ตื่น!แก้ปัญหาแรงงานต้องตั้งพรรคการเมือง เลิกเกาะเผด็จการทุน-อำมาตย์

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย จัดงานรำลึก 21 ปีการสูญหายของ ทนง โพธิ์อ่าน  เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2555  ทีห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา  อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา  กรุงเทพ

 

ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร  กล่าวบรรยายพิเศษว่า  สาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันเป็นเรื่องใหญ่มาก  ซึ่งสภาพเดิมไม่สามารถสนองตอบกับความเปลี่ยน แปลง และความคาดหวังใหม่ๆได้ จึงเกิดความลักลั่น ไม่สอดคล้อง ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จสูตรใดที่จะคลี่คลายความขัดแย้งได้อย่างทันทีทันใด  กรณี ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำคนงานระดับชั้นแนวหน้าที่หายตัวไปอย่างลึกลับ ขณะที่เมืองไทยมีรัฐบาลแต่งตั้งตัวเองจากการรัฐประหารโดยคณะ ร.ส.ช. เมื่อพ.ศ. 2534  เพราะเขาต่อต้านที่รัฐบาลรัฐประหารยกเลิกสิทธิของคนงาน  จากนั้นมาเป็นเวลา 21 ปีก็ยังไม่มีหน่วยงานใดติดตามค้นหาสาเหตุของการหายตัวไปนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว  แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ทำงาน  สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณทนงอาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้  การใช้อำนาจรัฐด้วยความรุนแรงดังกล่าว เป็นสิ่งที่พลเมืองทุกคนต้องต่อต้านอย่างถึงที่สุด  ต้องพยายามจรรโลงระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยให้ถึงที่สุดด้วย  ซึ่งขบวนการแรงงานเป็นขบวนการทางสังคมที่มีความสำคัญมาก  เพราะว่ามีจำนวนมากจึงมีแรงต่อรองสูง  และยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจด้วย จึงอยู่ในฐานะที่จะส่งแรงผลักดันให้มีการปฎิรูปได้

 

ในการสัมมนาเรื่อง บทบาททางการเมืองที่ควรจะเป็นของขบวนการแรงงานไทยในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน  พูดถึงบทเรียนในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ได้นำเอาพี่น้องในภาคประชาชนรวมทั้งขบวนการแรงงานเข้าไปอยู่ในความขัดแย้งด้วย  แล้วพบว่าต่างไปไม่ถึงเป้าหมายของการตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการต่อสู้ในท่ามกลางความขัดแย้ง  แต่กลับนำไปสู่ความขัดแย้งภายใน หลายคนเห็นว่านี่เป็นปัญหาและอุปสรรคที่จะต้องข้ามไปให้ได้เพื่อที่จะสามารถทำงานในประเด็นร่วมกันได้

ส่วน ในเรื่องของการเมืองกับแรงงาน  ทุกคนก็เห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง  คนงานต้องมีอิทธิพลต่อการเมืองมากกว่าเดิม อาจจะในรูปของมีพรรคของคนงานเอง  ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการพูดคุยหาข้อสรุป  หรือการที่จะสร้างพลังอำนาจต่อรอง การกดดันทางการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมายที่เป็นอุปสรรคปัญหาของผู้ใช้แรงงาน  แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น

ในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองของคนงาน ก็เป็นเรื่องของการขาดความตื่นตัวทางการเมืองในฐานะที่เป็นชนชั้นแรงงาน   และยังมีในส่วนของตัวแทนที่เข้าไปสู่สภาแล้วมีข้อจำกัดที่จะไปเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง  แต่ในที่ประชุมยังเห็นว่าประชาธิปไตยแบบรัฐสภายังเป็นทางออกที่ดี และเห็นตรงกันว่าการรัฐประหารไม่ใช่ทางออก

และยังมีอุปสรรคในส่วนของกฎหมายอย่างเช่น เรื่องของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่เป็นข้อจำกัดในการรวมตัวของแรงงานกลุ่มต่างๆทำให้ไม่มีพลัง  เรื่องของกฎหมายเลือกตั้งที่ทำให้คนงานไม่สามารถเลือกตั้ง ส.ส.ในเขตพื้นที่สถานประกอบการได้

ส่วนเรื่องของพรรคการเมืองของคนงาน  หลายคนก็บอกว่าถึงเวลาแล้วควรจะมีพรรคที่ประกาศตัวเป็นเสียงของคนงาน แต่พี่น้องในขบวนการแรงงานเองก็ไม่ได้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน มีทั้งเหลืองทั้งแดงที่ปนอยู่  สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการที่จะมาพูดคุยกันและหาการพัฒนาไปถึงจุดนั้น

ที่สุดแล้ว ต้องเข้าใจว่าการเมืองเป็นเรื่องที่แยกจากผู้ใช้แรงงานไม่ได้  การที่จะแก้ปัญหาแรงงานท้ายที่สุดต้องตัดสินด้วยการเมือง  ตัดสินกันที่อำนาจทางการเมือง  แต่ว่าการเมืองของคนงานจำต้องอาศัยพลังของพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ตื่นตัวรวมกันเป็นเอกภาพถึงจะมีอำนาจในการต่อรอง วันหนึ่งข้างหน้าแรงงาน 38 ล้านคนจะมีเสียงดังกว่านี้ ประเทศนี้จะมีคนที่มากกว่าหนึ่งคนสองคนที่อยู่ในสภาที่เป็นตัวแทนของคนงาน

  

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน