นโยบายแรงงานข้ามชาติ- สิทธิประกันสังคมที่ไม่สอดคล้อง

สิทธิประโยชน์ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง  นักกฎหมาย  นักวิชาการแย้งผิดหลักกฎหมาย

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2554 เครือข่ายแรงงานข้ามชาติร่วมจัดเวที แรงงานข้ามชาติกับการปฏิรูประบบประกันสังคมในแบบที่เหมาะสม ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม. โดยเชิญทั้งนักกฎหมาย นักวิชาการ ตัวแทนสำนักงานประกันสังคมและตัวแทนแรงงานข้ามชาติ มาร่วมกันหาทางออกให้กับแรงงานข้ามชาติเพื่อการเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้อย่างเป็นธรรม

นายเส่ง เท ตัวแทนแรงงานข้ามชาติได้กล่าวถึงสภาพปัญหาและข้อจำกัดของกฎหมายเช่น พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว อายุการทำงานที่มีเวลา เพียง 4 ปี ดังนั้นเรื่องสิทธิประโยชน์ในกรณีชราภาพจึงแทบไม่มีโอกาสจะได้รับหรือข้อจำกัดในกรณีว่างงานที่กฎหมายไทยไม่มีนโยบายหางานให้คนต่างชาติทำปิดโอกาสในการขึ้นทะเบียนว่างงาน กรณีคลอดบุตรแรงงานก็ไม่มีทะเบียนสมรส ซึ่งประเพณีของพม่าไม่มีการจดทะเบียนสมรสอีกทั้งในเงื่อนไขด้านเวลาในเรื่องการเกิดสิทธิของพระราชบัญญัติประกันสังคมเองก็เป็นปัญหาไม่น้อย

นายเสถียร ทันพรหม จากเครือข่ายฟ้ามิตร องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องการส่งเงินสมทบกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับยังไม่สอดคล้องกันจึงน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการส่งเงินสมทบให้เหมาะสมและให้กระทรวงแรงงานออกประกาศกฎกระทรวงตั้งกองทุนการออมของแรงงานข้ามชาติโดยนำเงินสมทบในกรณีว่างงานและกรณีชราภาพมาสมทบในการตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาจะเกิดประโยชน์มากกว่าเมื่อแรงงานต้องกลับบ้านตามกำหนดระยะเวลาอีกเรื่องที่น่าจะทำได้คือเรื่องสายด่วนประกันสังคมที่ควรต้องมีการสื่อสารกับแรงงานข้ามชาติให้เข้าใจได้ด้วย

ด้านนายชฤทธิ์ มีสิทธิผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือวิกฤติแรงงานกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมายและแยกแรงงานข้ามชาติให้มีการจ่ายสมทบเฉพาะกรณีเพราะเป็นการขัดต่อหลักการของกฎหมายอีกทั้งเจตนารมณ์ของกฎหมายก็เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขอีกทั้งแรงงานข้ามชาติเองก็เป็นผู้ประกันตนม.33อยู่ส่วนประเด็นการจดทะเบียนสมรสนั้นกฎหมายก็เปิดช่องให้ในกรณีที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยาอย่างเปิดเผยแต่สิ่งที่น่าจะเป็นห่วงคือแรงงานที่กฎหมายประกันสังคมยกเว้นเช่นแม่บ้าน งานประมง ประเทศไทยควรที่จะชัดเจนว่าจะใช้แรงงานข้ามชาติแบบไหนเพราะปัจจุบันแรงงานข้ามชาติถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหากินของกลุ่มคนบางกลุ่มฉะนั้นควรต้องทบทวนระบบภาษีแก่ธุรกิจที่ใช้แรงงานข้ามชาติ

นายปณิธิ ศิริเขต ผู้อำนวยการสถาบันแรงงานศึกษาได้ให้ความเห็นไว้ว่าในการแก้ปัญหานี้หากใช้กฎหมายเป็นตัวตั้งก็มักติดขัดที่กฎหมายซึ่งต้องใช้เวลานานมากควรใช่มติทางสังคมเป็นตัวตั้งในการคุ้มครองประชาชนแล้วจึงออกแบบกฎหมายให้เหมาะสม

ด้านผู้แทนจากสำนักงานประกันสังคมได้แบ่งแรงงานข้ามชาติเป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มแรกเป็นแรงงานที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายมีพาสปอร์ต และใบอนุญาตทำงานพวกนี้ไม่มีปัญหาสองกลุ่มที่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติแล้วก็ไม่มีปัญหาแต่ ที่เป็นปัญหาคือกลุ่มที่ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติและเข้ามาไม่ถูกกฎหมายเป็นปัญหามากที่สุดส่วนกรณีที่มีการเสนอให้สายด่วนประกันสังคมเป็นภาษาที่แรงงานข้ามชาติเข้าใจได้จะรับไว้พิจารณาซึ่งปัจจุบันมีภาษาอังกฤษอยู่แล้ว

จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็นซึ่งก็มีประเด็นเรื่องการเข้าถึงสิทธิขนาดผู้ประกันตนคนไทยยังไม่สามารถเข้าถึงได้ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเองก็เป็นสาเหตุหนึ่งจึงควรมีการปฏิรูประบบประกันสังคมให้แรงงานในทุกภาคส่วนได้เข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

มงคล ยางงาม นักสื่อสารแรงงานศูนย์อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รายงาน