ดร.เสกสรรค์ ปฏิรูปอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจภาคพลเมือง

เมื่อวันที่18 ธันวาคม 2553ได้มีการปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในประเทศไทย ความจำเป็นแห่งยุคสมัย” โดย  ดร. เสกสรร ประเสริฐกุล คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ รังสิต จ.ปทุมธานี ในการจัดงาน “เปลี่ยนประเทศไทยด้วยพลังพลเมือง” ซึ่งจัดโดยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังจากเครือข่ายเปลี่ยนประเทศด้วยพลังพลเมือง ประกอบด้วยนักข่าวพลเมืองจากภูมิภาคต่างๆ นักสื่อสารแรงงาน เครือข่ายเชิงประเด็นจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐ รวมแล้วประมาณ 400 คน
 
นาย เทพชัย หย่อง  ผู้อำนวยการ(ผ.อ.) องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.)โดยกล่าวว่า เมื่อพลเมืองไม่สามารถพึ่งพาอำนาจรัฐได้ จึงต้องรวมตัวกันจัดการปัญหาของตัวเองซึ่งจะมี สสท. โดยสถานีโทรทัศน์ ทีวีไทยเป็นส่วนร่วมในการเปิดพื้นที่สื่อสารให้กับภาคประชาชนทุกกลุ่มได้สะท้อนปัญหาในพื้นที่ จึงได้มีการสร้างเครือข่ายสื่อภาคพลเมือง เพื่อขยายแนวความคิดการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง
 
หลังจากนั้นดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้แสดงปาฐกถากล่าวถึงปัญหาโครงสร้างทางอำนาจรัฐที่มีการบริหารจัดการแบบแนวดิ่งซึ่งเป็นอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์เอาอำนาจรัฐเป็นตัวตั้งโดยให้สังคมปฏิบัติตามไม่คำนึงถึงความเป็นตัวตนและ วัฒนธรรมในบริบทของแต่ละท้องถิ่นประชาชนจึงขาดการมีส่วนร่วมขาดรากฐานการปกครองตนเองแบบท้องถิ่นจึงทำให้เกิดปัญหาการช่วงชิงศูนย์อำนาจและการครอบงำทางอำนาจนิยม โดยเฉพาะในยุคทุนนิยมเสรี อำนาจรัฐถูกแทรกแซงจากนายทุนทำให้ไม่สามารถสร้างประโยชน์และคุ้มครองประชาชนได้อย่างทั่วถึงเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการครอบครองทรัพยากรของประเทศ เกิดการขยายตัวของระบบทุนซึ่งมักกระทบต่อการดำรงชีพของคนในท้องถิ่นโดยอำนาจรัฐเองก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ แต่มักเอื้อประโยชน์ให้นายทุนมากกว่า
 
หากจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจให้เกิดการกระจายอำนาจรัฐสู่ท้องถิ่นลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจให้ประชาชนให้สังคมมีส่วนร่วมในการตัดสินและตรวจสอบอำนาจรัฐ เป็นการบริหารและจัดการแบบแนวราบที่ทุกคนมีความเสมอภาค  สามารถออกแบบการบริหารจัดการในท้องถิ่นตามความเหมาะสมและความต้องการของคนในท้องถิ่นเอง แต่ต้องไม่จำลองรูปแบบอำนาจรวมศูนย์ ดังนั้นประชาชนเองจะต้องเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองในการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาของตนหมดเวลาที่จะรอคอยให้รัฐมาแก้ไขปัญหาของเราแล้ว
 
หลังจากจบการแสดงปาฐกถาแล้วดร.เสกสรรค์ได้ให้สัมภาษณ์นักสื่อสารแรงงานถึงประเด็นด้านแรงงาน ว่า ปัญหาสำคัญคือการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานให้มีหลักประกันทางสังคมที่เพียงพอ  ในบางประเทศยังรวมถึงการประกันรายได้หากประชาชนในประเทศมีรายได้ต่ำกว่าที่ประกันรัฐจะต้องจัดสรรเพิ่มในส่วนที่ขาดให้พอดี และต้องสร้างดุลอำนาจในการต่อรองให้กับคนงาน ให้เกิดการรวมตัวเป็นรูปแบบองค์กร เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง 
 
ส่วนประเด็นที่ขบวนการแรงงานมีการเรียกร้องค่าจ้างที่เท่ากันทั้งประเทศนั้น อยู่ที่ว่าเรามองจากจุดไหน บางท้องถิ่นอาจมองว่า เป็นสิ่งที่ดีจะได้ทำงานใกล้บ้าน ส่วนนายทุนอาจมองว่า ถ้าค่าจ้างสูงเกินไปก็จะต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นโดยส่วนตัวจึงอยากให้ดูที่สัดส่วนผลกำไรในแต่ละที่มากกว่าดูที่ความเหมาะสมในแต่ละประเภทของสถานประกอบการและควรยกระดับการศึกษาและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับคนงานหันมาแข่งขันกันในเชิงคุณภาพของผลิตภัณฑ์มากกว่ามาแข่งกันที่ต้นทุนการจ้างงาน ดรเสกสรรค์กล่าว
 
มงคล ยางงาม นักสื่อสารแรงงานศูนย์อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รายงาน