ถกปัญหาการจ้างงานที่ไม่มั่นคง นัดเจอกัน 7 ตุลา วันงานที่มีคุณค่า หรือDecent work

คสรท. และสรส. เตรียมระดมพลเรียกร้อง รณรงค์ 7 ตุลาคม วันงานที่มีคุณค่า ให้รัฐแก้ปัญหาการจ้างงานที่ไม่มั่นคง

วันที่ 29 กันยายน 2562 ห้องเพทาย โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ จัดโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับโซลิด้าลิตี้เซ็ฯเตอร์ประเทศไทย (SC) ได้จัดการสัมมนาเรื่อง “ปัญหาการจ้างงานที่ไม่มั่นคง”

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวเปิดการสัมมนาว่า การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลต่อการการจ้างงาน และทำให้ผู้ใช้แรงงานต้องตกงานในอนาคตจำนวนมาก ล่าสุดเรื่องการปรับเปลี่ยนระบบรถยนต์ จากรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เป็นรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าที่ส่งผลต่อการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์ คือทำให้อะไหล่รถยนต์หายไปถึง 35,000 ชิ้น แน่นอนต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และมีคนที่จะต้องได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่กลับไม่มีใครกล่าวถึงผลกระทบต่อการจ้างงานว่าจะมีแรงงานจำนวนเท่าไรที่จะได้รับผลกระทบและหายไปในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตดังกล่าวเลย

ประเทศไทยเน้นรับการลงทุนจากต่างประเทศ และการปรับเปลี่ยนหรือการเปลี่ยนแปลงมาจากประเทศอุตสาหกรรมในประเทศต้นทาง ซึ่งแน่นอนประเทศต้องได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเรื่องภาวะโลกร้อนที่มีการปรับตัวของอุตสาหกรรมและการใช้ชีวิตของผู้คนด้วย

แนวนโยบายการจ้างงานที่ไม่มั่นคงทำให้ได้รับผลกระทบกับคนจำนวนมาก ซึ่งแม้แต่ในส่วนของพนักงานรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบแม้ว่า คนกลุ่มดังกล่าวนี้จะถูกมองว่า เป็นกลุ่มคนที่มีความมั่นคงในการจ้างงานมากทีทสุดแต่การใช้นโยบายการจ้างงานแบบชั่วคราว หรือการจ้างระยะสั้น การจ้างงานแบบสัญญาจ้างของแต่ละองค์กรที่ส่งผลกับค่าจ้าง สวัสดิการ ความมั่นคงในการทำงาน ล้วนมาจากนโยบายของรัฐที่เอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน

การเปลี่ยนผ่าน หรือการเปลี่ยนแปลงต้องมีความเป็นธรรมในการจ้างงาน และภาครัฐกระทรวงแรงงาน มีความเกี่ยวข้องในการหามาตรการในการที่จะรองรับ หรือแก้ไขปัญหา องค์การแรงงานระหว่างประเทศที่มีการบอกว่างงานที่มีคุณค่าหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ใช้แรงงาน และองค์กรต่างๆ ต้องมีการถกเถียงเพื่อหาทางออกร่วมกัน

เวทีนำเสนอ “ปัญหาการจ้างงานไม่มั่นคง” โดยผู้แทนแรงงานกลุ่มต่างๆ โดยสรุปได้ ดังนี้

นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการทำงานของเครือข่าย โรคที่พบคือป่วยจากสารเคมี และโรคจากชีวภาพ ปรสิต โรคจากบิสสิโนสิส ซึ่งเกิดจากฝุ่นฝ้าย โรคปอด การเจ็บป่วยจากแร่ใยหิน การเจ็บป่วยจากกล้ามเนื้อ เนื่องจากยกบ่อยๆ ซึ่งเป็นอาการปวดเรื้อรัง และปัญหาการเจ็บป่วยหากแพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางการวินิจฉัยหรือดูแลรักษาก็จะไม่ถูกต้องตามโรคที่ป่วยแต่เป็นการรักษาตามอาการ

หากเจ็บป่วยแล้วเสียชีวิต ส่วนใหญ่ญาติของแรงงานที่ป่วยก็ไม่ได้มีการฟ้องร้องเรียกร้องสิทธิทำให้คนไม่เข้าถึงสิทธิเงินทดแทนตามพรบ.เงินทดแทน หรือแม้แต่ได้เข้าไปใช้สิทธิการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ซึ่งเมื่อไม่นานที่ปทุมธานี มีคนงานที่ได้รับผลกระทบจากโรคแก้วหูเสื่อม แต่ว่าแพทย์ชี้ว่าไม่มีอาการหูเสื่อม ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นแล้วรักษาไม่หายต้องมีการพึงระวัง และดูแลตัวเองด้วย

นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสมาพันธ์ลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจ้างงานที่ไม่มั่นคงของลูกจ้างภาครัฐไม่มีหลักประกันใดๆเลย และผู้บริหารของแต่ละที่ก็ทำการดูแลต่างกัน ซึ่งตแนนี้ลูกจ้างภาครัฐในกระทรวงสาธารณสุขได้มีการรวมตัวลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง

ในปี 2547 ซึ่งมีการเขียนสัญญาจ้างลูกจ้างภาครัฐได้ไม่เกินค่าจ้างขั้นต่ำ และไม่มีการปรับเพิ่มค่าจ้าง ซึ่งเป็นระเบียบการจ้างงานในระบบราชการ และสมัยนายกทักษิณ ชินวัตร มีการจ้างงานโดยปรับให้เป็นพนักงานประจำ แต่ว่า ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขก็มีการปรับการจ้างใหม่อีก ทำให้ลูกจ้างภาครัฐได้รับสัญญาจ้างแบบไม่มั่นคงอีกเช่นเดิม ซึ่งมองได้ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีหลายวรรณะ ดังเช่น แพทย์จะออกระเบียบการจ้างงานที่สูงกว่ากลุ่มลูกจ้างอื่นๆ เจ้าหน้าที่ก็ได้ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ส่วนลูกจ้างภาครัฐ ก็ได้ค่าจ้างค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม และเป็นค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่มีสวัสดิการใดๆแม้แต่ประกันสังคมอย่างแรงงานในระบบ หรือแรงงานข้ามชาติ มีการปฏิบัติที่แตกต่างกับ บุคลากรสาธารณสุขกลุ่มอื่นๆ เป็นการดูแลแตกต่างกัน เดิมมีสวัสดิการกินข้าวฟรี แต่พอลูกจ้างลุกขึ้นมาต่อสู้ได้ค่าจ้างเพิ่ม แต่ก็ตัดสวัสดิการข้าวฟรี และเมื่อมีเรื่องบัญชีค่าจ้าง แต่สวัสดิการก็ถูกตัด ตอนนี้ก็มีการสู้ในแต่ละพื้นที่ รวมถึงภาคเหนือเชียงใหม่ เชียงรายด้วยต้องการที่จะมีงานที่มีคุณค่า มีงานที่มั่นคง และมีสวัสดิการที่ดีเช่นเดียวกับลูกจ้างกลุ่มอื่นๆ

ตอนนี้มีการปรับจากลูกจ้างชั่วคราวเป็นลูกจ้างเหมาบริการ ในส่วนของครูอัตราจ้าง ด้วยกลุ่มลูกจ้างภาครัฐไม่มีกฎหมายตัวไหนในการดูแล กฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่คุ้มครอง เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ลูกจ้างได้ออกมารวมกันจำนวนมาก แต่ละส่วนในภูมิภาค แต่ผู้อำนวยการแต่ละที่ได้โทรให้กลับ แจ้งว่าตนถูกจับแล้วเป็นต้น ลูกจ้างภาครัฐเมื่อถึงวันที่เกษียณอายุได้รับเพียงพัดลมกลับบ้านตัวเดียว ไม่ได้รับสวัสดิการใดเลยหลังในวัยเกษียณอายุ เป็นความเหลื่อมล้ำของลูกจ้างจริงๆ

นางอรณิช สิงห์กัน รองประธานสหภาพแรงงานมิตซูบิซิ ฯ กล่าวว่า เกิดปัญหาคือถูกปิดงานมาแล้ว 2 ปี จากวันนั้นถึงวันนี้ แม้สหภาพแรงงานได้มีการทำข้อตกลงกับทางบริษัทแล้ว แต่ว่า ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน โดยให้ทุกคนกลับไปบ้านรอรายงานตัว เมื่อรายงานตัวแล้วก็ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน มีการกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข 1,200 คน และในฐานะที่ตนเองจากพนักงานมาเป็นสหภาพแรงงาน โดยที่อีก 400 คนไม่ได้เข้าไปทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มสหภาพแรงงาน และส่วนนี้ให้มีการทำกิจกรรมภายนอกเป็นCSR มีการทำความสะอาดวัด และอื่นๆ รวมถึงการเข้าค่าย เพื่ออบรม แต่เมื่อทำกิจกรรมเสร็จก็ยังไม่ได้กลับเข้าทำงานตามที่นายจ้างแจ้ง จึงได้ไปร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เมื่อครส.มีการออกคำสั่งให้กลับเข้าทำงาน และมีการไปรายงานตัวของแรงงาน นายจ้างบอกว่า จะให้กลับเข้าทำงานแต่จะไม่ได้อยู่ในแผนกเดิม ต่อมาก็ให้จดหมายคนละฉบับและกลับบ้านโดยให้กลับไปอ่านจดหมายที่บ้าน ตอนนั้นตนเองตั้งครรภ์ 2 เดือนจึงแจ้งไปทางบริษัทว่า ตั้งครรภ์เพื่อหวังได้กลับเข้าทำงาน จดหมายที่เขียนให้ออกมาอยู่ข้างนอกอีกครั้ง จึงได้ไปร้องต่อครส.อีกครั้ง และนายจ้างมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงาน และมีการยื่นข้อพิพาทอีกครั้ง ปิดงานงดจ้างพนักงาน 50 คนที่เหลือ ตอนนี้ไม่ได้รับเงินเดือนไม่ได้ค่าจ้าง ไม่สวัสดิการ

การที่บริษัทใช้สิทธิว่าได้จ่ายเงินเดือนช่วงที่อยู่ข้างนอก และบริษัทแจ้งว่า จ่ายค่าจ้างแล้วจะมอบหมายงาน หรือไม่ก็ได้ แต่ว่าการที่อยู่ข้างนอกเราไม่ได้รับสวัสดิการ การปรับขึ้นค่าจ้าง หรือกิจกรรมต่างๆที่บริษัทจัดร่วมกับพนักงานเราก็ไม่ได้รับด้วย บางคนที่เป็นพนักงานก็ออกมาอยู่ข้างนอกและมีการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งก็ต้องดูแลตัวเองโดยไม่มีค่าจ้างเลย

นางทิพย์วิมล อินเพ็ชร ผู้แทนภาคตะวันออก และสหภาพแรงงานมิตซูบิชิฯ กล่าวว่า วันนี้ยังไม่มีงานทำ และไม่ได้มีรายได้อะไร ด้วยตนเองอายุมากแล้ว และยังเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูก 2 คน ซึ่งก็อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลด้วย ทุนต่างชาติละเมิดสิทธิแรงงานดังกล่าวด้วย

นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กล่าวว่า การกดขี่ขูดรีดของนายทุนก็มาจากผู้มีอำนาจ การที่ใช้ช่องว่างของกฎหมายในการปิดงาน แต่ไม่เลิกจ้าง กฎหมายให้ทำได้ แต่ว่า นักกฎหมาย ภาครัฐว่าอย่างไร ด้วยการปิดงานไม่มอบหมายงาน เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความไม่มั่นคงทั้งรายได้ และการไม่มีงานทำ ด้วยกฎหมายมีการกำหนดไว้ว่า นายจ้างสามารถเลิกจ้างหรือจ้างงานก็ได้เป็นสิทธิ์ หากพิพาทแรงงาน ก็ร้องครส. ร้องรัฐว่ากันไปตามขั้นตอนกฎหมาย หากปฏิบัติตามกฎหมายถือว่าเป็นธรรมแล้ว

วันนี้เรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำ ก็ไม่มีการปรับขึ้น ทั้งที่มีการหาเสียงของรัฐบาล แต่ไม่มีการทำตามนโยบายนั้น ราคาข้าวของสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าครองชีพปรับตัวขึ้นเท่ากันทุกพื้นที่ ราคาสินค้าเท่ากันหมดแต่ค่าจ้างปรับขึ้นไม่เท่ากัน มันคือความไม่เป็นธรรมโดยแท้ หากคนงานต้องการรายได้มากขึ้นต้องทำงานล่วงเวลามากขึ้น ซึ่งเมื่อทำงานล่วงเวลาก็ไม่ได้ดูลูก ดูแลครอบครัว ซึ่งเป็นผลกระทบต่ออนาคตของชาติเป็นห่วงโซ่ของผลกระทบ หากเราจะถามเรื่องการดูแลแรงงาน วันนี้การจ้างงานของกระทรวงแรงงานก็ไม่ได้รับการดูแล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเลย มีระบบจ้างลูกจ้างภาครัฐ มีการจ้างพนักงานชั่วคราว การจ้างงานแบบไม่มีความมั่นคง ในกระทรวงแรงงานอีก เช่นกัน

การจ้างงานทุกวันนี้ ตามไม่ทัน มีการจ้างงาน แบบจ้างทำของ การเลิกจ้างไม่ได้รับการดูแลด้วยการตีความตามกฎหมาย ซึ่งการแก้ปัญหาแบบนี้เหมือนลิงแก้แห แก้ไม่ออกพันกันยุ่งไปหมด เราต้องช่วยกันแก้ไขด้วยการกฎหมายให้เป็นธรรม ซึ่งต้องแก้ทั้งระบบ ผ่านเวทีการเมือง ซึ่งแม้คสรท.มีพรรคการเมืองของตนเอง แต่ว่ายังไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)ของพรรคตนเองในสภาผู้แทนราษฎร จะแก้ตรงนี้ได้อย่างไร ภาระกิจการแก้กฎหมาย ทั้งกฎหมายการรวมตัว เรามีการยื่นหนังสือไปหลายฉบับแล้ว ในหลายรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาเลย เราจะหาทางอย่างไรต้องมาช่วยกันคิด ไม่ใช่ให้หยุดที่จะคิดหาทางแก้ไข

 

นางสาวสงวน ขุนทรง ผู้ประสานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กล่าวว่า การทำงานของลูกจ้างภาครัฐเป็นลูกจ้างชั่วคราว การทำงานเป็นลูกจ้างที่ไม่มั่นคง ไม่ได้รับการดูแล ซึ่งในพื้นที่อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเก่า บางโรงงานก็มีกฎระเบียบกำหนดการเกษียณอายุไว้ แต่บางบริษัทไม่มีกฎระเบียบการเกษียณอายุ ซึ่งผลกระทบใครอยู่ได้อยู่ไม่ได้ก็ออกจากงานไปโดยไม่ได้อะไร จนเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้มีการเกษียณอายุและมีการขอเกษียณอายุแล้ว สำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้มีระเบียบการเกษียณ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้จะมีอายุมาก แต่ว่า มีลูกจ้างที่ต้องการที่ทำงานต่อไปเรื่อย ๆด้วยมองว่า ตนเองยังสามารถทำงานได้ แต่ประเด็นคือ กลุ่มนี้ได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มีสวัสดิการอะไรเลย ลาป่วยก็ไม่ได้ค่าจ้างอีก ซึ่งตรงนี้รัฐบาลต้องมีการดูแลมากกว่านี้ ไม่ใช่ดูแลแต่ระบบทุนอย่างเดียว

นายองอาจ เชนช่วยญาติ เครือข่ายธนาคารและสถาบันการเงิน หรือBFUN กล่าวว่า การจ้างของภาคธนาคารนั้น อาจถูกมองว่าเป็นงานที่มั่นคงรายได้ดีแต่ความจริงแล้วก็ถูกเอารัดเอาเปรียบเช่นเดียวกับผู้ใช้แรงงานในกลุ่มอื่นๆ ทั้งการจ้างงานที่ไม่มั่นคง การทำงานเลยเวลากำหนดการทำงานแต่ละวัน แต่ไม่ได้ค่าล่วงเวลา(OT) เดิมการจ้างงานธนาคารมีความมั่นคง แต่เมื่อปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ต้อมยำกุ้ง และกรุงเทพพาณิชยการ(BBC)ล้ม มีการควบรวมธนาคาร ตอนนี้กระทบหนักอีก เมื่อมีการปรับเปลี่ยนนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในระบบธนาคาร โดยตอนนี้การใช้เงิน ฝาก ถอน โอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือหมดแล้ว ไม่ได้ผ่านแค่คอมพิวเตอร์ หรือพนักงาน ส่วนพนักงานธนาคารก็ปรับหน้าที่ขายทุกอย่างทั้งประกันชีวิต ธุรกิจของแบงค์ปรับเปลี่ยนไป และแบงค์จะเข้าไปอยู่ในร้านสะดวกซื้อ เปิด 24 ชั่วโมง รับฝาก ถอน จ่ายฯลฯได้หมด ซึ่งทางเครือข่ายได้ร้องต่อรัฐแล้วเรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงานแบงค์ ซึ่งตอนนี้ก็มีปัญหาการยุบรวมสาขา การควบรวมแบงค์เข้าไปแน่นอนต้องกระทบกับพนักงานจำนวนมากซึ่งยังไม่มีการกล่าวถึงเลยว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะแรงงานหนึ่งคนที่ตกงานจะกระทบถึงครอบครัวอีกหลายคนแน่นอน

นายมานพ แก้วผกา สมาพันธ์เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า การเลิกจ้างแรงงานเอกชนจำนวนมากก็ออกสู่แรงงานนอกระบบ ซึ่งก็ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในการทำงานโดยงานไร้สวัสดิการ การทำงานแบบในระบบจึงไม่ได้ปลอดภัยไม่มั่นคงเช่นกัน วันนี้จากแรงงานในระบบออกมาสู่แรงงานนอกระบบการดูแล หรือการเรียกร้องสิทธิต่างๆต้องดูแลถึงแรงงานนอกระบบ เพราะนี่คืออนาคตเมื่อแรงงานในระบบออกมานอกระบบก็ต้องมองเรื่องความมั่นคงในชีวิต อย่างการชราภาพ หลังเกษียณอายุจะอยู่อย่างไรด้วยเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ระบบประกันสังคมก็ไม่ได้ดูแลเทียบเท่ากับแรงงานในระบบ เมื่อเจ็บป่วย หรือเจ็บป่วยจากการทำงาน จะไม่ได้สวัสดิการที่เท่าเดิม ซึ่งผลกระทบในอนาคตหากเข้าสู่วัยเกษียณรายได้ไม่มี ฉะนั้นอยากให้แรงงานที่ทำงานในระบบตระหนักถึงความไม่มั่นคงในการทำงานที่จะเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในอนาคตด้วย การเรียกร้องต้องมองให้คุ้มครองแรงงานนอกระบบด้วย

นายประสิทธิ ประสพสุข ประธานสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) มองว่า การทำงานภายใต้การปรับตัวเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามา การมีระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทำให้ต้องเกิดผลกระทบกับคนอีกมากมายจริงๆ ระบบโรบอทที่เข้ามาในกระบวนการผลิตนั้นนานแล้ว แต่ว่า ตอนนี้นั้นใช้คนในการควบคุม ในอนาคตอันใกล้โรบอทหรือหุ่นยนต์จะใช้ระบบของอินเตอร์เน็ตเข้ามาควบคลุมกระบวนการทำงาน ซึ่งตรงนี้เองความจำเป็นในการใช้คนจำนวนมากในกระบวนการผลิตจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป การจ้างงานจึงอาจเปลี่ยนไป การจ้างงานแบบเหมาค่าแรงที่ได้ผลกระทบก่อน และต่อมาการจ้างงานก็มีการทำสัญญาจ้างใหม่เป็นสัญญาจ้างเฉพาะคน และใช้สัญญาจ้างงานระยะสั่น ซึ่งสวัสดิการต่างๆจะไม่ได้เท่ากับแรงงานเก่า ซึ่งตอนนี้มีการนำมาใช้บ้างแล้วเมื่อมีการจ้างงานใหม่

การใช้นักศึกษาฝึกงานเข้ามาทำงานในไลน์การผลิต ทำงานประเภทเดียว กับพนักงานประจำ ทำงานล่วงเวลา นั่นหมายความว่าเป็นการจ้างงานหรือไม่ ตอนนี้ก็มีการนำเข้ามาใช้ในหลายโรงงานโดยการทำความร่วมมือที่ว่าMOUระหว่างสถาบันการศึกษากับบริษัท

นายพนมทวน ทองน้อย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า การจ้างงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีการจ้างงานเหมาช่วง เหม่าค่าแรง มีการจ้างพนักงานชั่วคราว จ้างพนักงานของรัฐ ซึ่งเป็นการจ้างงานที่ไม่มั่นคง มีการจ้องในหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของแต่ละกระทรวง เช่นการรถไฟเป็นกระทรวงคมนาคม การไฟฟ้ากระทรวงพลังงาน หรือกระทรวงการคลัง เป็นต้น เป็นการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการจ้างงานจะเป็นเหมาช่วง ซึ่งเป็นการประกวดราคา เสนอเข้ามาแต่ละบริษัทเปลี่ยนไปสัญญาก็จะเปลี่ยนบริษัทแต่ว่าพนักงานกลุ่มเดิมคนเดิมทำให้การจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้ ค่าจ้างที่ได้รับ คือค่าจ้างขั้นต่ำตลอดเวลา ด้วยเปลี่ยนบริษัทไปเรื่อย ๆ ตามที่มาประมูลได้ เปลี่ยนสีเสื้อใหม่เท่านั้น

หากมีการเปิดเสรีทางการลงทุน นายทุนต่างชาติจะเข้ามาในการที่จะลงทุน โดยผ่านนอมินีทั้งการผลิตน้ำประปา ไฟฟ้า โทรคมนาคม ทั้งรถไฟ โทรศัพท์ ตอนนี้ไฟฟ้าก็โดนแบบเดียวกัน ด้วยนอมินีในภาครัฐมีมาก ซึ่งทุนเหล่านี้มาจากหลายบริษัท หลายประเทศ รัฐวิสาหกิจเริ่มมีการจ้างงานที่ไม่มั่นคง พนักงานที่มีอำนาจการต่อรองสูงยังสามารถที่จะสู้กับอำนาจทุนได้ แต่ว่า หากทุนเข้ามามากแน่นอนราคาการบริการก็จะแพงไปด้วย

ระบบเทคโนโลยีที่เข้ามาเร็วมาก ในมุมของธนาคาร ในเชิงธุรกิจทั้งบล็อกเชน และบิ๊กดาต้า เข้ามาก็จะมีข้อมูลว่า คารเป็นอย่างไร มีอำนาจในการซื้อ หรือการผ่อน ด้วยหากมีวินัยในการเงินก็จะมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ขายของให้กับเรา แต่หากคนไหนวินัยการเงินไม่ดีดอกเบี้ยก็จะแพงหากผ่อนของ ต่อไปนี้ในส่วนของไฟฟ้าเองก็จะมีบิ๊กดาต้าเข้ามาดูตามบ้านและครัวเรือน เมื่อมีเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าตามครัวเรือนแล้วอย่างแผงโซล่าเซลล์ซึ่งตอนนี้อาจยังลงทุนแพงอยู่ แต่ว่าในอนาคตนั้นก็จะมีการปรับตัวในส่วนของไฟฟ้าฝ่ายผลิต และหากมีการพัฒนาแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพมากขึ้นก็ต้องมีการปรับตัวด้านการจ้างงานแน่นอน รัฐบอกต้องการลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้แน่นอนเราคงต้องยอมรับการเข้ามาของเทคโนโลยี แต่ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรเพื่อการปรับตัวของแรงงาน และรัฐจะดูแลอย่างไร

เวทีภาคบ่ายมีการนำเสนอการแก้ไขปัญหา “การจ้างงานที่ไม่มั่นคง”

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน ผู้ตรวจการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นโยบายการปฏิรูปแรงงาน ต้องมีการรองรับหลังจากมีการเปลี่ยนไปด้านเทคโนโลยี นโยบายด้านแรงงานข้ามชาติที่ต้องจัดให้เข้าที่ และแรงงานนอกระบบที่ต้องมีการดูแลให้เกิดสภาพการจ้างที่ดีให้อยู่ได้ และค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องปรับขึ้นให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ ซึ่งการเตรียมการที่สำคัญคือเรื่องของภาวะการเข้าสู่สังคมสูงวัยของผู้ใช้แรงงาน ด้วยหากเกษียณอายุแล้วจะไปทำอะไร กระทรวงแรงงานต้องเตรียมการในการรองรับ การส่งเสริมการมีงานทำ และเป็นงานที่มีคุณค่า ซึ่งมีทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ ซึ่งต้องทำ การส่งเสริมศักยภาพในการให้คนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศได้ด้านฝีมือและทักษะอื่นๆ  การส่งเสริมเรื่องการป้องกันโรคซึ่งต้องดูแล โดยให้แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับการดูแลส่งเสริมด้านสุขภาพจากประกันสังคม

นโยบายเซฟตี้ไทยแลนด์ คือต้องให้เกิดความปลอดภัยทั้งภายในองค์กรและการเดินทาง ซึ่งได้มีนโยบายมาแล้ว 2 ปี เพิ่มประสิทธิภาพการใช้แรงงานข้ามชาติ และการค้าแรงงาน ซึ่งต้องมีการแก้ไขและต้องมีการดำเนินการต่อไป การพัฒนา และกำกับกลไกการสร้างมาการมีส่วนร่วม ซึ่งมีการเปิดให้มีการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และแรงงานทุกกลุ่มที่ได้เข้ามาร่วมกันทำงาน เพิ่มศักยภาพบัณฑิตอาสาสมัครในพื้นที่ชายแดน และ จังหวัด 5 จังหวัดภาคใต้ เพื่อการทำงาน เป็นการส่งเสริมเพื่อให้ทำงานได้ปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังให้แนวนโยบายการทำงาน เพราะประชาชน คือผู้ใช้แรงงานเข้าถึงโดยสะดวก โปร่งใส แนวการขับเคลื่อนของกระทรวงฯจะเป็นอย่างนี้

เรื่องความมั่นคงในการทำงานจากการที่ทำงานกับทางภาคตะวันออก คสรท.มา 10 ปี ปัญหาการใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 11 /1 ที่ต้องมีการคุ้มครองดูแล เพื่อให้เกิดความมั่นคง ทุกอย่างต้องเดินเพื่อความเป็นธรรม โดยให้เหมาค่าแรง 11 คนได้รับความเป็นธรรม

นายธานี ศิริล้น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงน มาตรา 11ไม่ได้มีการกล่าวถึงการจ้างงานเหมาค่าแรงเลย แต่เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2541 ก็มีการปรับรูปแบบการจ้างงานใหม่ๆมากขึ้น ประเด็นคือมีการปรับตัวของอุตสาหกรรม และการจ้างงานมาใช้แรงงานเหมาค่าแรง ซึ่งช่วงนั้นมีการมองเรื่องความไม่มั่นคง และการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรคุ้มครอง จึงมีการร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2541 เพื่อดูแลเรื่องการเลิกจ้าง และปี 2551 ก็มีเรื่องการจ้างงานเหมาช่วง เหมาค่าแรง เป็นการดูแลการมีงานทำแต่ไม่ได้คิดเรื่องความไม่เป็นธรรม แค่ต้องการให้มีการจ้างงาน ซึ่งต่อมาเมื่อใช้งานมา 35 ปี ก็มีการจ้างงานไม่เป็นธรรมกับคนงานเหมาค่าแรงจำนวนมาก ซึ่งมีการร้องเรียนว่าลูกจ้างตามมาตรา 11/1 ต้องได้รับการดูแลเทียบเท่ากับลูกจ้างในโรงงาน ซึ่งก็มีการทบทวนและมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อการดูแลสิทธิให้เท่าเทียมกับลูกจ้างในโรงงานเดียวกัน การแก้ไขกฎหมายโดยฝ่ายรัฐฝ่ายเดียวไม่ได้ วิธีการแก้คือผู้ได้รับผลกระทบต้องรวมกันเสนอขึ้นมาเพื่อให้ภาครัฐนำเสนอเพื่อแก้กฎหมายที่ต้องการ

Mr.Pong – Sul Ahn องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า แถลงการณ์ครบรอบ 100 ปี ILO ข้อเสนอแนะประเด็นความท้าทายในการจ้างงาน การจ้างงานมีความเปลี่ยนแปลงไป และต้องดูแลโลก การทำงานที่เปลี่ยนไปมากขึ้น หลังปี 20152018 ก็มีการอภิปรายถึงเรื่องอนาคตใหม่ในการทำงาน ILOมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสากล เพื่อมาดูอนาคตในการทำงาน คณะกรรมาธิการเรื่องอนาคตการทำงานก็รับคำเสนอแนะกับคณะไตรภาคี และได้มีข้อเสนอในที่ประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ประเด็นหลักคือ โลกาภิวัฒน์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมสูงวัยเกษียณอายุ และการจ้างงานที่เปลี่ยนไปด้านเทคโนโลยี  ซึ่งมีการปรึกษากัน แถลงการณ์ที่มีการกล่าวถึงมีทั้งโอกาสการจ้างงานในอนาคต และความเสี่ยงด้วย

ประเด็นที่อยากให้เกิดขึ้นคือความเป็นธรรมทางสังคม และทางเศรษฐกิจ ก็ต้องมีการพูดถึงความท้าทาย และการเจรจาทางสังคม เพื่อให้เกิดกฎหมายเพื่อให้ตอบสนองต่อการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป มีแผนปฏิบัติการหลักคือการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ และทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี การที่จะลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ คือมีเรื่องการเท่าเทียมทางเพศสภาพ และปฏิบัติให้เท่าเทียมกันมากขึ้น มีเรื่องการสร้างการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ตลอด อีกประเด็นคือการทำให้เกิดการคุ้มครองต่อสังคมได้ทั้งในและนอกระบบ

การเจรจาในระบบไตรภาคีจะช่วยให้คนงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีให้หางานใหม่ และแผนที่จะลงทุนให้เกิดสถาบันที่เพียงพอกับแรงงานทุกคน การที่จะคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานทุกคน รวมถึงการที่จะทำให้มีค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอทั้งค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย หรือการต่อรอง รวมถึงการกำหนดเรื่องเวลาการทำงาน และมีเรื่องความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีการทำให้ยั่งยืนเพื่อให้เกิดผลดีทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง เรื่องประเด็นการค้าทำให้บริษัททุนข้ามชาติได้ให้การดูแลพัฒนา และคุ้มครองลูกจ้างในการทำงานรวมถึงการเสนอให้มีการสร้างงานในระดับท้องถิ่นเพื่อให้แรงงานมีงานทำจะได้ไม่ต้องมีการย้ายถิ่นฐานหางานทำ และมีข้อเสนอแนะแรงงานนอกระบบให้เป็นแรงงานในระบบด้วย ซึ่งมีแรงงานในกลุ่มนี้ 61 เปอร์เซ็นต์มีการจ้างงานระยะสั้น มีความกังวลว่าในอนาคตจะมีแรงงานนอกระบบมากขึ้น มีการทำสัญญาการจ้างงานระยะสั้น หรือว่าแย่กว่านั้น ระดับสากลมีปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้นของคนหนุ่มสาว และอนาคตคนหนุ่มสาวจะเข้าสู่งานที่มั่นคงน้อยลง ซึ่งข้อเสนอของILO มีถึงทุกภาคส่วน ความท้าทายของเศรษฐกิจนอกระบบคือเข้าไม่ถึงสิทธิแรงงาน สิทธิสวัสดิการ สิทธิประกันสังคม ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม และไม่ได้รับการดูแลคุ้มครอง หลายครั้งที่ไม่ได้รับการคุ้มครองบังคับใช้ทางกฎหมายอย่างแท้จริง

การที่จะพัฒนาแรงงานนอกระบบการใช้ระบบไตรภาคีสำคัญที่สุด  กระบวนการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจในระบบ เป็นเศรษฐกิจนอกระบบต้องมีธรรมาภิบาลในการที่จะเจรจาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม และต้องมีการเจรจาที่มีคุณภาพทางโครงสร้างก่อนให้เป็นนโยบายสาธารณะ

แผนปฏิบัติการคือ ต้องประเมินกฎหมาย และนโยบายด้านการเปลี่ยนผ่านว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน ด้วยที่พบว่ามีกฎหมายในการคุ้มครองการเปลี่ยนผ่าน แต่ไม่คุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งควรมีการแก้ไขให้เกิดการคุ้มครองแรงงานทั้งหมด การที่จะมาดูนโยบายด้านการจ้างงาน มีหลายรูปแบบทั้งในสถานประกอบการอุตสาหกรรม ท้องถิ่น การขยายการคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการสมาคม การเจรจาร่วมทางสังคม การทำให้เกิดแรงจูงใจในการจ้างงานที่มีคุณค่า ต่อมาคือการจัดเก็บข้อมูลประเมินผลจากนโยบายต่างๆจากการเจรจาไตรภาคี การเก็บข้อมูลเพื่อให้เกิดนโยบายที่เหมาะสม ของกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้งานวิจัยนั้นนำมาใช้กับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงจุด การที่จะปฏิบัติตามแผน 6 ด้าน ต้องมีการเจรจาระบบไตรภาคีเพื่อกำหนดอนาคตเพื่อการป้องกันความเสียหายในอนาคตได้

 

นายพรนาราย ทุยยะค่าย ทนายความด้านแรงงาน กล่าวว่า การจ้างงานจะมั่นคงได้อย่างไร เมื่อค่าจ้างไม่เป็นธรรมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ปัญหาคดีความก็ถือเป็นความไม่ยุติธรรมเมื่อความยุติธรรมมาช้าเหลือเกิน ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งการที่ไปไม่ถึงความยุติธรรมที่เกิดขึ้นคือความไม่เป็นธรรมด้วยระยะเวลาที่ยาวนานในการจะเข้าถึงความยุติธรรมใช้เวลายาวนานทำให้ทุกก้าวที่จะถึงความยุติธรรมของผู้ใช้แรงงานหล่นหายไปก่อนที่จะได้รับความยุติธรรม ด้วยลูกจ้างจะหาหลักฐานมาพิสูจน์ความยุติธรรมนั้นเองอีก

มิติการทำงานในกระบวนการยุติธรรม การเข้ามาใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยจะทำให้ลูกจ้างเข้าถึงสิทธิที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด และก็ขึ้นอยู่กับผู้ให้ข้อมูลในการไกล่เกลี่ยทำให้ไม่สามารถเข้าไปถึงจุดหมายความยุติธรรม ด้วยการไกล่เกลี่ยทำให้ต้องจบกันที่เงิน ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ของกฎหมาย การใช้คดีไปสู่ศาลคือการรับเงิน แต่ในความจริงคือคนงานต้องการความเป็นธรรมต้องการที่จะกลับเข้าไปทำงานไม่ใช่เงิน แต่กระบวนการไกล่เกลี่ยคือถามว่า จะรับเงินหรือไม่ เท่าไรที่เพียงพอ ด้วยนายจ้างไม่ต้องการที่จะมีสหภาพแรงงาน หรือไม่ชอบหน้าคนงานก็มีการขออำนาจศาลเลิกจ้าง และกระบวนการจะจบที่การไกล่เกลี่ยแม้ว่าแรงงานต้องการที่จะทำงาน หรือไม่ได้ต้องการที่จะมีข้อขัดแย้งกับนายจ้างแต่เมื่อความเป็นธรรมลดลงก็มาสู่การไกล่เกลี่ย เมื่อระยะทางความเป็นธรรมต้องใช้เงินและระยะเวลาที่ยาวนานคนงานก้ต้องจบที่กระบวนการไกล่เกลี่ย

การตัดสินในกระบวนการยุติธรรม ที่ว่าการทำงานประจำที่มีความมั่นคงกลายเป็นงานที่ไม่มั่นคงเมื่อนายจ้างฟ้องเลิกจ้างคนงานประจำซึ่งอำนาจการจ้างงานเป็นของนายจ้างศาลจะตัดสินให้เป็นอำนาจของนายจ้าง หากทำตามกฎหมายแล้ว

ภายใต้เทคโนโลยีใหม่ การจ้างงาน และปัญหาอำนาจต่อรองที่ลดลงทำให้คนงานต้องได้รับผลกระทบแน่นอน การที่ลูกจ้างต้องทำงาน 16 ชั่วโมง แรงงานไม่ทราบเรื่องสิทธิ หรือกฎหมายแรงงาน รัฐจึงควรที่จะมีการใช้กฎหมายที่เป็นธรรม และแบบตรงไปตรงมาโดยต้องดูแลสิทธิของแรงงานเป็นหลัก ส่วนของการปราณีประนอมข้อพิพาทต้องช่วยดูแลไม่ใช่นำเรื่องการไกล่เกลี่ยเพื่อให้รับเงินอย่างเดียว ควรต้องทำให้เขาอยู่ด้วยกันให้ได้ไม่ใช้บอกว้าอยู่ด้วยกันไม่ได้ให้จากกันไป ท้ายสุดเรื่องผู้พิพากษาที่มาที่ไม่ผู้ชำนาญการ การไกล่เกลี่ยหรือว่ามุมมองมักจะเชื่อว่านายจ้างกับลูกจ้างอยู่ร่วมกันไม่ได้ สรุปสุดท้ายก็จะให้มีการเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุว่าอยู่ร่วมกันไม่ได้

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคสรท. สี่เสาหลัก คือผู้ลงทุน ผู้ลงแรง ผู้สั่งสินค้า และผู้บริโภคการที่จะอยู่ด้วยกันได้ต้องมีการแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม ในอดีตที่ผ่านมาILO พยายามออกกติกาเพื่อให้มีการอยู่ร่วมกัน การสร้างกติการ่วมกันคืออนุสัญญาต่างๆ ประเทศไทยมีส่วนร่วมแต่ว่าไม่ปฏิบัติ เมื่ออุตสาหกรรมปรับตัวในยุค 3.0 การนำเครื่องจักรเข้ามาก็เพื่อที่จะลดต้นทุน ทำให้แรงงานหรือผู้บริโภคมีความเสียเปรียบ และเมื่อมาถึงยุค 4.0 มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทนแรงงาน ด้วยนายจ้างไม่ได้มองแรงงานเป็นมนุษย์ เขามองเป็นต้นทุนในการลงทุน เพื่อที่จะมีการปรับจีดีพีขึ้นก็มีการส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา 510 ปี ข้างหน้ามีการกระทบแน่ในส่วนของแรงงานยานยนต์ที่จะมีการลดคนงาน 3040 เปอร์เซ็นต์ ด้วยมีการลดชิ้นส่วนยานยนต์จาก 30000 กว่าชิ้น เหลือเพียง 3000 ชิ้น กลุ่มที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ หรือยานยนต์จะตกงานราว 4 แสนคน และเป็นเรื่องที่ใหญ่มากในอนาคต และใครจะเข้ามาดู การผลิตเพิ่มขึ้น แต่ผู้บริโภคไม่มีรายได้จะมีกำลังซื้อจากที่ไหน ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศต้องมีการออกกฎกติกา มาให้มีการปฏิบัติว่าจะทำอย่างไรให้มีการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเป็นธรรม ให้ประเทศที่เป็นสมาชิกนำกติกานั้นไปปฏิบัติ วันนี้คนงานไทยทำงานมากขึ้น ทำงานระยะเวลายาวนานมากขึ้น หนี้สินเกิดขึ้นจำนวนมาก เมื่อไม่มีความเป็นธรรมทางรายได้ ก็ไม่มีความมั่นคงเกิดขึ้นเช่นกัน

ผู้ใช้แรงงานไม่ได้ปฏิเสธความเจริญก้าวหน้า แรงงานข้ามชาติเราก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่ต้องเข้ามาเพราะความต้องการแรงงาน ซึ่งตอนนี้การเข้ามาของแรงงานข้ามชาติเพราะนายจ้างต้องการ ที่ว่าขาดแคลนแรงงานได้มีการเปิดรับสมัครแรงงานไทยแล้วหรือไม่ ไม่มีแรงงานไทยทำงานแล้วจริงหรือ การเข้ามาของแรงงานข้ามชาติเพื่อใคร การปรับตัวด้านเทคโนโลยีทำได้แต่ไม่ใช่การทำให้แรงงานไม่มีงานทำ ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน และหวังว่าILOจะปรับกฎกติกาให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานทั้งสิ้น หากปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจ้างงาน และค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสรส. กล่าวว่า ทุนคิดอีกแบบไม่ได้คิดแบบเรา เขาต้องการความมั่งคั่งยั่งยืน แต่เราต้องการเป็นธรรม การต่อสู้เป็นความยิ่งใหญ่มากเมื่อความยุติธรรมเข้าถึงยากขึ้น วิกฤติปี 2540 ที่มีการเรียกร้องให้มีการคุ้มครองแรงงาน และมีการเขียนกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 75 ที่ว่าด้วยเหตุสุดวิสัย มีการปิดงานจ่ายค่าจ้าง 75 เปอร์เซ็นต์ ระบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นทำและออกแบบโดยนายทุนโลก จึงไม่สามารถที่จะยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรง แต่ว่าวันนี้การจ้างงานที่ไม่มั่นคงคืออะไร มีทั้งลูกจ้างเหมาค่าแรง ลูกจ้างภาครัฐ ลูกจ้างสาธารณสุขที่มีมาตรการจ้างงานที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีสิทธิสวัสดิการอะไร การทำงานแบบเหมาช่วง เหมาค่าแรง การจ้างงานชั่วคราว การจ้างงานนอกระบบ ตอนนี้เรากำลังพูดสวนทางกับนายทุนที่ต้องการจ้างงานที่มามั่นคง

หลายคนที่มองว่าILOมาดูแลการรับรองอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ98 แล้วจะทำให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งเขาไม่ได้มีกฎหมายรองรับเลยแม้แต่น้อย ตอนนี้มีแรงงานในระบบ 13 ล้านคน ในสภาผู้แทนราษฎร เรามีผู้แทนที่เป็นผู้นำแรงงานเข้าไปซึ่งมาจากพรรคโน่นพรรคนี้แต่ว่ารายล้อมด้วยสส.นายทุนจะสู้อะไรได้

การใช้ระบบเทคโนโลยีที่มีการสร้างบิ้กดาต้า(Big Data)ขึ้นมารวมมีข้อมูลจำนวนมาก แต่เราไม่มีข้อมูลเลยว่างานที่ม่านคง การละเมิดสิทธิแรงงานจำนวนมากน้อย ซึ่งการก่อเกิดILO การก่อเกิดอนุสัญญาต่างๆที่กล่าวถึงแรงงาน การจ้างงานไม่มั่นคง จะต้องใช้ ซึ่งมีการกำหนดในอนุสัญญาการลงทุน การเลือกปฏิบัติของOECDที่มีการกล่าวไว้ Sustainable Development Goals (SDGs)ที่ประเทศไทยก็รองรับเรื่องการจ้างงานที่เป็นธรรม ซึ่งต้องปฏิบัติ แผนงานที่มีคุณค่าต้องมองทั้งเรื่องสินค้าที่ผลิตแล้วต้องไม่เอาเปรียบแรงงาน

ตอนนี้รัฐก็แจกเงินชิมช็อปใช้เข้าไปใช้ได้ในห้างสรรพสินค้า การจ้างงานที่ไม่มั่นคงนั้นระบาดไปทุกแห่งทั้งเอกชน และภาครัฐ ทุนเข้ามาทุกย่อมหญ้าทุกรัฐวิสาหกิจบางที่มีการตั้งบริษัทลูกในรัฐวิสาหกิจ สิ่งที่ทำได้ของแรงงานตอนนี้คือจัดตั้ง อย่ารอพระเจ้า วันที่ 7 ตุลาคมนี้ต้องระดมคนอย่างน้อย 1,000 คนเดินรณรงค์เพื่อให้รัฐแก้ปัญหาการจ้างงานที่ไม่มั่นคง

ทั้งนี้ทางคสรท.ได้มีการรณรงค์ร่วมกันในประเด็นของ สิตาฉิม เป็นประธานสหภาพคนงานในโรงแรมและคาสิโน NagaWorld ในกัมพูชา ซึ่งมีสมาชิกร่วม 4000 คน

โดย สิตา ได้เรียกร้องให้มีการจ่ายค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ (300 เหรียญ สหรัฐต่อเดือน สำหรับลูกจ้างโรงแรม และ 500 เหรียญสหรัญต่อเดือนสำหรับลูกจ้างคาสิโน ) โดยได้รับการสนับสนุนจากคนงานในคาสิโนกว่า 4000 คน โดยที่คาสิโนได้สัญญาว่าจะขึ้นค่าจ้างมานานแล้ว แต่ไม่มีกาทำตามสัญญา สิตาและสมาชิกจึงได้ทำเสื้อยืดรณรงค์และวางแผนที่จะใส่เสื้อยืดก่อนและหลังทำงาน โดยเสื้อยืดพิมพ์คำว่า “Growing companies, workers need a living wage”

ต่อมาโรงแรมทราบเรื่องจึงได้สั่งห้ามไม่ให้นำเสื้อยืดมาที่โรงแรม แต่สมาชิกคนหนึ่งได้นำเสื้อยืดติดมาและถูกตรวจพบ สิตาจึงได้เข้าไปคุยกับบริษัทเพื่อปกป้องไม่ให้สมาชิกถูกทำโทษ เมื่อสมาชิกคนอื่น ๆ เห็นสิตาเข้าไปในห้องฝ่ายบริหาร จึงมายืนรอกันกว่าร้อยคน บริษัทจึงได้สั่งพักงานสิตาเป็นการทำโทษ

เมื่อสมาชิกทราบเรื่อง จึงได้หยุดทำงานเป็นเวลา 5 ชั่วโมงครึ่งและมีแผนจะหยุดการทำงาน เป็น 3 วันเพื่อตอบโต้

ป้าย“NagaWorld ! Respect Union Rights and Reinstate Sithar !”

กรณีที่สองคือที่มีการรรงค์เรื่องคนงาน GM คือในอเมริกา และเกาหลี เพื่อคัดค้านระบบ “ค่าจ้างสองกระบอก”บริษัทใช้มาตั้งแต่ หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2007 อีกด้วย

อเมริกา

“สมาชิก ของ ยูไนเต็ด ออโต้ เวิร์กเกอร์ (UAW) 49000 คน จาก โรงงาน 55 โรงของ บริษัท เจเนอรับ มอเตอร์ หรือ GM ในสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศสไตรค์ เพื่อคัดค้านระบบ “ค่าจ้างสองกระบอก”บริษัทใช้มาตั้งแต่ หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2007 โดย GM เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับแผนการช่วยเหลือเพื่อประคับประคองให้บริษัทรอดพ้นการล้มละลายในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ โดยมีการช่วยเหลือทางภาษีกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ฯ และยอมให้มีการนำระบบ”ค่าแรงสองกระบอกมาใช้” ทำให้ลูกจ้างที่เข้างานใหม่ ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเดิม รวมทั้งมีการนำคนงานสัญญาจ้างระยะสั้น มาทดแทนลูกจ้างประจำ

โดยปัจจุบัน แม้บริษัทจะรอดพ้นวิกฤติทางเศรษฐกิจ และสามารถทำกำไรได้กว่า ปีละ 3หมื่น5พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ตลอดสามปีที่ผ่านมา และประกาศให้โบนัส CEO ของบริษัทกว่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ แต่ก็ยังไม่ยกเลิก การใช้ระบบ”เงินเดือน สองกระบอก” และใช้แรงงานสัญญาจ้างชั่วคราว ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานที่เข้าใหม่ นอกจากนี้เมื่อปี 2018 GM ได้ประกาศปิดโรงงาน 5โรงในสหรัฐ ฯ ซึ่งเป็นโรงงานที่มีสหภาพ ฯ ทำให้คนงานนับหมื่นคน ทั้งที่บริษัทยังทำกำไรได้ต่อเนื่องและมีการจ่ายโบนัสจำนวนมหาศาลให้กับฝ่ายปริการ”

เกาหลี

“สมาชิกของ  KMWU และ KCTU จาก GM ในเกาหลีกว่า 10000 คนได้ประกาศสไตรค์มากว่า 30 วันและมีแผนที่จะบอยคอตต์สินค้าจาก GM เพื่อเป็นเรียกร้องให้บริษัทเคารพข้อตกลงเดิม และร่วมเจรจาอย่างสุจริตใจกับสหภาพ ฯ และเป็นการคัดค้านการที่ GM มีแผนจะปิดโรงงานในเกาหลี เพื่อไปเปิดในประเทศอื่นซึ่งมีค่าจ้างที่ต่ำ มีการคุ้มครองแรงงานที่น้อยกว่า และมีอัตราส่วนการเป็นสมาชิกสหภาพ ฯ ที่น้อยกว่า

นอกจากนี้ ลูกจ้างเหมาค่าแรงในบริษัท GM ยังได้ร่วมสไตรค์และอดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องความมั่นคงและสัญญาจ้างงานที่เป็นธรรม โดยมีลูกจ้างบางส่วนถูกหามเข้าโรงพยาบาลหลังจากอดอาหารมากว่า 20 วัน แต่ลูกจ้างคนอื่น ๆ ก็ยังประท้วงต่อไป”

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน