ตรึกคิดจัดงาน 100 ปีสตรีสากล จากวันนั้น ถึงวันนี้

3-8-11 วันสตรีสากลที่ 100 ก็ผ่านไปด้วยการเดินขบวนตามประเพณี  ส่วนระบบ 3/8 ก็ต้องต่อสู้กันต่อไป  เพียงแต่ไม่จำกัดที่แรงงานในโรงงาน  คำถามคือมนุษย์เราโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง ทำงานเพื่ออะไร? ในยุคไฮเทค คนมีโอกาสหลายคนกลายเป็น workaholic จนลืมดูแลสุขภาวะทั้งทางกาย จิตใจ จิตวิญญาณของตัวเองหรือไม่มีเวลากับครอบครัว ดูแลความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ และธรรมชาติในภาวะเช่นนี้ คนมีโอกาส ก็ถูกคุกคามไม่น้อยไปกว่าคนด้อยโอกาสต่างกันเพียงที่ คนด้อยโอกาส ทำเท่าไร ก็ไม่พอกิน  หากยังติดในวัตถุ /บริโภคนิยมในด้านหนึ่ง ความไม่รู้จักพอเป็นเชื้อของความรุนแรงและการเบียดเบียนจากในสู่นอก  อีกด้านหนึ่ง คือความไม่เป็นธรรมในสังคมคนรวย แม้มีเงินซื้อที่ดินมากมายเป็นกรรมสิทธิ์ แต่ก็ได้ถอนรากตัวเองไม่สามารถเป็นชาวนา "ติดดิน"  ส่วนชาวไร่ชาวนาที่ "ติดดิน"ก็มักจะด้อยโอกาสเมื่อเทียบกับชาวเมือง…ในที่สุดก็กำลังถูกถอนรากเช่นกัน   เมืองที่เจริญรุ่งเรือง กำลังจู่โจมคุกคามชนบท "ที่ล้าหลัง" มากยิ่งขึ้น   ในภาวะวิกฤตโลกร้อน  มาตรการแก้ไข เช่นคาร์บอนเครดิต กลับถูกบิดเบือน "แปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน"

กลายเป็นเครื่องมือ(ผู้บริหารบรรษัทข้ามชาติและผู้บริหารในภาครัฐร่วมกันใช้กลไกอำนาจรัฐ)ลงโทษหรือสร้างความชอบธรรม ในการเบียดขับชาวบ้าน–หญิง ชาย เด็ก คนชราพิการ…ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์–ที่เคยอยู่อาศัยเคียงคู่ร่วมกับป่า … เพียงเพราะพวกเขาไม่เคยลงทะเบียน เพราะ "รัฐ"เข้าไม่ถึงพวกเขาในอดีต

 

ในนามของ "ความมั่นคงของมนุษย์" "ความมั่นคงของอาหาร" และ "ความมั่นคง…ทุกๆ อย่าง"ได้กลายเป็นวาทกรรมที่สร้างความชอบธรรมเพื่อลิดรอนสิทธิ์ของคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ได้ถูกรับรองด้วยวาทกรรมของ "สิทธิมนุษยชน" "สิทธิชุมชน" หรือ "อธิปไตยทางอาหาร" ฯลฯทั้งสองวาทกรรมรับรองโดยสหประชาชาติ

สังคมเมืองติดหล่มไฮเทค ที่หิวพลัง "มักง่าย"เพื่อให้เกิดไฟฟ้าขับเคลื่อนตั้งแต่เครื่องจักร … จนถึงแอร์และหม้อหุงข้าววัดถูกแทนที่ด้วยมหกรรมช๊อปปิ้ง–สวรรค์นักบริโภค—ที่ไม่มีวันสิ้นสุดเพราะผลิตโดยเครื่องจักรที่ไร้มนุษยธรรม ไร้จิตวิญญาณ แต่ประสิทธิภาพสูงด้วยเหตุนี้ เม็ดเงินจึงกลายเป็นเทพเจ้าสูงสุดและความหลงงมงายจึงไม่เจือจางไปจากสังคมไทย  แรงงานของคนทำงานส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นเพียงเชื้อเพลิงให้เครื่องจักรเดินต่อไปได้ ตลอดเวลาชาวเมืองจึงมีความสะดวกสบายในการบริโภค มีแต่สินค้าสำเร็จรูปอาหารจานด่วน ฯลฯ ที่สร้างขยะมหาศาล … และความหิวโหยทางจิตวิญญาณ

100 ปี สตรีสากล สังคมกำลังมุ่งหน้าไปทิศไหน?

 เสียงเพลงและดนตรี "หญิงกล้า"ที่ดังกระหึ่มต้อนรับนายกฯเมื่อออกจากลิฟต์ (6 มีค.) ยังกระหึ่มในหูแต่พวกเราเหล่าผู้หญิงยังเชื่อคำร้องในบทเพลงนั้นไหม? หรืองานฉลองทั้งหมด เป็นเพียงฉากหนึ่งสำหรับการถ่ายภาพที่ระลึก?
มันเป็นพิธีกรรมสัญลักษณ์ประจำปีที่พิเศษกว่าปีอื่นหรือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญสู่ศตวรรษหน้า ด้วยความหวัง

100 ปี ที่แล้ว บรรดาย่า ยายทวดที่เป็นแรงงานหญิงต่อสู้เพราะถูกกดขี่จนตรอก เป็นหรือตายมีค่าเท่ากันจึงฮึดสู้ หวังว่าชีวิตแรงงานคงจะดีขึ้นในศตวรรษหน้า  วันนี้เราร่วมรำลึกและฉลองพงศาวดารนั้น เรามองเห็นอะไรใน 10 ปีข้างหน้า?

สำหรับดิฉัน ในภาพแรก เห็นแต่ความมืดมนเราทุกคนคลานออกมาจากครรภ์มารดา เมื่อตายแล้ว ก็คืนกลับสู่อ้อมกอดของพระแม่ธรณีแต่ที่ๆ เรามากับที่ๆ เราจะไป มันช่างดูไร้ศักดิ์ศรีเสียเหลือเกิน  ครรภ์มารดา เป็นอู่ชีวิตที่หล่อเลี้ยงพวกเราแต่ละคนตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนอุปกรณ์ที่ธรรมชาติมอบหมายให้เป็นสมบัติของสตรีเพศและพึงเป็นสิทธิ์ที่สตรีเพศจะบริหาร รักษา และใช้อุปกรณ์นี้   ทุกวันนี้ กลับถูกคุกคาม ย่ำยีอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่การข่มขืน ค้ามนุษย์เพื่อการประเวณีจนถึงการอุ้มบุญมันไม่ใช่เป็นการประทุษร้ายแค่ปัจเจกแต่เป็นการลบหลู่แหล่งฟูมฟักมนุษยชาติ … จากตัวเรา จนถึงอนุชนต่อๆไป  … และเมื่อเรากลับชาติมาเกิดเป็นคนในวัฏสงสารนี้อีกพระแม่ธรณี ในยุคของเรา เต็มไปด้วยขยะ สารเคมี ของเสียจากโรงงานและครัวเรือนเมือง … รวมทั้งจากบ้านและที่ทำงานของเราเองเราบริโภคเกินอัตภาพของเราหรือเปล่า?  ในขณะเดียวกัน ป่าไม้ก็หดหายกลายเป็นหย่อมเรือนที่เหมือนเตาอบติดแอร์ผิวพื้นโลกปุปะด้วยรูเหมืองร้าง  ขยะไม่เพียงเป็นมลพิษเจือปนไปใน ดิน น้ำอากาศ แต่รวมถึงเสียงดัง และภาพโฆษณาอุดจาดในที่สาธารณะเมือง … นี่หรือคือความเจริญที่บรรดาย่ายาย ทวด ที่ต่อสู้เมื่อ 100 ปีก่อนอยากเห็น?

เมื่อเราทำลายและทำร้ายครรภ์มารดาทั้งสองแห่งนี้ได้ทำไมเราจะฆ่ากันเองไม่ได้?   หากเทียบอัตราการตายในสงครามโลกทั้งสองครั้งกับสงครามการค้าเสรี…ความเจริญ…ที่กำลังเกิดขึ้น ตัวเลขคงน่าตกใจ

ถึงกระนั้น การฉลอง 100 ปี วันสตรีสากลโดยมีกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีเป็นแกนนำครั้งนี้ก็ได้ฉายอีกภาพให้เห็น
ซึ่งอาจเป็นก้าวใหม่ที่มีความหวัง

1.    การโอบผู้หญิงทำงานทุกภาคส่วน ให้เข้ามาร่วมฉลองโดยเปิดพื้นที่ให้ด้วยการเชิญเป็นวิทยากรขึ้นเวทีร่วมกันข้ามชนชั้น ข้ามสาขาอาชีพข้ามเพศและข้ามพรมแดน รวมทั้งมีผู้ชายร่วมในทุกระดับแต่ผู้หญิงร่วมกันตัดสินใจขั้นสุดท้าย เพราะเป็นงานฉลองของผู้หญิง

2.    การจัดการกับวิกฤตและความขัดแย้ง ด้วยการใช้วิธีเจรจาต่อรอง เช่นกรณีคุณจิตรา 
3.    การปฏิสัมพันธ์แบบ "ร่วมคิดร่วมทำ"แม้จะดูเหมือนอ่อนแอในด้านการจัดการ การสื่อสารขาดการติดตามหรือบริการอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนแต่ก็มีการยื่นมือเข้าจัดการ ค้ำจุนตามกำลัง ในทุกๆ ช่องโหว่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การแถลงข่าว เตรียมงาน จัดสถานที่จนถึงการสิ้นสุดรอบแรกด้วยการเดินขบวนในวันที่ 8 มีนาคมงานจึงลื่นไหลไปได้ด้วยดี เพราะมีคนไม่นิ่งดูดายและยังเชื่อในเพลง "หญิงกล้า"

หัวใจของงานฉลอง 100 ปีนี้ ที่เข้มข้นในวันที่ 6-7-8 มีนาคมเป็นเสมือนการมาบรรจบของแม่น้ำสามสาย อันมีสายแรงงานเป็นหลักเป็นวาระที่พบปะกับสายวรรณกรรม-ศิลปะและสายการเมือง-การปกครองเป็นภาพของการผสมผสานของสายน้ำเป็นเกลียวที่มีพลังกระแทกเป็นคลื่นอย่างสนุกสนานรวมทั้งเกิดระลอกคลื่นกระทบฝั่ง…แสดงพลังและศักยภาพของหญิงไทย…ก่อนที่จะแยกกันไหลต่อไป

การปฏิสัมพันธ์ของกระบวนผู้หญิงเช่นนี้เป็นเหมือนน้ำในมหาสมุทรที่มีพลวัตตลอดเวลา  ของเสียที่แข็งทื่อในที่สุดก็จะถูกตีแยกให้ขึ้นฝั่งหรือติดกับกิ่งกอให้เน่าผุกลายเป็นดินต่อไป

ตราบเท่าที่ขบวนผู้หญิงยังคิดและเคลื่อน ไม่ใช่น้ำเน่าที่ขังเฉยแฉะพื้นที่เปิดนี้ ก็จะสามารถแยกแยะ ให้ของแข็งกลายเป็นดิน โคลนตมบัวที่เกิดจากโคลนตม คือ ปัญญาที่เกิดจากความกล้าหาญที่จะโอบ และเผชิญหน้ากับ "ความไม่มั่นคง" / ความเปราะบาง อย่างมีสติและไม่ใช้ความรุนแรง  นี่เป็นภาพบวกหรือพลังบวกของผู้หญิงที่ดิฉันเห็นในการร่วมจัดงานฉลอง 100 ปี ครั้งนี้ แสดงออกผ่านตัวพี่ๆน้องๆ ที่ร่วมมือร่วมใจ ให้อภัย ให้กำลังใจ ยืดหยุ่น เสียสละ ตามกาล
ตามวาระ เพื่อส่วนรวม … หนทางเส้นนี้ ยังไม่สิ้นสุดมันเป็นเพียงก้าวแรกสู่การ "ต่อสู้" ร่วมกันในประวัติศาสตร์หน้าใหม่
ต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

ตราบเท่าที่ พี่ๆ น้องๆหญิงทำงานทั้งหลาย ไม่หยุดที่จะเรียนรู้กลั่นกรอง นิยาม ตั้งคำถาม แสวงหาคำตอบ จากในสู่นอก
และทบทวนความสัมพันธ์ที่มีชีวิตจากนอกสู่ในทุกลมหายใจ   10 ปีข้างหน้าก็ยังมีความหวัง  เราเลือกได้ว่าจะเป็นน้ำเน่านิ่ง หรือน้ำหลากที่มีชีวิตและหล่อเลี้ยงชีวิต

สตรี สร้างสรรค์ สันติ

……….

โดย: ดรุณี  ตันติวิรมานนท์  ศูนย์วิจัยวารี (WARI)