บทบาทกฎหมายกับการลดช่องว่างทางสังคมให้แรงงาน

สุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

ประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวเพื่อการแก้ไขกฎหมายแรงงาน มีความพยายามลงลายมือชื่อเสนอกฎหมายหลายครั้ง ล่าสุดคือการร่วมกันล่าลายมือชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ซึ่งขณะนี้แม้ว่าจะจ่ออยู่ที่รัฐสภา แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีการนำร่างฉบับดังกล่าวเข้าสู่วาระประชุมพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งแม้มีการทวงถามกันหลายครั้ง ซึ่งอ้างว่ารอร่างกฎหมายประกันสังคมของกระทรวงแรงงานมาประกบ ซึ่งตามหลักการกฎหมายไม่มีกำหนด แต่เป็นแนวปฏิบัติว่าต้องมีร่างกฎหมายของรัฐบาล กระทรวงแรงงาน หรือพรรคการเมืองอื่นๆมาประกบจึงถือว่าสมบูรณ์

เมื่อมีการสอบถามทางกระทรวงแรงงานตอบว่าได้มีการเสนอร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับที่..พ.ศ. …. ซึ่งขณะนี้ผ่านมิติคณะรัฐมนตรีออกมาแล้วทราบว่าถูกส่งให้กับกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ ซึ่งพอถึงตรงนี้ ทุกครั้งจะถูกลากยาวออกไป ทำให้การขับเคลื่อนให้เขยื้อนร่างกฎหมายประกันสังคมสู่การพิจารณาล่าช้าลงไปอีก เหมือนว่าต้องเตะถ่วงร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับแรงงานเสนอออกไปให้ไม่ทันสมัยประชุมนี้ ดูเหมือนว่าจะซ้ำรอยร่างกฎหมายแรงงานหลายฉบับที่เคยอยู่ในมือของกรรมการกฤษฎีกา แล้วจนยุบสภาก็ไม่เสร็จ ตีกลับไปกระทรวงฯแล้วปรับแก้กันใหม่ เช่นเดียวกันกับการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัว เจรจาต่อรองและการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ที่ทำกันมาร่วม 20 ปี แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดสิทธิเสรีภาพไว้ และกฎหมายใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญต้องมีการปรับปรุงแก้ไขวันนี้กฎหมายที่บังคับใช้ยังคมเป็นฉบับเดิมๆที่ไม่ทันต่อเหตุการณ์ล่าสมัย

1.  การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีการดำเนินการเป็นอิสระ มีอำนาจหน้าที่พัฒนา และปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ เป็นการยืนยันชัดเจนว่า กฎหมายของประเทศไทยยังมีปัญหาความล่าช้าหรือไม่เป็นธรรม และยังไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกลไกอนุสัญญาระหว่างประเทศ

2.  บทบาทกฎหมายมีทั้งด้านบวก และด้านลบต่อการเพิ่ม หรือลดช่องว่างทางสังคมของกลุ่มผุ้เสียเปรียบในสังคม รวมทั้งกลุ่มแรงงาน ซึ่งวันนี้สังคมยอมรับว่าที่ดี ทรัพย์สิน รายได้ มีสัดส่วนกระจุกตัวสูงอยู่กับคนกลุ่มน้อยเท่านั้น

3.  เราต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนก่อนว่า ความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรม หรือช่องว่าทางสังคม มีสาเหตุรากเหง้าอยู่ที่ไหน?

มีความชัดเจนมายาวนานว่า

1.)  มีพื้นฐานจากนโยบายเศรษฐกิจต่อเนื่องของรัฐบาลต่างๆ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นส่งเสริมการเติบโตของทุน ทั้งใน และต่างชาติ บนหลักการใช้แรงงานราคาถูก และเกิดการแย้งชิงฐานทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยวทำให้ชนบทล่มสลาย

2.) การยึดกุมอำนาจการเมืองสำคัญๆของกลุ่มทุนผูกขาด มีผลให้นโยบายของรัฐ และกฎหมายต่างๆเอื้อต่อนายทุน แม้ว่า รัฐธรรมนูญและอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศมีความก้าวหน้าในประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่กฎหมาย ระเบียบ กับยังล้าหลัง และยังมีปัญหาการบังคับใช้

3.) ระบบการบริหารราชการ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ยังไม่มีกลไกจัดการเชิงรุก และมีประสิทธิภาพ

4.) กระบวนการยกร่างกฎหมาย ทั้งในเชิงการบริหาร และในระบบศาลแรงงานยังมีความล่าช้า และไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมคุ้มครอง การเอาเปรียบ และไม่เป็นธรรม

5.) ทัศนคติที่ไม่ดีต่อการรวมตัว การเจรจาต่อรองร่วมขององค์กรแรงงานทั้งจาก ผู้ใช้อำนาจรัฐ จากสังคม และผู้ใช้แรงงานด้วยกันเอง

4.  ทางออกในการพัฒนาแก้ไขปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ”

                (1) ต้องสร้างอำนาจต่อรอง สร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน และต้องสามัคคีรวมพลังเครือข่ายชาวนา แรงงานรูปแบบต่างๆ ปัญญาชน สื่อมวลชน โดยมีหลักประกัน มีเสรีภาพในการรวมตัว เจรจาต่อรอง

                (2) ต้องศึกษา และใช้การต่อสู้เรื่องกฎหมายเป็นเครื่องมือในการสร้างพลังการเรียนรู้ และยกระดับการต่อสู้ไปถึงนโยบาย และอำนาจทางการเมือง

                (3) ยึดมั่นอุดมการณ์ และความใฝ่ฝันของคนงาน คือสร้างระบบการดูแล “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”แก่คนทั้งสังคม

                (4)  การต่อสู้ควบคู่กันในเชิงกฎหมายตั้งแต่ การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 การปกป้องไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญที่ทำให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แย่ลงกว่าเดิม เร่งพัฒนาให้ดีขึ้น รวมทั้ง “กัดติด” ร่างกฎหมายเข้าชื่อของแรงงาน เช่นร่างกฎหมายประกันสังคม ร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ จนถึงกฎกระทรวงที่ไม่ออกมาตามกฎหมายผู้รับงานไปทำที่บ้าน ทำให้กฎหมายไม่มีผลบังคับใช้

                (5) วันนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายถูกคาดหวังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 81(3) ให้เป็นองค์กรปฏิรูปกฎหมาย ที่ดำเนินการเป็นอิสระ เพื่อปรับปรุง และพัฒนากฎหมายชองประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย และเน้นว่า ต้องปรับปรุงตั้งแต่การร่างกฎหมาย การปฏิบัติตามกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การวินิจฉัยกำหมายหมาย และพัฒนากฎหมายทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนับสนุนการดำเนินการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเสนอแนะความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา

ยุทธศาสตร์สำคัญของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คือ พัฒนากฎหมายให้เป็นธรรม และทันสถานการณ์ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พันธกรณี บนพื้นฐานสร้างองค์ความรู้ และการเสริมสร้างความเข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมของประชาชน

บนหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล และความเสมอภาคระหว่างประเทศ แต่เหนืออื่นใด ที่สำคัญที่สุดคือ การเสริมสร้างพลังของขบวนแรงาน และทำงานร่วมกับพลังทางสังคมต่างๆ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ขบวนการแรงงานต้องเชื่อมั่นว่า พลังของแรงงาน คือ พลังสำคัญที่สุดในการเป็นกองหน้าของการเปลี่ยนแปลงสังคม และลดช่องว่างทางสังคมให้ได้

 เราต้องเชื่อมร้อยกัน และผนึกกำลังกับขบวนการต่อสู้ของภาคประชาชน ทังในเมือง และชนบท ทั้งในระบบ และนอกระบบ ทั้งเอกชน และรัฐ รวมถึงแรงงานข้ามชาติ เราต้องไม่เหนื่อย ไม่เบื่อ และไม่ท้อเพราะอย่างไรกฎหมายก็ครอบคลุมประชาชนอยู่ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง สังคมก็ไม่อาจแก้ได้ในทันที การรณรงค์แก้ไขกฎหมายจึงเป็นการรณรงค์ในระยะผ่านที่จำเป็น และสำคัญที่ไม่อาจข้ามไปได้

หมายเหตุ : ปาฐกถาพิเศษ บทบาทกฎหมายกับการลดช่องว่างทางสังคมให้กลุ่มแรงงาน เนื่องในโอกาสวันกรรมกรสากลปี 2555 วันที่ 27 เมษายน 2555 โรงแรมอิสติน มักกะสัน จัดโดย คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ (SC) และ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES)

/////////////////////////////////////