นายจ้างเลิกจ้างฟ้องอาญาสมาชิกสร.โคบาเทค อ้างเหตุปิดล้อมเมื่อต้นปี

11412346_1001204099890908_1686157467396283176_n

ลูกจ้างกว่า 50 คน รอลุ้นคำสั่งครส. สุดช็อคนายจ้างเลิกจ้างก่อนคำสั่งออก 1วัน ด้านครส.รับลูกไม่ยอมออกคำสั่ง อ้างขาดนิติสัมพันธ์กันแล้ว

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน2558 สหภาพแรงงานโคบาเทคประเทศไทยกว่า 50 คน นำโดยนายสมศักดิ์ สุขยอด ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานฯได้เดินทางมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์(ครส.) จนในเวลาประมาณ 17.00 น. พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานกระทรวงแรงงานได้เชิญสหภาพแรงงานฯพร้อมสมาชิกเข้ารับฟังการชี้แจงผลการวินิจฉัย ซึ่งมีคำสั่งให้บริษัทโคบาเทค (ประเทศไทย) จำกัดมอบหมายงานให้สมาชิกสหภาพจำนวน 19 คนหลังได้มีคำสั่งให้กลับเข้าทำงาน เนื่องจากเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 มีการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานไปทั้งสิ้น 99 คน โดยจ่ายค่าชดเชย 16 คน ไม่จ่ายค่าชดเชย 83 คน

สำหรับบรรยากาศภายในห้องชี้แจงเป็นไปด้วยความเศร้าเนื่องจากมีหลายคนร้องไห้และตั้งคำถามต่อพนักงานประนอมข้อพิพาท เหตุใดบริษัทฯจึงเลิกจ้างก่อนมีการออกคำสั่งของครส.ทั้งที่ลูกจ้างได้ทำตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำทุกอย่างแล้ว

ในขณะที่พนักงานประนอมฯได้ชี้แจงว่า ด้วยเป็นช่องทางของกฏหมายที่นายจ้างนำมาใช้แต่กระบวนการทางกฎหมายยังไม่จบเพียงเท่านี้ หากทางสหภาพแรงงานจะดำเนินการต่อไป ทางเจ้าหน้าที่ยินดีที่จะช่วยในการพูดคุยกับทางนายจ้างเท่าที่มีอำนาจ

ทั้งนี้ทางครส.ไม่ได้ออกคำสั่งหลังลูกจ้าง 99 คนถูกนายจ้างประกาศเลิกจ้างโดยอ้างว่า ทั้งสองฝ่ายได้ขาดนิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างลูกจ้างแล้ว

11264903_1001204146557570_804936859498184948_n11377085_1001204246557560_6847266787831505360_n

สถานการณ์กรณีบริษัทโคบาเทค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี 2545 ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนปั๊มเชื้อเพลิงแรงดันสูงและชิ้นส่วนหัวฉีดเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมด 348 คน โดยเป็นพนักงานประจำ 318 คน และพนักงาน Subcontract 30 คน กว่า 95% เป็นพนักงานหญิง ทั้งนี้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานโคบาเทคประเทศไทยขึ้นมาเมื่อปี 2552

ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 สหภาพแรงงานโคบาเทคฯได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทโคบาเทคฯ เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องโบนัส , การปรับเงินขึ้น, ค่าอาหาร, ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาข้อเรียกร้องตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และกลายเป็นข้อพิพาทแรงงาน

ต่อมาพนักงานประนอมข้อพิพาทจึงได้นัดไกล่เกลี่ยแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ในที่สุดบริษัทฯจึงได้ใช้สิทธิปิดงาน (ไม่ให้ลูกจ้างทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้ชั่วคราวในระหว่างยังมีข้อพิพาทแรงงานอยู่) เฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานฯ จำนวน 195 คนที่เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้อง โดยให้เริ่มหยุดงานตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะหาข้อยุติร่วมกันได้ (ในระหว่างที่ปิดงาน นายจ้างมีการรับลูกจ้างเหมาค่าแรงและลูกจ้างใหม่เข้ามาทำงานแทนกลุ่มลูกจ้างที่ถูกปิดงาน)

หลังจากนั้นมีการเจรจากันหลายครั้งจนได้ข้อยุติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2558 มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงสภาพการจ้าง ซึ่งมีผลผูกพันเฉพาะผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจำนวน 195 คนเท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2559 ได้มีการนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(สสค.)ชลบุรีจนเกิดเหตุการณ์ที่นายจ้างอ้างในหนังสือเลิกจ้างโดยว่า มีการปิดล้อมและขัดขวางไม่ให้ตัวแทนนายจ้างส่วนที่ลูกจ้างให้ข้อมูลว่า ไม่ได้ปิดล้อมช่วงนั้นเป็นช่วงหยุดพักการเจรจาตัวแทนนายจ้างได้ลงมาด้านล่างและเป็นฝ่ายเดินเข้ามาหาพร้อมพูดคุยกับลูกจ้างที่ยืนกระจายกันอยู่ในพื้นที่สสค.ชลบุรี ซึ่งทางประธานสหภาพแรงงานเองก็ได้ประกาศให้สมาชิกอยู่ในความสงบอยู่แล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาช่วยพูดให้นายจ้างเจรจากับลูกจ้างให้จบภายในวันนั้น ถือว่าเหตุการณ์เป็นปกติ และนายจ้างให้ลูกจ้างไปรายงานตัวเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2558 เป็นต้นไป โดยให้ลูกจ้างไปรายงานตัวในวันที่ 15 มกราคม 2558 แต่เมื่อลูกจ้างไปรายงานตัว กลับพบว่าบริษัทฯได้ให้ลูกจ้างเซ็นหนังสือสัญญายินยอมรับทราบเงื่อนไขการว่า จ้างก่อนเข้าทำงาน รวมทั้งกำหนดให้ลูกจ้างกลุ่มนี้กลับไปปรับทัศนคติทางด้านความรุนแรงและทางด้านจิตใจที่บ้านตั้งแต่วันที่ 15–20 มกราคม 2558 และให้กลับมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 21 มกราคม 2558

หลังจากที่ลูกจ้างกลับมารายงานตัวอีกครั้ง บริษัทได้ให้ลูกจ้างทั้ง 195 คนนี้ ไปนั่งในเต็นท์ที่บริษัทฯจัดเตรียมไว้ให้ที่บริเวณด้านหลังโรงงาน โดยไม่มีการมอบหมายงานให้ทำแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีการจัดเตรียมน้ำดื่มพร้อมสุขาเคลื่อนที่ไว้ให้จำนวน 5 ห้อง โดยไม่ให้ทำงานเป็นเหตุให้ทางสหภาพแรงงานยื่นคำร้องต่อครส.เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 เพื่อวินิจฉัยให้นายจ้างมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำงานตามปกติ ให้ซึ่งทางครส.แจ้งว่า จะมีการวินิจฉัยในวันที่ 3 มิถุนายน 2558 แต่ทางบริษัทฯกลับประกาศเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 99 คน ในวันที่ 2 มิถุนายน 2558 อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้ฟ้องดำเนินคดีอาญาต่อสมาชิกสหภาพแรงงาน 100 คน รวมที่ปรึกษาสหภาพแรงงานอีก 1 คน พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกฟ้องมาลาออกจากงานได้ หากมาลาออกบริษัทฯยินดีถอนฟ้องและมอบเงินช่วยเหลือให้ เมื่อทราบผลการวินิจฉัยของครส.ทำให้ลูกจ้างหลายคนถึงกับหลั่งน้ำตาออกมา เนื่องจากลูกจ้างทั้งหมดยังหวังที่จะกลับไปทำงาน ซึ่งลูกจ้างส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมีอายุ 30 ปีขึ้นไป โอกาสในการหางานใหม่จึงลำบาก ทั้งยังทำงานที่บริษัทมานานซึ่งมีอายุงานตั้งแต่ 9-11ปี และมีภาระหนี้สินที่ต้องใช้จ่าย ซึ่งเป็นภาระที่ทำให้หลายคนเครียดจนร้องไห้ สำหรับแนวทางต่อสู้นั้นทางที่ปรึกษาและทีมงานจะได้หาแนวทางในการช่วยเหลิอลูกจ้างเหล่านี้ต่อไป

ทั้งนี้ทางสหภาพแรงงานได้ยื่นหนังสือต่อรองอธิบดี เพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้างในประเด็นดังกล่าวด้วย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน