ชวนจับตาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหลังลงนามในสัญญา แถม“มักกะสัน”

องค์กรแรงงานรัฐวิสาหกิจ ชวนประชาชนจับตาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหลังลงนามในสัญญา แถมทำเลทอง “มักกะสัน” 150 ไร พร้อมที่ริมทาง สถานีรถไฟ เช่าแบบยาวๆ

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ร่วมแถลงการณ์ เรื่อง จับตาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหลังลงนามในสัญญา โดยเนื้อหามีดังนี้

วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ประชาชนชาวไทยทราบโดยทั่วกันว่า เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือ“สมเด็จพระปิยมหาราช” พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ในการวางรากฐานของประเทศไทยทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และทรงสร้างกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการไว้มากมาย ทั้งกิจการรถไฟ ไฟฟ้า ประปา ไปรษณีย์โทรคมนาคม ทรงวางรากฐานการศึกษา การสาธารณสุข และอื่นๆอีกนานัปการ โดยเฉพาะกิจการรถไฟเป็นกิจการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปราณมากถึงขนาดที่พระองค์ท่านและพระบรมราชินีได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยการ “แซะดินและตอกหมุดตรึงรางด้วยพระองค์เอง” สร้างความปิติ ยินดีแก่   พสกนิกรในยุคสมัยพระองค์ท่านจนถึงปัจจุบัน และกิจการรถไฟโดย “กรมรถไฟหลวง” ของพระองค์ท่านก็ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่สยามประเทศจนถึงประเทศไทยในปัจจุบัน…โดยในปีนี้ทางรัฐบาลได้จัดพิธีน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงมีต่อแผ่นดินสยามจนมาถึงปัจจุบันอย่างยิ่งใหญ่ที่บริเวณท้องสนามหลวง

แต่เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 คงเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอีกวันหนึ่ง ที่รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้เปิดทำเนียบรัฐบาลจัดพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างรัฐบาล โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กับบริษัทรถไฟรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือ กลุ่มกิจการร่วมค้าเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CPH) โดยการเปิดทำเนียบรัฐบาลทำพิธีลงนามสัญญาในโครงการฯนี้ น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังจากที่โครงการได้ยืดเยื้อมานับตั้งแต่ปลายปี 2561 อันเนื่องมาจากบริษัทที่ชนะการประมูลมีเงื่อนไขมากมายในการเจรจาต่อรองกับรัฐจากเงื่อนไข 12 ข้อ มาถึงเอกสารแนบท้ายสัญญา จนถึงวันนี้ประชาชนยังมิได้รับทราบถึงสาระสำคัญของการเจรจาและสัญญาทั้งหมด

แม้ว่าก่อนหน้านี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) สถาบันธรรมาภิบาลไทย และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน จะยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้เปิดเผยข้อมูลและรายละเอียดทั้งหมดของสัญญาก่อนที่จะลงนามกัน โดยอ้างอิงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ อันเป็นหลักการธรรมาภิบาลเพื่อให้เกิดความโปร่งใส รอบคอบ ในการดำเนินโครงการร่วมกับเอกชน เพราะโครงการดังกล่าวมูลค่าที่รัฐร่วมลงทุน ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และการเวนคืนที่ดินเกินกว่าร้อยละ 50 มีมูลค่าประมาณ 150,000 ล้านบาท ซึ่งเงินทั้งหมดมาจากภาษีอากรของประชาชน มูลค่าทั้งหมดในโครงการ 224,544 ล้านบาท แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้แถลงว่าจะเปิดเผยรายละเอียดของสัญญาทั้งหมดหลังจากมีการลงนามกัน….แล้วประชาชนจะตรวจสอบแก้ไขอย่างไรได้ ถ้าหากเห็นว่าสัญญาไม่เป็นธรรมกับรัฐ ซึ่งหากรายละเอียดปรากฏออกมาคงต้องจับตากันต่อไปว่า โครงการนี้จะเดินหน้าเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาหรือไม่ การรถไฟฯจะส่งมอบพื้นที่ได้ทันตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือไม่ หากส่งมอบไม่ทันจะมีการเรียกร้องค่าเสียหายชดเชยหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนเป็นการขยายเวลาให้แล้วจะไปกระทบต่อกำหนดอายุสัมปทานอีกหรือไม่ เอกชนที่ชนะการประมูลจะเริ่มตอกเสาเข็มรถไฟความเร็วสูงได้เมื่อไหร่  การชำระเงินค่าใช้ประโยชน์ที่ดิน  และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การเวนคืนที่ดินจะทำได้ทันหรือไม่จะรื้อย้ายสาธารณูปโภค ประชาชน และชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ส่งมอบไปอยู่ที่ไหน ได้เตรียมงบประมาณไว้หรือไม่อย่างไร รวมถึงสัญญาเช่าที่ทำไว้ก่อนหน้านี้จะดำเนินการอย่างไรหากเขาไม่ยินยอมและต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมจะใช้เวลานานเท่าใด จะกระทบกับภารกิจซ่อมบำรุงรถไฟของโรงงานมักกะสันซึ่งจะกระทบต่อการให้บริการขนส่งของการรถไฟทั้งระบบทั่วประเทศหรือไม่ ภารกิจในการส่งมอบพื้นที่และปัญหาอุปสรรคทั้งหมดตกอยู่ที่การรถไฟฯโดยไม่ต้องสงสัยว่ามีบุคลากรเพียงพอหรือไม่ หากต้องใช้คนจำนวนมากจะเอาคนมาจากไหน จะกระทบกับงานในภารกิจหลักหรือไม่ หน่วยงานต่างๆที่สัญญากันไว้ว่าพร้อมในการดำเนินการเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น “ชื่นมื่น”จะเกิดขึ้นจริงไหม และที่สุดแล้วเงื่อนไขทั้งหมดหากไม่เกิดขึ้นจริงหรือทำได้จริงในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา จะเป็นเงื่อนไขให้เอกชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐ(การรถไฟฯ)ได้หรือไม่ มีหลักประกันอะไร แล้วถ้าเกิดความเสียหายรัฐบาล หรือ ใคร จะรับผิดชอบ (คงหนีไม่พ้นคนที่ลงนาม และที่ผ่านมาหลายโครงการหลายคนต้องเผชิญวิบากกรรม ติดคุก ติดตาราง)

ดังนั้นโครงการนี้เป็นโครงการซุปเปอร์มหาเมกกะโปรเจ็ค ที่จะไปสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) เมื่อรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ(การรถไฟฯ)ได้ร่วมลงนามในสัญญาไปแล้ว สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) สถาบันธรรมาภิบาลไทยและเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนต้องร่วมกันตรวจสอบการทำงานให้เกิดความโปร่งใสและเกิดประโยชน์ที่แท้จริงแก่ประเทศชาติและประชาชน จึงตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอเบื้องต้นคือ

1.โครงการนี้ ชื่อ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน” ดังนั้นผู้ได้รับสัมปทานต้องแสดงความตั้งใจและจริงใจในการดำเนินโครงการด้วยการ “สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน”ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาก่อนจะไปพัฒนาที่ดิน โดยเฉพาะที่ทำเลทอง “มักกะสัน”

2.มูลค่าจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินนอกเหนือจากมักกะสัน 150 ไร่ ศรีราชา 25 ไร่ (ประมาณ 52,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำมาก) แต่มูลค่าในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟในโครงการจำนวน 15 สถานี และที่ดินของโครงการทั้งหมด 4,125 ไร่ รัฐคือการรถไฟฯจะได้ประโยชน์เท่าใด

3.หากการรถไฟฯส่งมอบพื้นที่ได้ไม่ทันซึ่งจะต้องชดเชยด้วยระยะเวลา แต่ต้องไม่เกินอายุสัญญาสัมปทานที่กำหนดไว้ คือ 50 ปี

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) ยืนยันในเจตนารมณ์มาตั้งแต่ต้นที่เสนอให้รัฐดำเนินโครงการเองเพื่อตัดทอนปัญหาทั้งปวง ด้วยการสร้างทางคู่วิ่งความเร็วปานกลาง ใช้งบประมาณไม่มากสร้างความภาคภูมิใจให้ประชาชนมากกว่า ราคาค่าโดยสาร ค่าขนส่ง อยู่ในภาวะที่คนทั่วไปในฐานะเจ้าของภาษี ผ่านรัฐที่ร่วมจ่ายในโครงการสามารถเข้าถึงบริการได้ เมื่อเสียงของประชาชนไม่ดังพอ และสัญญาก็ได้ลงนามไปแล้วก็ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างเข้มข้นและเรียกร้องให้ประชาชาชน องค์กร กลุ่ม เครือข่าย สื่อมวลชน นักการเมืองที่ยังยืนหยัด ศรัทธาในสิทธิประชาชนต้องร่วมกันทำหน้าที่ตรวจสอบดังที่กล่าวมาเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ประชาชนทั้งในวันนี้และเพื่อลูกหลานเราในวันข้างหน้าต่อไป