ถอดบทเรียนสื่อสระบุรี ทำ KM นักสื่อสารแรงงาน

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 18.00 น. โครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย โดยการสนับสนุนของ แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. ได้จัดกิจกรรมการจัดการองค์ความรู้ร่วมกับนักสื่อสารแรงงานศูนย์สระบุรี ณ ที่ทำการสหภาพแรงงานโรแยลซีรามิค สระบุรี ( RCI ) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นภาพร อติวานิชยพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นผู้ดำเนินการ

นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า ผลงานของนักสื่อสารแรงงานในแต่ละพื้นที่ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ถึง เดือนธันวาคม 2554 ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จในการทำให้ประเด็นแรงงานได้รับการหยิบยกขึ้นมานำเสนอต่อสังคมเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง แต่อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้มีการวิเคราะห์ข่าว เจาะประเด็นข่าวให้มากขึ้น และหลังจากจบโครงการแล้ว จึงมีแนวคิดในการทำงานวิจัยเล็กๆ ถึงกระบวนการในการทำงานของนักสื่อสารแรงงาน เพื่อเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้สำหรับการพัฒนาศักยภาพของผู้นำแรงงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ขบวนการแรงงานต่อไป

ดร. นภาพร กล่าวว่า ชี้แจงถึงแนวคำถามในการทำงานวิจัยว่า อยากทราบถึงการทำงานด้านสื่อสารแรงงานในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เช่น ได้รับการอบรมมาแล้วกี่ครั้ง เมื่ออบรมแล้วได้อะไรบ้าง เวลาในการทำงานด้านสื่อสารแรงงาน และอยากทำต่อไปหรือไม่

 
นายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย ประธานสหภาพแรงงานอินโด-รามา เคมีคอลล์ กล่าวถึงปัญหาในการทำงานมีหลายเรื่อง ทั้งกลัวโดนฟ้องร้อง ซึ่งก็มีนักสื่อสารแรงงานในพื้นที่โดนนายจ้างฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ระยะเวลาการทำข่าวส่งก็ไม่ทันเหตุการณ์ เนื่องจากทุกคนต้องทำงาน

นางสาวนงนุช ไกรศาสตร์ เลขาธิการสหภาพแรงงานสหกิจวิศาล กล่าวว่า ตั้งแต่ได้เข้าร่วมอบรมการเขียนข่าวครั้งแรกที่มีนักข่าวจาก บางกอกโพสต์ กรุงเทพธุรกิจ แนวหน้า ประชาไท ไทยพีบีเอส ก็จะได้เทคนิคการเขียนข่าวแตกต่างกันออกไป ส่วนการเรียนตัดต่อวีดีโอนั้นก็ได้รับการฝึกอบรมครั้งแรกโดยทีมงานจากไทยพีบีเอส และได้รับการฝึกอบรมจากทีมงานของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย อีก 2 ครั้ง ซึ่งมีเทคนิคการฝึกอบรมที่แตกต่างกันออกไป แต่การที่จะฝึกอบรมการเขียนข่าว หรือการตัดต่อนั้นควรมีระยะเวลาเพิ่มขึ้น และเลือกผู้ที่เข้าร่วมฝึกอบรมว่ามีทักษะระดับใดบ้างเพื่อให้การฝึกอบรมออกมาได้ดียิ่งขึ้น

นายณัฐกร เอมชนานนท์ รองประธานสหภาพแรงงานปูนซีเมนต์เอเชีย กล่าวว่า ปัญหาของการทำงานด้านสื่อสารแรงงานที่ผ่านมาคือเรื่องเวลาเนื่องจากต้องทำงานเป็นกะ บ้างครั้งต้องทำงานต่อเนื่องจึงทำให้ไม่มีเวลาทำงานด้านนี้ ส่วนการทำงานด้านสื่อสารแรงงานถือว่ามีประโยชน์มากสำหรับผู้ใช้แรงงาน

นางพิมพ์พิชชา สุวรรณเพ็ญ กรรมการสหภาพแรงงานโรแยลซีรามิค กล่าวว่า ตนเองไม่มีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์เลย จึงเป็นเรื่องยากที่จะเรียนรู้และเข้าใจเรื่องการเขียนข่าวและการตัดต่อวีดีโอภายในวันเดียว จึงทำให้เขียนข่าวได้ไม่ดีมากนัก และบางครั้งก็ท้อเมื่อไม่ได้รับเลือกให้ลงในจดหมายข่าวหรือวอยซ์เลเบอร์

นางสาวศิริวรรณ ชาวดร ผู้ช่วยเลขาธิการสหภาพแรงงานสหกิจวิศาล กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งคือทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ของคนงานที่อาจจะไม่มีพื้นฐานเลยจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำงานในการตัดต่อวีดีโอ จึงต้องมีการอบรมหลายครั้ง โดยส่วนตัวคิดว่าการทำจดหมายข่าวหรือหนังสือพิมพ์วอยซ์เลเบอร์นั้น ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานสหภาพแรงงานนครหลวงบร๊าสแวร์ กล่าวว่า หลังจากได้รับฝึกอบรมการเขียนข่าวและการตัดต่อวีดีโอ ก็ได้นำกลับมาทำงานภายในองค์กร แต่ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะได้ทำให้สื่อกระแสหลักนำไปเสนอ และการเรียนตัดต่อวีดีโอนั้นควรมีการฝึกอบรมแบบตัวต่อตัว หรือมีคนเข้าเรียนน้อยเพื่อให้ได้เนื่อหาและเทคนิคอย่างเต็มที่ และการที่ทีมงานของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมาให้การอบรมถือว่าดีมากโดยเฉพาะความเป็นกันเอง และถ้าหากมีปัญหาก็สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ตลอดเวลา

กล่าวโดยสรุป สิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาส่วนใหญ่ของทีมนักสื่อสารแรงงานสระบุรี คือ
– ไม่มีเวลาเนื่องจากต้องทำงานโรงงานและทำงานล่วงเวลา
– อบรมแล้วไม่กลับไปทำงาน
– ไม่มีพื้นฐานด้านการเขียนข่าวและการตัดต่อวีดีโอ
– ทำแล้วไม่ได้ถูกนำเสนอโดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก

นักสื่อสารแรงงานศูนย์พื้นที่สระบุรี