยากให้ทุกฝ่ายได้ เข้าใจ ยอมรับ เพื่อเป็นฐานความคิดในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด

ประการที่สอง โครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งของไทยและของโลกก็มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ลักษณะของการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน เส้นแบ่งของสิ่งที่เรียกว่าแรงงานในระบบกับนอกระบบ เส้นแบ่งระหว่างการเป็นผู้ประกอบการอิสระกับการเป็นแรงงานอิสระ นับวันต้องยอมรับครับว่าขีดเส้นได้ยากมาก เพราะฉะนั้นระบบของการที่จะดูแลในเรื่องของความเป็นอยู่ ความมั่นคงและสวัสดิการของพี่น้องประชาชน ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนะครับ คือไม่ใช่แรงงานในระบบตามนิยามเดิม มีแต่จะเติบโตและมีแต่จะมีความสำคัญมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจของเรา นั่นก็หมายความว่ากลุ่มคนเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลและเข้ามาสู่ระบบของการ คุ้มครอง และระบบของสวัสดิการให้ได้โดยเร็ว

ประการที่สาม ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่าด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลทางสังคม ด้วยเหตุผลทางค่านิยมของคนของเราเอง บทบาทของแรงงานข้ามชาติในระบบเศรษฐกิจจะเพิ่มพูนขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง หลายอุตสาหกรรมในภาคเศรษฐกิจของเราขณะนี้ ประสบกับปัญหาความยากลำบากในการที่จะจ้างแรงงานไทย ซึ่งก็หมายความว่าเราไม่อาจปฏิเสธบทบาทของแรงงานข้ามชาติในระบบเศรษฐกิจของ เราได้ เพราะฉะนั้นการกำหนดแนวทางกติกาของการอยู่ร่วมกันกับแรงงานข้ามชาติก็เป็น ประเด็นที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

และประการสุดท้ายครับ สังคมของเราก็กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุ ในขณะที่หลักประกันในเรื่องของชราภาพ มีอยู่เฉพาะในระบบของราชการ และในระบบของประกันสังคม ซึ่งยังครอบคลุมเพียงคนส่วนน้อยในสังคม แนวโน้มทั้งสี่ประการนี้คือโจทย์ที่เป็นตัวกำหนดกรอบความคิดของรัฐบาลใน ปัจจุบันว่าจะต้องเดินหน้าในการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่สังคม และการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร ฉะนั้นข้อเสนอซึ่งได้ปรากฏผ่านวิดีทัศน์ไปเมื่อสักครู่ ที่เป็นข้อเรียกร้องทั้งในเรื่องของการขยายการครอบคลุมของประกันสังคมก็ดี ทั้งในเรื่องของความเป็นอิสระและความโปร่งใสในการบริหารจัดการของกองทุน ประกันสังคมก็ดี และการปฏิรูปในภาพรวมเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้ เสียโดยตรง ผมถือว่าเป็นหลักการที่สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศ และเป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับไปดำเนินการ

ที่ผ่านมานั้นรัฐบาลก็ได้เดินไปในหลายจุด แม้อาจจะไม่ครอบคลุมทุกประเด็น ซึ่งจะได้มีการนำเสนอต่อไป แต่ก็ถือว่าเป็นการดำเนินการที่มีแนวทางและหลักการค่อนข้างที่จะสอดคล้องกับ ข้อเรียกร้องและแนวคิดต่าง ๆ เช่น การเข้าไปทบทวนเพื่อที่จะมีการขยายสิทธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในแง่ของสิทธิประโยชน์ ซึ่งล่าสุดก็คือที่ได้มีการเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา ไปจนถึงการที่รัฐบาลก็ได้มีการนำเสนอกฎหมายเพื่อให้สามารถขยายสิทธิการคุ้ม ครองในเรื่องของการเจ็บป่วย ไปยังคู่สมรส ไปยังบุตรของผู้เอาประกันตนในระบบประกันสังคม และก็แน่นอนที่สุดครับล่าสุดที่มีการประกาศเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูป ประเทศไทย โดยเฉพาะก็คือปฏิบัติการเร่งด่วน ก็คือการที่จะมีการปรับปรุงเพื่อที่จะให้พี่น้องประชาชนซึ่งอยู่นอกระบบ ประกันสังคมในปัจจุบัน สามารถเข้ามาสู่ระบบประกันสังคมได้ ซึ่งกระบวนการของการทำงานทางด้านนี้ รัฐบาลได้เข้าไประดมความคิดเห็นและสัมผัสโดยตรงกับพี่น้องผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทรงคุณวุฒิก็คืออาจารย์สังศิตฯ ได้เป็นผู้ที่ดำเนินการในเรื่องนี้ แล้วก็ได้ไปแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้ข้อสรุป ว่าที่ผ่านมานั้นมาตรา 40 มีข้อจำกัดอย่างไร กติกาที่เคยกำหนดไว้ในเรื่องของการที่จะส่งเงินสมทบ มีปัญหาไม่สามารถจูงใจพี่น้องที่อยู่ในนอกระบบอย่างไร ซึ่งก็เป็นที่มาของข้อเสนอของการที่จะมีการให้พี่น้องเหล่านี้ สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ โดยจ่ายเงินต่อเดือนไม่เกิน 100 บาท เบื้องต้นก็จะทำเป็นสองลักษณะนะครับ ลักษณะหนึ่งก็คือ 70 / 30 อีกลักษณะหนึ่งก็เป็น 100 กับ 50 แบ่งกันระหว่างผู้ที่จะเอาประกันตนกับทางรัฐที่จะมีการสมทบในเบื้องต้น เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกัน

ควบคู่กันไปก็ต้องขอเรียนว่าหลักคิดของการที่จะมีหลักประกันทางด้านนี้ รัฐบาลก็เดินคู่ไปกับการทำกองทุนเงินออมแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของสภาฯ เสร็จจากขั้นตอนของกรรมาธิการแล้ว และคาดว่าจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 วาระที่ 3 ได้เมื่อสมัยประชุมของสภาฯ เปิดในปลายเดือนนี้ นอกจากนั้นจะเห็นว่ายังมีกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มพี่น้องเกษตรกร ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำกฎหมายว่าด้วยเรื่องของกองทุนสวัสดิการชาวนา อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งก็จะมีหลักคิดคล้าย ๆ กันกับการที่จะมีการสร้างหลักประกันที่เกิดขึ้นในเรื่องของการมีการออม มีฝ่ายรัฐเป็นผู้สมทบ และมีการบริหารจัดการในเรื่องของสิทธิประโยชน์ นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้ส่งเสริมในเรื่องของสวัสดิการที่เป็นการเสริม เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งขณะนี้ก็มีการเติบโตขึ้นเป็นหลายพันกองทุน โดยมีรัฐบาลสมทบเงินเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจะเห็นนะครับว่า แนวคิดในเรื่องนี้เป็นแนวคิดซึ่งมีความสอดคล้องต้องกันอยู่ รัฐบาลนี้ก็ได้มีการดำเนินการผลักดันออกมาเป็นรูปธรรมหลายเรื่องแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่องที่จะต้องทำในภาพรวมของตัวกฎหมายประกันสังคมต่อ ไป อย่างที่ได้กล่าวมาเมื่อสักครู่ ทั้งผ่านวิดีทัศน์ ทั้งในนิทรรศการ แล้วก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลได้เข้าใจดีกว่ากำลังอยู่ในกระบวนการของทั้งฝ่าย บริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

ในส่วนของการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องของความต้องการที่จะเห็นธรรมาภิบาล หลักธรรมาภิบาลเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการมีส่วนร่วมและความเป็นอิสระนั้น ผมก็ยืนยันครับว่าเป็นหลักคิดที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลต้องการ ที่จะเดินไป ต้องเรียนตรงไปตรงมาครับว่าก่อนหน้านี้มีการเสนอกฎหมายที่จะปรับปรุงโครง สร้างของกองทุนประกันสังคมมาที่คณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน แต่ขณะนั้นไปมุ่งประเด็นในเรื่องของการที่จะให้เป็นนิติบุคคล แต่เหตุผลที่คณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบด้วยในขณะนั้นก็คือ ผมและคณะรัฐมนตรีเห็นว่าการปรับโครงสร้างดังกล่าวยังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของความเป็นอิสระของตัวหน่วยงาน ที่ควรจะได้มีการปรับปรุง เพราะฉะนั้นขณะนี้ในส่วนของกระทรวงเองก็กำลังมีการพิจารณาในเรื่องของโครง สร้างที่จะเป็นอิสระ ขณะเดียวกันผมเข้าใจว่ากฎหมายซึ่งอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ก็จะเปิดช่องในการที่จะให้มีการปรับปรุงในเรื่องนี้ได้เช่นเดียวกัน

ผมถือโอกาสเรียนต่อนะครับว่า ผมนับตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี ในการทำงานกับฝ่ายนิติบัญญัตินั้นผมจะถือหลักสำคัญประการหนึ่งก็คือว่า ต้องการที่จะให้เพื่อนสมาชิกของรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัตินั้น สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของกฎหมายต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในอดีตนั้นเราจะประสบกับปัญหาในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมา เกือบ 20 ปีเช่นเดียวกันว่า กฎหมายต่าง ๆ นั้นแทบจะไม่เปิดโอกาสเปิดช่องให้ทางฝ่ายนิติบัญญัติได้นำมาปรับปรุงแก้ไข เท่าที่ควร จะเห็นได้ว่าในอดีตกฎหมายต่าง ๆ นั้นก็จะยึดแนวทางของกฎหมายของรัฐบาลที่ออกมาจากฝ่ายบริหาร ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาค่อนข้างที่จะเคร่งครัด ซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างมากในการริเริ่มนโยบายใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ผมจึงได้ให้แนวทางเอาไว้ชัดเจนว่า แนวคิดอะไรซึ่งสามารถที่จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่เป้าหมายซึ่งเห็น ตรงกันร่วมกัน ต้องเปิดโอกาสให้ทางฝ่ายนิติบัญญัติได้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นผมก็หวังว่าเมื่อกฎหมายที่ได้มีการอภิปรายกันอยู่ในสภาฯ ก่อนที่จะได้ปิดสมัยประชุมในสมัยที่ผ่านมา ได้รับหลักการแล้ว เข้าไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ก็ต้องการที่จะให้ทั้งสมาชิกรัฐสภาและภาคประชาชน ซึ่งก็ควรจะได้มีตัวแทนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการ ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ในการที่จะปรับปรุงกฎหมายให้ออกมาอย่างดีที่สุด

ผมจึงขอยืนยันนะครับว่าในฐานะของฝ่ายบริหารนั้น ได้มองเห็นเรื่องของการปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นวาระสำคัญ ได้ตั้งใจในการที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มอื่น ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันความมั่นคงในทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมได้ประกาศไปแล้วว่าต้องการที่จะเห็นระบบสวัสดิการสังคมของ เรานั้นมีความสมบูรณ์ภายในปี 2559 อันนี้เป็นก้าวสำคัญและเราก็ถือว่ากลไกของประกันสังคมนั้นมีหลักการที่ถูก ต้อง คือการมีการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และการวางแผนที่จะต้องครอบคลุมไปถึงระยะยาว มีความยั่งยืนในเรื่องของฐานะการเงิน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นเป้าหมายร่วมกัน ผมมาวันนี้ผมดีใจนะครับ อย่างน้อยที่สุดในส่วนของสมาชิกรัฐสภา ทั้งท่าน ส.ส.นคร ส.ส.สถาพร จากฝ่ายค้านก็นั่งอยู่ตรงนี้นะครับ เพราะฉะนั้นถ้า 2 พรรคนั่งอยู่ตรงนี้ผมมั่นใจว่ากฎหมายต่าง ๆ ก็จะสามารถผ่านสภาฯ ไปได้ด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น และถ้าจะขอฝ่ายค้านก็ขอเติมคำว่ารวดเร็วด้วยนะครับ

นอกจากนั้นยังมีฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งมานั่งอยู่ตรงนี้ทั้งที่เป็นผู้นำเครือข่ายต่าง ๆ แล้วก็เป็นผู้ที่มีความสำคัญในการเคลื่อนไหวในสังคม ผมอยากจะเห็นบรรยากาศของความร่วมมือร่วมแรง ในการทำเรื่องนี้ เพราะเป้าหมายสุดท้ายตรงนี้มันไม่ใช่ประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ผมย้อนกลับไปสิ่งที่ผมได้พูดในช่วงต้นก็คือว่า เราไม่มีทางมีเศรษฐกิจสังคมที่แข็งแกร่ง ถ้าคนของเราขาดหลักประกัน ขาดความมั่นคง ขาดสวัสดิการที่ดี หลักการตรงนี้ไม่ใช่หลักการของการที่รัฐบาลมาหยิบยื่น มาแจกเงิน แต่เป็นหลักการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นหลักประกันของความยั่งยืนและธรรมาภิบาลในเรื่องนี้ ผมจึงขอเป็นกำลังใจให้กับทุก ๆ ท่านและหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดสมัชชาในวันนี้จะช่วยกันได้นำมาสู่การมีข้อสรุป ข้อยุติที่สร้างสรรค์เพื่อผลักดันวาระสำคัญของประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว ผมขอเปิดงานสมัชชาแรงงาน ประกันสังคมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน และขออวยพรให้การจัดงานบรรลุผลสำเร็จตามเจตจำนงทุกประการ และขอให้ทุกท่านประสบแต่ความสุขความเจริญโดยทั่วกัน

ขอขอบคุณครับ