คำถาม จากแรงงานกับการบริหารประกันสังคม

โดย ทวี ประดับศรี นักสื่อสารแรงงานสมุทรปราการ

เมื่อพูดถึงประกันสังคม ผู้ใช้แรงงานจะรู้จักเป็นอย่างดีเพราะพวกเขาจะโดนหักเงินตั้งแต่วันแรกที่เขาทำงานเนื่องจากพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 บังคับให้ผู้ใช้แรงงานต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนนี้ร่วมกับฝ่ายนายจ้าง โดยปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 5 ของรายได้ประจำของแรงงาน นี่คือการมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงานในการสร้างระบบสวัสดิการเบื้องตัน แต่หากถามถึงการบริหารจัดการเงินกองทุนที่มีคนป่าวประกาศว่ามีระบบไตรภาคี มีตัวแทนของแรงงานเข้าไปบริหารแล้ว ซึ่งมาจากการเลือกตั้งด้วย อันนี้แรงงานเริ่มงงว่า เลือกตอนไหน ทำไมเราไม่ได้ใช้สิทธิเลือก ตัวแทนแรงงานหน้าตาเป็นแบบไหน เขาคือใคร ทำอะไรกันบ้าง ทำไมๆๆๆ? นี่คือคำถามอยู่ในใจ การที่เราจะต้องส่งเงินเข้าสมทบประกันสังคมทุกเดือน เดือนละ 5% ของเงินเดือน ถ้าคิดตามค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 6,450 บาท ส่งสบทบประมาณ 3,870 ต่อปี/คน นับเป็นเงินไม่น้อยเหมือนกัน

   สำหรับแรงงานที่มีรายได้ต่ำ การใช้บริการประกันสังคมของแรงงาน 1 ปี จะมีสักกี่ครั้ง แล้วเมื่อเขาไปรับการบริการรักษาพยาบาลในระบบนี้ กลับถูกแบ่งชั้นวรรณะอย่างชัดเจน  บางโรงพยาบาลใหญ่ๆจัดแยกตึกแยกอาคารอย่างชัดเจนโดยให้เหตุผลว่า ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสังคมมีจำนวนมากมาย เลยจำเป็นต้องแยกเป็นสัดส่วนเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการของโรงพยาบาลเอง  การบริการนั้นก็ยังไม่สมดุลกับที่แรงงานได้ส่งเงินเข้าระบบประกันสังคมเท่าใดนัก ดังจะเห็นได้จากการจ่ายยาเพื่อรักษาอาการป่วยต่างๆ ยายอดนิยมก็คือ พาราเซตามอล หรือยาสามัญประจำบ้าน ที่ถูกมองว่าเป็นยาสารพัดประโยชน์รักษาได้ทุกโรค บางคนเคยสงสัยว่า ยาตัวนี้มันมีมูลค่าสักเท่าไรด้วยซ้ำ แต่เมื่อคนงานจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง หรือใช้บัตรประกันชีวิต ก็จะได้รับการบริการอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเขารู้สึกว่ามีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจนเทียบกันไม่ได้  หมายความว่า ประกันสังคมที่เขาจำเป็นต้องส่งเงินสมทบทุกเดือนจนถึงสิ้นสุดการเป็นผู้ขายแรงงานในระบบอุตสาหกรรม การบริการและสิทธิประโยชน์ต่างๆในระบบที่ใช้คำว่าเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันร่วม 10 ล้านคน ยังดูห่างไกลกับคำว่า คุณภาพ  จนเหมือนว่าเราขอรับสิทธิประโยชน์จากรัฐ  โดยที่เงินก้อนนี้ไม่ใช่ได้มาจากการที่แรงงานผู้ประกันตนส่งสมทบจนเห็นกันว่าเป็นเงินก้อนโต

 

 

สิ่งที่แรงงานต้องการและอยากเห็นจากประกันสังคมคือ การให้บริการที่เป็นธรรม เหมาะสมกับค่าเงินที่พวกเขาและนายจ้างได้ส่งเงินสมทบอยู่ทุกเดือน นี่ยังไม่รวมเงินภาษีที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นเงินส่งสมทบรวมอีกร้อยละ2.5  ฉะนั้นการบริการที่แรงงานไปใช้จึงเป็นสิทธิและสวัสดิการที่ไม่ใช่ระบบสงเคราะห์ที่ผู้ประกันตนผู้ใช้แรงงานไม่ได้จ่าย  เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เขาหามาได้และจ่ายสมทบประกันสังคมนั้นเป็นเงินที่พวกเขาแลกมาด้วยหยาดเหงื่อของพวกเขา ฉะนั้นเขาก็ควจะต้องได้ใช้ประโยชน์จากเงินนั้นให้มากที่สุด  ไม่ใช่ถูกรัฐนำไปใช้ตามนโยบายอื่นแทนการพัฒนาระบบสวัสดิการ เช่น การดูงาน การจัดทำเสื้อวันแรงงาน การประชาสัมพันธ์แบบไม่ถึงผู้ประกันตนทั้งหมดเกือบ 10 ล้านคน เป็นต้น 

   อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาอยากเห็นก็คือ ความโปร่งใสในการบริหารเงิน จะต้องเกิดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนซึ่งเป็นเจ้าของเงิน โดยไม่มาอ้างว่ามีระบบตัวแทนเข้าไปแล้ว เพราะนั่นเป็นเพียงตัวแทนของคนกลุ่มหนึ่งในระบบสหภาพแรงงานซึ่งมีไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำไป การที่มีการนำเงินไปลงทุนแล้วมีปัญหาขาดทุนใครบ้างที่แอ่นอกมารับผิดชอบความเสียหายตรงนี้  การรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ  ระบบการตรวจสอบจากผู้ประกันตนจากการมีส่วนร่วมทางตรง จะทำให้อย่างน้อยผู้ประกันตนที่เป็นเจ้าของเงินและเป็นคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกองทุนโดยตรง จะมีโอกาสในการดูแลกองทุนนี้ โดยไม่ใช่มีเพียงคณะกรรมการบริหารประกันสังคมที่มีสารรูปเหมือนทุกวันนี้…..