ประชาธิปไตยกับแรงงาน การมีส่วนร่วมเสนอกฎหมาย?

P1140501

โดย ดาวเรือง ชานก นักสื่อสารแรงงาน

ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่ว่า จะเชื้อชาติใด กลุ่มใดก็ต้องการมีอิสระในการเลือกใช้ชีวิตและสิ่งที่ตนปรารถนา ประชาธิปไตยฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัว แต่ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่เรียกร้องต้องการที่จะมีประชาธิปไตย ต้องการมีเสรีภาพ การประกอบอาชีพ การมีงานทำและการมีรายได้ที่สามารถดูแลตนเองและครอบครัว รวมถึงการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอัตลักษณ์เป็นของตนเอง และสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐและทุน เพื่อปกป้องตนเองและพวกพ้องจากการถูกเอารัดเอาเปรียบทางสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ

ผู้ใช้แรงงานก็เช่นเดียวกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีส่วนร่วมที่สำคัญในการทำให้เกิดประชาธิปไตย แล้วมีสักกี่คนที่จะรู้ว่ากฎหมายฉบับต่างๆ ที่ทำให้ทุกคนมีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ล้วนแต่มาจากการต่อสู้เรียกร้องของผู้นำแรงงานในอดีต ที่ถูกบรรจุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม ได้มีประกาศให้ใช้ในอดีตจนถึงปัจจุบันที่มาจากการขับเคลื่อนของขบวนการแรงงานร่วมกับองค์กรเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยทั้งสิ้น การเรียกร้องประชาธิปไตยโดยการขับเคลื่อนจากอดีตจนถึงปัจจุบันของแรงงานก็เพียงต้องการประชาธิปไตยในการสร้างความอยู่ดีกินดีมีสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ขบวนการแรงงานได้มีการเรียกร้องกฎหมายประกันสังคม เพื่อเป็นหลักประกันให้คนทำงานตั้งแต่เกิดจนถึงวัยเกษียณ

“การเรียกร้องกฎหมายประกันสังคม สาเหตุมาจาก คนงานเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุแต่ โรงพยาบาลเอกชนจะเข้ายากมาก โรงพยาบาลรัฐก็อยู่ไกล ไม่มีเงินไปรักษาต้องเอาสร้อยจำนำหรือขาย การลางานก็ยาก ทำให้ตนเองและเพื่อนๆคนงานด้วยกันทำให้มีแนวคิดร่วมกันว่าต้องมีการรวมตัวของแรงงานและต้องขับเคลื่อนเรื่องของสิทธิต่างๆที่คนงานควรจะได้ จึงร่วมกันเคลื่อนไหวผลักดันให้มีกฎหมายประกันสังคม และกฎหมายประกันสังคมฉบับแรกได้มีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2533” นี้เป็นการสะท้อนของนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้ที่มีบทบาทในการเรียกร้องกฎหมายประกันสังคมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ความต่างของกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 50,000 รายชื่อ ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 ให้สิทธิประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 10,000 รายชื่อ แต่สภายังออกระเบียบจำกัดที่ไม่รับร่างกฎหมายของภาคประชาชน เช่น ร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับขบวนการแรงงาน 14,264 รายชื่อ ให้สิทธิในการนำเสนอกฎหมาย แต่จำกัดสิทธิโดยไม่รับร่างกฎหมายของภาคประชาชน โดยอ้างระเบียบสภา

ในปี 2553 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และองค์กรภาคีเครือข่ายแรงงาน ได้มีการเสนอร่าง พ ร บ.ประกันสังคม ฉบับที่ พ.ศ……เสนอโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนผลักดันกฎหมาย เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และเสนอกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยภาคประชาชนร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายจำนวน 14,264 รายชื่อ ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พอมีการยุบสภาฯ ร่างพ.ร.บ.ฉบับที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานนำเสนอนี้ก็ต้องหยุดและถูกปัดตกในสมัยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เกิดปัญหาทางการเมืองจึงมีการยึดอำนาจของ คสช. และการประกาศใช้กฎอัยการศึกทำให้การรวมตัวของขบวนการแรงงานไม่สามารถทำได้ แต่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานเองก็ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ก็ยังคงติดตามเคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายและเรื่องของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ อนุสัญญา ILO 87 98 และมีการยื่นเสนอต่อหน่วยงานต่างๆ เช่น กองทัพบก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) และได้มีการทำงานร่วมกับเครือข่าย 14 องค์กร ภายใต้ชื่อเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน เพื่อผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมคนทำงาน เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ปัจจุบันคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและภาคแรงงานได้ทำงานร่วมกันมีส่วนร่วมในการถกเถียงประเด็นในหลักการสำคัญของร่างกฎหมายประกันสังคม และการเข้ายื่นหนังสือกับประธานสภานิติบัญญัติ รวมทั้งมีการเข้าร่วมการจัดเวทีในการนำเสนอประเด็นต่อสื่อมวลชนเพื่อให้เกิดประเด็นทางสังคม เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้มีการเปลี่ยนหลักการสำคัญของร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับของรัฐบาล

การปฏิรูปกฎหมายประกันสังคม ในขณะนี้อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการ ซึ่งเป็นร่างของรัฐบาลมีการพิจารณามาแล้ว 10 ครั้ง เป็นการพิจารณาในสาระสำคัญร่างของรัฐบาล ส่วนร่างประกันสังคมฉบับคนทำงานที่ได้มีการยื่นต่อสภานิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ไม่ถูกหยิบมาพิจารณาร่วมกับร่างของรัฐบาล ความหวังกับการพิจารณาร่างของรัฐบาล หากดูในหลักการสำคัญก็มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น การเลือกตั้งตรงและการเพิ่มคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการผู้ประกันตนมาจากการการเลือกตั้งตรง แต่ก็ยังเป็นอำนาจของรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนด ตั้งข้อสังเกตว่าทั้งการเลือกตั้งตรง คณะกรรมการผู้ประกันตน ทั้ง 2 ส่วนนี้ยังเป็นอำนาจของรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดเหมือนเดิมซึ่งจะตอบโจทย์การนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริงหรือเปล่า กรณี มาตรา 40 ก็ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน คือการสมทบของรัฐบาลต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ผู้ประกันตนนำส่ง กฎหมายประกันสังคมก็ยังไม่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติมากนัก เช่น กรณีว่างงาน กับเงินบำเหน็จชราภาพ ยังไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติ เพราะ 4 ปีก็ต้องกลับไปประเทศ การออกกฎหมายยังมีข้อจำกัดทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิอย่างแท้จริง การเกิดสิทธิควรมีความแตกต่างกันตามความเหมาะสม เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานต้องมีหลักประกันที่เป็นธรรมและเท่าเทียม

การปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมีความเชื่อมโยงกันถ้าหากว่าร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากหลักการสำคัญได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็จะดีกว่าเพราะรัฐจะต้องออกกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ

จากการขับเคลื่อนที่ผ่านมาทำให้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาลได้มีการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคม ของรัฐบาล แต่ก็ยังไม่ได้เป็นดังที่แรงงานหวังเพราะยังมีข้อจำกัดในการให้อำนาจฝ่ายการเมืองเป็นผู้ออกกำหนดเหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ตามประเด็นที่เป็นหัวใจที่สำคัญในการบริหารงานเป็นอิสระก็ยังไม่เปลี่ยน ยังอยู่ภายใต้กำกับของฝ่ายการเมืองอยู่ อย่างไรก็ตามประเด็นยังไม่เปลี่ยนแปลง คณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย ต้องติดตามตรวจสอบขับเคลื่อนกันต่อไป

แม้ว่า ขบวนการประชาธิปไตยจะมีการใช้มาถึง 82 ปี แต่ดูเหมือนว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็ยังเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากภาครัฐอย่างทั่วถึงเท่าที่ควรจะเป็น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายนำเสนอกับรัฐบาลนี้หากผ่านก็จะเป็นประโยชน์กับแรงงานทุกระดับชั้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันขบวนการแรงงาน จึงมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวผลักดันมาโดยตลอดผ่านรุ่นสู่รุ่นถึงแม้จะมีผู้นำหลายท่านที่เคยร่วมต่อสู้จะเสียชีวิตไป แต่แรงงานรุ่นหลังก็ยังคงสานต่ออุดมการณ์ทำเพื่อแรงงานต่อไป

//////////////////////////