เครือข่ายแรงงานนัดทวงสภาฯเสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม5 เมษานี้

เครือข่ายแรงงานนัดรวมพลทวงสัญญาสส.พรุ่งนี้! เรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ให้ทันการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและผลักดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ กล่าวว่า หลังจากการยื่นจดหมายของเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2555 เรื่องให้ประธานรัฐสภาเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับดังกล่าวให้ทันการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติสมัยนี้ แต่วันนี้ยังไม่มีวาระในการนำเข้าสู่สภาเพื่อมีการรับรอง ดังนั้นทางคณะทำงานผลักดันและขับเคลื่อน พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งตนเองได้ประกาศไว้แล้วว่าจะมาติดตามความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ….ฉบับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ให้ทันระยะเวลาการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ ในวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2555 เวลา 9.30 -12.00 น. ณ บริเวณหน้ารัฐสภา ถนนอู่ทอง กรุงเทพฯ

ทั้งนี้เมื่อวันนี้ 2 เมษายน 2555 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป เป็นร่างเพื่อนำมาประกบร่างภาคประชาชนฉบับ ที่รัฐบาลพิจารณา โดยมีสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีรายละเอียดดังนี้ 

1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ร่างมาตรา 2)

2. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้คุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการและลูกจ้างทั้งหมด (ร่างมาตรา 3)

3. แก้ไขบทนิยามคำว่า ลูกจ้าง ทุพพลภาพ ว่างงานและภัยพิบัติ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 4 ถึงร่างมาตรา 7)

4. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายประกันตน และคณะกรรมการการแพทย์ เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งที่ปรึกษา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาและกรรมการการแพทย์ (ร่างมาตรา 8 ถึงร่างมาตรา 12)

5. แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการจัดสรรเงินกองทุนเพิ่มเติมเรื่องอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน แก้ไขระบบการเสนองบการเงิน และการจัดทำรายงานประมาณการรายรับและรายจ่ายของกองทุน (ร่างมาตรา 14 และร่างมาตรา 16 ถึงร่างมาตรา 17) 

6. แก้ไขเพิ่มเติมการยื่นแบบรายการขึ้นทะเบียนนายจ้างและการยื่นแบบรายการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (ร่างมาตรา 18)

7. แก้ไขเพิ่มเติมการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (ร่างมาตรา 19)

8. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงในแบบรายการการนับระยะเวลานำส่งเงินสมทบ และการคำนวณเงินเพิ่มค้างชำระเงินสมทบ และเพิ่มเติมบทบัญญัติลดหย่อนการออกเงินสมทบในกรณีเกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรง (ร่างมาตรา 20 ถึงร่างมาตรา 23)

9. แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ทดแทนจากกองทุนของผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิอื่น แก้ไขระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน กำหนดขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทน แก้ไขวิธีการคำนวณค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ และยกเลิกบทบัญญัติที่มิให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีจงใจหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ตนประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย (ร่างมาตรา 24 ถึงร่างมาตรา 28)

10. แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ของผู้ประกันตน (ร่างมาตรา 29)

11. แก้ไขเพิ่มเติมประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยกรณีคลอดบุตร หลักเกณฑ์และอัตราการได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ และเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย และยกเลิกบทบัญญัติในเรื่องหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร (ร่างมาตรา 30 ถึงร่างมาตรา 35) 

12. แก้ไขเพิ่มเติมการจ่ายเงินชราภาพให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีทายาทสามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ (ร่างมาตรา 37 ถึงร่างมาตรา 38)

13. เพิ่มเติมเรื่องสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน และการขอขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม (ร่างมาตรา 39 และร่างมาตรา 40)

14. แก้ไขบทกำหนดโทษกรณีไม่มาให้ถ้อยคำและกำหนดมาตรการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้างซึ่ง ไม่ยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ (ร่างมาตรา 41 และร่างมาตรา 42)

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน