คาราวานแรงงานลุยน้ำท่วม ขนของช่วยผู้ประสบภัย

เครือข่ายแรงงานไทยช่วยภัยน้ำท่วมจัดคาราวานขนสิ่งของรับบริจาคกว่า 40 คันรถส่งศูนย์ช่วยเหลือส่วนหน้าที่แยกบางปะอิน  ไทยพีบีเอสมอบหมากสดและถังถ่ายสำเร็จรูปพร้อมถุงยังชีพสมทบ 500  ชุด คนงานและชาวบ้านรอรับแน่นเต็นท์  พบแรงงานจำนวนมากติดค้างอยู่ตามหอพักบ้านเช่าขาดเงินและไม่ได้รับของช่วยเหลือเพราะไม่มีทะเบียนบ้าน ต่างกังวลว่าจะไม่ได้เงินเดือนและอาจตกงานเมื่อน้ำลด   
 
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2554  เวลา 10.00 น. เครือข่ายแรงงานไทยช่วยภัยน้ำท่วม นำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับ สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กลุ่มสหภาพแรงงาน และสหพันธ์แรงงานต่างๆ  นัดรวมตัวกันที่สำนักงานใหญ่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  เพื่อจัดขบวนคาราวานรถกว่า 40 คันขนสิ่งของที่มีผู้บริจาคผ่านศูนย์แรงงานต่างๆ ประกอบด้วย อาหารแห้ง น้ำดื่ม ของใช้ประจำวัน  ยารักษาโรค ไฟฉายและวิทยุเล็ก  รวมทั้งเสื้อชูชีพทำเองจำนวนมากและเรือ 3 ลำ  สมทบกับสิ่งของที่ไทยพีบีเอสมอบให้เป็นถุงยังชีพ 300 ชุด  น้ำดื่มกว่า 100 แพ็ค ถังถ่ายสำเร็จรูป 10 กว่าชุด รวมทั้งมีหมากสดสำหรับแรงงานข้ามชาติจำนวน 2 ทะลาย   ขบวนคาราวานที่ประกอบด้วยรถหกล้อและรถกระบะสูงใช้เส้นทางที่มีน้ำท่วมสูงเป็นระยะจากถนนมอเตอร์เวย์เข้าสู่อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี แล้วเลี้ยวเข้าสู่ถนนพหลโยธินช่วงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต มุ่งสู่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ตั้งเต็นท์อยู่ริมถนนสายเอเซีย ปากทางเข้านิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
 
 
ช่วงที่ขบวนคาราวานไปถึงมีผู้ประสบภัยมารอรับสิ่งของบริจาคอยู่แล้วกว่า 300 คน  ทางศูนย์ช่วยเหลือฯได้แจกอาหารกล่องและสิ่งของช่วยเหลือต่างๆให้กับผู้ที่มารอรับ  และได้กำหนดเส้นทางแบ่งสายการเข้าไปในพื้นที่เพื่อนำสิ่งของทั้งอาหารสด อาหารแห้ง สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น ไปให้กับผู้ใช้แรงงานและชาวบ้านที่ไม่สามารถออกมารับสิ่งของบรรเทาทุกข์ได้  ประกอบด้วย พื้นที่นิคมโรจนะ ต.คานหาม อ.อุทัย  นำสิ่งของไปมอบให้จำนวน 400 ชุด   พื้นที่นิคมบางปะอิน อ.บางปะอิน จำนวน 200 ชุด   พื้นที่นิคมสหรัตนนคร ที่ตลาดโคกมะลิ ต.นครหลวง และ ต.บ่อพง อ.นครหลวง จำนวน 200 ชุด  และนำไปมอบให้กับกลุ่มแรงงานพม่าจำนวน 100 ชุด พร้อมหมากสด 2 ทะลาย
 
นายชาลี ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า  การช่วยเหลือแรงงานผู้ประสบภัยได้ดำเนินการมาบ้างแล้ว  การเดินทางลงพื้นที่ของเครือข่ายแรงงานวันนี้ไปพร้อมกันหลายองค์กร  แต่จะแยกไปหลายจุด  คสรท. กับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) ลงพื้นที่บางปะอินซึ่งเป็นศูนย์เครือข่ายของ คสรท. บางส่วนของ สรส.ไปลพบุรี  ส่วนของสภายานยนต์ฯก็จะไปที่ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา  ถือเป็นการเปิดตัวเพื่อแสดงให้เห็นว่าขบวนการแรงงานไม่ทอดทิ้งผู้ใช้แรงงานและพี่น้องประชาชนทั่วไป  โดยเบื้องต้นกำหนดจะลงพื้นที่ต่อเนื่อง 6 สัปดาห์   วันนี้คงได้สิ่งของบรรเทาทุกข์ไประดับหนึ่ง และจะร่วมกันกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาระยะต่อไป
 
นางสาวพีรกานต์ มณีศรี  กรรมการกลุ่มสหภาพแรงงานอยุธยาฯ ผู้ประสานงานของศูนย์ช่วยเหลือฯกล่าวว่า  ศูนย์อพยพคลองพุทราที่เข้ามาแจกของวันนี้มีผู้ประสบภัย 200 กว่าคน และอยู่ใกล้นิคมบางปะอินจึงมีคนงานที่เช่าห้องพักตกค้างอยู่มาก 60-70% เงินเดือนก็ยังไม่ออกจึงไม่มีเงินเหมารถกลับบ้าน  ไม่ค่อยได้รับของแจก ศูนย์รู้ข่าวจึงเข้ามาช่วย

นางปนัดดา ธงไชย คนงานโตกุมิ  อายุ 30 ปี  เล่าว่า ตนเองเป็นชาวพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จึงมาเช่าหอพักอยู่กับครอบครัว และมีลูกอ่อนอายุ 2 เดือน 1 คน ตอนนี้ลำบากมากเนื่องจากลูกไม่มีนมกิน เคยมีคนเอามาแจกให้ครั้งหนึ่งพอเด็กกินแล้วถ่ายเป็นหมูก  วันนี้ถือเป็นวันแรกที่ตนได้ออกมารับถุงยังชีพ เดิมจะให้แม่เป็นคนออกมารับ ส่วนสามีต้องดูแลลูก

นางปนัดดาเล่าอีกว่า ขณะนี้ลำบากมากน้ำท่วมสูงมาก ต้องเดินลุยน้ำออกมาเกือบถึงหน้าอก เพราะค่าโดยสารเรือแพงมาก แค่ไปสะพานลอย (ประมาณ200 เมตร) ค่าโดยสารเรือ 70 บาท หากขนของด้วยก็จะแพงมาก แต่ก็ต้องออกมาไม่มีเงินเลยเดินออกมา ของกินหายากมาก แต่นมลูกหายากกว่า แม้ว่าจะได้นมที่ไม่ตรงกับอายุเด็กก็ดีกว่าไม่มีกิน ตอนนี้ลูกครบเวลาที่ต้องหยอดวักซีนแล้วแต่ไปหาหมอไม่ได้ เป็นห่วงแต่ไม่รู่จะทำอย่างไร ค่าโดยสารเรือแพง ออกมาต่อรถก้แพงเช่นกัน ต้องบอกว่าต้องอดทด ปัญหายังมีอีกไหนจะเรื่องของงานที่ทั้งตนและสามีไม่รู้จะมีงานทำต่อหรือไม่ เมื่อไรจะได้ทำงาน คิดทุกวันว่าจะมีเงินซื้อนมให้ลูกกินหรือไม่ อันนี้คิดไม่ออกจริงๆ พอวันนี้ได้ทราบข่าวว่ามีเครือข่านยแรงงานมาแจกถุงยังชีพ มีนมมาให้ด้วยเลยลุยน้ำออกมารับดีใจมากที่ได้รับความช่วยเหลือ แต่อย่างขอให้มีนมเด็กเล็กด้วย 

นายฑิฆัมพร พัดสอน หนึ่งในคนงานรับเหมาค่าแรงานของบริษัทฮอนด้ากล่าวว่า ได้ซื้อบ้านทาวเฮ้าอยู่ในตำบลคานหาม พอน้ำท่วมได้ชวนเพื่อนบ้านมาอยู่ด้วยกันเกือบ 10 คน เพื่อจะได้ช่วยเหลือกันเพราะบ้านเขาน้ำท่วมสูงกว่า วันนี้ออกมารับของที่แจกเพื่อยังชีพ เนื่องจากเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฮอนด้า ได้ทราบข่าวว่ามีการนำถุงยังชีพมาแจกเลยลุยน้ำออกมารับ ทื่บ้านน้ำท่วมถึงหน้าอกแล้ว แต่ก็ดูทุกวันว่าเมื่อไรจะลด เห็นความเปลี่ยนแปลงวันละ 5 เซนติเมตรยังดีที่ยุบ

นายฑิฆัมพร เล่าต่อว่า ปัญหาของแรงงานคือ คนที่อยู่ต่างจังหวัดจะกลับบ้านไปเกือบหมด  บางคนที่อยุ่คือรอค่าจ้าง ไม่มีเงินกลับ ส่วนตนถือเป็นคนในพื้นที่แล้ว ความช่วยเหลือที่ได้รับจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงได้รับบ้าง แต่ถามว่าได้ทั่วถึงหรือคงไม่แน่นอน ขนาดตนเองเป็นคนคานหามได้รับแจกเป็นครอบครัว แต่ไม่มีการถามว่าครอบครัวมีกี่คน ควรได้รับความช่วยเหลือถุงยังชีพกี่ชุด ระบบการจัดการต้องมี แถมยังมีการเลือกปฏิบัติให้คนไทยไม่ให้แรงงานข้ามชาติ แม้แต่คนงานที่มาจากจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ก็ไม่ได้รับเหมือนกัน แต่ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมก็ไม่ควรรอรับของบริจาค ต้องหาทางเอาตัวรอดกันเองด้วย เช่นบางทีต้องหาปลามากินเอง ปัญหาหนักที่กระทบคือข้าวของหาซื้อยากมีราคาแพง มีเงินก็ไม่สามารถซื้อของได้ เพราะไม่มี  หรือมีของไม่มีเงินพอซื้อเพราะราคปรับขึ้นเท่าตัว นมเด็กไม่มี จะกินอะไร ค่าเดินทางแพงมากไม่คิดว่าชีวิตนี้จะมีเหตุการณ์ที่ทุกข์ยากข้าวยากหมากแพง เดือดร้อนทั่วหน้าเช่นนี้

ด้านนายจำลอง ชะบำรุง  กรรมการกลุ่มสหภาพแรงงานอยุธยาฯ และผู้ประสานงานของศูนย์ช่วยเหลือฯ ซึ่งเป็นผู้ที่คอยขับเรือท้องแบนติดเครื่องตระเวณแจกสิ่งของกล่าวว่า  หลังจากวันที่ 9 ตุลาคม ที่นิคมโรจนะถูกน้ำท่วมหมด  กลุ่มสหภาพแรงงานอยุธยาฯจึงร่วมกันตั้งศูนย์ขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ติดค้างอยู่ตามห้องพักไม่สามารถเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดได้  โดยพื้นที่ที่ตั้งศูนย์อยู่ที่ริมถนนทางเข้านิคมบางปะอินซึ่งเป็นที่สูง  สะดวกในการติดต่อประสานงานกับศูนย์ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและผู้ช่วยเหลือจากกลุ่มแรงงานย่านฯต่างๆ  โดยภารกิจหลักของศูนย์คือ  ช่วยเหลือแรงงานที่เข้ามาทำงานในจังหวัดอยุธยาโดยไม่มีทะเบียนบ้านที่นี่ ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ  จากที่ลงพื้นที่ทุกวัน  จะมีคำถามจากคนงานว่านายจ้างจะจ่ายตังค์ไหม จ่ายตามกำหนดข้อตกลงหรือเปล่า หลังน้ำท่วมจะมีงานทำ จะมีการเลิกจ้างหรือไม่  ซึ่งก็ยังเป็นปัญหาที่ผู้นำแรงงานต้องหารือกันว่าจะช่วยเหลือกันอย่างไรต่อไป
นักสื่อสสาารแรงงาน  โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน