บุกงานแถลงข่าวโรฮิงญา สั่งห้ามหวั่นกระทบไทย-เมียนมา

13483329_1788175098070189_5768014051421354867_o

เจ้าหน้าที่บุกงานแถลงข่าวเรื่องโรฮิงญา สั่งห้ามหวั่นกระทบสัมพันธ์ไทย-เมียนมาขณะที่นางอองซาน ซูจี มาไทยเพื่อเยี่ยมแรงงาน

เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ และกลุ่ม Asylum Access Thailand ร่วมจัดงานแถลงข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาผู้อพยพย้ายถิ่นชาวโรฮิงญาจากเมียนมา ต่อ นางออง ซาน ซูจี ประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐ เมียนมา เนื่องในโอกาสที่นางซูจีเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันนี้ (23 มิ.ย.2559) แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารไทยไม่เปิดเผยสังกัด พยายามต่อรองให้เครือข่ายยกเลิกการจัดงานที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT)

บีบีซีไทย – BBC Thai รายงานว่า นายศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ หนึ่งในเครือข่ายผู้ร่วมจัดงาน เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่รัฐติดต่อกับทางเครือข่ายฯ ให้ยกเลิกการจัดงานดังกล่าว แต่มีการเจรจาต่อรองกันหลายครั้งเพื่อหาข้อยุติ และในที่สุดเจ้าหน้าที่ยอมให้มีการอ่านจดหมายเปิดผนึก แต่ไม่ยอมให้มีการซักถามประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ด้านผู้อพยพย้ายถิ่นในประเทศไทย

การแถลงข่าวครั้งนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศด้านผู้อพยพลี้ภัย เจ้าหน้าที่จากสถานทูตต่างประเทศ รวมถึงนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งกล่าวกับบีบีซีไทยว่าการตอบข้อซักถามและการจัดงานเป็นสิทธิที่กระทำได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับการแถลงข่าวของเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่เกรงว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเมียนมา

ด้านนายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวด้วยว่าการจำกัดการแสดงความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยเป็นแนวโน้มที่ต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ทางการไทยเคยห้ามองค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ไม่ให้แถลงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยของเวียดนามเมื่อปี 2558 สะท้อนภาพที่น่ากังวลว่า ภายใต้รัฐบาล คสช. ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้ถูกจำกัดการแสดงออกแค่ในประเทศไทย แต่ยังรวมถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

นายสุณัยระบุว่ากรณีเจ้าหน้าที่อ้างว่าถ้าเปิดให้มีการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสถานการณ์โรฮิงญาอย่างเสรีจะกระทบกับความมั่นคงและความสำคัญระหว่างประเทศ แต่จริงๆ แล้ว การไม่พูดถึงปัญหาต่างหาก ที่ทำให้การอพยพของโรฮิงญา ซึ่งเป็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญ ไม่ใช่แค่เมียนมาหรือไทย แต่ทั้งภูมิภาคอาเซียนถูกซุกใต้พรมต่อไป และในวันที่ 28 มิ.ย. จะมีการลงมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าไทยจะได้ตำแหน่งเป็นคณะมนตรีความมั่นคงหรือไม่ ซึ่งทางการไทยทุ่มงบประมาณมหาศาลในการประชาสัมพันธ์ว่าไทยควรได้ตำแหน่งนี้ แต่สิ่งที่ไทยควรทำเพื่อได้ตำแหน่งนี้ คือการเป็นผู้นำรณรงค์สิทธิมนุษยชน แต่การปฏิบัตินั้นตรงข้ามกับคำโฆษณา

ส่วนข้อเสนอแนะของเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐต่อนางซูจี ได้แก่ การทบทวน พ.ร.บ.ความเป็นพลเมือง ค.ศ.1982 เพื่อยุติการไร้รัฐไร้สัญชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญา, อนุญาตให้องค์กรระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่, ยุติการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ต่างๆ,
การจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮิงญา ผู้อพยพลี้ภัย และผู้เป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์ในประเทศพม่า

แถลงการณ์ของเครือข่ายระบุด้วยว่ากรณีที่นางซูจีใช้อิทธิพลร้องขอให้องค์การสหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศเลิกใช้คำว่าโรฮิงญา ในลักษณะเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เคยทำ เป็นเรื่องที่เจ็บปวด และเครือข่ายฯ เรียกร้องให้นางซูจียอมรับสิทธิชาวโรฮิงญาว่าเป็นประชาชนและมีสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองกลุ่มอื่นในเมียนมา

///////////////////////////