“จากบ้านมาเป็นแรงงาน”

คาร์แคในเมืองพะอัน พม่า

คอรีเยาะ มานุแช
เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ(MRPWG)

เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปเมืองมะละแหม่งและเมืองพะอัน รัฐกะเหรี่ยง สาธารณะรัฐสหภาพเมียนมาร์ หรือประเทศพม่าที่คนไทยรู้จักกัน เดินทางข้ามแดนจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีถนนสายเอเชียลาดยางทอดไกลเชื่อมสองฝั่งประเทศ แต่รถวิ่งไปได้ไม่นานก็สิ้นสุดระยะถนนลาดยางเข้าสู่ถนนที่เคยลาดยางในอดีต รถยนต์ขับปุเลงๆไปราวๆ 4 ชั่วโมงก็มาถึงเมืองพะอัน ก่อนเข้าตัวเมืองด้วยเส้นทางคลุกฝุ่น รถยนต์ที่จะเข้าเมืองมักจะแวะเข้าร้านคาร์แคร์ที่อยู่ข้างทาง รถที่ผู้เขียนนั่งมาก็แวะล้างรถด้วย

ร้านคาแคร์แห่งนี้เจ้าของเป็นอดีตแรงงานที่เคยมาทำงานในประเทศไทยที่ย้ายกลับบ้านเกิดและช่องทางทำธุรกิจเนื่องจากเส้นทางระหว่างเมืองเมียวดี(ชายแดนไทย-พม่า)จนถึงเมืองพะอันไม่มีร้านคาร์แคร์อยู่เลย จึงได้เปิดร้านนี้ขึ้น เป็นร้านเล็กๆที่มีลูกจ้างในร้าน 3-4 คน มีรถเข้ามาใช้บริการประมาณ 50-60 คัน ต่อวัน โดยรถส่วนใหญ่เป็นรถรับจ้างท่องเที่ยวที่เจ้าของรถส่วนใหญ่ก็เป็นอดีตแรงงานจากประเทศไทยที่พอเก็บเงินเก็บทองได้ก็กลับบ้านมองหาลู่ทางทำมาหากินในประเทศบ้านเกิด อัตราค่าบริการตกประมาณคันละ 1,000 จ๊าด( ประมาณ 28 บาท) ลูกจ้างได้รับค่าแรงเดือนละ 7,000 จ๊าด หรือราวๆ 2,000 บาท ลูกจ้างรับว่าทำงานที่นี่เพื่อรอจังหวะที่ประเทศไทยเปิดให้มีการจดทะเบียนเพื่อเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยเนื่องจากเห็นว่าที่ประเทศไทยจะมีโอกาสในการทำงานเก็บเงินได้มากกว่า ทำให้ลูกจ้างในร้านคาร์แคร์แห่งนี้หมุนเวียนเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ (บริการล้างรถจากร้านคาร์แคร์เป็นอย่างง่ายๆไม่มีอุปกรณ์เสริมอะไรมาก)

อดีตแรงงานจากประเทศไทยหลายคนก็ตั้งใจจะกลับมาอยู่บ้านแต่รายได้ที่ได้ไม่เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่ายทำให้ต้องกลับไปเป็นแรงงานในประเทศไทยอีกครั้ง ภายในเมืองพะอันจึงเห็นบ้านเรือนที่พึ่งก่อสร้าง สร้างเสร็จแล้ว หรือบ้านเก่าที่ถูกปล่อยทิ้งร้างจำนวนมากเนื่องจากเจ้าของแรงงานมาค้าแรงอยู่ในประเทศไทย ภาวะเศรษฐกิจจากประเทศต้นทางปัจจัยหนึ่งที่ผลักให้คนหนุ่มสาววัยทำงานในประเทศพม่าข้ามฝั่งมาขายแรงในประเทศไทย อีกทั้งประเทศไทยเองก็มีแรงดึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน เช่นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากพื้นที่ชายแดนที่มีโรงงานอุตสาหกรรมรมสิ่งทอกว่า 300 โรง กิจการก่อสร้างที่เจริญเติบโตไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงงานภาคเกษตรและภาคบริการอื่นๆด้วย งานเหล่านี้เป็นงานค่อนข้างหนัก และได้รับค่าตอบแทนต่ำ จึงอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกของแรงงานไทยในพื้นที่มากนัก งานในภาคที่ต้องใช้แรงในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากจึงใช้แรงจากแรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมาร์เป็นหลัก

ขากลับจากพะอันเมื่อขับรถมาถึงถนนสายเอเชียลาดยาง(ฝั่งพม่า)คนขับรถพูดติดตลกว่า “ This is Thailand” (ที่นี่ประเทศไทย) เป็นนัยย์ว่าเมื่อขับมาถึงถนนเส้นดีๆก็เสมือนว่ามาถึงประเทศไทยแล้วเพราะฝั่งพม่าถนนหนทางยังยากลำบากอยู่มากนั่นเอง

//////////////////////