บ้านฉันวันนี้ ตอน ผ้าป่าแรงงาน พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

เสียงโห่ร้องแห่กลองบุญของแรงงานหลากหลายกลุ่มดังสนั่นเมื่อเดินทางมาถึงพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรวมใจของผู้ใช้แรงงานในงานทอดผ้าป่าสามัคคี  เทอดศักดิ์ศรีแรงงาน ในวันนี้ครบรอบ 21 ปี ในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์แรงงานที่ตั้งอยู่ริมถนนมักกะสัน ราชเทวี กรุงเทพมหานคร เพื่อทำหน้าที่บอกเล่าคุณค่าความเป็นมาของคนขายแรง อาคารเล็กๆแน่นขนัดไปด้วยผู้มีจิตศรัทธา ที่ต้องการมาร่วมอุ้มชูดำเนินกิจกรรมทางประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งนี้

snapshot69 snapshot77 snapshot86 snapshot81

 

ดาวเรือง ชานก แรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ การที่กลุ่มได้ระดมทุนเข้ามาในการทอดผ้าป่าในครั้งนี้ก็เพื่อที่จะมาสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปเพื่อให้สังคมได้รับรู้ประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานที่ผ่านมาว่าเขามีการขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายอย่างไรบ้างทางด้านแรงงาน ซึ่งทั้งนี้พี่น้องแรงงานก็ได้ร่วมกันสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เพื่อให้ทำกิจกรรมและส่งเสริมการเรียนรู้ของขบวนการแรงงานต่อไปค่ะ

snapshot80 snapshot81snapshot82

บุญสม ทาวิจิตร กลุ่มแรงงานสระบุรี สิ่งหนึ่งที่คนงานรุ่นใหม่จะต้องเข้ามาเรียนรู้ศึกษา รวมถึงจะต้องรักษาสถานที่ก็คือพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไว้ นั่นก็คือให้พิพิธภัณฑ์คงอยู่ได้ด้วยองค์กรของตนเอง พิพิธภัณฑ์ฯ ก็เป็นนิติบุคคลที่เงินสนับสนุนตรงไหนก็ไม่มีอยู่แล้ว หน่วยงานของรัฐก็รู้อยู่ยิ่งไม่ต้องพูดถึงฝ่ายทุนก็คงไม่สนับสนุนให้คนงานได้รู้ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของแรงงานเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของคนงานเท่านั้นที่จะต้องช่วยกันดูแลสถานที่แห่งนี้ในด้านของประวัติศาสตร์การเรียนรู้ของคนงานไว้ให้ถ่ายทอดจากรุ่น สู่รุ่น

สมพร ขวัญเนตร กลุ่มแรงงานภาคตะวันออก พิพิธภัณฑ์นั้นก็ก่อตั้งขึ้นมาโดยคนงาน ก็ไม่ได้มีทุนสนับสนุนอะไรมากมายแต่อย่างใด นอกจากจากคนงานเท่านั้นเพื่อให้พิพิธภัณฑ์นั้นได้ดำรงอยู่ต่อไปคู่กับคนงาน ถ้าบางครั้งมันจำเป็นต้องมีทุนสนับสนุน เพราะฉะนั้นแหล่งทุนที่จะมาสนับสนุนก็คงจะต้องเป็นจากพี่น้องคนงาน แต่บางครั้งอาจจะเป็นการทอดผ้าหรือการจัดหารายได้ซึ่งคนงานก็คงต้องสนับสนุน เพื่อให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้ดำรงและทำหน้าที่รวบรวมประวัติศาสตร์ให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานมาเรียนรู้ต่อไปในอนาคตข้างหน้า

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงแต่ละรัฐบาลต่อการพัฒนาที่ดินแปลงมักกะสันแห่งนี้ ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าเพื่อหารายได้ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเรียนรู้ของแรงงาน อาคารแห่งนี้ยังคงฝืนกระแสตั้งอยู่เพื่อบอกเล่าตัวตนคนตัวเล็ก ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีคุณูประการในการสร้างชาติพัฒนาเศรษฐกิจ เรียกร้องสวัสดิการให้ชนรุ่นหลังได้เชิดชูชนชั้นผู้ใช้แรงงาน

นักข่าวพลเมือง เครือข่ายนักสื่อสารแรงงาน รายงาน