ประวัติศาสตร์สะเทือนใจ กับ อนุสาวรีย์ความปลอดภัยของแรงงาน

20150510_113902

วันที่ 10 พ.ค. 2558 คณะกรรมการสมานฉันแรงงานไทยได้จัดงาน โศกนาฏกรรมคนงานเคเดอร์ สู่อนุสาวรีย์ เตือนใจความปลอดภัยของคนงาน จัดร่วมกับ กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สืบเนื่องจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงาน เคเดอร์ เมื่อ ปี่ พ.ศ. 2536 เป็นเหตุให้มีคนงานเสียชีวิตมากถึง 188 ศพ และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวน 400 กว่าคน ซึ่งนางสาววิไลวรรณ แซ่เตียและกลุ่มคนงานในเขตพื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ องค์กรพัฒนาเอกชน ได้ร่วมกันผลักดันเรื่องความปลอดภัยให้เป็นวาระแห่งชาติ จากการต่อสู้เพื่อคนงานจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 22 ปีแล้วที่คนงานได้ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 แต่ถึงแม้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมพ.ศ. 2540 รัฐบาลในคณะนั้นได้ประกาศให้วันที่ 10 พฤษภาคม เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ แต่การบังคับใช้ในสถานประกอบการยังไม่จริงจังมากพอ ถึงแม้ทางแรงงานเองจะมีการจัดงานรำลึกวันความปลอดภัยทุกๆปีแต่แรงงานและรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

นายสุวัฒน์ ลิปตภัลลพ ในขณะนั้นเห็นความสำคัญของความปลอดภัยของคนงาน จึงได้บริจาคเงินส่วนตัวจำนวน 100,000 บาท เพื่อให้สร้างอนุสาวรีย์ความปลอดภัยซึ่งหวังว่าเมื่อคนงานเห็นอนุสาวรีย์นี้แล้วจะทำให้คนงานตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงานของตนเองมากขึ้น

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย อาจารย์ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นายชินโชติ แสงสังข์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อาจารย์วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์มาลี พฤกษ์พงศาวลี ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อให้ได้มาซึ่งพ.ร.บ. ความปลอดภัย ทั้งนี้ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงได้มีมติว่าจะจัดตั้งอนุสาวรีย์เพื่อไว้เตือนใจคนงานภายใต้งบประมาณที่นายสุวัฒน์ ลิปตภัลลพ ได้บริจาคมา รูปแบบของอนุสาวรีย์ได้มอบหมายให้ นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และอาจารย์ศักดินา ฉัตรกุล ณอยุธยา ร่วมให้ข้อมูลและจัดหาผู้ออกแบบสร้างอนุสาวรีย์ พร้อมทั้งสถานที่ตั้งที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยด้วย

อนุสาวรีย์โศกนาฏกรรมของตนงานเคเดอร์ชิ้นนี้เป็นปฏิมากรรมการออกแบบและปั้นโดย อาจารย์สุรพล ปัญญาวชิระ (เปี๊ยก) ซึ่งอาจารย์ได้ปั้นผลงานชิ้นนี้จากความรู้สึกที่รับรู้ว่าการสูญเสียเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และหวังว่าคนงานจะไม่ลืมความเจ็บปวดนี้ทุกครั้งที่ได้เห็นอนุสาวรีย์เคเดอร์

ในวันนั้นรองอธิบดีสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้มาเปิดงานโดยนำสารจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ส่งถึงผู้ใช้แรงงานเนื่องในวันความปลอดภัยแห่งชาติมีใจความว่า “ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอันเนื่องมาจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ทำให้ลูกจ้างเสียชีวิต 188 คนและบาดเจ็บกว่า 400 คน ถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญของแรงงานไทย จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นจึงเป็นที่มาของมติคณะนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2540 เห็นชอบกำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติเพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รำลึกถึงความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงานซึ่งส่งผลกระทบทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานทุกคนเพราะผลที่ตามมาคือคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน ศักยภาพในการผลิตของผู้ประกอบการ ทางกระทรวงแรงงานใส่ใจความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานโดยได้ประกาศให้ปี 2558 นี้ เป็นปีแห่งการรณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในการทำงาน ความปลอดภัยต้องเป็นวัฒนธรรมในการทำงานอีกครั้งหนึ่งที่ทุกฝ่ายควรยึดถือปฏิบัติ”

อนุสาวรีย์โศกนาฏกรรมของคนงานเคเดอร์ ตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ซึ่งเป็นสถานที่เก็บทุกเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่แรงงานและบุคคลทั่วไปควรมาศึกษาเยี่ยมชมเพราะพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นที่เดียวในประเทศไทยที่มีทุกเรื่องราวการต่อสู้ของแรงงาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า อนุสรณ์สถานเตือนใจความปลอดภัย จะทำให้แรงงาน นายจ้าง รัฐบาลเห็นความสำคัญอย่างจริงจัง

โดย นางสาวพรทิพย์ ยันตะพันธ์ นักสื่อสารแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่