“ปฏิรูป สปส.กองทุนชราภาพไม่ต้องกลัวล้ม”

voicelabour.org1บัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง

นับเป็นเรื่องที่หวั่นวิตกกันอย่างมาก ในห่วงเวลาของการจะเข้าสู่สังคมวัยชรา ว่าจะมีใครมาเลี้ยง มาดูแล ซึ่งความหวั่นวิตกเหล่านี้ย่อมหนีไม่พ้นการประเมินสถานะทางการเงินในอนาคต และวัยที่จะต้องมีงานทำต่อไป กับถ้าไม่มีงานทำจะนำรายได้มาจากไหนในการพึ่งตนเอง แบบไม่เป็นภาระต่อลูก หลาน ในอนาคต ณ วันนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเงินที่ได้หลังเกษียนอายุ 60 ปี คือ เบี้ยผู้สูงอายุที่ไร่ไปตามลำดับขั้น ตั้งแต่ 600 – 1,000 บาท แต่อายุสูงสุดที่จะได้อัตราเบี้ยสูงอายุ 1,000 บาท ต้องอายุ 90 ปี ขึ้นไป แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกกองทุนหนึ่งที่เราเรียกว่า กองทุนบำนาญชราภาพ ของมาตรา 33 และ มาตรา 39 ในกฎหมายประกันสังคม จะเริ่มใช้ในปี 2557 โดยต้องนำเงินประกันสังคมออกมาจ่าย ประมาณ 8,090 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานประกันสังคมมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการจ่าย ใน 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง เงินบำเหน็จชราภาพ จะจ่ายให้เป็นก้อนเดียวแก่ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แต่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนไม่ครบ 15 ปี หรือ 180 เดือน  สอง เงินบำนาญชราภาพ จะจ่ายให้เป็นรายเดือนแก่ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนครบ 15 ปี และออกจากงาน นี่ยังไม่รวมการออมที่อนาคตคนหนุ่มสาวที่จะชราภาพในอนาคตต้องเก็บออม อีกรูปแบบหนึ่งที่กฎหมายออกมาแล้ว แต่รัฐบาลปัจจุบันยังไม่เร่งดำเนินการ คือ พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) เป็นต้น

ความกังวลใจของการจะฝากผีฝากไข้ กับการจะได้รับเงินประกันสังคม ในกองทุนบำนาญชราภาพ ขณะนี้มีหลายเวทีทางวิชาการได้มีการออกมา วิเคราะห์ถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ของการหมดไปกับการจ่ายเงินส่วนนี้ในอนาคตว่าจะมีพอจ่ายอย่างต่อเนื่องหรือเปล่า จนเป็นโจทย์ให้นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน และผู้สูงอายุ รวมถึงองค์กรแรงงานที่มีสมาชิกอยู่ในระบบประกันสังคมหลายท่าน ตั้งเป็นประเด็นคำถามที่จะต้องให้ สำนักงานประกันสังคม ที่มีเงินกองทุนกว่า 900,000 ล้านบาท มีสมาชิกในกองทุนประกันสังคม ถึงเกือบ 10 ล้านคน ให้เร่งทบทวนและหาสูตร การเพิ่มรายรับจากการส่งเงินสมทบ พร้อมทั้งเพิ่มอายุการทำงาน จาก 55 ไปถึง 60 ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการจ่ายในอนาคต

ผมในฐานะทำงานด้านการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน มากว่า 20 ปี  เป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องให้ประเทศไทยมีกฎหมายประกันสังคม ตั้งแต่ปี 2531 และออกมาเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ปี 2533 เข้าเป็นสมาชิกประกันสังคม กลางปี 2536 ร่วมรณรงค์เคลื่อนไหวทั้งในฐานะนักศึกษา และคนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน จนได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกฎหมายประกันสังคมให้ลูกจ้างหญิงสามารถลาคลอด 90 วัน ได้รับค่าจ้างเต็ม ในปี 2536 อยากนำเสนอทางออกที่รัฐบาลไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และสมาชิกประกันสังคมทุกท่าน ได้เห็นข้อทบทวนที่ต้องเร่งดำเนินการอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน

เรื่องที่หนึ่ง รัฐบาลต้องเร่งเสนอกฎหมายปฏิรูปประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ เหตุผล ที่ผ่านมากองทุนประกันสังคมขาดการใช้หลักธรรมาภิบาล ที่บอกว่า ต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องมีส่วนร่วม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การขาดมีส่วนร่วมจากสมาชิกในการบริหารจัดการองค์กร ระบบการบริหารตัดสินใจในนโยบายขาดระบบการเลือกตั้งจากสมาชิก เพราะที่ผ่านมาใช้การคัดสรร และแต่งตั้งในลักษณะองค์กรแรงงาน องค์กรนายจ้าง และการเลือกผู้แทนจากภาครัฐ ที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานบอร์ดคณะกรรมการประกันสังคม ดังนั้นการเสนอปัญหา และการแก้ไขและออกนโยบายจึงเป็นการแก้ไขที่ขาดข้อเท็จจริงในหลายเรื่องที่สมาชิกประกันสังคมเผชิญอยู่ รวมถึงการตัดสินใจการนำเงินกองทุนไปลงทุนในด้านต่างๆที่เสี่ยง และไม่เสี่ยงทางการเงิน สอง กองทุนประกันสังคมต้องปราศจากการแทรกแซงจากพรรคการเมือง นักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศ เหตุผล การที่เงินประกันสังคม ต้องถูกใช้ไปกับนโยบายประชานิยม หรือ การนำเอากองทุนไปออกระเบียบลดแลกแจกแถม หรือขึ้นป้านโฆษณาที่มีภาพผู้บริหาร มากกว่าประเด็นการส่งเสริมให้ข้อมูลกับประชาชน สมาชิก เข้าใจกองทุนประกันสังคม กับการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือ การนำเงินบางส่วนออกไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประเทศ เช่น การลดการส่งเงินสมทบช่วงน้ำท่วม หรือช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งการแก้ไขในส่วนนี้อาจต้องมองหาวิธีการอื่นมากกว่าจะมาใช้เงินในส่วนของการสมทบ ที่จะเป็นอนาคตของการเติบโตทางการเงิน โดยต้องนำไปใช้กับการให้ หรือปรับสิทธิประโยชน์ของสมาชิก และการพัฒนาประเทศที่จำเป็น สรุปคือประกันสังคมต้องยึดหลักการมองอนาคตเรื่องการปรับเพิ่มการเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได มากกว่าปรับลดเพื่อเอาใจนักการเมืองบางคน บางกลุ่ม สาม กองทุนประกันสังคม รัฐต้องส่งหนี้เงินสมทบค้างจ่าย เข้ากองทุนประกันสังคม ที่ปัจจุบันประชาชน และสมาชิก ไม่เคยได้รับข้อมูลอย่างเปิดเผย ทำให้ขณะนี้ไม่สามารถรับรู้สถานะทางการเงินที่แท้จริงของประกันสังคม ดังนั้นการวิเคราะห์วิพากษ์ของประชาชน และสมาชิกประกันสังคม ต่อกองทุนประกันสังคม และนักการเมือง ผู้นำแรงงานบางคน บางกลุ่ม จึงอาจไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในทางสาธารณะ สี่สุดท้าย สำนักงานประกันสังคม ต้องเร่งดำเนินการบังคับนายจ้างบางส่วนบางรายที่ไม่ยอมนำส่งเงินสมทบประกันสังคม ทั้งในส่วนของลูกจ้างที่หักเก็บเขาไป และส่วนนายจ้างที่อ้างภาวะเศรษฐกิจ และขอขยายการชำระหนี้ ซึ่งเงินสมทบในส่วนนี้น่าจะมีมากถึง 3 – 4 พันล้านบาท

จากข้อเสนอทั้ง 4 เรื่องที่พยายามรวบรวมติดตามความเป็นไปของกองทุนประกันสังคม โดยภาพรวมของความกังวลว่าเงินจะพอจ่ายหรือไม่ในอนาคตของกองทุนบำนาญชราภาพ ในกฎหมายประกันสังคม คำตอบไม่น่าจะอยู่ที่การขยายเวลาอายุเกษียณออกไปจาก 55 ไปเป็น 60 ปี และต้องให้กลุ่มคนช่วงอายุเหล่านี้มาเป็นมนุษย์เงินเดือน อีกทั้งการคิดถึงงานที่เหมาะสมกับคนอายุในช่วงนี้น่าจะเป็นวิธีคิดแบบคนที่อยู่ในตำแหน่งบริหาร เช่น ที่ปรึกษาฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ หรือระบบงานการนั่งเฝ้าของเฝ้าร้าน เพราะถ้าดูจำนวนสมาชิกประกันสังคมส่วนมาก ชัดเจนว่าน่าจะเป็นแรงงานฝีมือระดับล่าง มากกว่า น่าจะหาช่องทางให้กลุ่มคนเกษียณอายุในอนาคตได้มีชีวิตบั้นปลายแบบผู้สูงอายุต่างประเทศที่พัฒนาแล้วบ้างนะครับ และคิดว่าถ้าทำใน 4 เรื่องที่เสนอไปได้กองทุนประกันสังคม ส่วนสิทธิประโยชน์ชราภาพไม่ล้มแน่นอน