คืนสิทธิ-คืนสุขให้ผู้ว่างงานจากการลาออก

PC070180

โดย สมพร ขวัญเนตร

ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก

ตามนิยาม คำว่า “ว่างงาน” ในพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับปี 2533 ระบุว่า “ว่างงาน” หมายถึง การที่ผู้ประกันตนต้องหยุดงาน เนื่องจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง หากพิจารณาตามนิยามนี้ ลูกจ้างที่ว่างงานจึงมีสาเหตุ 4 ประการ คือ นายจ้างเลิกจ้าง, เกษียณอายุ, สิ้นสุดสัญญาจ้าง และ ลาออกจากงาน รวมถึงลาออกก่อนเกษียณ

เมื่อมาถึงปี พ.ศ.นี้ คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ให้สภานิติบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีทั้งหมด 9 หลักการด้วยกัน และหนึ่งในนั้นคือการแก้ไขบทนิยามคำว่า “ว่างงาน” ด้วย โดยให้จำกัดเฉพาะกรณีถูกเลิกจ้างเท่านั้น ดังข้อความนี้ “ว่างงาน” หมายความว่า การที่ผู้ประกันตนต้องหยุดงาน เนื่องจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง เพราะเหตุลูกจ้างถูกเลิกจ้าง

นั่นหมายความว่าต่อไปนี้ผู้ประกันตนจะถูกตัดสิทธิหาก “ลาออก” จากงาน ทั้งๆ กฎหมายประกันสังคมบังคับใช้กรณีว่างงานตั้งแต่ปี 2547 ที่คุ้มครองถึงกรณีลาออกด้วย เพราะเดิมที ผู้ประกันตนจะได้รับเงินช่วยเหลือขณะว่างงานจำนวน 30% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วันออกไป (ถ้า “เลิกจ้าง” จะได้ 50% ของค่าจ้าง) ซึ่งกลุ่มผู้ประกันตนหลายองค์กร อาทิ เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน 14 องค์กร, คณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก เป็นต้น จึงไม่เห็นด้วยกับสิทธิประโยชน์ที่ลดลง และเห็นว่าขัดหลักการ “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” ของกฎหมายประกันสังคม

IMG_20150125_4IMG_20150125_2

การว่างงานที่ไม่ได้กินความถึง “การลาออก” นั้น มองกันว่า มีลูกจ้างบางคนมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ โดยตั้งใจลาออกเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน แล้วกลับไปทำงานเป็นลูกจ้างอีก ขณะที่มีจำนวนไม่น้อยที่ลาออกเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

แต่ในสายตาของผู้ประกันตนที่เป็นผู้ใช้แรงงานแล้ว “การลาออก” ซับซ้อนกว่านั้นมาก อย่างกรณีที่นายจ้างมีข้อพิพาทกับลูกจ้าง เกิดการนัดหยุดงาน ส่วนมากนายจ้างจะเปิดให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก (จากกันด้วยดี) โดยแลกกับเงินก้อนหนึ่งแล้วแต่จะตกลงกันได้ ถ้านายจ้างใช้วิธี “เลิกจ้าง” ก็จะเข้าข่ายเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม อาจถูกลูกจ้างฟ้องร้องเป็นคดีให้รับกลับเข้าทำงานหรือเรียกค่าเสียหายได้

กรณีที่นายจ้างจะย้ายฐานการผลิต หรือจะปิดกิจการ หรือมีงานลดลง หรือชะลอการผลิตตามภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ นายจ้างส่วนมากจะไม่เลิกจ้างแล้วจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่จะใช้วิธีบีบทางอ้อม ด้วยการลดเวลาการทำงาน งดค่าล่วงเวลาจนลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ ต้องลาออกไปเอง เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของตนและครอบครัว

นอกจากนี้ลูกจ้างยังถูกบีบบังคับให้จ่ายเงินสมทบกรณีว่างงานไปตลอด เมื่อลาออกจากงาน ก็ควรที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนบ้าง เพราะเป็นเงินสมทบบางส่วนของตนอยู่แล้ว

ดังนั้นกรณีลูกจ้างลาออกจากงานพร้อมๆ กันเป็นหลักร้อย หลักพันคน ล้วนมีสาเหตุมาจากความต้องการ ของนายจ้างที่ต้องการบริหารจัดการลดภาระ และป้องกันการฟ้องร้องของลูกจ้าง หาใช่เป็นความต้องการของลูกจ้าง หรือลูกจ้างมีพฤติกรรมลาออกจากงาน เพื่อไปใช้สิทธิจากเงินกองทุนว่างงานไม่

เพราะความจริงขณะที่ลูกจ้างมีงานทำ และได้รับค่าจ้างรวมทั้งสวัสดิการเต็ม 100% ยังไม่พอกิน จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ลูกจ้างจะทำเช่นนั้น ดังนั้นการตัดสิทธิลูกจ้างกรณีลาออกจะไม่ได้สิทธิว่างงาน จึงเป็นการแก้ไขที่ย่ำแย่ไปกว่าเดิม ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนขณะว่างงาน

********************