ประเมินวิเคราะห์ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองและแรงงาน

คสรท.ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม การเมืองของแรงงาน สรุปแผนเดินหน้ายุทธศาสตร์ปี 60

เมื่อวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2560 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ได้จัดการสัมมนาวางแผนงานประจำปี 2560 ที่ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย จังหวัดสระบุรี ซึ่งในช่วงเช้าวันที่ 18 เป็นการประเมินวิเคราะห์ สถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม การเมืองและแรงงาน โดยนายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ที่ปรึกษาคสรท. นางสุนี ไชยรส ผู้อำนวยการส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โดยได้มีการนำเสนอโดยสรุปได้ดังนี้

นายศักดินา กล่าวถึงสถานการณ์มุมมองทั่วโลกต่อระบบความเป็นประชาธิปไตยนั้น จะต้องมีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งเท่านั้น หากขบชวนการแรงงานอ่อนแอก็เชื่อเลยว่า ประเทศนั้นๆยังไม่มีระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งอย่างแน่นอน เนื่องจากความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานเกิดจากการรวมตัวกันของคนส่วนใหญ่ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองหากไม่เข้มแข็งก็ไร้อำนาจต่อรอง ขาดสิทธิ ขาดเสรีภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสังคมไหนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีขบวนการแรงงานที่อ่อนแอ หากดูจากโลกปัจจุบันจะพบแนวคิดเสรีนิยมที่เข้มแข็งมาก ผลจากการเลือกตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เกิดกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ด้วยแนวคิดการปิดกั้นเสรีภาพ ปัญหาการลงทุน แต่ก็ไม่ได้ส่งผลดีกับขบวนการแรงงาน หรือการจ้างงานแต่อย่างไร กลับมาประเทศไทยประเด็นด้านการละเมิดสิทธิ การคุกคามเสรีภาพขบวนการแรงงานเป็นสิ่งที่สำคัญ การต่อสู้ของส่วนต่างๆที่ลุกออกมาต่อสู้โดยมองว่าประชาธิปไตยต้องทำให้คนกินดีอยู่ดีไม่สามารถแยกออกจากขบวนการแรงงาน กับระบอบประชาธิปไตยได้ ซึ่งระบบประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมคือต้องมีการเลือกตั้ง โดยจะเห็นว่ารัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดเสรีภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม การยื่นข้อเรียกร้อง การรวมตัวเจรจาต่อรอง ไม่สามารถทำได้อย่างมีเสรีภาพอย่างแท้จริง รัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยอาจไม่ใช่รัฐบาลที่ดีที่สุดแต่ก็ไม่ใช่รัฐบาลที่เลวที่สุด ซึ่งกรรมกร หรือขบวนการแรงงานที่แท้จริงต้องเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย กรรมกรในยุโรปการได้มาซึ่งสวัสดิการที่เรียกว่ารัฐสวัสดิการนั้นเป็นเพราะขบวนการกรรมกรมีการรวมตัวที่เข้มแข็งมีต้องแทนแรงงานในรัฐสภา มีความเชื่อในแนวทางระบอบสังคมนิยม เป็นสังคมประชาธิปไตย มีกระบวนการมีส่วนร่วม มีระบบตัวแทนและมีการเลือกตั้งต้องไม่ละเมิดคนส่วนใหญ่

ทำไมกรรมกรไม่เอาระบบประชาธิปไตย การที่กรรมกรไม่เอาระบอบประชาธิปไตย จากเดิมที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและระบอบสังคมนิยมอาจเป็นเพราะระบบที่ครอบงำ

นายสมศักดิ์ กล่าวถึง ความขัดแย้งของกรรมกรกับระบบทุนนั้นมีมาช้านานซึ่งมีประวัติศาสตร์การต่อสู้กับทุนที่กดขี่มาด้วยการรวมตัว ซึ่งแรงงานการเมือง เศรษฐกิจมีความเกี่ยวข้องกันแม้ปัจจุบันโลกมีความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบทุนนิยมเสรีเป็นระบบที่ต้องการกำไรสูงสุดที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์ซึ่งจะมีการลดการจ้างงานมีคนตกงานจำนวนมาก ขบวนการรวมตัวของแรงงานจะเป็นรูปแบบใดต้องมีการปรับตัวก่อนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ซึ่งการรวมตัวต้องมีจิตรสำนึกร่วมกันและไม่ได้มองเพียงเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการสูงภายในโรงงาน ต้องมองเห็นสังคมภายนอก ต้องมีแนวคิดทางการเมือง การเลือกตั้งที่จะมาถึงจะเลือกใครที่จะมาเป็นตัวแทนที่จะต่อสู้เพื่อชนชั้นแรงงานระบบประชาธิปไตยไม่ใช่เลือกคนที่เป็นนายทุน หรือศักดินามาขูดรีดกรรมกร ระบบประชาธิปไตยต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เกิดช่องว่างคนรวยคนจนที่ห่างกันไปทุกที

นางสุนี กล่าวว่า การออกแบบของนายทุนทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ทำให้ไม่เกิดการรวมตัวกัน แบ่งแยกเป็นฝ่ายๆกระจัดกระจายแล้วก็ใช้ช่วงเวลาช่วงนี้ในการกอบโกย มีกฎหมายออกมาจำนวนมากและมีการละเมิดสิทธิชุมชน ป่า ที่ทำกิน เช่นจะมีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษก็บุกชุมชนจะสร้างโรงไฟฟ้าก็รุกทรัพยากร ระเบิดเกาะแก่งหินในแม่น้ำเพื่อการค้าเชิงพาณิชย์ไม่สนใจผลกระทบที่มีต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม สังคมและตรงนั้นก็มีเรื่องของแรงงานอยู่ด้วย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลเผด็จการก็ยังมีแนวคิดที่ทำเพื่อตอบสนองทุนสรุปได้ว่าเขาจับมือกันไปในทิศทางเดียวแต่ขบวนการแรงงงานกับภาคประชาชนยังคงแยกกันไม่ได้ เพราะจะเห็นได้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีการออกกฎหมายจำนวนมากโดยที่ไม่ได้มีส่วนร่วมจากประชาชน มีกฎหมายหลายฉบับที่กระทบต่อการดำเนินชีวิต มีการเปิดให้มีการเช่าที่ดินได้อย่างเสรีถึง 99 ปีเป็นต้น ซึ่งจต่อไปคนจนคงไม่มีโอกาสที่จะมีที่ทำกิน หรือว่าบ้านอยู่อาศัยด้วยทืี่ดินที่ราคาแพง รายได้ต่ำนี่คือความทุกข์ร่วมอย่างแน่นอน

โดยครั้งนี้ได้มีการประชุมสรุปการดำเนินกิจกรรมทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์ขบวนการแรงงานไทยก้าวสู่การเป็นพลังนำในการสร้างสังคมที่เสมอภาคและเป็นธรรม 2. ยุทธศาสตร์ ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการสร้างขบวนการแรงงานให้เข้มแข็ง 3.ยุทธศาสตร์เสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานในเชิงปริมาณ 4. ยุทธศาสตร์ เสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานในเชิงคุณภาพ พร้อมกับวางแผนงานประจำปีนี้ด้วยการกำหนดการขับเคลื่อนประเด็นเร่งด่วน เช่น การละเมิดสิทธิแรงงาน การยกเลิกพระราชบัญญัติชุมนุม กฎหมายประกันสังคม ความปลอดภัยในการทำงาน และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ เป็นต้น