ประชาคมคัดค้านการให้เช่าที่ดินมักกะสัน เสนอนายกให้การรถไฟพัฒนาจัดการที่ดินเอง

20160813_105722

ประชาคมคัดค้านการให้เช่าที่ดินมักกะสัน ร้องนายกรัฐมนตรีเสนอให้การรถไฟบริหารจัดการพัฒนาที่ดิน 497 ไร่ แทนการนำไปแลกหนี้

วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ประชาคมคัดค้านการให้เช่าที่ดินมักกะสัน โดยนายอินทร์ แย้มบริบูรณ์ เลขาธิการประชาคมฯ และพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง “ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย บริหารจัดการที่ดินมักกะสัน” ด้วยต้องการร้องเรียนกรณีที่คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้ให้ทำแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟฯซึ่งมีมาตรการลดภาระหนี้ โดยการมอบที่ดินให้กระทรวงการคลังด้วยวิธีให้กรมธนารักษ์เช่าที่ดินการรถไฟฯมักกะสันจำนวน 497 ไร่ อายุสัญญาเช่า 99 ปี มูลค่าการเช่าประมาณ 61,000 ล้านบาท หรือโครงการที่เรียกว่า “เอาที่ดินแลกหนี้” และเมื่อสื่อมวลชนนำเสนอต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 พาดหัวข่าวว่า “ชิงที่ดินมักกะสันแสนล้าน หยันรถไฟฯมือไม่ถึง” สรุปเนื้อหาข่าวจะใช้ที่ดินมักกะสันลดภาระหนี้ ที่ดินมูลค่าเป็นแสนล้านบาท กรมธนารักษ์ก็จะเอาที่ดินทำเองโดยเปิดให้เอกชนมาเสนอโครงการ ส่วนผู้ว่าการรถไฟฯก็ให้ข่าวพร้อมบริหารที่ดินมักกะสันเองโดยให้เอกชนร่วมทุน เหมือนกับโครงการที่ทำในพื้นที่สถานีแม่น้ำ 277 ไร่ มูลค่า 88,000 ล้านบาท เมื่อต่างมีวิธีการให้เอกชนมาหาผลประโยชน์ในที่ดินเหมือนกัน ก็จะให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เป็นคนชี้ขาดใครจะได้สิทธิเอาที่ดินมักกะสันไปทำประโยชน์

13626395_1740463892901693_8110694247793370185_n

จากที่การรถไฟฯทำเองได้ดังเช่น การให้เซ็นทรัลเช่าที่ลาดพร้าว พื้นที่ 47 ไร่ อายุสัญญาเช่า 20 ปี มูลค่า 21,000 ล้านบาท และผู้ว่าการรถไฟฯให้ข่าวต่อสื่อมวลชนได้ทำโครงการให้เอกชนร่วมทุนพื้นที่สถานีแม่น้ำเนื้อที่ 277 ไร่ ทำโครงการได้ 88,000 ล้านบาท และถ้าเป็นพื้นที่ดินรถไฟมักกะสัน มีพื้นที่มากกว่ามีศักยภาพเชิงพาณิชย์ดีกว่า จะทำรายได้ให้การรถไฟฯในระยะยาวจำนวนมาก และถ้าการรถไฟฯทำโครงการในรูปแบบนี้ในพื้นที่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ของการรถไฟฯประมาณ 36,000 ไร่ จะสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯจากรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนจะมีกำไร เป็นที่ยอมรับเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อกิจการ ซึ่งการรถไฟฯอาจจะใช้วิธีตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารทรัพย์สิน ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย 2494 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2543 หรือจะใช้วิธีให้เอกชนร่วมทุน และวิธีการลดภาระหนี้ของกระทรวงการคลัง จะใช้วิธีหักในระบบบัญชีหนี้ของการรถไฟฯก้ยังไม่หมด แต่ถ้าการรถไฟฯทำเองจะได้เป็นตัวเงินสามารถเอาไปบริหารพัฒนากิจการและแบ่งเอาไปใช้หนี้ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ในแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟฯดีกว่าการเอาที่ดินไปใช้หนี้

ดังนั้น ตามเหตุผลที่กล่าวมา ขอให้แผนงานฟื้นฟูกิจการรถไฟฯให้การรถไฟฯบริหารจัดการที่ดิน รัฐบาลตั้งคณะกรรมการรถไฟฯมาควบคุมดูและการบริหารจัดการอยู่แล้ว ก็สั่งการควบคุมการบริหารในเรื่องนี้ให้ชัดเจน จะเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อรัฐบาล บริหารงานอย่างโปร่งใสถูกตั้งเป็นไปตามกรอบอำนาจของรัฐที่มี