ปลดล็อคข้อจำกัดประกันสังคมแรงงานข้ามชาติ ทิศทางที่เหมาะสมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 215-216 อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฏร ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และคณะทำงานพัฒนารูปแบบ กลไกเพื่อการเข้าถึงนโยบายหลักประกันทางสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสัมมนาเรื่อง ปลดล็อคข้อจำกัดประกันสังคมแรงงานข้ามชาติ ทิศทางที่เหมาะสมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นเวทีร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ข้อเสนอต่อการบริหารจัดการ ในการพัฒนารูปแบบกลไกการเข้าถึงสิทธิประกันสังคมที่เหมาะสมสำหรับแรงงานข้ามชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 100 คน

 

จากสภาพปัญหาพบว่า มีแรงงานข้ามชาติที่เป็นสมาชิกประกันสังคมอยู่ทั่วประเทศประมาณ 90,000 คน ปัญหาใหญ่นอกจากการที่แรงงานข้ามชาติส่วนมากจะถูกละเมิดสิทธิการคุ้มครองในกฎหมายแรงงานแล้ว ก็ยังถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการบริการประกันสังคมได้ เนื่องจากนายจ้างบางรายไม่ยอมส่งเงินสมทบให้สำนักงานประกันสังคม ที่หักเก็บจากลูกจ้างแรงงานข้ามชาติไป ทำให้เมื่อเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุไปโรงพยาบาลกลับถูกปฏิเสธการให้การรักษา ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติจะไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิกรณีว่างงาน เพราะหากเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงทวิภาคีหรือ MOU เมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้างจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง และหากเป็นแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วเมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้างกับนายจ้างปัจจุบันจะต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 15 วัน และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขคือรับบริการจัดหางานและการฝึกอบรมฝีมือแรงงานด้วย แต่แรงงานต้องรีบหานายจ้างคนใหม่ แรงงานก็ไม่ใช่ผู้ว่างงานแล้ว แรงงานก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประกันการว่างงานได้

จากเวทีเสวนามีข้อเสนอปลดล็อคข้อจำกัดเรื่องประกันสังคมแรงงานข้ามชาติ ที่หาทางออกร่วมกันหลายประเด็นคือ การเปลี่ยนเรื่องหลักคิดใหม่โดยให้นำหลักสิทธิมนุษยชนในประเด็นสิทธิสุขภาพมาเป็นตัวกำหนดในการแก้ไขปัญหา เพราะเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยทันทีและมีคุณภาพมาตรฐาน การออกพระราชกฤษฎีกาประกันสังคมเฉพาะส่วนของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นการสมทบเงินเฉพาะส่วนที่ได้รับสิทธิ เช่น มาตรา 39 หรือมาตรา 40 การเร่งผลักดันให้ กฎหมายประกันสังคมฉบับเข้าชื่อของภาคประชาชน ที่ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วนรวมทั้งแรงงานข้ามชาติด้วย เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯโดยเร็ว การเสนอให้ตั้งกองทุนส่งกลับแรงงานข้ามชาติโดยเก็บจากแรงงานข้ามชาติเพียงปีละ 300 บาท จากเดิมเก็บปีละ 2 พันกว่าบาทจากนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐ ทำให้เกิดปัญหาการหลบเลี่ยงไม่จ่าย เปิดโอกาสให้มีการปรับเปลี่ยนข้อจำกัดได้สะดวกขึ้น ในการปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์ หรือแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดกับสภาพกลุ่มเป้าหมายและความหลากหลายในการทำงาน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน