ดันพ.ร.บ.ประกันสังคมหลังเลือกตั้งให้รัฐจ่ายสมทบ ม.40

แรงงานนอกระบบ

มติชน 24 ธ.ค. 2556

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2557 กระทรวงแรงงานยังมุ่งส่งเสริมให้แรงงานไทยทั้งในระบบและนอกระบบกว่า 30 ล้านคน ได้รับการคุ้มครองและมีหลักประกันชีวิตที่มั่นคง โดยขยายประกันสังคม มาตรา 40 ไปสู่แรงงานนอกระบบทั่วประเทศ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในกรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ ทั้งนี้ในส่วนของสิทธิประโยชน์เงินชราภาพที่มีเงื่อนไขว่า ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปี และเกษียณจากการทำงาน พ้นความเป็นผู้ประกันตนและส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จ แต่หากส่งเงินสมทบครบ 15 ปี จะได้เป็นเงินบำนาญนั้น เห็นว่าในอนาคตควรจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี มีสิทธิเลือกได้ว่าจะรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ

“ในปี 2557 เป็นปีแรกที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะจ่ายเงินบำนาญชราภาพ จึงเตรียมส่งแบบสำรวจความคิดเห็นผู้ประกันตนว่า ประสงค์จะรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ คาดว่าจะสรุปผลสำรวจนี้ได้ในเดือนมีนาคมนี้ จากนั้นจะนำข้อมูลไปหารือในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ว่าควรจะแก้ไขให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จหรือบำนาญหรือไม่ หากบอร์ด สปส.เห็นด้วย จะแก้ไขกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น ผมจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยืนยันร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับเดิม ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ในวาระที่ 1 ไปก่อน เนื่องจากมีหลายประเด็นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น การกำหนดให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบ มาตรา 40 เป็นประจำทุกปี การกำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีทายาท คู่สมรส หรือญาติรับสิทธิประโยชน์เงินบำเหน็จชราภาพแทน โดยผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือให้ผู้ใดก็ได้เป็นผู้รับสิทธิประโยชน์นี้แทน หากเสียชีวิต แต่ถ้าไม่มีการทำหนังสือระบุไว้ก็ให้เป็นมรดกแก่ทายาท เป็นต้น” นายจีรศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ นายจีรศักดิ์กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานมีนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำอย่างมี ประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยส่งเสริมการจ้างงานในทุกกลุ่ม เช่น นักเรียน นักศึกษาที่จบการศึกษา ผู้สูงอายุ ผู้พิการ มีการอบรมวิชาชีพและพัฒนาทักษะฝีมือ รวมทั้งจัดบริการแนะแนวอาชีพที่เหมาะสมแก่เยาวชนเพื่อให้เลือกเรียนและทำงาน ในสายอาชีพที่ถนัด ยกระดับฝีมือแรงงานไทย รวมทั้งเพิ่มผลผลิต และเตรียมพร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ล่าสุด กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเพิ่มเติมขึ้นมาใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม 44 สาขาอาชีพ เช่น กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อัญมณี เหล็ก ฯลฯ