ปฏิรูปแรงงานบนฐานเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจพอเพียง

10580794_708793385840646_7176440713703415370_o

รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในเชิงนโยบายการยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจภาคแรงงานในอดีตมักจะมุ่งเน้น เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหลักแต่มิได้ยกระดับคุณภาพชีวิตที่แท้จริง แต่จากการที่ได้ลงพื้นที่วิจัยโดยใช้พื้นนาเป็นห้องทดลอง ทฤษฎี 1 วิถี 2 การผลิต แหวกความคิดจากกฎเดิมๆ จากขบวนการแรงงานกระแสหลักที่มุ่งเรียกร้องขึ้นค่าแรงและเพิ่มสวัสดิการให้กับแรงงานซึ่งถ้าไม่ใช้เงินรัฐบาลก็จะไปล้วงเงินในกระเป๋าของนายจ้างมาช่วยคนงาน แนวคิดกระแสหลักดังกล่าวผ่านมา 30 ปี ปัญหาคุณภาพชีวิตแรงงานก็ยังอยู่กับที่

แต่แนวทางใหม่เป็นการมุ่งเน้นให้แรงงานรวมกลุ่มตัวกันเองเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้างและสร้างฐานเศรษฐกิจพึ่งตนเองขึ้นภายในกลุ่ม โครงการนำร่องหรืองานวิจัยที่ทดลองกับชีวิตคนจริงๆ เกิดขึ้นกับกลุ่มแรงงานในจังหวัดปราจีนบุรีเกือบร้อยชีวิตที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม 304 รวมตัวกันทำโครงการ “หมู่บ้านมั่นคงแรงงานสังคมเพื่อน” เพื่อนำไปสู่การสร้างทฤษฎี 1 ครัวเรือน 2 วิถีการผลิต โดยมีบ้านเป็นตัวตั้ง มาแก้ไขปัญหาหลักของแรงงาน คือ เรื่องรายได้ เรื่องครอบครัว เรื่องสังคม เรื่องของคนทิ้งภาคเกษตรมาอยู่ในโรงงาน ทิ้งไร่นา ทิ้งพ่อ ทิ้งแม่ ทิ้งลูก ทิ้งหลานไว้ข้างหลังมากมาย เพราะฉะนั้นการที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้จึงไม่ใช่การสร้างบ้าน แต่เป็นปัญหาหลักของการสร้างชุมชนใหม่
และการจัดระเบียบความสมดุลของวิถีการดำรงชีพของคนงานให้เข้ากับยุคสมัยนี้

ทั้งนี้ชุมชนใหม่ หรือ หมู่บ้านมั่นคงแรงงานสังคมเพื่อน จะแก้ปัญหานี้ คือ

1.สามารถแก้ปัญหาปัจจัยสี่ได้ ต้องมีบ้าน ต้องมีรายได้ รายได้นั้นต้องเป็นที่มาของสามปัจจัย คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค บ้านจึงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น การสร้างบ้านจึงมีลักษณะแตกต่างจากบ้านมั่นคงอื่นๆ ทั่วไป โดยจะต้องมีเศรษฐกิจภาคการเกษตรในชุมชนเพื่อเป็นฐานความมั่นคงทางอาหาร ลดรายจ่ายให้แก่ครอบครัว การประกอบสัมมาชีพในโรงงานอุตสาหกรรม เศรษฐกิจภาคบริการในชุมชน ได้แก่ บริการทางการเงินผ่านสหกรณ์ การออมวันละบาท สวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์ ตลาดนัดสินค้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าจากโรงงาน และภาคบริการทางสังคม เช่น ศูนย์เด็ก ศูนย์เรียนรู้ ศูนย์ผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาทักษะฝีมือ เป็นต้นนี่เป็นการตกผนึกของขบวนการแรงงานที่ร่วมทำงานกันเกือบ 4 ปี และ

2.ชุมชนแก้ปัญหาครอบครัวทรพี พวกเราอยู่แต่ในโรงงานไม่ได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ไม่ได้ติดตามข่าวสาร เราจะได้เห็นครอบครัวทรพีลูกฆ่าแม่ พ่อแม่ฆ่าลูก ครอบครัวที่ลูกไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่ทิ้งลูกไว้ให้อยู่กับปู่ย่าตายาย สังคมอธรรมได้ไล่ต้อนให้พวกเราต้องทิ้งครอบครัววิ่งเข้าหาโรงงาน 12 ชั่วโมง อยู่ในโรงงานไม่มีเวลาเลี้ยงลูก

“ตัวอย่างของพวกเรา(คนงาน) ที่นี่หลายคนเป็นหนี้สิน ติดคุก ติดตาราง ยาเสพติด แต่งงานไว มีลูกก่อนแต่ง เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้อยู่กับลูก การแก้ปัญหาครอบครัว บ้านจึงไม่ใช่ที่นอนอย่างเดียว แต่บ้านเป็นการสร้างสังคมใหม่ให้เกิดวาระครอบครัวเข้มแข็งระหว่างหลานลูกพ่อแม่ได้” รศ.ณรงค์ กล่าวและ

3. ต้องเป็นชุมชนที่มีลักษณะหนึ่งครัวเรือนสองวิถีการผลิต หนึ่งครัวเรือนสองวิถีการผลิตเป็นการรองรับสังคมการเปลี่ยนแปลง สังคมการแข่งขันที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในสังคม กล่าวคือ วิถีการผลิตหลัก คือการหารายได้จากในโรงงาน วันหนึ่ง 12 ชั่วโมง ที่แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย โจทย์ที่เราถูกถามเสมอว่า ใครทำเกษตร จะเอาเวลาไหนมาทำเกษตร บางคนไม่เข้าใจว่าการทำงานเกษตรคืออะไร การทำเกษตรคือเป็นเรื่องของคนที่มีอาชีพเกษตรกรเท่านั้นเองหรือ คนอาชีพอื่นจะทำงานเกษตรได้หรือไม่ เช่นนี้เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่าทฤษฎีดังกล่าวเน้นการพึ่งพิงตนเอง เริ่มจากการรวมกลุ่มแรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพในบริเวณใกล้เคียง ชักชวนกันมาสร้างชุมชนใหม่ใกล้ที่ทำงาน เช่น โรงงานบริษัทสรุพลฟู้ดส์ จำกัด , โรงงานบริษัท ฮิตาชิ คอนซูเมอร์โปรดัคส์ จำกัด , โรงงานบริษัท พี เอ็ม ฟูด จำกัด และ โรงงานบริษัท โพลิโฟม (กบินทร์บุรี) จำกัด เป็นต้น การรวมกลุ่มภายใต้ชื่อ “สังคมเพื่อน” เป้าหมายเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้าง และสร้างกิจกรรมเศรษฐกิจพึ่งตัวเอง การรวมกลุ่มของคนหมู่มากที่มาจากหลายโรงงานย่อมกลายเป็น “ตลาดนัด” สินค้าขนาดย่อมๆ สินค้าที่มาจากโรงงานสมาชิกได้จากการไปต่อรองกับนายจ้าง ให้อนุญาตนำสินค้าราคาต้นทุนมาร่วมลงขันกันเปิดตลาดนัดและจัดกิจกรรมออกร้าน ผลที่ออกมา คือ
สามารถสร้างรายได้ภายในกลุ่มเพื่อนำไปเป็นทุนจัดกิจกรรมครั้งต่อไป ถือเป็นการเพิ่มรายได้ ลดการพึ่งพาโอที ไม่จำเป็นต้องทำอยู่ในโรงงาน 10-12 ชั่วโมงก็ยังมีรายได้ไม่ต่างจากเดิม เมื่อมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น ย่อมนำไปสู่การสร้างความอบอุ่นขึ้นในครอบครัว สายสัมพันธ์ภายในครอบครัวก็จะไม่หลุดหลวม

ทั้งนี้จากการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนใหญ่ จึงมีอำนาจในการต่อรองการขอสินเชื่อเพื่อสร้างชุมชนใหม่ เพื่อนำทฤษฎี 1 ครัวเรือน 2 วิถีการผลิต ไปสู่การลงมือกระทำจริง เริ่มตั้งแต่สมาชิกร่วมกันออมเงินกันไปซื้อที่ดิน(ที่นา) ราคาถูกเฉลี่ยตารางวาละ 350 บาท จำนวน 15 ไร่ แบ่งเป็นแปลงๆ ละ 50 ตารางวา ได้ทั้งหมด 71 แปลง หรือ หลังคาเรือน ภายในพื้นที่ดังกล่าวยังมีพื้นที่ส่วนรวมใช้ประโยชน์ในการจัดตั้งสำนักงานสหกรณ์เคหะสถานบ้านมั่นคงแรงงานสังคมเพื่อน ลานตลาดนัด ศูนย์ฝึกอาชีพ หรือศูนย์เลี้ยงเด็กและเรียนรู้ พัฒนาขึ้นมาตามลำดับ

ความแตกต่างอยู่ตรงการรวมกันของแต่ละ 1 ครัวเรือน 2 วิถีการผลิตให้เป็นหนึ่งเดียวในพื้นที่ 15 ไร่ กลายเป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่ได้ ผ่านระบบการจัดผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น บ้านแต่ละหลังจะไม่มีการกั้นรั้วลวดหนามเหล็ก หรือกำแพงก่ออิฐ แต่จะให้เจ้าของบ้านแต่ละหลังปลูกต้นไม้ เช่น พืชสมุนไพรหรือพืชสวนครัวเป็นรั้วกั้น หรือพื้นที่ถนนภายในซอยย่อยภายในชุมชนจะมีการตกลงกันปลูกต้นไม้หน้าบ้านตามชื่อซอย เช่น ซอยที่ 1 ชื่อ ซอยสะเดาปลูกต้นสะเดา ซอยที่ 2 ชื่อ ซอยมะพร้าวปลูกต้นมะพร้าวและซอยที่ 3 ชื่อซอยมะละกอ ปลูกต้นมะละกอ เป็นต้น สมาชิกในชุมชนมีสิทธิ์เก็บเกี่ยวพืชผลเหล่านี้ทั้งบริโภคภายในครัวเรือนหรือรวมกันลงแขกเก็บส่งขายตลาดท้องถิ่น นำเงินเข้ากองกลางผ่านการดูแลของสหกรณ์ฯ เพื่อเป็นทุนไปจัดกิจกรรมสร้างฐานเศรษฐกิจอย่างอื่นต่อไป ในขณะที่พื้นที่ภายในบ้านของตัวเองก็สามารถปลูกพืชผักสวนครัวบริโภคในครอบครัวหรือจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

แต่สิ่งสำคัญไปกว่านั้นสามารถต่อเติมเพื่อสร้างครอบครัวขยายที่มีทั้งพ่อแม่ลูก ปู่ย่าตายายอาศัยอยู่กันพร้อมหน้าภายใต้หลังคาเดียวกันได้ นี่คือจุดแตกต่างจาก “หอพักคนงาน” “บ้านเอื้ออาทร” หรือแม้แต่ “บ้านมั่นคงฯ” ที่สร้างห้องไว้เป็นที่ซุกหัวนอนอยู่ภายในสภาพแวดล้อมและชุมชนแออัด และการเกิดชุมชนใหม่ได้ถือว่าได้รับการสนับสนุนสำคัญจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ที่ร่วมกันตกผนึกทางความคิดในทฤษฎีดังกล่าว เข้ามาออกงบประมาณสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ4% วงเงิน 3 แสนบาทต่อครัวเรือน(บ้าน+ที่ดิน)และงานลงทุนด้านสาธารณูปโภค จึงทำให้หมู่บ้านฯดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้ทำให้แรงงานแต่ละครัวเรือนเฉลี่ยผ่อนค่างวดบ้านกับ พอช.เพียงเดือนละ 2 พันกว่าบาท ระยะเวลา 15 ปี เท่านั้นก็เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านเดี่ยวเป็นของตัวเอง

นับว่าทฤษฎีดังกล่าวนี้ได้สร้างความเข้มแข็งโดยการพัฒนาความคิด จิตวิญญาณ การจัดตั้งและการจัดการ และอาศัยฐานเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ จึงทำให้เกิดผู้ใช้แรงงานกลุ่มหนึ่งทั้งในระบบและนอกระบบ ที่สามารถยกระดับความคิด จิตสำนึก เป็นพลังการเปลี่ยนแปลง และคนกลุ่มนี้ยังคงดำเนินกิจกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนาตนเองด้วยการพึ่งลำแข้งของตัวเองภายในชุมชน

กล่าวโดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า ทฤษฎีดังกล่าวเป็นการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตคนงาน และยึดโยงกับแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”

ข้อสังเกตสุดท้าย คือ สังคมของคนโรงงาน ค่อนข้างจะเป็นสังคมปิด ประการแรก นายจ้างจะปกปิดข้อเท็จจริงหลายประการ ไม่ต้องการให้คนงานรู้ ประการที่สองนายจ้างปิดกั้นการติดต่อสื่อสารระหว่างคนงานกับคนงานด้วยกันโดยการสกัดกั้นการรวมกลุ่มประชุมร่วมกันของคนงาน สาม สกัดกั้นมิให้คนภายนอกเข้าไปรับรู้กระบวนการจัดการภายในโรงงาน จะให้รู้เฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโรงงานเท่านั้น และสุดท้าย คนภายนอกก็มักจะไม่ค่อยมีใครพยายามที่จะเข้าไปศึกษาข้อเท็จจริงที่ทางโรงงานปกปิด เช่น กระบวนการผลิต การควบคุมคนงาน การจ้างแรงงานต่างด้าว การแบ่งแยกแตกต่างระหว่างลูกจ้างพื้นฐานและลูกจ้างรับเหมาช่วง

นี่คือปัญหาแรงงานไทยที่มีอยู่ทั่วไปในชีวิตโรงงานแต่แทบจะไม่มีใครให้ความสนใจจริงๆ จังๆ น่าเวทนานัก