ถกยื่นข้อเรียกร้องสวน วิกฤติหรือโอกาสพัฒนาขบวนการแรงงาน

นักวิชาการ นักกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐและนายจ้าง เสวนาวิชาการ “การยื่นข้อเรียกร้องสวน : วิกฤติหรือโอกาสพัฒนาขบวนการแรงงาน” ชี้ในหลายกรณีเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต มีเป้าหมายเพื่อลดทอนอำนาจฝ่ายแรงงาน

เมื่อวันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.00-12.00 น. สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (สยท.) ได้มีการจัดเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง การยื่นข้อเรียกร้องสวน : วิกฤติหรือโอกาสพัฒนาขบวนการแรงงาน ณ ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อคนทำงาน ต.บางเกลือ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ทั้งนี้มีวิทยากรร่วมเสวนา 4 คน ได้แก่ ทนายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ , รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ , นายสนธยา เผ่าดี และนายประสิทธิ์ ปาตังคะโร โดยมี อ.ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน

นายประสิทธิ์ ปาตังคะโร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ในมุมมองของรัฐ การแจ้งข้อเรียกร้องสวน เรามองจากสิทธิตามกฎหมายก่อนซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่แน่นอนการต่อรองของลูกจ้างย่อมลดน้อยลง เกิดความระแวง ไม่มั่นใจซึ่งกันและกัน นายจ้างจะเอาจริงไหม หรืออาจพัฒนากลายเป็นเรื่องความโกรธเคืองโกรธแค้นกันเลย เพราะที่ผ่านมาในสถานประกอบการไม่เคยดำเนินการแบบนี้ และพอเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นก็พัฒนาเป็นความขัดแย้ง ไม่คุยกันเลย เมื่อลูกจ้างไม่คุยกับนายจ้าง นายจ้างก็ไม่คุย การหาข้อยุติก็ยากขึ้น และพัฒนาไปจนถึงการเฉื่อยงาน ปิดงาน นัดหยุดงานตามมา

ดังนั้นผมมองว่าเราต้องเริ่มต้นจากการเชื่อใจกันก่อน เพื่อให้จากหนักไปเบา เพื่อปรับทัศนคติกันก่อน เหตุและผลในการเจรจาคือสิ่งสำคัญ จะยื่นเพื่อฉวยโอกาส กดดัน หรืออย่างอื่น จะไม่อยู่ร่วมกันอีกต่อไปแล้ว เพราะเรื่องแรงงานสัมพันธ์ เรื่องการยื่นข้อเรียกร้องไม่ใช่เรื่องง่าย มีวิธีคิดในการพิจารณาทั้งนั้น ดังนั้นทั้ง 2 ฝ่ายจะรู้กันดีว่า ข้างหน้าคืออะไร อนาคตต้องเผชิญอะไร ดังนั้นท่านต้องคาดการณ์ให้ได้ เจตนาคือสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเริ่มจากไม่ดี ก็ไม่ดีทั้งกระบวนการ และอีกทั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ใช่ว่าจะนำมาคาดการณ์ได้ทั้งหมด ก็ต้องดูบริบทที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย

ทนายชฤทธิ์ มีสิทธิ นักกฎหมายด้านแรงงาน

การเรียกร้องเป็นสิทธิธรรมชาติของมนุษย์ และก็มีบางอาชีพเช่นกันก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องต่อรอง ไม่อยู่ในกรอบกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เช่น คนทำงานในภาครัฐ แรงงานนอกระบบ ที่ผ่านมาการต่อรองก็ไปเรียกร้องรัฐบ้าง ผู้ประกอบการบ้าง

คำว่ายื่นข้อเรียกร้องเป็นคำเรียกขาน ที่สะท้อนสถานะการดำเนินการทางกฎหมายที่มีตัวบทรองรับ เป็นสิ่งที่บอกว่าการยื่นข้อเรียกร้อง คือ หลักความเสมอภาคกันทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนโดยเคร่งครัด มีผลทันที ผมมองว่าการยื่นข้อเรียกร้องสวนเป็นสิทธิที่ทำได้ เท่าเทียมกัน แต่เนื้อของข้อเรียกร้องที่ยื่นสวนคืออะไร ต้องดูความจำเป็นประกอบ ดูที่มาที่ไป ซึ่งพบว่าในหลายกรณีเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต มีเป้าหมายเพื่อลดทอนอำนาจฝ่ายแรงงาน

หากเราย้อนไปดูตอนที่ฝ่ายธุรกิจปรับกลยุทธ์เรื่องแรงงานสัมพันธ์ การยื่นข้อเรียกร้องสวนก็คือกลยุทธ์แบบหนึ่ง ที่ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการเหล่านี้ ทั้งที่ปรึกษา ทนายความ นักกฎหมาย ก็รู้ว่าใครมีข้อมูลอะไร อย่างไร พวกไหน เหล่านี้มีอัตลักษณ์ในการออกแบบแนวการยื่นข้อเรียกร้องสวน ที่มีวาระอื่นๆแอบแฝงด้วย ซึ่งก็ไม่สุจริตใจแต่ต้นแทบทั้งนั้น

อีกทั้งกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ไทยก็ไปจำกัดอีกว่า อะไรคือสภาพการจ้างบ้าง ดังนั้นเมื่อจะเปลี่ยนแปลงก็ต้องยื่นข้อเรียกร้อง การยื่นข้อเรียกร้องหากสุจริตใจใครๆก็รับได้ แต่พฤติกรรมที่พบ คือ มีการกระทำอื่นๆเป็นแพคเกจเลย เพื่อไปสู่เป้าหมายบางอย่างที่วางแผนไว้แล้ว การยื่นข้อเรียกร้องสวนมีวาระซ่อนเร้น ร้าวฉาว ไม่ซื่อสัตย์ ไม่ไว้วางใจกัน ไม่ใช่วิถีที่มนุษย์พึงเคารพและปฏิบัติต่อกัน

เพราะระหว่างนั้นมีสถานการณ์มากมายเกิดขึ้นระหว่างทาง เช่น โทรศัพท์ไปป่วน จดหมายไปถึงกล่อมพ่อแม่ให้กล่อมลูกให้เลิกยุ่งกับสหภาพแรงงาน ให้ข้อมูลเรื่องการทุบหม้อข้าวตนเอง แต่สังคมไม่เห็นเบื้องหลังตรงนี้

นี้ไม่นับมีภาระทางกฎหมายเพิ่มขึ้น เพื่อวางให้เห็นว่าปีหน้าอย่ายื่นเพราะจะจบไม่ลง เราลองดูเหตุการณ์หลังจบข้อพิพาทแล้ว ลูกจ้างไม่ได้เข้าทำงาน มีปฏิบัติการทางจิตวิทยาหลายอย่าง เช่น นำพระมาเทศน์ ไปอบรม ฟื้นฟูจิตใจ เหมือนเป็นคนไม่สำนึกในบุญคุณนายจ้าง ต้องกล่อมเกลาจิตใจใหม่ จิตใจเดิมใช้ไม่ได้ มีระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ กาย จิต วิญญาณ เหล่านี้เป็นต้น

อย่างไรก็ตามผมมองว่าการยื่นข้อเรียกร้องบนพื้นฐานความจำเป็น คือ ความสง่างาม เดินได้ เพราะเดินด้วยความสุจริตใจ แต่หากมีการยื่นแบบไม่สุจริตใจ เราอาจต้องตั้งหลักทางกฎหมาย คือ การยืนยันไปเลยว่านี้เป็นการยื่นข้อเรียกร้องที่ไม่ชอบ มีวาระซ่อนเร้น มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ไม่มีข้อมูลรองรับ สู้ข้อกฎหมายเลยว่าไม่ชอบ เพื่อให้วินิจฉัยว่าข้อเรียกร้องไม่ชอบ ดังนั้นคุณไม่มีสิทธิปิดงาน

ผมมีความห่วงอยู่อย่างหนึ่ง คือ สังคมควรได้เรียนรู้ รับรู้อย่างมีเหตุมีผล เพราะในโลก social เวลามีปรากฎการณ์แบบนี้จะมองในเชิงลบเลยว่า เศรษฐกิจกำลังไปแล้วดีแล้ว แรงงานสร้างปัญหาอีกแล้ว เป็นต้น นี้คือการที่สังคมเรียนรู้ว่า การใช้สิทธิแรงงาน คือ การสร้างปัญหา ดังนั้นต้องสื่อสารให้สังคมเกิดการเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ ข้อพิพาทแรงงานคืออะไร การปิดงานคืออะไร สังคมไม่เข้าใจ มองว่าเป็นสิ่งไม่ดี มองว่าสมควรแล้วที่นายจ้างกระทำแบบนั้น เพราะสร้างปัญหาให้นายจ้าง นี้ต้องแก้ไข

เรื่องกฎหมายก็ไม่สอดคล้องกับระบบความเป็นจริง มีขั้นตอนกติกามาก หากลูกจ้างพลาดทางกฎหมายจะเกิดปัญหามาก ดังนั้นเราต้องเตรียมความพร้อมไม่ให้พลาดพลั้งทางกฎหมาย โดยเฉพาะแกนนำเจรจา ผู้แทน สมาชิกที่มีบทบาท ขบวนการแรงงานต้องทำการบ้านในส่วนนี้ ทั้งสื่อสารสังคมและสื่อสารต่อภาครัฐ

เวลามีปัญหาก็ต้องไปสู้ในชั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) แต่ต้องรู้ไว้ว่าไม่ได้จบที่ ครส. ต้องไปที่ศาลแรงงาน กลไกกระทรวงแรงงานก็ยังมีข้อติดขัด ไม่ทันท่วงทีในการแก้ไขข้อขัดแย้ง เกิดความตึงเครียด

อีกเรื่องที่สำคัญ คือ กระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่ชัดเจน คือ ในระหว่างที่นายจ้างใช้สิทธิปิดงาน สามารถจ้างคนนอกมาทำการผลิตได้ ดังนั้นนี้คือสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ การปิดงานก็ไม่มีความหมาย เพราะกระบวนการผลิตก็ดำเนินการต่อไป ข้อขัดแย้งก็มากขึ้นไปอีก

เหล่านี้ผมมองว่าคือกระบวนการเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามผ่านความกลัว ข้อเรียกร้องสวนหลายเรื่อง ถ้าเราสื่อสารสังคม สังคมจะเข้าใจเจตนาเบื้องหลัง ว่านี้คือตัวอย่างที่ไม่ดี ซึ่งแน่นอนไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้ ดีควรส่งเสริม ไม่ดีต้องให้สังคมเรียนรู้ ข้อเรียกร้องต้องดูเหตุผล ความจำเป็น สร้างสรรค์ กระบวนการเจรจาก็จะเดินไปได้อย่างสุจริตใจ หากข้อเรียกร้องไม่สุจริตใจ ควรตกไป และสื่อสารกับสังคมให้รู้

ผมได้ประสานงานกับกรมสวัสดิการฯว่าพฤติการณ์เหล่านี้มันไปละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นกระทรวงแรงงานต้องสื่อสารสังคมเหมือนกันว่า สิทธิในการยื่นข้อเรียกร้องไม่สุจริตใจ ท่าทีกระทรวงแรงงานไม่ส่งเสริมกลไกแรงงานสัมพันธ์แบบนี้ ต้องหาทางแก้ไข เพราะไม่เกิดประโยชน์ใดๆในการเจรจา ไม่สอดคล้องกับหลักการแรงงานสัมพันธ์ และเราเองก็ต้องเรียกร้องการเจรจาที่สร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน

เช่น มีบางข้อที่ควรบรรจุ อาทิ ข้อบังคับไม่เป็นธรรมละเมิดสิทธิก็ต้องขจัดออก ผมคิดว่ามีประเด็นสวัสดิการสังคมหลายเรื่องที่ต้องจัดท่ามกลางที่รัฐยังไปไม่ถึง เช่น ค่ารักษาพยาบาลคนในครอบครัว เหล่านี้คือข้อเรียกร้องสร้างสรรค์ ความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ต้องมาทำเป็นขบวนการยื่นเรียกร้องแบบสุจริตใจ

นายสนธยา เผ่าดี ชมรมผู้บริหารงานบุคคลธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

ผมมองว่าการยื่นข้อเรียกร้องสวน ต้องดูว่าจากภาวะเศรษฐกิจหรือนโยบาย เพราะหากเป็นภาวะเศรษฐกิจ การพูดคุยกับลูกจ้างน่าจะมีวิธีการอื่นๆด้วยในการพูดคุยกันมากกว่าการยื่นข้อเรียกร้องสวน กรณีปลายปี 2560 ไม่ใช่กรณีของสายยานยนต์ แต่เป็นของไฟฟ้า ผมก็กลับไปมองดูกรณีนโยบายการลงทุนของอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ แต่นี้เป็นอุตสาหกรรมหลัก อุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆคือต้องพิจารณาไปว่าเกิดอะไรขึ้น อีกทั้งต้องไปดูต่อว่าแนวนโยบายประเทศแม่มองว่าอย่างไร

ผมพบว่าการยื่นข้อเรียกร้องสวนมักมาจากนโยบายประเทศแม่ ส่วนบริษัทไทยมักจะใช้การเลิกจ้างมากกว่า ทั้งนี้การยื่นข้อเรียกร้องสวนมักมาจากแนวประเทศต้นทาง ก็ต้องกลับไปดูว่าประเทศต้นทางกำหนดอย่างไร เป็นนโยบายไหม คนที่มาเป็นผู้บริหารรับนโยบายมาดำเนินการไหม อะไรเป็นอุปสรรคก็ต้องจัดการ เพราะทุกคนมาแค่ 4-5 ปีก็กลับไป เขาจะสร้างความล้มเหลวไม่ได้ ต้องสร้างความสำเร็จเท่านั้น

การยื่นข้อเรียกร้องสวนให้ดูว่ายื่นจากปัจจัยอะไร หากไม่ใช่นโยบายจากประเทศแม่ การหาจุดไม่ลงตัวในการพูดคุยไหมเพื่อตัดสินใจบางอย่าง ผมมองว่าหากสุจริตใจก็ยื่นสวนได้ แน่นอนเกิดผลกระทบแน่นอน และยิ่งเกิดจากความไม่สุจริตใจมักมีการวางแผนไว้ก่อน เช่น การตัดสินใจของประธานบริษัทที่แตกต่างกันในแต่ละครั้ง , กระบวนการผลิตที่มีการปิดงาน จะอยู่ได้นานเท่าใด อย่างไร ลูกค้ากระทบไหม เหล่านี้มีการวางแผนทั้งนั้นดังนั้นต้องดูว่าเป็นนโยบายองค์กรหรือภาวะเศรษฐกิจ ให้พิจารณาตรงนี้

สำหรับในชมรมบริหารบุคคล เราไม่เห็นด้วยกับการยื่นข้อเรียกร้องสวน เราเน้นการทำงานเรื่องการอยู่ร่วมกันมากกว่า สำหรับในสายไฟฟ้าต้องยอมรับว่ายอดการขายลดลงในหลายสินค้า ผมเสนอว่า HR ต้องสร้างความเข้าใจให้ได้ในเรื่องนี้ก่อน แต่ถ้า HR ไม่ดำเนินการ แต่บริษัทลงมาจัดการเอง โอกาสยื่นข้อเรียกร้องสวนก็มีสูง

ในชมรมฯได้มีการศึกษาและเรียนรู้ ถอดบทเรียนในกรณีเหล่านี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา HR ต้องคุยอะไรกับนายจ้างบ้าง สื่อสารให้บริษัทเข้าใจว่าทำไมแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีการคุยในเชิงวิชาการให้เห็นผลกระทบด้วย ผมมองว่าคนกลาง คือ HR สำคัญที่สุด

ดังนั้นการยื่นข้อเรียกร้องสวนจึงเป็นทั้งโอกาสและวิกฤติ เป็นทั้งเหตุผลและไม่มีเหตุผล เพราะมีผลกระทบแน่นอน ที่นายจ้างวางแผนแล้วแน่นอน เพื่อไม่ให้กระทบลูกค้า เพราะมีกลุ่มลูกจ้างอื่น เช่น เหมาค่าแรง นักศึกษาฝึกงาน ก็ทำงานต่อได้ แต่ก็ต้องบอกว่าลูกจ้างเหล่านี้ไม่ใช่น้ำหนักสำคัญในการผลิตเท่าลูกจ้างประจำ ซึ่งแน่นอนนายจ้างเขาประเมินทั้งหมดแล้วก่อนการตัดสินใจว่าจะทำอะไร อย่างไร

สงครามข่าวสารจึงเกิดขึ้นตามมาแน่นอน เช่น บริษัทให้โบนัสขนาดนี้ยังประท้วงอีกเหรอ เดี๋ยวเขาก็ย้ายฐานการผลิตหรอก เหล่านี้คือการปกป้องแบรนด์ให้เกิดความน่าเชื่อถือต่อสังคมทั้งนั้น คนภายนอกเข้าใจแบบนี้ทั้งนั้น ไม่เข้าใจรายละเอียดเบื้องหลังว่าคืออะไรอย่างไร ว่าทำไมลูกจ้างต้องต่อสู้ขนาดนั้น ดังนั้นต้องตีโจทย์ให้แตก เพราะถ้าเขามั่นใจว่าสินค้าไม่กระทบ เขาเดินต่อแน่นอน

เรื่องแรงงานสัมพันธ์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเรียนรู้ร่วมกัน เพราะบริษัทมองอีกอย่าง แรงงานมองอีกอย่าง ทั้ง 2 ฝ่ายจะรู้กันดีว่าข้างหน้าคืออะไร สิ่งที่จะต้องดู คือ วิกฤติที่เกิดระลอกหลัง หากวิกฤติในบางอุตสาหกรรมแย่ลง สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น เช่น มีการอบรมปรับทัศนคติ บางครั้ง 5 วัน เหล่านี้คือความลำบากที่ลูกจ้างต้องเจอทั้งนั้น
สถานการณ์เหล่านี้หลายที่ตื่นตัวแล้ว ปรับตัว สุดท้ายผมมองว่า เมื่อเกิดปัญหาแล้ว กระทบทุกฝ่าย เสียหายทุกฝ่ายแน่นอน ดังนั้นอย่าใช้วิธีการนี้ดีที่สุด

เราห้ามนายจ้างยื่นข้อเรียกร้องไม่ได้ แต่นี้ไปถึงปี คศ. 2020 นายจ้างทุกที่จะมีการปรับโครงสร้างกำลังแรงงานโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่จะใช้แรงงานระดับไลน์ผลิตลดลง ดังนั้นผู้นำแรงงานต้องทำการบ้านให้มากขึ้น เตรียมการไว้ก่อน

ตั้งแต่ที่ผมทำชมรมบริหารงานบุคคลมา ผมก็แชร์เรื่องราวที่ผมศึกษามา ตลอดจนการทำงานกับผู้นำแรงงานให้กับชมรมอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่ได้แบ่งว่าเราเป็น HR และทำเฉพาะนายจ้างเท่านั้น มีการแบ่งปันข้อมูลมาฝั่งลูกจ้าง และผมไม่เห็นด้วยว่าไปจบที่กระบวนการศาล การเจรจาให้จบในระดับสถานประกอบการดีที่สุด

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เวลาเราพูดเรื่องแรงงานสัมพันธ์ ต้องสารภาพก่อนเลยว่าผมยังไม่ได้ตรวจข้อสอบนักศึกษาวิชาแรงงานสัมพันธ์เลย หากมองในทางวิชาการ อาจต้องเริ่มต้นที่แรงงานสัมพันธ์ว่า การประกอบกิจการให้ประสบความสำเร็จคือ ความสัมพันธ์กับลูกจ้างและนายจ้างจะราบรื่นแค่ไหน ก็อยู่ที่การบริหารแรงงานสัมพันธ์

คำถามคือ จะมีเครื่องมืออะไรไหมในการเคลียร์ความขัดแย้งเป็นระลอกๆ นั่นก็คือ การเจรจาต่อรอง ซึ่งก็ต้องมีการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเจรจา ซึ่งเหล่านี้ก็มีกฎหมายกำหนดวิธีการไว้ เป็นมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น ค่าครองชีพสูงขึ้น ปรับค่าจ้างได้ไหม

ดังนั้นการยื่นข้อเรียกร้อง จึงคือเครื่องมือในการยุติความขัดแย้ง ประคองความสัมพันธ์ลูกจ้างกับนายจ้าง แต่นั้นเองกฎหมายไทยก็กำหนดว่าลูกจ้างมีสิทธิ นายจ้างมีสิทธิ ต้องได้รับความยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย บางกรณีนายจ้างเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ก็ทำทันทีไม่ได้ ก็ต้องยื่นข้อเรียกร้อง

คำถามคือ มันควรยื่นก่อนหรือยื่นสวนกัน เพราะหากนายจ้างมีปัญหา ควรมีวิธีการในการสื่อสารทันที งานบริหารงานบุคคลแบบมืออาชีพไม่ใช่การมีลูกเล่น หรือมีเล่ห์กลในการปะทะกับลูกจ้าง หลักการเจรจาต่อรอง คือ การลดความขัดแย้งด้วยเจตนาสุจริต เพื่อยุติความขัดแย้งในเวลาอันรวดเร็ว เพราะยิ่งยาวนานเท่าใด ยิ่งเข้าเนื้อนายจ้าง จะเตรียมการงบประมาณอย่างไร จะวางแผนการบริหารองค์กรอย่างไร เพื่อให้เกิดการยุติอย่างรวดเร็ว เป็นที่พึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย เพราะหากคุณมีลูกเล่น ทำให้การเจรจายืดเยื้อ ไม่ใช่การเจรจา

แต่นี้คือการสร้างสงคราม ขัดกับหลักแรงงานสัมพันธ์ที่ดีอย่างชัดแจ้ง ไม่ทำให้ความขัดแย้งยุติได้เร็ว เพราะไปทำลายบรรยากาศความไว้วางใจ พูดคุยกัน ช่วยกันได้ ไม่ได้อีกต่อไป ทำมาหากินยากขึ้น ทั้งๆที่ธุรกิจคือการค้าขายไม่ใช่ค้าความ

ผมหาไม่เจอคำว่า “ข้อเรียกร้องสวน” ในพจนานุกรมแรงงานสัมพันธ์ว่าแปลว่าอะไร เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เครื่องมือในการสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ราบรื่น แต่กลับทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ไม่สัมพันธ์กัน เพราะตัวข้อเรียกร้องสวนทำให้เกิดภาวะการคุกคามกัน

แน่นอนการเจรจาต่อรองมีหลักของมัน คือ สุจริตใจ ต้องเชื่อมั่นว่าการเจรจาต่อรองเท่านั้นจะนำมาสู่ความสันติ มาช่วยกันทำมาหากิน ไม่ใช่เรื่องการยอมความ หรือผลักอีกฝ่ายไปจนมุม

มาถึงตรงนี้เรื่องของการยื่นข้อเรียกร้อง คือ ผู้ร้ายในกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ที่ดี การเจรจาต่อรองจะได้ไม่ได้จึงไม่ได้ขึ้นกับเหตุผลอย่างเดียว มันขึ้นกับอำนาจต่อรองด้วย หากการเจรจาต่อรองอย่างเดียว ไม่ต้องตั้งสหภาพแรงงาน มีแค่กรรมการลูกจ้างก็ได้ การมีองค์กรแรงงานที่เข้มแข็งเป็นปึกแผ่นต่างหาก คือ อำนาจการต่อรองในกระเป๋า เราเปิดไพ่ ยังไม่เปิดไต๋ การเจรจาต่อรองต้องซื่อตรง และมีอำนาจต่อรอง ความมีเอกภาพ ไม่หลุดไปจากเป้าหมายแรงงานสัมพันธ์ที่วางหลักการไว้อย่างดีแล้ว

ผมคิดว่าการสร้างนวัตกรรมยื่นข้อเรียกร้องขึ้นมานั้น คือ การทำให้ทุกฝ่ายอ่อนกำลังลง และสูญเสียความสามารถในการยุติข้อขัดแย้ง ทำให้ระบบแรงงานสัมพันธ์นี้เสียไปเลย กลายเป็นเรื่องการตกงาน ความตายของผู้นำแรงงาน มีต้นทุนทางชีวิต

นี้จึงทำให้แรงงานสัมพันธ์ 40 กว่าปีมานี้ สังคมได้เรียนรู้ โดยเฉพาะความเจ้าเล่ห์เพทุบายจนตั้งตัวไม่ทัน เพราะลูกจ้างจะไม่เชื่อในกระบวนการเจรจาต่อรองแล้ว จะไปสู้ในแบบที่เขาถนัดแทน เช่น ไปประท้วง (strike) ก่อนเจรจา ซึ่งในปี 2517-18 เกิดขึ้นมาก เพราะการเจรจาต่อรองไม่ได้ผลแล้ว แต่ใช้วิธีการนี้นายจ้างจะยอมต่อรอง

คำถามคือ เราจะใช้วิธีการแบบนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกจ้างหรือ ที่ผ่านมาพัฒนาการของสหภาพแรงงาน ของกฎหมายแรงงาน ทำให้ลูกจ้างเคลื่อนจากวิธีการที่ถนัดมาสู่วิธีการสากล คือ การยื่นข้อเรียกร้องด้วยความสุจริตใจ แต่พออยู่ไปนานๆ ก็มีคนคิดจะเอาชนะลูกจ้าง ส่วนลูกจ้างก็มีการจะแฉนายจ้างกลับในบางเรื่อง

การเจรจาต่อรองจึงกลายเป็นการสร้างกลไกบางอย่างเพื่อทำให้การเจรจาต่อรองยืดเยื้อ จากรักษาไข้เป็นการเลี้ยงไข้แทน แทนที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา กลายเป็นการทำสงคราม เกิดความสูญเสียทุกฝ่าย นี้คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ทำให้ทั้งลูกจ้างและนายจ้างไม่เชื่อในกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ทั้งระบบอีกต่อไป

ดังนั้นการทำให้กระบนการเจรจาต่อรองยุติในเวลาอันสั้น ทั้งนายจ้างและลูกจ้างเลือกได้ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาลูกจ้างอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาทั้งสังคมอุตสาหกรรมทั้งหมดเลย

การที่นายจ้างยื่นข้อเรียกร้องไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เป็นกลไกการปรับทุกข์ร่วมกันว่าต่างฝ่ายต่างเดือดร้อนอย่างไร แต่ไม่ใช่การยื่นข้อเรียกร้องสวนแบบนี้ เพราะมันเสียบรรยากาศ ค้างเติ่ง เดินต่อไม่ได้ ไปไม่ถึงจุดสุดท้าย ซึ่งมันเกิดในระดับสถานประกอบการ
ถ้าสหภาพแรงงานบ้านเราไม่ใช่แบบสถานประกอบการจะไม่เกิดแบบนี้ ในญี่ปุ่น ผมก็ไม่เคยเห็นแบบนี้ ผมเสนอว่าหากเรารวมตัวเป็นสหภาพแรงงานแบบอุตสาหกรรม ยื่นต่อนายจ้างอุตสาหกรรมนี้ จะเป็นการเจรจาแบบหลักการทันที ไม่เกิดการยื่นข้อเรียกร้องสวนแน่นอน ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ก็เกิดในเมืองไทยเท่านั้น

ภายหลังที่มีการแลกเปลี่ยนในบางประเด็นจากผู้เข้าร่วมรับฟังแล้ว อ.ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน ได้สรุปอย่างน่าสนใจในช่วงท้ายว่า

ข้อเรียกร้องที่สุจริตใจ คือ สิ่งสำคัญ แต่หากไม่สุจริตใจจึงนำมาสู่ความขัดแย้งต่างๆนานา โดยเฉพาะการทำลายระบบแรงงานสัมพันธ์ทั้งระบบ ไม่เชื่อมั่นระบบการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นระบบที่ดีที่สุด ดังนั้นรัฐควรเข้ามาดูแล จัดการ มีนโยบายไม่ส่งเสริมเรื่องการยื่นข้อเรียกร้องที่ไม่สุจริตใจ เพราะทำลายบรรยากาศการไว้วางใจระหว่างกัน ทั้งนี้ฝ่ายแรงงานก็ต้องสร้างสหภาพแรงงานแบบอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการยื่นข้อเรียกร้องสวนนี้ได้เพราะเกิดขึ้นเฉพาะการเจรจาในระดับสถานประกอบการเท่านั้น

อีกทั้งการยื่นข้อเรียกร้องสวนแบบไม่สุจริตใจต้องยกระดับให้กลายเป็นเรื่องไม่ถูกกฎหมายให้ได้ เป็นเรื่องที่กระทำไม่ได้ในทางกฎหมาย ขณะเดียวกันภารกิจที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย คือ การสร้างความรับรู้ทางสังคมที่ยังไม่ถูกต้องในเรื่องแรงงานสัมพันธ์ ขบวนการแรงงานต้องสื่อสารกับสาธารณชนให้ชัดเจน และสุดท้ายต้องเสนอชุดนโยบายความคิดออกมาให้ชัดเจน ในสิ่งที่ยังเป็นปัญหากระทบกับแรงงานอยู่ในขณะนี้

สรุปโดย : บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
เมื่อ 26-05-61 เวลา 13.15 น.