คึกคักฉลอง 45 ปี สหภาพแรงงานฮอนด้า

สหภาพแรงงานฮอนด้าฉลอง 45 ปี พร้อมประชุมสามัญประจำปีคึกคัก มิติรับรองกรรมการสหภาพ และยื่นข้อเรียกร้องปรับสภาพการจ้าง

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 สหภาพแรงงานฮอนด้า แห่งประเทศไทย จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 45/2562 และเฉลิมฉลองครบรอบ 45 ปี ที่หอประชุมราชมงคล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปทุมธานี สหภาพแรงงานฮอนด้า แห่งประเทศไทย จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2518 ครั้งแรกใช้ชื่อสมาคมลูกจ้างผลิตรถจักรยนต์ สมุทรปราการ (ไทยฮอนด้า) ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 (ปว103) และเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 วันที่ 29 มีนาคม 2518 และยกเลิกปว.103 จึงเป็นผลให้สมาคมลูกจ้างเปลี่ยนเป็นสหภาพแรงงาน โดยใช้ชื่อว่า สหภาพแรงงานผลิตรถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันสหภาพแรงงานฮอนด้าฯ ประกอบด้วย บริษัท ไทยฮอนด้าแมนูแฟคเจิริ่ง จำกัด สมาชิกรวม 3,110 คน บริษัทฮอนด้าออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด อยุธยา 1,935 คน บริษัทฮอนด้าออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ปราจีนบุรี 1,118 คน บริษัทฮอนด้า เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  ชลบุรี 219 คน และบริษัทฮอนด้าออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด บางนา 120 คน รวมจำนวนสมาชิกทั้งหมด 6,350 คน

นายธนกิจ สาโสภา ประธานสหภาพแรงงานฮอนด้า แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สหภาพแรงงานฮอนด้าฯเป็นสหภาพแรงงานที่เก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานดำรงมา 45 ปีแล้ว และอีก 5 ปี ก็ครบ 50 ปี การที่อยู่มานานด้วยเพราะการยกระดับทั้งความรู้ ความสามารถ แรงงานสัมพันธ์ และการเป็นที่พึ่งต่อแรงงานโดยรวม การเข้าไปสู่เวทีทางนโยบาย มีผู้แทนเป็นกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.) คือ นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร ซึ่งเป็นรองประธานสหภาพแรงงานฯ ในการปรับด้านสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน และการที่จะก้าวสู่การเฉลิมฉลอง 50 ปี อีก 5 ปีข้างหน้า ภายใต้รูปแบบการพัฒนาด้านเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเราต้องมีการปรับตัว  ยกระดับความรู้ และปรับทักษะเพื่อรักษางานในอนาคตด้วย

นายมานิตย์ พรหมการีกุลย์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่ประเทศไทย กล่าวต่อที่ประชุมว่า การทำงานร่วมกันกับสภาฯในความเป็นผู้แทนในกรรมการบอร์ดประกันสังคม การมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนด้านสิทธิประโยชน์หลายกรณีเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับประโยชน์สูงสุดเท่าที่สามารถทำได้ การปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงานการเกษียณอายุ หรือเลิกจ้างเพิ่มค่าชดเชยเป็น 400 วัน การเข้าไปร่วมเป็นสมาชิกกับกลุ่มสหภาพแรงงานประเทศญี่ปุ่น และยังมีความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม แรงงาน สังคม และชุมชน ได้ไปเรียนรู้เรื่องภาวะโลกร้อน ผลกระทบกับแรงงาน และชุมชน หลังจากได้ลงไปจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ เทพา ซึ่งรัฐบาลกำหนดเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่ง กระทบกับชุมชน ที่ทำกินด้วยอาชีพประมงทะเลอยู่ การทำงานด้านสถาบันแรงงาน พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย การจัดการศึกษาพัฒนาแรงงาน และเข้าร่วมเป็นกรรมการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ซึ่งสำคัญต่อขบวนการแรงงาน การทำงานภายใต้วิกฤติที่จะเข้ามา การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ในอนาคตการผลิตรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฮบริด หรือรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดภาวะโลกร้อน เราก็ต้องมีการปรับตัวเอง ปรับทักษะเพื่อรองรับงานใหม่ในอนาคตด้วย การต่อสู้ทางการเมือง ของผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้แรงงาน สมาชิกทุกคนต้องร่วมมือกัน เราอาจมีพรรคการเมืองของแรงงานเอง หรือสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองก็ได้ เหมือนกับขบวนการแรงงานต่างประเทศ หรือองค์กรแรงงานที่ญี่ปุ่น ซึ่งต้องอาศัยสมาชิกสหภาพแรงงานทุกคน

ต่อมาเป็นการประชุมสามัญประจำปี การรับรองคณะกรรมการชุดใหม่หลังจากมีการเลือกตั้งจากสาขาบริษัทต่างๆแล้ว และขอมติในการยื่นข้อเรียกร้องปรับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 จากนั้นช่วงเย็นเป็นกรเฉลิมฉลองครบรอบ 45 ปี สหภาพแรงงานฮอนด้า แห่งประเทศไทย โดยมีแขกผู้มีเกียรติ และสมาชิกเข้าร่วมอย่างคึกคัก

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน