คัดค้านร่าง กม.ประกันสังคม ก.แรงงาน

P9230669

เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร รวมตัวยื่นหนังสือสนช.คัดค้านร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับกระทรวงแรงงาน ชี้ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตน เรียกร้อง สนช.ส่งร่างกลับ ครม.พร้อมเสนอให้พิจารณาข้อเสนอ 4 หลักการ ความครอบคลุม ความเป็นอิสระ ความโปร่งใสมีส่วนร่วม และความยืดหยุ่นเป็นธรรม เข้าไปในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ด้วย รองประธานสนช.รับชลอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงฯ เตรียมพร้อมรอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับคนทำงานถ้วนหน้า ตอบส่งมาเมื่อไรพิจารณาพร้อมกัน 

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 23 กันยายน 2557 เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร นำโดย นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้เข้าพบนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมกับยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับกระทรวงแรงงาน และเรียกร้องให้ สนช.ส่งร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว กลับไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่อีกครั้ง

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับกระทรวงแรงงาน เท่าที่เครือข่าย คปค.ร่วมกันศึกษาและติดตาม พบว่า ร่าง พ.ร.บ.ของกระทรวงแรงงานไม่เกิดประโยชน์กับผู้ประกันตน เพราะไม่ได้ครอบคลุมผู้มีสิทธิประกันตนทั้งหมดจำนวนกว่า 40 ล้านคน ขณะเดียวกันสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับก็ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน  จึงต้องการให้ทางสนช.ถอนร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงานออกไปก่อน เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งขณะนี้ทางเครือข่ายฯได้มีการร่วมกันจัดทำร่างประกันสังคมฉบับคนทำงานถ้วนหน้า ซึ่งเป็นร่างที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เตรียมยื่นสู่การพิจารณาขิงสนช.เช่นกัน ทางเครือข่ายอยากจะให้ สนช.ยับยั้งกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อน และส่งกลับไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่

20140923_144908 20140923_141854

ด้านนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมรนฉันแรงงานไทย (คสรท.) กล่าว่า ขณะนี้กองทุนประกันสังคมที่มีมูลค่าสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท น่าจะมีระบบบริหารจัดการใหม่ โปร่งใส และตรวจสอบได้ ผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุน ต้องมีสิทธิเลือกผู้บริหารกองทุน  ส่วนกรรมการบริหารกองทุนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย เครือข่ายฯ จึงได้เสนอหลักการที่กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่พึงมีทั้งหมด  4 ข้อ ประกอบด้วย 1.ความครอบคลุม ทั้งกลุ่มเป้าหมายคนทำงานและพื้นที่ รวมถึงครอบคลุมสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงจะได้รับด้วย 2.หลักความเป็นอิสระและบูรณาการของระบบบริหาร 3.หลักความโปร่งใสและมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน และ

4.หลักยืดหยุ่น เป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม

ทางเครือข่ายขอนำเนื้อหาและ 4 หลักการของเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) บรรจุไว้ในหลักกฎหมายด้วย ก่อนที่จะส่งกลับไปให้ สนช.พิจารณาอีกครั้ง

ดั่งที่ นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งทางเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ก็หวังว่าน่าจะได้รับโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในเสนอหลักการที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องคนทำงานทุกกลุ่ม หากรัฐบาลปฏิเสธการขอมีส่วนร่วมครั้งนี้ เท่ากับไม่ตอบโจทย์ของนายกรัฐมนตรีตาม   ที่ประกาศไว้

ขณะที่ น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า        ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับกระทรวงแรงงาน ยังเป็นไปในรูปแบบเดิม จึงไม่เป็นอิสระ ยังอยู่ภายใต้ การกำกับดูแลของหน่วยงานราชการกระทรวงแรงงานอยู่ อย่างเช่น ปลัดกระทรวง ก็ยังเป็นประธานบอร์ด โดยตำแหน่ง ในความเห็นของตน ผู้บริหารกองทุนควรเป็นมืออาชีพทางด้านการบริหารกองทุน พร้อมกับเปิดโอกาส ให้ผู้ประกันตนทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหาร มีอำนาจเลือกผู้บริหารกองทุนด้วยตนเอง

ส่วน นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมที่เติบโตขึ้นมีเงินจำนวนมากเข้ากองทุน แต่การบริหารจัดการ การเข้าถึงสิทธิของผู้ประกันตนยังมีปัญหามาก อยากเสนอให้มีการประกันสังคมควรมีโรงพยาบาลเป็นของตนเอง

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.กล่าวว่า การประกันสังคมนั้นแนวคิดแท้จริงถือว่าเป็นรัฐสวัสดิการ แต่ให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบ เพื่อรับสวัสดิการ ซึ่งคนคิดว่ายังเป็นการจัดสวัสดิการน้อยมาก ควรต้องมีการเพิ่มสวัสดิการได้อีก และคิดว่าต้องมองการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนให้มากกว่านี้ เรื่องการบริหารจัดการควรให้เจ้าของเงิน หรือผู้ประกันตนเข้ามาดูแล ตรวจสอบเพื่อสร้างความโปร่งใส กรณีข้อกังวลใจเรื่องร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ.. กระทรวงแรงงาน จะเสนอต่อที่ประชุม สนช.ให้ชลอเพื่อรอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับคนทำงานถ้วนหน้า และเมื่อเครือข่ายส่งร่างพ.ร.บ.ฯมาก็จะเรียกมานำเสนอพร้อมๆกับทางกระทรวงฯ เพื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างของทั้ง 2 ร่าง

นักสื่อสารแรงงานรายงาน